Entertainment
“หนังโคตรมันแต่ผมดันจำชื่อใครไม่ได้เลย”อาการหลงลืมตัวละครหรือคนบางคนในชีวิตจริง
By: TOIISAN March 23, 2020 179787
เมื่อไม่กี่วันก่อนพวกเราชาว UNLOCKMEN คุยกันเรื่องซีรีส์เรื่องหนึ่งที่กำลังฮิตติดลมบนอยู่ในเวลานี้อย่าง Kingdom ผลงานจากประเทศเกาหลีใต้ที่ฉายทางระบบสตรีมมิง Netflix พวกเราพูดถึงฉากแอกชันโคตรเดือดกับการตามกำจัดซอมบี้และช่วงชิงบัลลังก์ของเจ้าชาย แต่น่าแปลกบทสนทนาเกี่ยวกับหนังแทบจะไม่มีชื่อตัวละครหลุดออกมาจากปากใครเลย
เรารับรู้เพียงแค่ว่าหนังสนุก พูดคุยถึงตัวละครในหนังกันอย่างออกรสทั้งพระเอกเป็นเจ้าชาย นางเอกเป็นหมอ ชายแก่เป็นอาจารย์ของพระเอกกับหมอหญิงอีกที ตัวร้ายคืออัครเสนาบดีกับลูกสาวที่เป็นพระมเหสี และคนต้มเล้งแซ่บ ซึ่งผลของบทสนทนาคือแทบไม่มีใครจดจำชื่อตัวละครทั้งหมดได้เลย
เพราะไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าตัวละครแต่ละตัวมีชื่ออะไรกันบ้าง (ยกเว้นหมอหญิงซอบีที่ถูกเอ่ยชื่อบ่อยในเรื่อง) UNLOCKMEN จึงเกิดความสงสัยว่าเพราะอะไรคนส่วนใหญ่ถึงไม่สามารถจดจำใบหน้าหรือชื่อของตัวละครเท่าไหร่นัก? ยิ่งเข้าสู่ฉากช่วงกลางคืนด้วยแล้วแทบจะแยกไม่ออกเลยว่าใครเป็นใคร และความสงสัยทำให้เราอยากรู้เรื่องอาการนี้มากขึ้น
ไม่ใช่แค่เรื่อง Kingdom เท่านั้นที่ทำให้ผู้ชมสับสนว่าใครเป็นใคร แต่สำหรับแฟนหนังจำนวนไม่น้อยมีอาการสับสนเวลาดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไปสักพักและจำไม่ได้ว่าตัวละครมีชื่อว่าอะไร หรือเพราะในเรื่องมีคนหน้าตาท่าทางคล้ายกันจนทำให้ไม่มั่นใจว่าใครเป็นใคร
บางครั้งงงหนักขึ้นไปอีกว่าตัวละครนี้มันโผล่มาอย่างไรแม้ตัวละครนี้มันเคยออกมาแล้วแต่เราลืมเอง แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะอาการทั้งหมดเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นได้ทั้งนั้น
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยยอร์กแห่งสหราชอาณาจักร (University of York) พบเจอกับปัญหานี้ไม่ต่างกับเรา พวกเขาจึงเริ่มหาเหตุผลว่าเพราะอะไรเราถึงลืมหน้าคนได้ง่าย ๆ ด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างนึกถึงใบหน้าของพี่น้องหรือญาติสนิท และจดจำใบหน้าเหล่านั้นให้มากที่สุด
จากนั้นดูหน้าตาของเหล่าคนมีชื่อเสียงจากหลายวงการทั้งนักแสดง นักร้อง นักข่าว นักการเมืองและคนทั่วไปที่ไม่เคยเข้ามาข้องเกี่ยวในชีวิตมาก่อน จากนั้นทำแบบสำรวจว่าแต่ละคนสามารถจดจำใบหน้าได้มากแค่ไหน ผลออกมาว่ามีคนจากกลุ่มตัวอย่างจำหน้าคนได้มากถึง 5,000 หน้า
แม้จะมีคนจดจำใบหน้าได้มาก 5,000 หน้า แต่เมื่อถามลงไปว่าแต่ละคนที่จำได้เป็นใครมาจากไหนความแม่นยำจะลดลงเรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่จดจำหน้าและชื่อของญาติตัวเองได้มากที่สุดเพราะคุ้นเคยมาหลายสิบปี รองลงมาคือกลุ่มคนมีชื่อเสียง หลงลืมชื่อกับใบหน้าของกลุ่มที่เป็นคนแปลกหน้าไม่มีชื่อเสียง
ความน่าสนใจของการทดสอบนี้อยู่ในกลุ่มสุดท้าย เพราะใบหน้าส่วนใหญ่ที่คนจำได้มักมีหน้าตาโดดเด่นกว่าเกณฑ์ พูดง่าย ๆ คือคนส่วนใหญ่จดจำคนหน้าตาดีได้แม่นกว่านั่นเอง
ความคุ้นเคยเรื่องชาติพันธุ์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจดจำของมนุษย์ด้วย คนขาวส่วนใหญ่มักไม่สามารถแยกหน้าตาของคนเอเชียออกเพราะพวกเขาไม่ค่อยพบเจอคนเอเชียมากเท่าไหร่นัก (ไม่นับรวมฝรั่งที่ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในทวีปเอเชีย) ส่วนคนเอเชียบางคนไม่ค่อยจะแยกฝรั่งส่วนใหญ่เพราะคิดว่าฝรั่งผมทองหน้าเหมือนกันหมดเช่นกัน
คนเอเชียด้วยกันเองก็แยกหน้าคนเอเชียแต่ต่างสัญชาติกันไม่ออก เช่น คนไทยหลายคนไม่สามารถจดจำหน้าของสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีใต้ได้ หรือคนเกาหลีใต้ดูหนังจีนที่ตัวละครเยอะมาก ๆ ก็เกิดอาการสับสน รวมถึงเราชาว UNLOCKMEN ที่ดูซีรีส์ Kingdom เจอผู้ชายแต่งตัวเหมือนกัน มีหนวดเคราเหมือนกันก็จบเลยครับ แยกไม่ออก
ริชาร์ด แฮร์ริส (Richard Harris) ศาสตราจารย์จิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคนซัสสเตท (Kansas State University) ให้ความคิดเห็นน่าสนใจเกี่ยวกับอาการที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นกันได้หมดว่า
“ไม่ต้องโทษตัวเองและอย่าคิดว่าตัวเองโง่ เพราะคุณไม่ได้โง่แต่แค่บางคนไม่มีความจำเป็นที่ต้องสนใจเท่าไหร่นัก เพราะถ้าเป็นคนที่คุณสนใจมันไม่จำเป็นต้องใช้ความจำเลยด้วยซ้ำ”
แม้ความเห็นของศาสตราจารย์แฮร์ริสอาจดูแรง แต่คงปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเราเลือกจดจำบางคนด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น จำพระเอก นางเอก ตัวร้ายหลักเพราะบทเด่น หรือตัวละครที่บทไม่เด่นแต่มีเอกลักษณ์ด้านแฟชั่นหรือบุคลิกไม่เหมือนใคร ซึ่งเรื่องราวที่ดำเนินไปของหนังทำให้เราไม่มีเวลาจดจำนักแสดงสมทบคนอื่น ๆ
แถมอาการที่ว่านี้ไม่ได้เพิ่งมาเป็นกันเพราะดูซีรีส์เรื่อง Kingdom UNLOCKMEN เลือกหยิบหนังเรื่องนี้มาเป็นกรณีตัวอย่างเพราะไม่ว่าคุยกับใครก็จำหน้ากับชื่อตัวละครกันไม่ได้ทั้งนั้น ทำให้เราอุ่นใจครับว่าไม่ได้มีแค่เราที่เบลอ ๆ แต่คนอื่นเขาก็เป็นเหมือนกัน
นอกจากนี้ในชีวิตจริงคนส่วนใหญ่เลือกจำใครสักคนจากความโดดเด่น หน้าตาถูกใจ และฐานะทางสังคม เช่น เราจดจำผู้หญิงสวยมากคนหนึ่งได้แม้จะเห็นหน้าเพียงแค่เสี้ยววินาที หรือการแนะนำตัวเพียงครั้งเดียวของนักการเมืองทำให้เราจำเขาได้ (แต่ลืมคนอื่นที่แนะนำตัวในเวลาเดียวกัน) ปัจจัยเหล่านี้มีผลที่ทำให้สมองเลือกจะจำใครหรือเลือกจะลืมใคร