Entertainment

ประเทศอังกฤษ เมืองหลวงแห่งไนท์คลับกำลังเผชิญวิกฤตครั้งสำคัญ แม้คลายล็อคดาวน์แล้ว

By: Chaipohn July 30, 2021

แสงสี / ปาร์ตี้อันเย้ายวนใจ / ความเมามาย และเสียงเชียร์กระหึ่มเมื่อทีมบอลในดวงใจคว้าชัยชนะ อาจจะกลายเป็นเพียงภาพในอดีตที่ไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้อีกต่อไป เนื่องจากอุตสาหกรรมไนท์คลับในอังกฤษกำลังถึงกาลอวสาน ทั้ง ๆ ที่เปิดประเทศไปแล้ว

ไม่ใช่เพียงบ้านเราเท่านั้นที่ธุรกิจกลางคืนไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ เพราะขนาดประเทศอังกฤษ เมืองที่มีผับ บาร์ และไนท์คลับคับคั่งประเทศหนึ่งในโลก ต่างก็กำลังเผชิญวิกฤตปิดตายไม่ต่างกัน ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจกลางคืนนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจชั้นดีเสมอมา

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่สามารถเล่นคอนเสิร์ตและผู้ชมสามารถถอดแมสค์เพื่อรับชมคอนเสิร์ตได้ ไหนจะรับวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว แต่ทำไมธุรกิจกลางคืนยังไม่สามารถกลับมาเปิดได้ ซ้ำร้ายยังถูกหลายสื่อฟันธงว่า “มันถึงจุดสิ้นสุดของยุค และธุรกิจไนท์คลับได้ถูกทำลายอย่างย่อยยับไปแล้ว”

 

 

ทำไมธุรกิจไนท์คลับถึงไม่สามารถกลับมาได้เหมือนเดิม ?

เว็บไซท์ของสำนักข่าว Bloomberg ได้ตั้งคำถามถึงวิกฤตขอวธุรกิจสถานบันเทิงเอาไว้อย่างน่าสนใจ สืบเนื่องจากอังกฤษได้ยืนกรานที่จะคืนเสรีภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนให้เป็นปกติ โดยใช้วันดีเดย์คือวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นวันแห่งเสรีภาพ หรือ Freedom Day ด้วยการคลายมาตรการรับมือกับเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการไม่จำกัดจำนวนคนในการชุมนุม ไปจนถึงสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้อย่างเสรี

หากแต่ธุรกิจไนท์คลับนั้นกลับไม่สามารถเปิดได้แบบปกติ 100% เพราะเหตุผลหลายประการ

ประการแรกคือ การติดเชื้อที่ไม่มีวันลดลง

แม้อังกฤษจะเปิดประเทศด้วยการพยายามตอกย้ำว่า “เราต้องอยู่กับโรคระบาดนี้ให้ได้” แต่จำนวนผู้ป่วยนั้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 50,000 รายต่อวันอีกครั้ง ซ้ำยังเป็นสายพันธุ์เดลต้า สายพันธุ์ล่าสุดที่แม้จะรับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วก็ยังต้านไม่อยู่ จึงคาดการณ์กันว่า ไวรัสนี้จะทำให้กลับมาระบาดหนักจนต้องล็อคดาวน์อีกครั้ง

ไนท์คลับที่เป็นปลายน้ำของห่วงโซ่สังคม หลายต่อหลายแห่งที่กำลังเตรียมตัวเปิดประตู กลับต้องเหยียบเบรคกระทันหันทันทีเมื่อกราฟของผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงมากขึ้นอีกครั้งในรอบ 6 เดือน เพราะการแออัดยัดเยียดของผู้คนในสถานที่แคบนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างคลัสเตอร์อยู่ตลอดเวลา

“พวกเราต่างรอคอยที่จะถึงวันแห่งเสรีภาพ แต่สถานการณ์ตอนนี้ทำให้เรากลัวว่าทุกอย่างจะกลับมาพังเหมือนเดิม จนสุดท้ายเราก็เลือกที่จะเลื่อนเปิดไปจนกว่าสถานการณ์จะนิ่งกว่านี้” ผู้ประกอบการแห่งหนึ่งกล่าวอย่างเศร้าใจ


ประการที่ 2 รัฐไม่เยียวยาและเห็นค่าของธุรกิจกลางคืน

ในสถานการณ์ปกติ หากคุณอยู่ที่อังกฤษ แน่นอนว่าชีวิตคุณต้องทิ้งตัวอยู่ในสถานบันเทิงที่ไหนสักแห่งแน่ ๆ เพราะผับ บาร์ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็จะเบียดเสียดไปด้วยผู้คนมากมายที่ต้องการสังสรรค์หรือเสพย์งานดนตรีที่ตัวเองชื่นชอบ โดย Britain’s Night Time Industries Association เปิดเผยตัวเลขว่าในแต่ละปีนั้นธุรกิจกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจคอนเสิร์ต / ผับบาร์ / ร้านอาหาร / โรงละครต่าง ๆ สามารถสร้างเม็ดเงินต่อปีในระดับ 9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ ประมาน 2.9 ล้านล้านบาท โดยมีบุคลากรที่ประกอบอาชีพในวงการนี้ร่วม 1.3 ล้านคน ธุรกิจกลางคืนได้สร้างระบบนิเวศน์อันแข็งแกร่งให้กับประเทศ แต่เมื่อการระบาดเกิดขึ้น ธุรกิจจำต้องปิดตัวในช่วงล็อคดาวน์ แต่กลับได้รับการเยียวยาน้อยอย่างน่าใจหาย

“ผมไม่คิดว่าเราถูกลืม พวกเขาแค่ไม่สนใจ…น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่เข้าใจว่าเราเป็นอุตสาหกรรมมูลค่า 6 หมื่นล้านปอนด์” Simeon Aldred จาก Printworks London หนึ่งในสถานที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกล่าวกับ BBC ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ

“มันเหนื่อยไม่ใช่น้อยกับการที่รัฐบาลบอกว่า ‘เริ่ม’ ‘หยุด’ ‘เริ่มเดี๋ยวนี้’ ‘หยุด’ เพราะทุกครั้งที่เกิดขึ้น เราจะสูญเสียเงินหลายสิบล้านปอนด์” Simeon Aldre ทิ้งท้ายกับสถานการณ์ชักเข้าชักออกของรัฐบาลที่มีต่อมาตรการโรคระบาดที่ไม่รัดกุม

“รู้สึกเหมือนเราเป็นพลเมืองชั้นสอง ทั้งๆที่เราให้รายได้มหาศาลแก่รัฐบาล และเราเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมขนาดใหญ่สำหรับประเทศนี้ เสียงของเราเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แต่ผู้นำของเรากลับไม่เห็นความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น” Jax Jones ดีเจชื่อดังที่ชีวิตผูกขาดอยู่กับไนท์คลับ ก็ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยอาการหัวเสีย


ประการที่ 3 ผู้ประกอบการถอดใจ

การหยุดกิจการไปเกือบ 15 เดือนของสถานบันเทิง นำพาให้คลับหลายที่พากันปิดกิจการ หนึ่งในนั้นก็คือ The Welly คลับในตำนานที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1913 ก็ต้องปิดกิจการลงเมื่อกรกฎาคมปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของทั้งโรคระบาดและการดำเนินการของรัฐ นำพาให้คลับหลายแห่งเลือกขายกิจการดีกว่าจะแบกรับภาระหนี้สิน เพราะเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา หลายสถานที่ได้ทำการทดลองเปิดแล้ว หลายแห่งต่างควักเงินกว่า 40,000 ปอนด์เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปิดครั้งนี้ แต่สุดท้าย ผู้คนก็ยังไม่กล้าที่จะเข้ามากัน นำมาสู่การตัดสินใจเลิกกิจการ ส่งผลกระทบไปสู่การว่างงานกว่าแสนราย


หากไม่หมดหวังพลังจะตามมา

ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยโฆษกรัฐบาลอังกฤษได้เผยแผนระยะยาวในการเยียวยาลมหายใจของธุรกิจกลางคืนให้กลับมาอีกครั้งเช่นกัน หากแต่พวกเขาวางเอาไว้เป็นสเต็ปที่ 4 ซึ่งหลายคนมองว่าไม่ทันการ

แต่ท่ามกลางความมืดมิดที่ไร้แสงสว่าง หน่วยงานเอกชนมากมาย ตั้งแต่นายทุน ศิลปิน ไปจนถึงภาคส่วนประชาชนเอง กลับไม่ต้องการให้ลมหายใจแห่งวัฒนธรรมนั้นสูญหายไป กิจกรรมมากมายเกิดขึ้นมานับตั้งวันที่ยังไม่มีวัคซีน

หรืออย่าง The Welly ที่ท้ายที่สุด Tokyo Industries บริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ซื้อกิจการในภายหลัง โดย Aaron Mellor เจ้าของ Tokyo Industries ได้กล่าวว่า “ผู้จัดการธนาคารของผมคิดว่ามันบ้ามากที่จะซื้อที่นี่…แต่ผมอยากจะเก็บตำนานบทนี้เอาไว้ต่อไป”

ย้อนกลับมาที่บ้านเมืองเรา ธุรกิจกลางคืนถูกวางตัวเป็นผู้ร้ายและอยู่ขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลเสมอมา เราได้แต่หวังว่าภาครัฐจะหันกลับมาสนใจธุรกิจนี้และช่วยเยียวยาบ้าง แม้กระทั่งโฆษกรัฐบาลของประเทศอังกฤษเองก็ต้องการให้วัฒนธรรมกินดื่มนี้กลับมาเรืองรองอีกครั้ง เพราะไนท์คลับไม่ใช่เพียงการเติมเต็มชีวิตอันแสนน่าเบื่อเท่านั้น แต่ยังสร้างวัฒนธรรม และการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้คนมากมายอีกด้วย

เพราะพวกเราทุกคนถูกปล้นสีสันของชีวิตมายาวนานเกินไปแล้ว

 

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line