Life

THE REAL : “นครสังข์ สตูดิโอ” การถ่ายทอดศิลปะและจิตวิญญาณผ่านงานไม้ที่แฝงไปด้วยร่องรอยแห่งความทรงจำ

By: JEDDY March 19, 2022

ท่ามกลางความวุ่นวายย่านถนนแจ้งวัฒนะ-ดอนเมือง ที่เต็มไปด้วยรถยนต์ที่วิ่งพลุกพล่านสะท้อนชีวิตที่เร่งรีบของมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวง แต่ใครจะไปคาดคิดว่าจะมีชีวิตสุดแสนเรียบง่าย ประกอบอาชีพที่ตัวเองรักแบบไม่ต้องปะทะกับใครให้รำคาญใจซ่อนอยู่ใจกลางสังคมอันโกลาหล ซึ่งที่นี่มีชื่อว่า “นครสังข์ สตูดิโอ” สถานที่เล็ก ๆ สำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากไม้ ฝังตัวอยู่ภายในบ้านที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแสนอบอุ่น

แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์ ชายหนุ่มวัยกลางคน อดีตพนักงานประจำสายกราฟฟิกดีไซน์ คือเจ้าของสตูดิโอแห่งนี้ เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่ตั้งคำถามให้กับชีวิตว่า ‘เราจะใช้ชีวิตที่เหลือแบบนี้ไปตลอดจริง ๆ ใช่ไหม?’ จนสุดท้ายก็ได้คำตอบกับการเลือกประกอบอาชีพที่มาจากธุรกิจส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่เริ่มแรกแอ็คแทบไม่ได้สนใจงานไม้เลยด้วยซ้ำ มีเพียงความรู้สึกชื่นชอบในงานตกแต่งบ้านเป็นพิเศษ


FINE WOOD WORKING

“Fine Wood Working” 3 คำง่าย ๆ สั้น ๆ แต่เปลี่ยนวิถีชีวิตของแอ็คไปโดยปริยาย มันคือจุดเริ่มต้นที่เขาได้เริ่มศึกษางานไม้อย่างจริงจังจาก 2 ศิลปิน ได้แก่ George Nakashima ศิลปินช่างไม้ชาวอเมริกัน เชื้อสายญี่ปุ่น และ James Kreno ศิลปินช่างไม้ชาวรัสเซีย

“งานของทั้ง 2 ท่าน ไม่ได้วิจิตรชดช้อย เป็นงานที่เรียบง่ายมาก แต่เขาดึงความงามของไม้หรือวัสดุที่เขาใช้ออกมาได้พิเศษมาก ๆ เราเห็นแล้วมันสัมผัสถึงใจเราได้ทันทีครับ”

หลังจากนั้นแอ็คก็ได้เริ่มตัดสินใจที่จะลองทำงานไม้ด้วยตนเอง เริ่มศึกษาวิธีทำจากอินเตอร์เนต ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ มาลองทำเองที่บ้านแต่สุดท้ายไปไม่รอด เพราะงานออกมาเละไม่เหมือนแบบที่คิดเอาไว้ จนกระทั่งมีเพื่อนแนะนำให้ไปรู้จักกับ อาจารย์พิษณุ นำศิริโยธิน ซึ่งเป็นช่างฝีมืองานไม้ ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และได้ลงมือทำงานจริง ๆ จนในที่สุดมันได้กลายเป็นพื้นฐานการประกอบอาชีพในนามนครสังข์ สตูดิโอ

ในส่วนที่มาของชื่ออย่างที่เราเห็นคือมาจากนามสกุลของแอ็ค แต่ก็มีเรื่องราวเล็กน้อยที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชื่อนี้

“นครสังข์เป็นนามสกุลคุณแม่ครับ  ช่วงที่คุณตายังดี ๆ อยู่ แกเดินมาคุยกับผมส่วนตัวบอกว่า ‘ตามีแต่ลูกสาว ขอฝากนามสกุลไว้ที่เราได้ไหม’ มันกลายเป็นคำที่ติดอยู่ในใจ เราคิดว่าถ้าโตขึ้นแล้วเอาจริงเอาจังกับเรื่องไหนซักเรื่อง เราอยากใช้ชื่อนี้ประกอบกิจการ”


 เปลี่ยนบ้านให้เป็นสตูดิโอ

ด้วยความที่บ้านของตนเองมีพื้นที่ค่อนข้างมาก ทำให้แอ็คเกิดไอเดียในการเปลี่ยนห้องเก็บของรก ๆ ให้กลายเป็นสตูดิโอสร้างงานไม้ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ บรรจุเครื่องมือในการทำเข้าไปจนเป็นที่พอใจสำหรับการทำงาน เมื่อทุกอย่างลงตัว ผลงานชิ้นแรกก็ถูกสร้างออกมาได้สำเร็จ

“‘งานชิ้นแรกคือเก้าอี้ครับ เรารู้สึกพิเศษที่ได้สร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาจากสองมือ คืองาน 1 ชิ้น มันมีความสัมพันธ์กับร่างกายเรา มันเป็นความรู้สึกของการเป็นนักสร้างครั้งแรกในชีวิต มันพิเศษกว่าการที่เราเคยทำงานอยู่แต่หน้าจอคอมครับ”

“จริง ๆ พื้นที่ต่าง ๆ ในบ้านมันมันปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบการใช้ชีวิตของช่วงวัยของผม ด้วยความที่เริ่มสนใจงานไม้ ก็เลยต้องการพื้นที่ในการทำงานให้คล่องตัวกว่าเดิม แล้วช่วงนั้นมีลูกสาวด้วย ก็เลยปรับให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยไปด้วยเลย ก็จะมีชั้นลอยสำหรับอยู่อาศัยอยู่ แล้วเราก็รู้สึกว่าคงจะพิเศษนะถ้าเกิดลูกสาวโตมาในสภาพแวดล้อมที่ข้าวของเครื่องใช้มาจากฝีมือของพ่อทั้งหมด”


งานไม้คือศิลปะและวิถีชีวิต

ศิลปะมันก็คือเส้น รูป รส กลิ่น เสียง นี่คือมุมมองของแอ็คที่ดูจะแตกต่างจากคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้เข้าถึงงานศิลปะ ความเข้าใจที่ดูจะลึกซึ้งแต่ถ้ามองตามความเป็นจริงแล้วมันกลับเป็นเรื่องที่ถูกต้องแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ตัวอย่างเช่น การจัดเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภายในบ้านมันก็ทำให้สามารถเปลี่ยนบรรยากาศโดยรวมของสถานที่นั้น ๆ ไปได้เลย 

นอกจากนั้นแล้วงานไม้ยังเป็นสิ่งที่ผูกพันธ์กับวิถีชีวิตมนุษย์มาอย่างยาวนานเช่นกัน

“จริง ๆ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่บรรพบุรุษของพวกเรา สมัยอยู่กับทุ่งหญ้า อยู่กับพื้นป่า ใกล้ที่ก็สุดรุ่นปู่รุ่นย่าของพวกเรา พวกเขา การดำเนินชีวิตในตอนนั้นหรือการทำเกษตรทุกอย่างเป็นเครื่องไม้ทั้งหมด ทุกคนจะมีสกิลช่างไม้กันทั้งหมด แต่พอมาเป็นรุ่นเรากลับถูกตัดขาดจากสิ่งเหล่านี้ กลายมาเป็นสังคมเมืองมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะโหยหาการกลับไปอยู่ร่วมกันแบบธรรมชาติกับวัสดุธรรมชาติเหมือนเดิมครับ”


เสน่ห์งานไม้ของนครสังข์ 

เสน่ห์และความพิเศษของนครสังข์มันคือการทำงานแบบชิ้นต่อชิ้น ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้แบบเฉพาะตัว ตอบโจทย์ความต้องการอันหลากหลาย และมีความแตกต่างจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ทั่ว ๆ ไปที่ทำมาสำเร็จรูป

“ความต้องการของคนทุกคนมันไม่เหมือนกัน ความชอบของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พื้นที่ของบ้านแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เราก็เอาชุดข้อมูลตรงนี้มาทำงานได้โดยตรง ส่วนอีกข้อหนึ่งคืองานของเราทำแบบชิ้นต่อชิ้น ตัวราคาที่เรานำเสนอไปมันก็เป็นราคาที่สามารถเลือกชิ้นไม้ให้เหมาะกับส่วนแต่ละส่วนของชิ้นงานนั้นได้สามารถใช้เวลาเก็บรายละเอียดของชิ้นงานได้ มันเป็นเป็นสิ่งที่พิเศษ ทำให้ผมรู้สึกว่าได้มอบสิ่งดี ๆ ให้กับผู้คนเหล่านั้นครับ”


ความแตกต่างของไม้แต่ละชนิด 

ไม้ก็มีความแตกต่างกันออกไปตามชนิดของสายพันธุ์ ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการเพาะปลูก มีความแข็งความอ่อนที่แตกต่างกัน และส่งผลต่อการนำมาเลือกใช้งานตามประเภทต่าง ๆ ของเฟอร์นิเจอร์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เครื่องเรือนขนาดไม่ใหญ่ก็จะใช้เนื้อไม้ที่น้ำหนักเบา ส่วนพวกงานโครงสร้างจะใช้ไม้ที่มีความแข็งแรง

แต่สำหรับที่นครสังข์จะเลือกใช้ไม้จากทางยุโรป เป็นการอิมพอร์ตเข้ามาทั้งหมด


การสร้างงานจากไม้ ไม่ใช่การทำลายป่า

หลาย ๆ คนอาจจะยังมีความเข้าใจว่าการใช้ไม้คือการตัดไม้ทำลายป่า แต่จริง ๆ ไม้เหล่านั้นมันถูกนำมาจากไม้ป่าปลูก อธิบายคือไม้ใน 1 ชั่วรุ่นคน สามารถปลูกทดแทนได้ 2 หรือ 3 ชุด ดังนั้นไม้จึงเป็นวัสดุที่มนุษย์สามารถปลูกทดแทนขึ้นใหม่ได้ อีกทั้งยังสามารถให้มนุษย์อยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

“โมเดลที่มนุษย์อยู่ร่วมกับทรัพยากรไม้ ประเทศแถบสแกนดิเนเวียและประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในแนวทางนี้ เขาใช้ไม้ต่อหัวเยอะมาก แต่ว่าประเทศเหล่านั้นยังคงความพื้นที่สีเขียวติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกมาโดยตลอด ดังนั้นนอกจากเราจะได้วัสดุมาใช้ในการสร้างบ้านเรือนแล้ว มันยังช่วยขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจ ทั้งศิลปะวัฒนธรรมในระดับรากด้วย

ในอนาคตผมคิดว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่แค่เฉพาะช่างไม้ที่เป็นคนพูด อาจจะต้องอาศัยนักเล่าเรื่องเพื่อสื่อสารให้คนอื่นได้เข้าใจ เพราะไม่แน่ว่าในอนาคตลูกหลานเราอาจจะมีวัสดุที่ดีไว้ใช้งาน และมีวัสดุที่ดีในการสร้างที่อยู่อาศัยด้วยครับ”


ขั้นตอนการออกแบบ

“ข้อแรกการทำเครื่องเรือน สิ่งที่คำนึงถึงอย่างแรกเลยคือวิธีการใช้งานก่อน จะออกมาเป็นอะไร ขนาดสัดส่วนเท่าไหร่ โครงสร้างแบบไหน รับรองความแข็งแรงได้ขนาดไหน แล้วก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาขึ้นโครงสร้างหรือใส่องค์ประกอบศิลป์เข้าไปด้วย หลังจากนั้นก็มาเลือกไม้ให้เหมาะกับชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เราวางไว้ จากนั้นก็เป็นกระบวนการของการลงมือทำในสตูดิโอ จนมาจบเป็นชิ้นงานที่นำไปใช้งานได้ครับ” 

“ส่วนอีกข้อหนึ่งก็ในฐานะช่างไม้ ต้องมาดูว่าไม้มาจากไหน เพราะไม้มาจากเมล็ดพันธุ์เติบโตผ่านวันเวลา คือรอบการตัดของไม้เนื้อดีหน่อยก็จะอยู่ที่ 20 ปี 30 ปี หรือ 40 ปี บางต้นเป็นร้อยปีเลยก็มี มันคล้ายกับการที่ศิลปินเก็บสะสมประสบการณ์แล้วเอามาถ่ายทอดเลยครับ”

ไม้ก็เปรียบเสมือนคนที่บ่มเพาะประสบการณ์เอาไว้มากมาย เราสามารถดูได้เลยว่าไม้อยู่กับดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มามากขนาดไหน มีการดูแลอย่างไรมาบ้าง ทุกอย่างจะถูกบันทึกลงไปอยู่ในเนื้อไม้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม้ร้อยแผ่นก็จะไม่มีแผ่นไหนที่มีลวดลายเหมือนกันเลย กลายเป็นคาแรคเตอร์ที่ติดลงไปในชิ้นงานไม้ที่บอกได้ว่ามีแค่ชิ้นเดียวในโลก

ส่วนระยะเวลาในการทำก็จะมีตั้งแต่ 1 สัปดาห์ไปจนถึงเดือนครึ่ง ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับรายละเอียดของสินค้าเป็นหลัก ซึ่งลูกค้าก็จะต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวได้ด้วย


อุปกรณ์การสร้างงานไม้

อุปกรณ์การสร้างงานไม้หลัก ๆ จะสามารถแยกได้อยู่ 2 ประเภท

1.Power Tools

เครื่องมือที่ใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อนจากพลังงานไฟฟ้า ให้ความรวดเร็ว มีความแรงมากกว่ากำลังของมนุษย์ เช่นเครื่องตัดไม้ เป็นต้น

2.Hand Tools

เครื่องมือที่ต้องอาศัยจังหวะการเคลื่อนไหวของมนุษย์ เพราะฉะนั้นจะใช้เวลานานกว่า Power Tools อย่างแน่นอน แต่ก็จะให้ความปราณีต ให้ความละเอียดที่มากกว่า


เทคนิคการเข้าไม้

หากใครสังเกตงานไม้ให้ดี ๆ จะพบว่ามีอยู่หลาย ๆ ชิ้นงานที่เราไม่เห็นน็อตซักตัวอยู่ในงานเหล่านั้น เพราะพวกเขาใช้เทคนิคการเข้าไม้นั่นเอง

“การเข้าไม้คือการใช้ไม้ 2 ชิ้นเบียดเข้ากันและประสานด้วยกาวยางสังเคราะห์ ขึ้นฟอร์มมาด้วยเสี้ยนไม้ชิ้นเล็ก นำมาประสานด้วยกาว มันก็คือการคืนฟอร์มเดิมของการขึ้นลำต้น เป็นการยึดไม้เป็นเนื้อเดียวกัน รูปแบบหรือกระบวนการเหล่านี้มันคือภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และมันยังใช้ได้ดีในยุคปัจจุบันอยู่ครับ”

“การเข้าไม้ทำให้ไม้ประสานเป็นเนื้อเดียวกันเลย การยืดหดมันก็จะสัมพันธ์กันตามไปด้วย ส่วนการใช้น็อตที่เป็นเหล็กมันจะยืดหดไม่ได้ จนทำให้เฟอร์นิเจอร์จะมีอาการสั่นคลอนแบบที่เราเห็นกันประจำครับ”


การดูแลรักษาไม้

การดูแลรักษาไม้ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เราใช้น้ำมันธรรมชาติเช็ดไม้แค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น การเช็ดน้ำมันธรรมชาติหรือการคืนความชุ่มชื้นไม้มันคือการเรียกสีเดิมของไม้ให้กลับมา


งานไม้สร้างสมาธิ

นอกจากจะตอบสนองความชอบของแอ็คแล้ว การทำงานไม้ยังได้มอบสมาธิที่มีผลต่อการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน มันต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อจากของมีคม ทำให้ทุกอย่างที่วนเวียนอยู่ในหัวจะถูกตัดออกไปโดยอัตนมัติ และการทำงานไม้มันคือการเคลื่อนไหวจังหวะเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ครั้ง เป็นพื้นฐานเดียวพระสายปฏิบัติสมาธิ 

“จังหวะในการทำงานหรือช่วงเวลาในสตูดิโอมันคือช่วงที่เราใช้พักผ่อน อย่างถ้าไปเที่ยว ไปพักผ่อนได้แบบ 3 วันก็จะเริ่มคิดถึงห้องทำงาน คิดถึงกลิ่นไม้ มันคล้าย ๆ เป็นเรื่องการพักผ่อนของเรามากกว่าครับ”


ต่อยอดสู่การเปิด WORK SHOP

สำหรับคนที่สนใจมาเข้า Work Shop ส่วนมากจะเล็งเห็นถึงวิธีการทำที่แตกต่างจากท้องตลาดทั่วไป โดยเฉพาะวิธีการเข้าไม้ และดีเทลต่าง ๆ ของไม้ที่จะเป็นส่วนช่วยรูปแบบการทำงาน

“จริงๆ Work Shop แบบเป็น Private ดังนั้นเราก็จะต้องมาดูตามตารางงานเราด้วย ดูว่าช่วงไหนเรารับได้กี่คน”

“ผมอยากกระจายต่อนะครับเรื่องไม้ป่าปลูกที่เล่าไป ผมเจอลูกค้าต่อปีไม่กี่คน ได้มีโอกาสพูดไม่กี่เรื่อง และเราก็ส่งชุดความคิดทัศนคติสู่คนเล่าเรื่องอีกคนหนึ่ง ได้เล่าถึงคุณสมบัติของไม้มันดียังไง ได้เล่าถึงพื้นที่ปลูกทดแทนอะไรประมาณนี้ครับ”


คำแนะนำ

“ผมคิดว่าปัจจุบันด้วยเครื่องมืองานไม้มันค่อนข้างยืดหยุ่น เสียงไม่ดังมาก ฝุ่นก็ไม่ได้มากขนาดนั้นเช่นกัน แล้วก็พวกเครื่องเรือนก็มีขนาดตั้งแต่ชิ้นใหญ่, ชิ้นกลาง และชิ้นเล็ก ดังนั้นเราสามารถเลือกวิธีการทำให้เหมาะกับพื้นที่ที่เรามีได้”

“แล้วผมคิดว่าหัวใจสำคัญก็คือเราต้องเรียนรู้วิธีการทำงาน และวิธีการสร้างงานด้วยสองมือ ถ้าเกิดทำจนรู้สึกหลงรัก รู้สึกชอบ สุดท้ายแล้วความชอบมันจะพาไปแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้เองครับ”


สำหรับใครที่สนใจพูดคุยหรือชมงานไม้จากนครสังข์ สตูดิโอ สามารถไปติดตามได้ที่ www.nakornsangstudio.com รวมไปถึงช่องทางโซเชียลมีเดียทั้ง Instagram และ Facebook

ทาง Unlockmen ขอขอบคุณคุณแอ็ค ที่เปิดบ้านต้อนรับพวกเราให้เข้าไปเรียนรู้งานศิลปะจากไม้ในครั้งนี้ด้วยครับ


Photographer : Krittapas Suttikittibut

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line