Entertainment

เรื่องราววัยเด็กที่มีอิทธิพลต่อหนัง TIM BURTON ผู้กำกับมือฉมังและหนังที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน

By: unlockmen October 2, 2018

เราทุกคนต่างอยากมีตัวตนที่ชัดเจน ชนิดที่ว่าใครก็ต้องจำได้เมื่อเอ่ยชื่อของเรา นั่นอาจจะเป็นเพราะเรามีการแต่งตัวสุดเท่ เราเป็นนักเล่าเรื่อง คุยสนุก อารมณ์ขัน ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน คงจะมีไม่กี่คนที่เอาความชอบ เอาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของตัวเอง มาสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้จริง ๆ เพราะมันโคตรจะเป็นชีวิตในฝันเลยล่ะ ทำอะไรที่เรารัก ขายเอกลักษณ์ของตัวเอง และคนอื่นก็ชอบมันมากพอที่จะจ่ายเงินให้กับความเป็นตัวของเราเอง

หากเป็นวงการเพลงก็คงจะเป็นศิลปินที่ขายความเป็นตัวเอง แต่ถ้าหากเป็นวงการภาพยนตร์ คงไม่พ้นผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตัวเอง ถ้าพูดแบบนี้ชื่อแรก ๆ ที่โผล่มาในหัวคงจะเป็น Tim Burton อย่างแน่นอน UNLOCKMEN จะพามาทำความรู้จักกับเขา และสืบหาถึงที่มาของเอกลักษณ์สุดเจ๋ง ที่เราได้เห็นจากผลงานการกำกับของเขาในทุกเรื่อง ที่มันช่างโดดเด่นเป็นตัวเองอย่างมาก

ก้าวเข้าสู่วงการจอเงิน

หากเอ่ยชื่อ TIM BURTON ขึ้นมาเราอาจไม่ได้ยินชื่อเสียงของเขาในด้านความเก่งกาจของการกำกับ การเขียนบท อะไรทำนองนั้นสักเท่าไหร่ แต่เรามักจะคุ้นเคยชื่อของเขาในด้านของความมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นในภาพยนตร์ของเขาอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเห็นโปสเตอร์ก็พอจะเดาได้แล้วว่านี่คือผลงานกำกับของเขา 

เขาเป็นผู้กำกับชาวอเมริกัน ที่เริ่มต้นการทำงานด้านแอนิเมชันมาก่อน เขาเองเรียนเกี่ยวกับการทำแอนิเมชันโดยตรง จาก California Institute of the Arts เขาได้ทำหนังสั้นเรื่อง Stalk of the Celery Monster จนไปเตะตา Disney เข้าอย่างจัง จึงถูกดึงตัวเข้าไปอยู่ในส่วนของแอนิเมชันนั่นเอง เจ๋งไม่เจ๋งงานแรกก็ได้ร่วมงานกับค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Disney เข้าแล้ว 

ในช่วงที่เขายังอยู่ฝ่ายแอนิเมชัน เขามีโอกาสได้ช่วยงานในเรื่อง The Fox and the Hound (1981) และ The Black Cauldron (1985) เขาฉายแววอีกครั้งจนได้รับโอกาสทำภาพยนตร์ของตัวเอง จนเกิดเป็นแอนิเมชันเรื่อง Vincent (1982) และ Live Action เรื่องแรกอย่าง Frankenweenie (1984)

“ตอนอยู่ที่ Disney ในช่วงแรก ๆ มันเหมือนได้อยู่ในเทพนิยายเลยล่ะ ตอนนั้นผมได้ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ ได้วาดอะไรที่อยากวาด จนกระทั่งมีโอกาสได้ทำ Vincent และ Frankenweenie”

“มันก็รู้สึกแปลก ๆ นะ ที่ผมได้ทำในสิ่งที่รู้ว่าจะไม่มีใครดู แต่ผมก็ยังได้รับโอกาสทำมันอยู่อย่างนั้น”

เราอาจจะคิดว่าเขาเก่งแต่หนังแฟนตาซีหลุดโลกเท่านั้น แต่อย่าลืมเรื่อง Batman (1989) เวอร์ชั่นที่นำแสดงโดย Michael Keaton ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีไม่แพ้กัน และจุดพีคของเขามาถึงเมื่อ Edward Scissorhands (1990) ได้ออกสู่สายตาคนทั่วโลก เนื้อเรื่องและมู้ดแอน์โทน ยังคงความเป็นตัวเองได้ดีเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ แต่เรื่องนี้ค่อนข้างดูง่ายกว่าเรื่องอื่น จึงค่อนข้างติดตลาดจนทำให้ชื่อของ Tim Burton พร้อมกับรูปลักษณ์ของเขาติดตาคนดูว่าถ้าเป็นเขา จะเป็นหนังโทนนี้เสมอ 

หลังจากนั้นเขาก็มีผลงานออกมาให้เราได้ดูกันเรื่อย ๆ อาจจะแป้กในแง่รายได้ แต่ถ้ามองในมุมของหนังบันเทิง มันก็ถือว่าใช้ได้และทำให้แฟน ๆ ได้กลับมาสัมผัสเอกลักษณ์ความเป็นเขาอีกครั้ง

ความ Tim Burton

เอกลักษณ์ของเขาถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทั้งตัวละคร ฉาก และมู้ดแอนด์โทนของเรื่อง ที่มักจะเป็นภาพหม่น ๆ สีสันไม่ฉูดฉาด แต่พอเรื่องไหนที่เป็นแฟนตาซีก็จะฉูดฉาดแบบใช้สีคู่ตรงข้ามเป็นหลัก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่ลืมใส่ความโกธิคลงไปในเสื้อผ้าของตัวละคร เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน กระเบื้องลายตารางหมากรุก

รวมไปถึงคาแร็กเตอร์ของตัวละครที่มักจะมีตัวเอกที่เพี้ยนสุด ๆ หรือคาแร็กเตอร์โดดเด่นจากคนอื่นในเรื่องอย่างชัดเจน พ่อแม่ที่ไม่อาจเรียกได้ว่าครอบครัวในอุดมคติ สาวผมบลอนด์ที่จะโผล่มาเป็นกุญแจสำคัญในเรื่อง รวมไปถึงการเล่าเรื่องราว Flash Back ในวัยเด็ก 

ทุกอย่างที่เล่ามามันเป็นอะไรเดิม ๆ ที่เราเจอได้ในทุกเรื่องที่เขากำกับ แต่นั่นยิ่งทำให้แฟน ๆ หลงรักเขามากขึ้นไปอีก ที่สามารถใส่เอกลักษณ์ของตัวเองเข้าไปได้ในทุกเนื้อเรื่องอย่างกลมกลืน

ความหลังฝังใจในวัยเด็กที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์

ก่อนที่เอกลักษณ์ในภาพยนตร์ของเขาจะเป็นที่ยอมรับของค่ายและคนดูได้ขนาดนี้ เขาเองก็ต้องต่อสู้กับ “ความไม่อิน” มานักต่อนักเหมือนกัน ย้อนกลับไปในปี 1984 กับเรื่อง Frankenweenie เขาโดนตำหนิว่าหนังของเขามันมืดและน่ากลัวเกินไปสำหรับกลุ่มผู้ชมที่เป็นเด็ก แม้ว่าหนังเหล่านั้นจะทำให้เขาคว้ารางวัลนู่นนี่มาได้ก็ตาม

แม้เขาจะมีพรสวรรค์ด้านศิลปะอย่างล้นเปี่ยม ได้เรียนในโรงเรียนเฉพาะด้านศิลปะ เหมือนกับว่าเขาจะเติบโตมาในครอบครัวของศิลปิน แต่เขากลับอยู่ในครอบครัวที่พ่อเป็นนักบาสเกตบอลตัวยง ส่วนแม่ของเขาเปิด Gift Shop ของแมว ฟังดูแปลก ๆ ใช่มั้ย ไม่ใช่แค่เราหรอก แม้แต่ตัวของเขาเองก็ยังรู้สึกแปลก ๆ ที่แม่ของเขาเปิดร้านขายของเกี่ยวกับแมวในแคลิฟอร์เนียร์บ้านเกิดของเขา เพราะมันก็ไม่ได้ขายดีซะด้วยสิ

“Mr. and Mrs. Frankenstein เป็นเรื่องราวของตัวละครที่สะท้อนภาพของพ่อแม่ผมได้ดี แม้ในบางเรื่อง ผมค่อนข้างไม่ลงรอยมากกว่าในหนังอีกก็เถอะ ส่วนเจ้าหมาในเรื่องอย่าง “Peppi” ก็เป็นตัวละครที่มาจากสัตว์เลี้ยงในวัยเด็กของผม ถ้าผมเอามันกลับมาได้ ผมก็คงให้มันแสดงในหนังจริง ๆ ไปเลย”

แค่นี้ก็พอจะรู้สึกได้แล้วว่าเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับพ่อแม่สักเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะว่าเขาเกลียดชังพ่อแม่ของตัวเอง แต่ด้วยการกระทำหลาย ๆ อย่างที่เขาได้รับในวัยเด็ก มันทำให้ความทรงจำที่ชัดเจนเกี่ยวกับพ่อแม่ของเขาในตอนเด็กนั้น มักจะเป็นเรื่องที่ไม่ชวนให้อบอุ่นหัวใจสักเท่าไหร่

อีกเรื่องที่เขาจำได้ชัดเจน ในห้องนอนของเขาจะมีหน้าต่างที่มองออกไปเห็นสวนด้านนอกได้ แต่แล้ววันหนึ่งมันกลับโดนปิดตาย เหลือไว้เพียงหน้าต่างแคบ ๆ มาแทนที่ และเขามักจะถูกสั่งให้อยู่แต่ในห้อง เขาเองก็ไม่เคยเอ่ยปากถามถึงเหตุลที่พ่อแม่ทำแบบนั้น เขาสันนิษฐานว่า พ่อแม่คงไม่อยากให้เขาหนีออกจากบ้านเหมือนกับเด็กคนอื่น

จะเห็นได้ว่า การที่เขาไม่ได้เป็นคนดื้อแพ่งกับพ่อแม่นัก มีเพียงคำถามต่อต้านอยู่ในใจ แต่คำถามเหล่านั้นกลับไม่เคยถูกเอื้อนเอ่ยออกไป ทำให้เขาถ่ายทอดความอัดอั้นตันใจมาในรูปแบบอื่น ๆ

เห็นชัดที่สุดคงจะเป็นลายเส้นของเขา จนกระทั่งได้มาจับงานกำกับเอง เขาก็ทำให้ลายเส้นของเขาออกมาเป็นจริงได้อย่างที่เราได้เห็นกัน เราจะรู้สึกถึงกลิ่นอายของความอึมครึม ความตลกร้าย คาแร็กเตอร์ที่ออกจะประหลาดของตัวละคร รวมถึงดีเทลเล็กน้อยอย่าง เสื้อผ้าแนวโกธิก บ้านที่เต็มไปด้วยของตกแต่งสีสันสดใส ท่ามกลางเนื้อเรื่องที่มันดาร์คเสียเหลือเกิน อะไรพวกนั้นที่แฟน ๆ อย่างเราคุ้นเคยกันดี

รวมถึงเรื่องราว Flash Back ในวัยเด็ก ก็เป็นอีกตัวอย่างของวัยเด็กที่ไม่น่าจดจำของเขา ที่ยังคงย้อนมามีอิทธิพลกับเขาอยู่เสมอ จนถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการขุดคุ้ยความหลังของตัวละคร เป็นการชดเชยว่าใคร ๆ ต่างก็มีวัยเด็กที่ขาด ๆ เกิน ๆ กันทั้งนั้นแหละ 

“ผมไม่ค่อยกลัวพวกหนังปีศาจสักเท่าไหร่ ผมดูมันได้อย่างมีความสุขเลยล่ะ แต่พอเป็นปีศาจที่มันเกี่ยวกับความทรงจำวัยเด็ก นั่นแหละผมถึงจะกลัว”

ไม่ใช่แค่ Tim Burton เท่านั้น ใครหลาย ๆ คนต่างก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองได้กันทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมาจากปัจจัยใด อย่าลืมว่า การคงความเป็นตัวเองเอาไว้ นั่นต้องไม่ใช่เพื่อความพอใจหรือการยอมรับจากคนอื่น แต่มันควรมาจากความพอใจของเราเอง เหมือนกับเขาที่ยังคงเลือกเอาตัวตนของตัวเองเป็น Main Idea หลักของผลงานตัวเองเสมอ

SOURCE 1,2,3,4,5

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line