Life

THE COLLECTOR: ‘มินโซ’ ช่างภาพสาวผู้หลงรักกล้อง TOY กับชีวิตที่ไม่ได้สวยงามเหมือนสิ่งที่เธอสะสม

By: NTman June 19, 2020

“คุณค่าของกล้อง Toy มันอยู่ที่เอกลักษณ์ในแต่ละตัว คือต้องบอกก่อนว่ามูลค่าของมันไม่ได้เยอะ แต่มันมีระยะเวลาการเดินทางของมัน เหมือนกับคนเราที่คุณค่าอยู่ภายใต้จิตใจ ตัวตน หรือบุคลิกส่วนตัว”

เมื่อเอ่ยถึงของสะสมหลายคนอาจนึกไปถึงของที่มีมูลค่าทั้งทางจิตใจ และตัวเงิน แต่กล้อง Toy ที่ ‘มินโซ-จุฬารัตน์’ ช่างภาพสาวผู้รับตำแหน่ง The Collector ประจำเดือนนี้ของเราสะสม แม้จะไม่ได้มีมูลค่ามากมายนักในแง่ของราคา แต่เรื่องราว และเอกลักษณ์ รวมถึงความสามารถในการถ่ายภาพที่แตกต่างของกล้องแต่ละตัวคือเสน่ห์ที่ทำเธอหลงรักกล้อง Toy จนหมดหัวใจ

และในวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับของสะสมสุดรัก รวมถึงเรื่องราวชีวิตเธอที่ไม่ได้ง่ายดาย สดใส น่ารักเหมือนกล้อง Toy ที่เธอสะสม แต่บอกเลยว่าทั้งสองประเด็นนี้ของเธอมันต่างก็น่าสนใจไม่แพ้กันเลย

ถ่ายรูปก็ได้ แต่งหน้าก็ดี

หัวข้อนี้น่าจะเป็นคำจำกัดความถึงสิ่งที่ ‘มินโซ-จุฬารัตน์’ ทำอยู่ ณ ปัจจุบัน กับอาชีพช่างภาพแฟชั่นอิสระ ที่ในวงการต่างขนานนามว่าเป็นช่างภาพสายละมุนซึ่งเน้นงานผิว ที่สวยและเด่นชัด บวกกับ Composition ที่แปลก ๆ ผสานกับ Beauty ไปในตัว

“คือถึงแม้เราจะถ่ายแบรนด์เสื้อผ้าหรือถ่ายอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่หลายคนเห็นแล้วดูว่าเป็นงานเราก็คืองานผิว เห็นผิวที่สวยแบบชัด ละก็ดูสวย และละมุน มันก็เลยเป็นคำนิยามเราว่าเป็นช่างภาพสายละมุน มันเหมือนดูรูปแล้วดูละมุนนี” 

มินโซเล่าถึงความแตกต่างในงานของเธอให้เราฟังอย่างอารมณ์ดี ก่อนที่จะเผยอีกหนึ่งความสามารถคือการแต่งหน้าให้กับนางแบบด้วยตัวเอง

“เราเป็นคนที่แบบชอบดูผู้หญิงมาก่อนอ่ะ คือเหมือนประมาณว่า ชอบมองว่าผู้หญิงคนนี้จะสวยแบบไหนหรือจริง ๆ แล้วเสน่ห์ของเค้าคืออะไร จากโดยรวมก่อนแล้วหลังจากนั้นอ่ะ เราก็รู้สึกว่าหรือบางทีอ่ะ เสน่ห์ของเค้าอ่ะ หรือจุดเด่นของเค้ามันควรทำให้มันชัดเจนหรือเปล่งประกายออกมา  

คือเราต้องการทำให้สิ่งนั้นพิเศษขึ้นไปอีก ด้วยความว่าเราอยากให้เป็นแบบไหนเราก็จัดการแต่งหน้าให้แบบเองด้วย เออก็เลยกลายเป็นว่าเหมือนว่าแต่งหน้าให้แบบ เพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกันกับที่เราคิดในภาพในหัวประมาณนี้ แล้วเราก็ถ่ายรูปออกมา จนทำให้คนรู้สึกว่าอยากเอาเราไปเป็นช่างแต่งหน้า เราก็เลยอยู่ไปในจุดที่ถ่ายแบรนด์เครื่องสำอางค์ แล้วก็มีโอกาสได้แต่งหน้าด้วย ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นช่างภาพที่แต่งหน้าได้ (หัวเราะ)

ต้องบอกว่า เราคิดว่าเราเป็นช่างภาพที่ชอบ Challenge ตัวเองดีกว่า เออ ซึ่งภายในปีที่แล้วอ่ะมันคือช่างภาพที่แต่งหน้าได้ เออ แต่ว่าปีนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะ Challenge อะไรดี คือนิสัยของเรามันเป็นนิสัยที่แบบว่า ชอบเอาชนะตัวเองอ่ะ คือเรารู้สึกว่าคนเราอ่ะ มันสามารถทำอะไรได้เกิน 1 อย่าง พอนึกออกมั้ย เป็นแบบสมมติมีคนทักว่าแบบ ให้เขียนข้างนึงเป็นสามเหลี่ยม ข้างนึงเป็นวงกลมพร้อม ๆ กันอ่ะ เราทำได้มั้ย ประมาณนั้นอ่ะ

แล้วเรารู้สึกว่ามันน่าสนุกดีถ้าเราได้ลองอะไรใหม่ ๆ ถ้าสมมติว่าเราเป็นช่างภาพ คือในช่วงเวลาที่เราเป็นช่างแต่งหน้า เราเป็นช่างภาพมาแล้ว 5 ปี แต่เรารู้สึกว่ากราฟของเรามันเป็นอย่างนี้ มันไม่มีความสนุก หรือ Challenge อะไรให้ตัวเองอ่ะ เว้นแต่ว่าความ Challenge ในแต่ละวันคือ วันนี้เราเจอลูกค้าอะไร วันนีเราจะเจอแบบว่าอุณหภูมิเป็นแบบไหน แสงเป็นแบบไหน นึกออกป่ะ เราจะมีแค่นั้นเลย

แล้วคราวนี้เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นปัจจัยภายนอก มันไม่ใช่ปัจจัยของเราอะ ถ้าปัจจัยของเรา เรารู้สึกว่าเราอยากเอาชนะตัวเองด้วยภายในวันนั้นคือบางที Challenge ถึงขั้นแบบ เราต้องแต่งหน้าภายใน 1 ชั่วโมง 1 แบบ 2 คน แล้วก็ถ่ายในวันนั้นต่อ คือมันแบบทุกอย่างมันเร็วไปหมดอ่ะ เรารู้สึกว่าพอมันจบวันนั้นไปได้อ่ะ เราก็จะเหมือนแบบเราทำด่านนี้สำเร็จ แล้วเราก็จะชอบทำแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ”

 

ชีวิตที่ต้องฝ่าฟันในวัยเด็ก สู่ตัวตนที่ชอบความท้าทาย

จากสิ่งที่เธอเล่าให้เราฟังถึงความชื่นชอบที่จะท้าทายตัวเองด้วยภารกิจด้วยเป้าหมายใหม่ ๆ ทำให้เกิดความสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เธอเป็นเธอที่เรากำลังพูดคุยอยู่ ณ ปัจจุบัน

“เราคิดว่า น่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนป. 3 คือ เราโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้มีพ่อ-แม่เลี้ยงเลย คือเราโตมาในแบบที่พี่น้อง 3 คนเลี้ยงกันเอง เพราะว่าพ่อก็ไปทาง แม่ก็ไปทาง เพราะว่าเค้าหย่าร้างกัน แม่ก็อยู่ในจุดที่เค้ารับไม่ได้ว่าจะต้องมาอยู่แบบนี้ เค้าก็เลยหายไปเลย มันก็เลยทำให้เราต้องอยู่ในบ้านที่ไม่มีพ่อ-แม่เลย เออ เป็นแบบพี่น้อง 3 คนอะไรแบบนี้

เราก็เลยรู้สึกว่า การที่เราพึ่งตัวเองอะ มันควรทำได้มากกว่านี้ แบบเราไม่ต้องมาแบบคอยรู้สึกว่าแบบพ่อแม่ชั้นหายไปไหนอะไรแบบนี้นึกออกป่ะ ก็เลยรู้สึกว่าอะไรที่เราอะ ความสามารถของเรามันมีอะไรบ้างแล้วเราควรเอาตรงนั้นเป็นจุดเด่นทำให้เราได้เงิน คือคิดแค่นี้เลย

เออก็เลยรู้สึกว่าตอนป.3 น่าจะเป็นจุดที่เรารับได้หมดทุกอย่างเลย เช่นแบบสมมติใช่มะ มีคนที่แบบผมยาว ๆ มาแบบ อีหนูถักเปียให้ป้าหน่อย ป้าให้ 20 บาท เราก็ถัก เราก็ไม่รู้นะว่าถักเปียคืออะไร ถักเปียทำยังไง เราก็แบบลองเดาเอา เราทำได้ แล้วก็ได้เงิน 20 บาท

หรือแบบก่อนที่แม่จะทิ้งเราไป แม่ก็ทิ้งเสื้อผ้าเอาไว้ เราก็เอาเสื้อผ้าไปขาย ตัว 3 บาท 5 บาท เออ อะไรแบบเนี้ย หรือของอะไรที่อยู่ที่บ้านอ่ะ เราก็ไปขายหมดเลย เออเพราะว่าเราก็รู้สึกว่าขายไปก็ได้ตังค์ นั่นแหละมันคือจุดเริ่มต้น

แล้วเหมือนแบบเราชอบประดิษฐ์ด้วย เราก็เลยกลายเป็นคนชอบแข่งขัน ชอบประกวด แต่ก็ไม่ได้แข่งขันกับคนอื่นนะ คือเราคิดอย่างเดียว คือเราแข่งขันกับตัวเอง การที่เราพยายามแข่งขันกับคนอื่นอ่ะ เราจะกดดันตัวเอง แล้วเราจะทำแย่  แล้วถ้าเราแข่งขันกับตัวเองเราจะรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นเรื่องสนุก

เราก็เลยแบบว่า เอาเรื่องนั้น มาจุดที่ว่ามาแข่งขัน ประกวด อันนู้น อันนี้ ก็คือไม่ได้ชนะที่ 1 ไม่ได้อะไรเลย ขออย่างเดียวคือได้ตังค์เท่านั้นเอง (หัวเราะ)  มันก็เลยกลายเป็นว่าติดนิสัย ชอบ Challenge ตัวเอง เออแบบแข่งขันทุกอย่าง เป็นคนที่ Challenge ตัวเองตลอด และให้เดดไลน์ตัวเองตลอด

อย่างแบบปีที่แล้วเราก็ทำสตูนะ แต่มีปัญหาบางอย่างจนเราไม่ได้ทำต่อ เราก็เลยรู้สึกว่าแบบ ไม่ได้แล้ว ภายใน 1 ปี เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ได้เปิดสตูดิโออีกครั้ง เราก็คิด คิดหัวแตกอ่ะ เออว่าเราจะทำยังไง แต่ว่ามันเหมือนเป็นจิตวิทยาของมนุษย์ทั่วไป ถ้าในหัวเรา Focus ว่าเราทำอยากอะไร เราไปได้เองเราจะใช้หลักการนี้ตลอด แล้วเนี่ยเพิ่งครบรอบ 1 ปีไป ไม่กี่วันที่ผ่านมา แล้วเราไปดูใน Facebook มันจะขึ้นใช่มั้ย เราแบบเห้ยเราทำได้จริงหว่ะ อย่างเนี้ย มันก็เลยเป็นเรื่องที่แบบเหมือนสิ่งนั้นอ่ะ มันเป็นแบบ Challenge ทุกอย่าง เป็นเหมือนของขวัญและกำลังใจให้เราผ่านมันต่อ ๆ ไปได้อีก อืม เราก็เลยชอบ”

หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวในวัยเด็กของเธอเราแทบไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ถึงอุปนิสัยที่ชื่นชอบการ Challenge  จนสามารถพาตัวเองไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ การันตีได้จาเพราะหลักฐานชิ้นใหญ่อย่างสตูดิโอบริการเช่าถ่ายภาพแสนสวยแห่งใหม่ของเธอ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรากำลังนั่งคุยกับเธอในวันนี้ แถมตรงหน้าเรายังรายล้อมไปด้วยกล้อง Toy รูปร่างหน้าตาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่นำพาให้เราได้มาพบพูดคุยกับเธอในหัวข้อ The Collector

 

จากไม่รู้จัก สู่เจ้าแม่นัก CF กล้อง TOY

“เอาจริง ๆ เป็นช่างภาพที่แทบไม่ตามอุปกรณ์ใหม่ ๆ เลยจริง ๆ พอมีคนเอาแกดเจ็ตใหม่ ๆ มาคุยกับเรา เฮ้ย มีกล้องตัวนี้ออกใหม่ ทำไมไม่ใช้เลนส์อันนี้ล่ะ ทำไมไม่ใช้ตัวนี้ล่ะ แม่งดี แม่งเก่งมากนะ เราก็…ไม่อะ ที่มีอยู่ก็ใช้ได้ เราแค่รู้สึกว่า เราให้ความสำคัญกับภาพที่มันออกมา เราให้ความสำคัญกับผลงานของตัวเองมากกว่า สมมุติว่าเรามีอุปกรณ์ที่ดี ตัวใหม่ ตัวล่าสุดเลย แต่ถ่ายภาพออกมาในแบบที่เราพอใจไม่ได้มันก็ไม่มีประโยชน์

แต่เราไม่ได้บอกนะว่าทุกคนต้องเป็นแบบเรา เพราะมันแล้วแต่ความชอบของแต่ละคน แต่สำหรับเราเราแค่ไม่ตามเฉย ๆ เพราะเรารู้สึกว่าตามแล้วมันหมดเงินเยอะ แล้วพอไอ้นู่นไอนี่ออกใหม่ ก็ต้องตามซื้ออยู่เรื่อย ๆ กลายเป็นว่าเราอาจไม่ได้โฟกัสเรื่องการสร้างงาน ถ้ามัวแต่ไปโฟกัสว่าวันนี้อะไรออกใหม่บ้าง

สำหรับเราเราโอเคกับเลนส์ F2.8 ของเราอยู่แล้ว เราโอเคกับ 24-70 mm ของเรา เพราะเราเป็นคนที่ชอบถ่าย Portrait ติด Wide หน่อย ๆ อะไรอย่างงี้ และที่มีอยู่มันก็ตอบโจทย์สไตล์งานเราอยู่แล้ว เลยไม่อยากตามซื้ออะไรใหม่ ๆ แล้วไม่ได้ใช้ วางทิ้งไว้เพราะไม่ถนัดอะไรอย่างนี้ แค่บางทีมีเผื่อไว้สำหรับงานถ่ายแฟชั่นที่บางทีต้องใช้ Composition ที่เป็นอีกช่วงเลนส์นึง เราเลยต้องมี 100-400 mm เผื่อไว้ อะไรอย่างนี้ เพราะเราขี้เกียจเดิน (หัวเราะ)” มินโซเปิดประเด็น ด้วยข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อว่าช่างภาพที่ไม่ค่อยจะสนใจอัพเดทอุปกรณ์ใหม่ ๆ ใช้แค่เท่าที่มีเท่าที่ตัวเองพอใจ เพราะอยากโฟกัสแค่การสร้างงาน และที่สำคัญคือเสียดายตังค์ จะมาตบะแตกเสียทรัพย์ให้กับของสะสม และงานอดิเรกสุกรักอย่างกล้อง Toy ซะอย่างนั้น เธอจึงเล่าจุดเริ่มต้นท่ีทำให้รู้จัก จนหลงใหลหลงรักกล้อง Toy จนหมดหัวใจ

“ตอนแรกไม่ได้รู้จัก ไม่ได้สนิทกันกับกล้อง Toy นะ ยังไม่สนิท แต่ว่ามันมีอยู่ช่วงนึง น่าจะเป็นช่วงที่ถ่ายฟิล์มไปแล้ว น่าจะเป็นช่วงปีแรกที่ทำสตูดิโอ พอว่าง ๆ ก็มานั่งคิดว่าเฮ้ย คนอื่นเขามีของสะสมกัน ทำไมเราไม่มีบ้างวะ คิดว่าแบบอยากมีเหมือนคนอื่นเขา ก็เลยมานั่งคิดหาของสะสม ซึ่งจริง ๆ มันไม่ควรคิดนึกออกปะ ของสะสมน่ะ (หัวเราะ) แต่เพราะอยากมีเหมือนพี่เขาเราก็เลยคิดเว้ย สะสมอะไรดีวะ

แล้วจู่ ๆ ชีวิตดันไปเจอกับสิ่งนี้ เพราะว่าเราไปเจอเพื่อนคนนึง แล้วเพื่อนคนนี้คือชอบกล้อง Toy อยู่แล้ว แล้วก็จะมีขี้ฝอยทุกอย่าง แบบเฮ้ย เอ็งกล้องตัวนี้นะเว้ย มันมีประวัติอย่างนู้นอย่างนี้ มันมีความเป็นมาอย่างนี้ เราก็เริ่มรู้สึกว่ามันน่าสนใจว่ะ ด้วยความเป็นคนที่ชอบอะไรที่มีเรื่องราว มีสตอรี่อยู่แล้ว แล้วมันมีความสวยในตัวอีกอะ เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มันเหมือนชั้น (หัวเราะ) คือมันไม่เหมือนใครอะไรอย่างนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ

เราก็เลยให้เพื่อนพาไปแหล่งที่มันมีเยอะ ๆ ก็เลยโห โคตรเบิกเนตรอะ อันนี้ก็ดี อันนี้ก็น่ารัก คือจริง ๆ อะ เพื่อนคนนี้จะชอบแบบเดี๋ยวแอดเข้ากลุ่มประมูลกล้องเลย เราก็เข้าไป พอเข้าไปเท่านั้นแหละคุณเอ๊ย วงการนี้เข้าแล้วออกยาก คืออะไรที่มันมาเราเห็นแล้ว แต่แรก ๆ คือยัง CF ของไม่ได้ ไม่ทันเค้า หลัง ๆ ก็มีเทคนิคตั้งนาฬิกาปลุก พิมพ์ CF รอเตรียมไว้ 5 วินาทีสุดท้าย ได้ ชนะ พิมพ์รอก่อนแล้วมันก็จะได้ มันสนุกกับการได้เอาชนะแต่คือเป็นการเอาชนะในสิ่งที่เราชอบ กล้องแต่ละตัวเราต้องชอบมันก่อนนะถึงจะไป CF ไม่ได้ CF มั่วซั่ว พอได้มาปุ๊บก็ต้องลองเล่น เอามาถ่ายเล่น ถ้าถ่ายแล้วชอบก็จะได้อยู่ต่อ แต่ถ้าลองแล้วไม่ชอบ รู้สึกไม่สนิทกันก็ปล่อยต่อให้เขาได้ไปอยู่กับคนที่เหมาะสม

หลักในการที่เราเลือก CF กล้อง Toy อย่างแรกแน่นอนว่าเรื่องหน้าตารูปลักษณ์ ต้องเป็นแบบที่เราชอบ บุคลิกที่เราชอบ และอีกเรื่องนึงคือเป็นตัวที่คนอื่นอยากได้ เป็นนิสัยเก่าชอบเอาชนะ (หัวเราะ) คือถ้ากลุ่มลงรูปปุ๊บ มาแล้ว 20 คอมเม้นต์ เอาแล้วตัวนี้ชั้นต้องได้

และที่สนุกกว่าตอนประมูลคือเมื่อเราได้มาแล้วเราจะประหลาดใจ จุดนี้มันเป็นสิ่งที่เรารัก และเราชอบมาก อย่างกล้องบางตัวเราอยากได้เพราะรูปลักษณ์สีมันสวยถูกใจ แต่พอ CF ได้แล้วเนี่ย ต้องบอกก่อนว่าในกลุ่มที่เราประมูล กล้อง Toy แต่ละตัวจะไม่มี Description บอกเลยนะว่ามันทำอะไรได้บ้าง อันนี้มันคือเสน่ห์ ที่เราจะต้องมาค้นหาทีหลังว่ามันทำอะไรได้บ้าง และกล้อง Toy ที่ได้มาแต่ละตัวก็จะมีบุคลิกต่างกัน แบบคนนั้นเท่ คนนี้ละมุน คนนี้สวย คนนี้เก่ง เป็นสิ่งที่เราต้องมาค้นหาแล้วเจอกับความประหลาดใจอยู่เรื่อย ๆ กับความสามารถที่ทำได้ แล้วพอยิ่งสนิท ยิ่งรู้จักกันมาก ก็ยิ่งชอบเค้าอะไรแบบนี้ (หัวเราะ)”

“เราไม่ได้อยากเอามาเก็บในตู้โชว์ หวง ห้ามจับอะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่ามันต้องเอาออกไปใช้ได้”

ซึ่งกล้อง Toy ที่เราสะสม เราไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นตัวเก่า ตัวหายากมีประวัติยาวนานอะไรแบบนั้นนะ จะเก่า จะใหม่ได้หมดเราไม่ติด แต่คือถ้าเป็นกล้องเก่านอกจากจะสวยถูกใจแล้วเราขอให้มันยังใช้งานได้ ถ้ามาแบบใช้งานไม่ได้เราก็ไม่รู้จะเก็บทำไม เราไม่ใช่สไตล์สะสมแบบเก่าเก็บอะ แต่เราอยากเอามันไปใช้งานด้วย

 

จริง ๆ อันที่เราลองเล่นจนรู้จัก จนสนิทแล้ว แล้วเราเลือกเก็บไว้เฉย ๆ แบบตั้งใจสะสมก็มีนะ แต่ส่วนใหญ่มันจะมีที่เราเล่นแล้วรู้สึกว่าน้องเก่ง ก็อยากจะเอาไปใช้ แต่จะเป็นการใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเค้า เหมือนกับว่าเรารู้คาแรคเตอร์เค้าแล้ว รู้ว่าเค้าเก่งอะไร ก็จะเลือกหยิบไปใช้ในช่วงเวลานั้น ๆ

คือกล้อง Toy แต่ละตัวที่เราได้มา ไม่ว่าจะมาจากไหนก็ตาม เค้าก็มีสตอรี่ของเค้าจากตรงนั้นซึ่งเป็นสตอรี่ที่จบไปแล้ว แต่เวลาที่มันใช้งานกับเรา เรารู้สึกว่าเราอยากสนุกไปด้วยกันกับมัน เพราะฉะนั้นการที่เราเรียนได้รู้มันไปเรื่อย ๆ เราจะสร้างคาแรคเตอร์เพื่อให้เราจดจำ ว่าคนนี้เก่งแบบนี้ คนนี้ถ่ายมาเป็นแบบนี้

“เราเอามาใช้สร้างคาแรคเตอร์ใหม่ สร้างสตอรี่ใหม่ให้มันสนุกสนานไปด้วยกันกับเรามากกว่า”

เวลาเราไปในสถานการณ์ต่าง ๆ เราจะรู้ว่าเราควรเอาใครไปถ่าย ต่างจากการเก็บสะสมที่เราจะรู้แค่ว่าตัวนี้มาจากตรงนี้ ผลิตปีนี้ แล้วก็เก็บอยู่ในตู้อยู่อย่างนั้น แต่อันนี้คือเราเอามาใช้ สร้างคาแรคเตอร์ใหม่ สร้างสตอรี่ใหม่ให้มันสนุกสนานไปด้วยกันกับเรามากกว่า

เพราะอย่างที่บอกเราชอบสะสมกล้อง Toy แต่ไม่ได้เน้นเก็บให้มีครบที่สุด หรือมากที่สุด แต่เราอยากเก็บเฉพาะกล้องที่เราชอบใช้งานมัน กล้องตัวที่เก่งสำหรับเราก็จะมีการเอากล้องที่มีมาไฝว้กัน อย่างกล้อง 4 เลนส์เราจะชอบเก็บ เก็บทุกกรอบเลย สีน้ำเงิน สีแดง มีหมด แล้วเอามาแข่งกัน เอาไปใช้งาน ตัวไหนงอแง ไม่ได้ดั่งใจ คุยไม่รู้เรื่องเราก็ปล่อยไป จากเดิมน่าจะมีทั้งหมด 130 ตัว ตอนนี้ก็ปล่อยไปนี่นับล่าสุดน่าจะเหลือประมาณ 60 กว่าตัว

“ส่วนตัวเรารู้สึกว่าคุณค่าของมัน มูลค่าของมันอยู่ที่เอกลักษณ์ในแต่ละตัว”

ส่วนตัวเรารู้สึกว่าคุณค่าของมัน มูลค่าของมันอยู่ที่เอกลักษณ์ในแต่ละตัว คือต้องบอกก่อนว่ามูลค่าของมันไม่ได้เยอะ บางรุ่น บางปีผลิตออกมาแจกฟรีด้วยซ้ำ แต่มันมีระยะเวลาการเดินทางของมัน และถ้าคนไม่เห็นค่าของมันจริง ๆ ก็จะเอาไปทิ้ง เรารู้สึกว่ามันเหมือนกับคน บางทีมูลค่าของเรามันไม่ได้อยู่กับเครื่องแต่งกายหรืออะไรก็ตามแต่ มันอยู่ภายใต้จิตใจของเรา หรือแบบความรู้สึกที่เราเป็นแบบนั้น เหมือนแบบบุคลิกส่วนตัว เราก็เลยชอบตรงนี้

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line