Life

ชวนคุยแมน ๆ ‘เพราะเคารพทุกความกล้าหาญ’ แต่ทหารกี่รายที่ตายในค่ายฯ ไม่ใช่ในสนามรบ?

By: PSYCAT November 24, 2017

ขึ้นชื่อว่า “รั้วของชาติ” หน้าที่ของทหารหาญในความทรงจำตั้งแต่เรายังเด็กก็คือการออกรบเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ ภาพทหารออกรบอย่างกล้าหาญจากภาพยนตร์เรื่องแล้วเรื่องเล่า ภาพความมีวินัยแบบทหารทำให้เราเคารพกับทุกการฝึก แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ชายอย่างเรากลับต้องเจอการเสียชีวิตไม่คาดฝันตั้งแต่ยังไม่ได้ลงสนามรบ นอกจาก UNLOCKMEN ต้องขอแสดงความเสียใจกับทุกชีวิตที่เสียชีวิตในหน้าที่มา ณ ที่นี้ ก็อยากชวนผู้ชายอย่างเราร่วมพูดคุยกันแบบไม่ดราม่าอย่างที่ลูกผู้ชายเขาควรทำกันสักตั้ง!

สงครามในศตวรรษที่ 21 หน้าตาเหมือนในหนังสงครามที่เคยดูหรือเปล่า?

คุณเคยเกณฑ์ทหารหรือเปล่า? เคยเป็นนักศึกษาวิชาทหารหรือไม่? หรืออย่างน้อยที่สุดมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ที่บ่งบอกถึงการฝึกความอดทนสุดโหดของทหารบ้างไหม? เพราะความแข็งแกร่ง อดทนเป็นคุณสมบัติหนึ่งของทหารซึ่งถือเป็นรั้วของชาติอย่างที่เขาว่ากันมา ทหารจึงได้รับการฝึกอย่างแข็งแกร่งบึกบึนมาโดยตลอดเพื่อเข้าสู่สนามรบ เข้าสู่สงครามสุดน่าหวั่นเกรงชนิดที่เรียกได้ว่าถ้าไม่มีระเบียบวินัย ไม่แข็งแกร่ง ไม่อดทน ไม่ใจนิ่งมากพอก็คงไม่มีโอกาสรอดออกมา แต่เคยสงสัยไหมว่าสงครามและสนามรบเป็นอย่างที่เราจินตนาการ หรือดูจากภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน?

ศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ผู้ศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์ การรบ ทหาร และสงครามมาเป็นเวลานาน พูดถึงเรื่องสงครามในศตวรรษที่ 21 ไว้อย่างน่าสนใจมาก ชาว UNLOCKMEN คิดว่าสงครามในศตวรรษนี้หน้าตาเป็นอย่างไร?

เพราะเรามักติดตาจากหนังสงคราม ซึ่งมันคือภาพสงครามในอดีต ไม่ว่าจะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นสงครามแบบห้ำหั่น บู๊ล้างผลาญ ระเบิดใส่กันตู้มต้ามไม่ใช่สลิง ไม่ใช่สตั๊นท์ มีสนามรบเป็นพื้นที่กว้างขวางแล้วทุกคนก็กระโดดบวกเข้าหากันไม่ยั้ง

สงครามยุคใหม่ รบได้แต่ต้องฉลาดกว่าเดิม

แต่เมื่อเดินทางมาถึงศตวรรษที่ 21 ศาสตราจารย์สุรชาติระบุว่าสงครามแบบที่เรามีภาพฝังหัวมาตั้งแต่ยังเด็กนั้นมันคือสงครามขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้เมื่อเวลาหมุนผ่านไป โลกมี “สงครามขนาดเล็ก” (small wars ) ซึ่งไม่ต้องการคนเข้าไปจับปืนบู๊ล้างผลาญเสียทีเดียว แต่เป็นสงครามแบบกองโจร วางแผนกันอย่างแยบยล โดยเฉพาะสงครามกับผู้ก่อการร้ายที่วางแผนได้อย่างโคตรชาญฉลาด ไม่อาจเอาชนะได้ด้วยกำลังบู๊เพียงอย่างเดียว

ยิ่งหลังเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ ยิ่งทำให้เห็นว่าองค์กรก่อการร้ายเดี๋ยวนี้มีองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actors) เข้ามามีบทบาท ยิ่งทำให้การก่อนการร้ายมีความก้าวหน้ามากกว่ากองทัพ เพราะเปลี่ยนแปลงวิธีในการบริหาร โดยบริหารจัดการองค์กรในรูปแบบของธุรกิจ มี CEO ของตัวเอง มีฝ่ายกำลังพล โดยให้การศึกษาอย่างดี

UNLOCKMEN แค่พยายามจะบอกว่าสงครามมันยังมีอยู่ แต่มันเล็กลง คูลขึ้น แถมมีแผนการอันแยบยลชาญฉลาดล้ำกว่าเดิมเยอะ!

ฝึกให้แข็งแกร่งนั้นดี แต่ฝึกอย่างอื่นและไม่ละเมิดสิทธิฯ ด้วยดีไหม?

ในเมื่อสงครามไม่ได้เป็นสงครามขนาดใหญ่อีกต่อไปแล้ว แต่แยบยล ชาญฉลาด ต้องการมันสมองพอ ๆ กับต้องการกำลัง ระบบการฝึกทหารที่เน้นความโหด สุดทรหด ก็อาจจะทำต่อไป แต่ต้องทำภายใต้ความคิดที่ว่าจะไม่ละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้ถูกฝึกด้วย

รวมถึงฝึกยุทธวิธีต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ความอดทน (ยังต้องฝึกอยู่ แต่ต้องฝึกอย่างอื่นคู่กันไปด้วย) โดยเฉพาะเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยแล้ว การรบที่ควบคู่และไปกันได้กับยุคนี้ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทิ้งไป มากกว่าแค่ฝึก การซ่อม การธำรงวินัย จนทหารต้องเสียชีวิตในค่ายฯ แทนที่จะได้เสียสละในสนามรบตามสิ่งที่เขาเลือก

UNLOCKMEN ไม่กล้าสรุปว่าการฝึกควรไปในทิศทางใด แต่อยากชวนชาว UNLOCKMEN ร่วมกันแสดงความคิดอย่างสุภาพ และเป็นเหตุเป็นผล ปราศจากดราม่าแมน ๆ ว่าการที่เรามีทหารกล้าหาญที่ต้องการรบเพื่อชาติ ทำสงครามเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่กลับต้องมาเสียชีวิตระหว่างการฝึกในค่ายฯ (หรือในโรงเรียน) เป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่? เพราะอะไร?

อ้างอิง

สุรชาติ, บำรุงสุข. นวัตกรรมทหาร : กองทัพในศตวรรษที่ 21. n.p.: กรุงเทพฯ : อนิเมทกรุ๊ป, 2546.

ปนินาท, ธวัชโชคทวี, and ประทีปอุษานนท์ อรรคเดช. 2011. ความท้าทายของการบริหารจัดการภาคส่วนความมั่นคงในไทย = Challenges of security sector reform in Thailand. n.p.: กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, 2554

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line