Featured

“ศาสนา DNA มันคือความ ABSTRACT” คุยกับมง – CREATIVE DIRECTOR ผู้ปั้นพระไร้หน้าถวายองค์ดาไลลามะ

By: anonymK September 10, 2019

พี่ไปเริ่มต้นปั้นพระตอนไหน?

“ไปเป็นเพื่อนเขา ไปปั้น ๆ ขยำ ๆ อยู่ 3 ปี แต่ก็ปั้นพระอย่างเดียว”

ทำไมพี่ต้องปั้นพระ?

“อ้าวแล้วทำไมจะไม่ใช่พระ ทำไมเป็นพระไม่ได้”

“เออว่ะ…”

คำตอบของมง – พงพันธ์ รุ่งหิรัญรักษ์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์จาก Mullen Lowe เอเจนซี่ระดับสากล มีดีกรีเป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และเป็นศิลปินนักปั้น “พระ” ที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์ ทำเอาคนถามอย่างเราเสียทรงแล้วพยักหน้าเห็นด้วย จำได้ว่าตลอดการพูดคุยต้องตั้งสติไปเป็นระยะเพราะโดนซัดคำถามกลับมาแบบไม่ทันตั้งหลักหลายครั้ง และไม่บ่อยนักที่คนสัมภาษณ์อย่างเราจะต้องกลายเป็นคนตอบคำถามจากอีกฝ่ายเสียเอง

ต่อไปนี้เราจะมาคุยเรื่องพระ ศาสนา ความสุข ความทุกข์ กับคนธรรมดาที่อยู่ในวงการโฆษณามา 20 ปี เขามีเหตุให้บังเอิญไปเกี่ยวข้องกับโลกของศิลปะ (ทำงานร่วมกับศิลปินระดับนานาชาติ) และศาสนาเพราะ “Intuition” ล้วนพร้อมการสร้างวีรกรรมแบกพระปั้นเอง 7 กิโลฯ ไปถวายองค์ดาไลลามะที่อินเดียกับมือมาแล้ว

 

“มาทำงานกับผมไหม?”

มงเล่าว่าก่อนจะปั้นพระได้ ก่อนจะได้เป็น curator (นักจัดงานศิลปะ) ทั้งหมดเริ่มจากการตามลุงของเพื่อนซึ่งเป็นเพื่อนของอาจารย์คามิน ชัยประเสริฐไปและได้พบกับอาจารย์เข้า ขากลับตอนจะแยกกัน อาจารย์คามินชักชวนให้ไปทำงานด้วยโดยให้โจทย์ว่า “เขียนคำที่ทำให้คนมีความทุกข์น้อยลง” ส่งกลับโต้ตอบไปมาทุกวัน งานชิ้นนี้กินเวลาประมาณ 1 ปีกับอีก 3 เดือน ก่อนจะนำมาจัดแสดงผลงานนิทรรศการ

“เขาบอกเราว่ามันเรียกว่ามอนโด (Mondo) คือการคุยสนทนาเหมือนพระนิกายเซ็น 2 คน พอใครคนหนึ่งพูดปุ๊ป อีกคนก็มา Reaction กลับเลย แล้วอาจารย์คามินก็เอาคำที่ตอบเขียนใส่บนหัวกะโหลกทำเป็น Exhibition ใหญ่โต ไปแสดงที่โตเกียวด้วย ตอนนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นเลยที่เราไม่คิดว่าจะมาวงการนี้

ตอนทำเดือนแรกมันก็สะเปะสะปะ อะไรวะทำให้คนมีความสุข แต่พอทำไปถึงจุดนึง มันพูดแต่เรื่องจิตอย่างเดียวเลย คนจะมีความสุขได้ก็ต้องจิตอย่างโน้นอย่างนี้ พอย้อนกลับไปดูมันก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดนะ แต่มันเป็นความรู้สึกที่เราส่งไป แล้วเขาส่งกลับมา”

พี่ถามไหมว่าทำไมเขาถึงชวนพี่​ ?

ถาม เดินไปถามเลย เขาบอกว่าให้ลองไปค้างที่บ้าน พอเราไปปุ๊ปก็ถามว่าทำไมชวน เขาตอบว่า “ผมมี intuition” แล้วเขาก็บอกว่าตอนแรกที่เขาชวนยังไม่รู้เลยว่าจะให้ทำอะไร

หลังจากเริ่มเส้นทางสร้างงานศิลปะร่วมกับศิลปิน วันหนึ่งคนโฆษณาอย่างเขาก็มีโอกาสได้เข้าสู่วงการปั้นดิน เพราะไปเรียนเป็นเพื่อนของเพื่อนอีกที จากงานอดิเรกที่ตามเขาไป สุดท้ายก็งานนี้ดึงเขามาอยู่ในวงการศิลปะเต็มตัว และเปลี่ยนมุมมองของคนเอเจนซี่ที่เคยชินกับการขาย “คอนเซ็ปต์” ด้วยอัตตาให้กลายเป็นการใช้ “อนัตตา” ในวงการศิลปะแทน

“บางคนก็มองว่าเป็นพระแห่งความรัก หรือน้องมองว่าแบบเป็นพระที่ใกล้ชิดได้มากขึ้นไม่มีเรื่องของเพศ อุ้มไปก็ยัง ok มันก็แล้วแต่คนตีความ

ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะมีช่วงที่พยายามอธิบายเขา มึงต้องคิดเหมือนกู แต่ตอนหลังมันเป็นเออจะคิดอะไรก็แล้วแต่ มันน่าจะเป็นความหมายแท้จริงของ Art มากกว่า มุมมันมี 360 องศา เรามองไม่เหมือนกันอยู่แล้ว 360 องศานี่คือวงกลม ๆ นะที่จะไปมุมไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นทำไมเขาจะต้องตีความเหมือนกันด้วย นี่คือคำถาม”

การเปิดมุมมองเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์จริงที่เขาเคยไปจัดแสดงงานที่ ISETAN ด้วย เพราะเขาเล่าว่าตอนแรกพยายามอธิบายคอนเซ็ปต์ให้คนมาดูงานที่จัดแสดง คิดเอาล่วงหน้าว่าน่าจะเป็นฝรั่งที่สนใจเพราะราคาค่อนข้างแพง แต่สุดท้ายคนที่ซื้องานชิ้นนี้ไป แถมรูดจ่ายเพิ่มให้อีก 1 หมื่นแบบเร็ว ๆ กลับเป็นคุณป้าคนไทยคนนึงที่ไม่ได้สนใจฟังการอธิบายคอนเซ็ปต์สักนิด แต่พอพูดว่า “เดี๋ยวจะเอาเงินไปซื้อพระไตรปิฎก ป้ากลับตาลุกวาว

“ไอ้ประโยคที่พูดว่า ‘เอาไปซื้อพระไตรปิฎก’ คุยกับคนนี้มันอาจจะไม่ได้ไป touch อะไรเลย แต่คุยกับคุณป้าคนนี้ มัน Make Sense สำหรับเขา”

 

พระไร้หน้า ไร้การปลุกเสกที่บางคนก็ปฏิเสธ บางคนก็ตอบรับ

เบื้องหลังผลงานศิลปะเมื่อไปเกี่ยวข้องกับศาสนาถ้าผิดครรลองเดิมมักจะมีทั้งคนที่เข้าใจและปฏิเสธเสมอ แน่นอนว่าชายที่อุกอาจมาปั้นพระไร้หน้าอย่างเขาก็ต้องผ่านอะไรมากเยอะเช่นเดียวกัน

“โดนครับ ใช่ ชาวพุทธที่เป็นเพื่อนสนิท ที่เคร่ง ๆ ก็มี มีตลอด เคยไปแสดง Hotle Art Fair พื้นที่มันเป็นห้องโรงแรม มันจะมีอ่างอาบน้ำ ที่มันเป็นจากุชชี เราก็มองว่าเอ้อ วางตรงนี้ ก็มีฐานหินอย่างดี ก็มี Inbox มาบอก ‘พี่ รู้สึกอึดอัด’

หรือทำพระแล้วบังเอิญเกิดอุบัติเหตุ รถล้ม ก็จะมีสายโทรศัพท์แทบจะไหม้ ตอนนั้นเข้าโรงพยาบาลเลย ‘บอกแล้วว่าศีลไม่ครบเนี่ยเห็นไหม ต้องปฏิบัติธรรม ห้ามกินเหล้า ห้ามอะไร’ ต้องขนาดนั้นเลยเหรอวะ เออ แต่คือ effect ก็เลยเรียนรู้ว่า ต่อให้พยายามเสนอสิ่งใหม่ก็ตาม แต่มันต้องไม่สร้างความขัดแย้ง มันควรหาประโยชน์จากการกล้าตีความใหม่ให้คุณกล้าจับ กล้าสัมผัส แต่มันยังอยู่บนเส้นของความดี ส่วนว่าเขาจะชอบหรือว่าไม่ชอบ หรือเขาจะเดินมาแล้วอี๋ อันนั้นเป็นสิทธิ์ของเขา เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์

ชอบไม่ชอบเนี่ย ทำไมต้องชอบวะ? ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ถูกป่ะ

มีคนถามว่า พอปั้นพระอย่างนี้ ทำไมปั้นพระถึงไม่มีหน้า ฟอร์มทำไม? เราก็เฮ้ย เราก็ถามตัวเองแล้วได้คำตอบว่าศาสนาพุทธแม่งโคตร Abstrarct เลย ทำไมเราไม่มีพระที่เป็น Abstract แล้วให้คนตีความได้ ทำไมต้องมีหน้า มีตา ทำไมต้องมีเครื่องทรง ถ้าตัวเบสของศาสนา DNA มันคือความ Abstract อยู่แล้ว พระมันน่าจะมีหมวดนี้ให้คนได้เลือก จะไปบูชา ไปตกแต่ง หรือจะไปทำน้ำมนต์ หรือจะเอาไปทำอะไรดี เอาไปทำอะไรก็ได้น่ะในมุมของเขา

ศาสนาหรือธรรมะคือธรรมชาติ มันจะเอาไปใช้ในหมวดไหนมันก็น่าจะได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของจิต มันเป็นธรรมชาติของใจคุณ แล้วถ้าสิ่งที่ทำมันเป็นประโยชน์ เราแค่อยากให้มันสะท้อนอะไรบางอย่างที่อยู่ในใจคุณมากกว่า ไม่ต้องมาหาความหมายที่แท้ทรูของอันนี้หรอก

นั่นคือเหตุผล เวลามีคนถามเราว่าทำไมเราทำพระไม่มีหน้าสักอัน เราบอกว่าเราทำพระมีหน้าทุกองค์ มีหมด ลองไปดูใกล้ๆ ดิ แต่มันไม่ใช่หน้าเรานะ หน้าคนที่มอง ถ้าเป็นเด็กที่ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าเลยก็อุลตร้าแมนเลยนะ นึกออกป่ะ คือมันแล้วแต่ อย่างไปอินเดีย ตอนที่แบกไปถวายองค์ดาไลลามะ เวลาคนอินเดียเห็นเขาไม่ได้คิดว่าเป็นพระพุทธรูปเลยนะ เขาเข้าใจว่ามันเป็นศิวะ เป็นองค์ศิวะ ไอ้การที่เราไม่ยึดติดเพราะเราไปเจอเยอะ ๆ เออแล้วแต่แล้วกัน แต่ถ้ายังเป็นแนวที่ยังเคารพอยู่ก็ดี”

เคยมีไหมที่เอาพระของเราไปถวายแล้วเขางง

“มี ๆ มีคืนมาก็มี แต่มันก็เป็นสิทธิ์ของเขาเว้ย สำหรับเรา เรารู้สึกว่า เราให้ไป แล้วเขาคืนมา ก็ดีดิ เราก็ชอบอยู่แล้ว คือมันเป็นทางหนึ่ง พอระบบคิดหรือการทำไปเรื่อย ๆ มันเรียนรู้ มันก็จะวางเอง”

แล้วพี่ไปเอาพระไปถวายองค์ดาไลลามะได้ยังไง ?

“เรื่องถวายองค์ดาไลลามะก็เหมือนเดิม ไม่ได้ตั้งใจอะไร มีวันหนึ่งจู่ ๆ ก็มีข้อความจากหลวงพ่อคนนึงที่เคยบวชเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ถามว่าไปอินเดียกันไหมล่ะ ทั้งปีไม่เคยติดต่อกันเลยนะ ช่วยมาเป็นล่ามให้หลวงพ่อหน่อย ไปอินเดียพูดภาษาไทยไม่ได้ เราก็เลยไปเพราะมีเหตุต้องไป รู้ทีหลังว่า ท่านดาไลลามะมาที่นั่นตอนนั้น แล้วก็นึกอยู่ในใจว่า เฮ้ย! มันอาจจะเป็นโชคชะตา พรหมลิขิตเว้ย เราต้องแบกพระไปดีกว่า แต่นึกอยู่ในใจ 7 โล ปวดหลังด้วย เอายังดี สุดท้ายเราก็เอาไป

เราก็เจอท่านโดยบังเอิญในกาลจักร น่าจะเจอสองรอบ รอบแรกคือไปฟังเทศน์ อันนั้นเป็นสนามกีฬาใหญ่ ๆ เลย อันนั้นคือทุกคนเข้าได้ แต่การที่จะถวายของท่าน จริง ๆ แล้วคือยากโคตร security เยอะ การเข้าไปเจอดาไลลามะไม่ใช่ทุกคนเข้าได้น่ะ ต้องเอาพาสปอร์ตมายื่นไป ตรวจสอบเยอะ บังเอิญวัดที่เราไปอยู่ เจ้าอาวาสสนิทกับวัดไทยที่ท่านดาไลลามะจะเสด็จมาเป็นการส่วนตัวพอดี เราก็เลยมีโอกาสนำพระองค์นี้ถวาย พูดตอนนี้อาจจะดูเร็วดูง่าย แต่จริง ๆ ตอนนั้นไม่ง่ายเลย”

 

ความสุข ความทุกข์ และการจัดการ

นอกจากเรื่องพระ เรารู้มาว่าพี่เขาทำเพจ สุขใจ Happynormal ไว้สำหรับแสดงผลงานและเล่าเรื่องราวสุนทรียภาพด้วยศิลปะและธรรมะ (ใครที่สนใจก็ไปตามดูกันได้) พักจากเรื่องผลงานศิลปะและการปั้น เราเลยใช้เวลาพูดคุยเรื่อง “ความสุข” “ความทุกข์” จัดสิ่งที่มันเป็นนามธรรมเข้าไปอีก เพราะเชื่อว่าคนที่ทำงานบนความรีบเร่งอย่างเขา แต่เข้าใจภาพของศิลปะกับศาสนาจนดูเหมือนจัดการได้ น่าจะมีมุมมองที่ช่วยแนะแนวเราได้บ้าง

สุขทุกข์อยู่ที่มุมมอง

จริง ๆ ความสุขเป็นเรื่องมุมมอง ง่ายมาก แต่การบิดมุมมองของคนมันยากเหี้ย ๆ เข้าใจไหม ยกตัวอย่าง เอาเป็นเคส มีน้องคนนึงเกิดมาพิการ เขาก็มีคำถามว่า Why me? why me? why me? เราว่าเปลี่ยนคำถามไหม เราก็เลยบอกเขาว่า

“แล้วทำไมเป็นมึงไม่ได้ล่ะ? มึงเป็นใครอ่ะ”

บางทีมันแบบถามว่าทำไมต้องเป็นฉัน ๆ คือคุณให้ความสำคัญกับตัวเองเยอะไป ถ้าเทียบกับคนอีก 7 หมื่นคนบนโลกใบนี้ แล้วทำไมจะเป็นมึงไม่ได้ล่ะ มันก็น่าจะทุกข์น้อยลงมั้ง พอมันพาจากขวามาซ้าย เพราะว่าไอ้ขวาที่เขาคิดเนี่ยมันแม่งทุกข์มาก ๆ ไง เพราะฉะนั้นการดึงมาซ้ายมันน่าจะช่วย แต่คุณต้องหาบาลานซ์เอง

สุขเมื่อไปอยู่ “ที่ชอบ ๆ”

เราว่าหาคุณค่าให้ตัวเอง หาคุณค่าให้กับงานที่เราทำ ว่าคุณค่าจริง ๆ ที่มันไม่ใช่เงินมันตอบอะไรข้างในเรา แล้วเราถึงจะทำไปอย่างมีความสุข สมมติอย่างของน้องคือทำวิดีโอคลิป แต่คุณค่าของน้องคือไอ้เชี่ย กูได้เจอคนที่ shape up mind เราเรื่อย ๆ นั่นมันคือคุณค่า มันทำให้สิ่งที่น้องเจออยู่มันเดินต่อไป เดี๋ยวคราวหน้าจะเป็นใครวะ มีเรื่องอะไรใหม่ ๆ มาหรือเปล่า แต่ถ้าวันนึงมันรู้สึกไม่สนุกแล้ว ก็เลิก

ถามเราว่าความสุขหรืออะไรก็ตาม ก็เช็กใจตัวเองบ่อย ๆ ว่ายังรู้สึกแฮปปี้ ยังมีคุณค่า หรือว่าเรายังอยากรู้อะไรหรือเปล่า แต่ถ้ารู้สึกว่ากูไม่ชอบแล้ว ก็ไปที่ชอบ ๆ น่ะ เราว่ามันเป็นเข็มทิศที่ดีที่สุดเว่ย ถ้าไม่ชอบแล้วจะไปทำไม ไม่ชอบแล้วไป แล้วก็บ่นว่าทุกข์ ก็ไปที่อื่นดิ ลาออกก็ได้ นึกออกป่ะ

เวลาสั้น ๆ ที่เจอกันแค่ช่วงหนึ่ง เรามั่นใจว่าทีมทุกคนและคนอ่านทุกคนคงเก็บอะไรกลับมาได้มากกว่าที่คาดไว้

สิ่งที่เราเห็นชัดจากการพูดคุยคือการพลิกมุมมองจากการตอบปัญหาที่เจอด้วยคำถาม แค่ในบทสัมภาษณ์นี่ก็ปาไป “16 คำว่า ‘ทำไม’ แล้ว (ของจริงพี่เขาตอบมากกว่านี้) แต่เชื่อไหมไอ้คำตอบที่เหมือนคำถามนี่แหละ มันช่วยให้คุณปลดล็อกมุมมองบางอย่างด้วยตัวเองได้ ไม่เชื่อลองเอาความทุกข์หรือปัญหาที่เจอมากองตรงหน้าดู แล้วตอบมันด้วยคำตอบนี้ดู

 

“แล้วทำไมเป็นมึงไม่ได้ล่ะ? มึงเป็นใครอ่ะ”
“ทำไมต้องชอบวะ? ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร”

 

สรุปนี่ จบแล้วเหรอ?

เออสิ แล้วทำไมถึงจะยังไม่จบล่ะ?

 

Photographer: Krittapas Suttikittibut

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line