Survival

SURVIVAL GUIDE : วาระแห่งชาติ BTS ห้องน้ำอยู่ไหน UNLOCKMEN ลงพื้นที่สำรวจแบบเจาะลึก

By: Thada February 27, 2018

นับว่าเป็นวาระแห่งชาติสำหรับการปวดห้องน้ำบนรถไฟฟ้า BTS  ที่อย่างน้อยครั้งหนึ่งหนุ่ม ๆ ต้องมีโอกาสเจออย่างแน่นอน โดยหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมบางสถานีถึงมีห้องน้ำให้บริการ แต่บางสถานีไม่เห็นยักมีห้องน้ำแล้วถ้าเกิดฉุกเฉินขึ้นมาเราจะต้องทำอย่างไร เนื่องด้วยทีมงาน UNLOCKMEN ถือเป็นขาประจำสำหรับการใช้ BTS เดินทางในกรุงเทพ แล้วก็เคยตกอยู่สถานการณ์อยากเข้าห้องน้ำมากแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเช่นกัน ดังนั้นเราจึงได้ลงพื้นที่สำรวจห้องน้ำทุกสถานี BTS ว่าอยู่ตรงไหนพร้อมกติกามารยาทในการเข้าใช้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ถือว่าคอนเท้นท์นี้เป็นไกด์บุ๊คเอาตัวรอดชีวิตกรุงเทพอีกหนึ่งสิ่งแล้วกัน

1.มีห้องน้ำบนสถานี

สำหรับสถานีที่มีห้องน้ำให้เข้าอย่างแน่นอนแบบไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อยคือสถานีส่วนต่อขยายต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเกิดจากการร้องเรียนของผู้โดยสารว่า BTS ไม่มีห้องน้ำให้ใช้บริการ ดังนั้น BTS เลยจัดสร้างห้องน้ำสาธารณะบนสถานีมันซะเลยโดยมี กทม. เป็นผู้ดูแล ทว่าจะมีระเบียบช่วงเวลาเปิดปิดคือ 07.00-09.00 น. และ 17.00 -20.00 น. ถ้านอกเหนือเวลาดังกล่าวเราสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพื่อขอเข้าใช้ได้เลย และสำหรับรายชื่อสถานีที่มีห้องน้ำพร้อมให้บริการจะมีดังนี้

สายสีลม

  • กรุงธนบุรี
  • วงเวียนใหญ่
  • โพธิ์นิมิตร
  • ตลาดพลู
  • วุฒากาศ
  • บางหว้า

สายสุขุมวิท 

  • อ่อนนุช
  • บางจาก
  • ปุณวิถี
  • อุดมสุข
  • บางนา

 

2.ห้องน้ำของเจ้าหน้าที่สามารถขอเข้าได้

 

ความจริงแล้วบน BTS นั้นมีห้องน้ำสำหรับพนักงานอยู่แล้วทุกสถานี เพียงแต่หลาย ๆ ครั้งเขาจะไม่อนุญาตให้ผู้โดยสารเข้าใช้ เนื่องจากกลัวเรื่องความสะอาดและการดูแล แต่ก็มีบางสถานีทางเจ้าหน้าที่ BTS เล็งเห็นว่าเหมาะสมแก่การเข้าใช้ เพราะไม่ติดกับศูนย์การค้าหรืออาคารสำนักงานใด ๆ  ดังนั้นเราจึงสามารถไปติดต่อขอนายสถานีเพื่อเข้าใช้ได้เลย (ไม่ต้องไปแจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัยเพราะพวกเขาไม่มีอำนาจในการให้เราเข้าใช้)*  แล้วก็จะมีแม่บ้านหรือเจ้าหน้าที่พาเราไปยังพาไปเข้าเมื่อเสร็จธุระเรียบร้อย พนักงานที่นั่งเฝ้าก็จะพาเราเดินกลับเข้ามาในพื้นที่สถานี โดยที่เราไม่ต้องเสียเที่ยวโดยสารแต่อย่างใด

สายสีลม

  • ราชดำริ
  • สยาม

สายหมอชิต

  • สะพานควาย
  • สนามเป้า
  • พญาไท

สายสุขุมวิท

  • นานา
  • ทองหล่อ
  • พระโขนง

ทั้งนี้ทั้งนั้นหากยังพออั้นไหวจริง ๆ เราแนะนำให้อดทนไว้รอไปเข้าที่อื่นดีกว่า เพราะในกรณีนี้อาจต้องเตรียมใจที่จะรับมือกับมาตรการและคำถามอีกมากมาย ช้อยส์นี้เก็บไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน และนอกเหนือจากสถานีดังกล่าว ในส่วนของสถานีอื่น ๆ บางครั้งก็สามารถขอเข้าได้เช่นกัน ซึ่งมันก็สุดแล้วแต่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และบุญวาสนาที่เราสั่งสมมา แต่ส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่จะเรียนเชิญให้ฮึบไว้ แล้วไปเข้าห้องน้ำด้านนอกสถานีมากกว่า

 

3.ต้องไปเข้าห้องน้ำข้างนอก

จากการลงพื้นที่ของเราพบว่าในสถานีที่เป็นจุดเปลี่ยนรถหรือมีผู้โดยสารหนาแน่น อาทิ ศาลาแดง , ช่องนนทรี ,อโศก  การไปขอเข้าห้องน้ำจะถูกปฎิเสธในทันที พร้อมชี้แจงให้เดินทางไปเข้าห้องน้ำด้านนอก (จริง ๆ แล้วในกรณีฉุกเฉินสุด  ๆ ที่ห้างหรืออาคารสำนักงานยังไม่เปิดเราสามารถขอเข้าห้องน้ำของพนักงานในสถานี BTS ได้) ซึ่งเราก็พอเข้าใจได้ว่าเนื่องจากเป็นสถานีติดกับห้างสรรพสินค้าและตึกสำนักงาน BTS จึงพยายามผลักดันให้ไปใช้ห้องน้ำด้านนอก ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวเพราะจะมีห้องน้ำให้ใช้ชัวร์ ๆ ลองมาดูกันว่าถ้าเกิดปวดฉุกเฉินจริง ๆ เราควรเดินไปเข้าที่ใดในสถานีดังต่อไปนี้

สายสีลม

  • สะพานตากสิน (สวนสาธารณะสะพานตากสิน)
  • สรุศักดิ์ (โรงแรมสาทรโหมด หรือโรงแรมอีสเทิร์น)
  • ช่องนนทรี (อาคารสาทรทาวเวอร์)
  • ศาลาแดง (สีลมคอมเพล็กซ์ หรือ ตึก LAB Pharmacy)
  • สนามกีฬาแห่งชาติ (หอศิลป์ หรือ มาบุญครอง)

สายหมอชิต

  • หมอชิต (ห้องน้ำสาธารณะสวนจตุจักร หรือ Mrt จตุจักร)
  • อารีย์ (ลา วิลล่า)
  • อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ห้าง Century)
  • ราชเทวี (โรงแรม Asia)
  • สยาม (Siam Paragon , Siam square one)

สายสุขุมวิท 

  • ชิดลม (เซ็นทรัลชิดลม ,  Mercury Ville)
  • เพลินจิต (อาคาร Park Venture)
  • อโศก (Terminal 21) *recommend
  • พร้อมพงษ์ (Emporium , Emquartier)
  • เอกมัย (Gateway)

ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลที่เรารวบรวมมาให้ชาว UNLOCKMEN ทุกคนเพื่อเจอวิกฤตข้าศึกบุกโจมตีจะได้เอาตัวรอดได้อย่างสบายหายห่วง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเกิดเจอเหตุการณ์ฉุกเฉิกแบบสุด ๆ อั้นไม่ไว้แล้วให้รีบชิงเดินไปบอกพนักงานเลย เราเชื่อว่าถ้าถึงจุดนั้นแล้วเจ้าหน้าที่ BTS ทุกสถานีคงไม่ใจไม้ไส้ระกำปล่อยให้เรายืนปล่อยของเสียเรี่ยราดอย่างแน่นอน

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line