Work

คนอื่นคืบหน้าไปไกล ทำไมเราอยู่กับที่? ‘วิธีทำงานให้ลื่นไหลในวันที่รู้สึกตันอยู่คนเดียว’

By: PSYCAT August 7, 2020

เพราะมนุษย์เกิดมาเพื่อมีชีวิตร่วมกันเป็นสังคม ไม่แปลกที่หลายครั้งเราเห็นการใช้ชีวิตของคนอื่น แล้วอดย้อนมามองดูตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะการทำงานที่ทำร่วมกันเป็นทีม แผนก หรือองค์กร ที่เราจะได้เห็นผลงาน เห็นความคืบหน้าของเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ

ยิ่งช่วง Covid-19 ที่ทุกคนต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเข็นโปรเจกต์ออกมาขาย เพื่อทลายขีดจำกัดการทำงานเดิม ๆ เราจึงยิ่งได้เห็นคนทำงานไปไกลกว่าศักยภาพเดิม ๆ ของพวกเขาอยู่ตลอด แต่ยิ่งเป็นแบบนั้น หลายคนก็ยิ่งหดหู่ เพราะในขณะที่เราเห็นผลงานใครต่อใครก้าวไปข้างหน้า แต่ทำไมเรายังดูเหมือนว่าไม่ได้ขยับไปไหน?

แล้วในวันที่เราเหมือนย่ำอยู่กับที่ แต่ทุกคนกำลังไปได้ดี เราจะต้องทำอย่างไร? หยุดเปรียบเทียบอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องมาวิเคราะห์ดูว่าเกิดอะไรขึ้น และเราทำอะไรได้บ้าง?

“วิเคราะห์และประเมิน” เพราะสิ่งที่รู้สึก อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง

กุญแจสำคัญของการก้าวข้ามการเปรียบเทียบ (และรู้สึกน้อยอกน้อยใจ) ไปได้ ไม่ใช่แค่การอยู่ ๆ ก็บอกตัวเองว่า เฮ้ย เราแย่ เราทำงานน้อย เราทำงานไม่ดี แล้วก็ตะบี้ตะบันโหมงานหนัก หรือทำตามคนอื่น ๆ เพื่อให้ทันเขา แต่เป็นการที่เราต้องรู้จักวิเคราะห์และประเมินสิ่งที่เรากำลังทำ

ถ้าเรารู้สึกว่า โห คนรอบตัวเรา ทุกคนทำมากกว่าเราทั้งนั้น นั่นอาจเป็นสิ่งที่เรารู้สึกแต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป เพราะมันไม่ได้มีมาตรวัดการทำงานที่ใช้วัดกับทุกคนได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือเราสามารถประเมินและวิเคราะห์วิธีทำงานของตัวเราเองได้

ลองนึกภาพตัวเราเองนั่งอยู่ในห้องประชุมที่กำลังระดมไอเดียใหม่อย่างดุเดือด กระบวนการนี้กินเวลาทั้งวัน แต่ในช่วงเช้าระหว่างที่เรากำลังนั่งเงียบฟังอยู่นั้น เพื่อนร่วมงานที่รายล้อมกลับมีไอเดียพรั่งพรูเสนอได้ไม่หยุดหย่อน ในสถานการณ์แบบนี้เราย่อมรู้สึกว่าเราทำงานได้น้อยกว่าคนอื่น หรือไม่คืบหน้าเมื่อเทียบกับคนอื่น เรานี่แย่จัง พูดน้อยมาก คนอื่นเสนอไปตั้งเยอะแล้ว

แต่ในทางกลับกันถ้าเราสามารถวิเคราะห์และประเมินวิธีการทำงานของตัวเองได้ เราอาจจะค่อย ๆ สำรวจว่าทำไมเป็นแบบนี้? ทำไมในช่วงเช้าเราถึงยังไม่พูดเลย? เราอาจได้คำตอบว่าเราเป็นคนชอบฟังให้ถี่ถ้วนก่อนแล้วค่อยนำเสนอ หรือเป็นคนที่คิดละเอียดรอบคอบ

ในช่วงท้ายของวัน ถ้าเราสามารถบอกตัวเองได้ว่าวิธีการทำงานของเรา จะยังสามารถนำเสนอไอเดียดี ๆ ออกมาได้ เพียงแค่วิธีการทำงานของเราอาจต้องใช้เวลา ไม่ได้รวดเร็ว และไหลออกมารัว ๆ เหมือนคนอื่น แต่เป็นไอเดียที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว การวิเคราะห์และประเมินการทำงานของตัวเองจะทำให้เราเห็นว่าวิธีการทำงานแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าเพิ่งเอาความรู้สึกไปตัดสิน แต่ประเมินด้วยข้อเท็จจริงอยู่เสมอว่าสรุปแล้วที่เรารู้สึกว่าคนอื่นคืบหน้ากว่าเรานั้น อาจเป็นเพราะเรามีวิธีการทำงานที่ต่างออกไปก็เป็นได้

โฟกัสที่ความสำเร็จเล็ก ๆ ก็ไม่ผิดกติกา

โปรเจกต์ใหญ่ของเพื่อนร่วมงานที่นั่งข้าง ๆ เพิ่งเข็นออกมา ไอเดียงานขายลูกค้ารายใหญ่ของคนแผนกติดกันก็เพิ่งประสบความสำเร็จ ฯลฯ การได้เห็นงานของคนอื่นคืบหน้าอยู่ตลอดเวลาก็ย่อมทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองได้ง่าย ๆ และรู้สึกว่างานเราไม่คืบหน้าเลย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความสำเร็จใหญ่ ๆ อาจเรียกความสนใจได้มากกว่า แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเหมาะกับการวิ่งระยะไกลเพื่อทำโปรเจกต์ใหญ่ ๆ เสมอ และในองค์กรหนึ่ง ๆ เองก็ประกอบด้วยงานและโปรเจกต์หลากหลายรูปแบบ ถ้าทุกคนแต่ทำโปรเจกต์ใหญ่ ๆ รายละเอียดเล็ก ๆ ก็อาจถูกละเลยไปได้

ดังนั้นถ้าเรารู้สึกว่าโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ที่คนอื่นทำมันดูไม่ใช่ทางของเรา ลองเริ่มโฟกัสกับโปรเจกต์เล็ก ๆ แล้วทำมันด้วยวิธีการทำงานแบบของเราให้สำเร็จไปอย่างสม่ำเสมอ โดยมีข้อแม้ว่าเราควรคุยกับหัวหน้างานหรือผู้บริหารของเราให้ชัดเจนว่าแต่ละโปรเจกต์เล็ก ๆ ของเรานั้นสำคัญอย่างไร หรือมีส่วนช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไร

การที่เราสามารถโฟกัสกับโปรเจกต์เล็ก ๆ ด้วยวิธีแบบตัวเองได้ พร้อม ๆ กับทำความเข้าใจกับผู้บริหารให้ชัดเจนจะช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างผ่อนคลายมากขึ้น และไม่เอาวิธีการทำงานแบบของเรา ไปเปรียบเทียบกับผลงานของใคร เพราะเราก็มีผลงานในแบบของเราเช่นกัน

“ช่วยงานนอกขอบเขตความรับผิดชอบ”

หลายครั้งการที่เราเห็นผลงานคนอื่นไปข้างหน้า แต่รู้สึกว่าตัวเองติดแหง็กอยู่กับที่ก็เป็นเพราะเราเหมือนกันมุ่นอยู่กับตัวเองมากไป อีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เรามองเห็นอะไรได้กว้างกว่าเดิม คือการที่เรายื่นมือไปช่วยงานนอกเขตความรับผิดชอบของเรา วิธีการนี้ไม่ใช่แค่เพียงทำให้เราลดการย้ำคิดย้ำทำอยู่กับตัวเอง แต่ยังเว้นพื้นที่ให้เราได้พักสมอง ได้มองงานจากมุมมองอื่น ๆ แผนกอื่น ๆ วิธีคิดแบบอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เราตกผลึกความคิดใหม่ ๆ กับงานตัวเองได้มากขึ้น

นอกจากนั้นการช่วยงานคนอื่นยังทำให้เราได้ฝึกวางกลยุทธ์ใหม่ ๆ จากมุมที่แตกต่าง เพราะหลายครั้งที่เรารู้สึกตันไปไหนไม่ได้ เพราะเราอยู่ที่เดิมนานเกินไป การได้ลองไปให้คำแนะนำช่วยเหลืองานคนอื่นจะช่วยพลิกมุมให้ทั้งตัวเรา และงานที่เราไปช่วย ที่สำคัญความคืบหน้าอาจไม่ได้มาจากงานเดิม ๆ ที่เราทำ แต่อาจเป็นการที่เราไปเสนอไอเดียหรือช่วยทีมอื่น ๆ ก็นับเป็นความคืบหน้าได้เช่นกัน

การช่วยคนอื่นยังหมายถึงการที่เราได้รับไอเดียใหม่ ๆ จากคนอื่น และเป็นการทบทวนตัวเองไปพร้อมกัน เพราะทุกครั้งที่เราไปเป็นเมนเทอร์ให้ใครแปลว่าเราต้องทบทวนและเข้าใจความรู้ของเราอย่างถ่องแท้ก่อนจะถ่ายทอดออกไป ได้ฝึกทั้งสกิลการสื่อสาร การเป็นผู้นำไปในตัว แล้วเราจะเข้าใจมากขึ้นว่าบางทีความคืบหน้าอาจไม่ได้มาในรูปแบบผลงานที่เราเป็นเจ้าของเสมอไป การช่วยเหลือให้คนอื่นทำงานลุล่วงไปได้ด้วยดีก็เป็นความคืบหน้าที่ดีเช่นกัน

การเห็นคนอื่นคืบหน้าไปไกล เป็นทั้งความสุขและความยินดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้ผิดอะไรที่เราทำไม่ได้แบบนั้น และไม่ได้แปลว่าเราต้องหยุดพยายาม แต่อาจหมายความว่าเราต้องประเมินวิธีการทำงานของตัวเอง ยอมรับและเข้าใจ่าวิธีการทำงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเราสามารถใช้วิธีการทำงานของเราสร้างงานที่มีคุณภาพในแบบของเราได้เช่นกัน แม้ไม่ใช่ในแบบที่คนอื่นทำ แต่เป็นในแบบที่เราทำสุดฝีมือและจะภาคภูมิใจกับมันเสมอเมื่อย้อนมองกลับมา

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line