Featured

“ลุงไม่กลัว ต่อให้บางคนเก่งกว่าลุง” ขนาด ราคา อายุ ไม่ใช่ข้อจำกัดสเกลชีวิตของ ‘ลุงติ๊กสเกล’

By: anonymK November 2, 2019

เราแก่ลงทุกวัน ความแก่เอาอะไรไปจากเราพอสมควร และดูเหมือนสิ่งจะเอาไปได้มากที่สุดคงเป็นความมั่นใจกับความภาคภูมิใจในการใช้ชีวิตต่อโดยไม่เป็นภาระใคร 

เคยลองจินตนาการไหมว่าถ้าเกษียณ ถ้าแก่ลง ไม่มีงานประจำให้ทำอีกต่อไป เราอยากจะเป็นคนแบบไหน อยากทำอะไร บางคนคิดว่าไกลตัวเลยไม่เคยวางแผนและคิดเอาล่วงหน้าว่าพลังที่โดนรีดจากความชราคงทำให้เราต้องใช้ชีวิตอย่างริบหรี่

ลุงซึมเศร้ามาปีเลยนะ นั่งจนโซฟาหักเป็นตัว ดูไร้ค่า เพื่อนก็ไม่มี คนที่ทำงานอยู่ร่วมกันน่ะ เวลาออกมาแล้วเราเหมือนคน เดียวเลย อยู่แต่บ้านทุกวัน ลูกก็ดูแลเราตลอดเวลาไม่ได้ เพราะว่าเขาต้องทำงานถูกไหม ซึมเศร้านะ น้อยใจ เหมือนเกลียดตัวเองไปเลยว่าไม่มีค่าอะไรเลย สุขภาพก็จะแย่ลง

นี่คือประโยคที่ชายคนหนึ่งเคยพูดไว้ในวันที่หลายคนอาจจะมองว่าการเกษียณเพื่อให้ลูกหลานเลี้ยงดู เราจะสบาย พอใจกับค่านิยมนั่ง นอน ที่เราปลูกฝังกันมา แต่ความจริงปลายทางของคนเราไม่ได้มีแบบเดียว และความแข็งแรงอาจไม่ใช่อุปสรรคชีวิตอย่างที่คิด

ก่อนจะไปถึงวันที่เราแก่กันมากกว่านี้ เราอยากให้คุณลองไปทำความรู้จักผู้ชายคนเดียวกันกับที่พูดประโยคด้านบน เขาเพิ่งมาโด่งดังในวัยเกษียณ มาลุกทำตามฝัน และมาบอกกับเรากว่าความแก่ไม่ใช่สิ่งที่จะมาหยุดพลังการใช้ชีวิตของเรา เขาคนนี้คือคนในวงการโมเดลที่ความคิดไม่ได้แก่ลงตามวัย ลุงติ๊กสเกล ส.ท. พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก

 

จากรปภ. เกษียณถึงศิลปินและครู

คน Generation ก่อนเรา เวลาทำงานที่ไหนมักจะทิ้งตัวและเติบโตไปพร้อมงานนั้นยันเกษียณ ดังนั้น คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้ารู้ว่า ลุงติ๊กสเกล หรือ “ส.ท. พงศ์กาณฑ์ โกมลกนกที่เรียนจบด้านศิลปะจะเลือกทำอาชีพ รปภ. ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยมาตั้ง 25 ปียันวันเกษียณ

ลุงติ๊กเล่าว่าเงินก้อนสุดท้ายจากวันเกษียณจำนวนไม่น้อยที่ได้มา เอามาใช้ปิดหนี้สินกับปิดบ้านหลังที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ทั้งหมดเพราะไม่อยากให้กลายเป็นภาระสำหรับลูกและคนในครอบครัว แต่การปิดหนี้ครั้งนี้ทำให้เงินเหลือแค่พันกว่าบาท ด้วยวิชาที่มีติดตัวกับความเชื่อมั่นที่ลูกชายให้ ทำให้เขาลุกมาปัดฝุ่นความรู้ศิลปะที่ทิ้งร้างไป 40 กว่าปีกลับมาทำใหม่ แม้จะขาดความมั่นใจ

ตอนนั้นทั้งบ้านนะอยู่กัน 3 คนเหลือพันกว่าบาท เราเหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง 1,500 ซื้อสีหมดเลย ไม่เหลือเลยสักสลึงเดียว คือถ้าประมูลงานชิ้นนั้นไม่ได้ก็ไม่ต้องกินข้าวกันแล้ว มันก็ได้ 280 บาท เราก็คิดเสมอว่า ถ้าเรามองบวกเนี่ย ถ้าเราทำไปเรื่อย งาน 200-300 มันก็อยู่ได้ มีข้าวกิน ก็อยู่แบบสบาย

จากจุดเริ่มต้น 280 บาทครั้งนั้น ลุงติ๊กเดินหน้าพัฒนาความรู้เพื่อสร้างผลงานที่ดีขึ้นเรื่อย ได้ลูกทีมเป็นลูกชายและลูกสะใภ้ จนในที่สุดเวลาแห่งชื่อเสียงที่ไม่คาดฝันก็มาถึงเร็วแบบฟ้าผ่าเพราะลุงบอกเราว่าหลังจากทำงานมา เขาใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนก็กลายเป็นคนดัง

ปัจจุบันการเซ็นลายเซ็นลงบนกระดานโดยไม่ขึ้นงานก็ยังมีคนประมูลไป แถมทุกวันนี้เขายังพ่วงตำแหน่งอาจารย์ที่มีลูกศิษย์กว่า 200 คน และบางส่วนของลูกศิษย์ยังเป็นอาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

เราถามว่าระดับอาจารย์มาเรียนกับผมทำไม

ลุงติ๊กพูดในสิ่งที่พวกเราตั้งใจจะถาม และตอบคำถามของอาจารย์ท่านนั้นให้เราเข้าใจกระจ่าง

เขาบอกว่าลุง ผมได้โครงสร้างแต่อารมณ์ศิลปะเนี่ยผมยังไม่ได้เขาจะเอามันมาผสมผสาน เวลาเขาเรียนกับเราโครงสร้างเขาทำสวยมากนะ เราแพ้อยู่แล้วเรื่องโครงสร้าง แต่อารมณ์เขาไม่ได้ คือเขามาค่อนข้างเนี้ยบ

แต่การทำงานเก่ามันขัดกันนะ เก่ามันเนี้ยบไม่ได้ มันต้องมีผุพัง ไอ้ผุพังของเขาทำก็เนี้ยบไป ปูนหัก ไม้หัก มันดูจงใจไม่เป็นธรรมชาติ อารมณ์มันเลยต่างกัน

 

โอกาสที่เคยจำกัด ไม่ใช่ขีดจำกัดของมนุษย์ลุง

โมเดลทุกชิ้นที่ลุงติ๊กทำ

  • ไม่เคยร่างงานบนกระดาษแต่สร้างงานจากภาพจินตนาการในหัว
  • ไม่ขายความเป๊ะ เพราะการเข้าถึงพื้นที่จริงยาก แต่เน้นเรื่องความรู้สึกและประสบการณ์จริงที่เคยเจอนำมาถ่ายทอด
  • ที่สำคัญไม่ได้วัดสเกลงานจากงานจริง แต่วัดจากขนาดโมเดลรถ! ไม่ว่าจะเป็น 1:18 หรือ 1:64 เขาวัดโดยเปรียบเทียบขนาดจากรถไซซ์นี้ ประตูหรือส่วนอื่นก็ต้องสอดคล้องกัน ดังนั้น ถ้าเห็นโมเดลรถในบ้านลุงก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะนอกจากสะสม ลุงเขามีไว้ใช้ทำงาน

ลุงเก่งว่ะ ลุงเก่งเพราะลุงไม่ต้องเรียนก็ยังทำงานได้ เกษียณมาก็หาเงินได้เยอะแยะ ลุงเก่งที่ลุงไม่รู้มากมายแต่ลุงกลายเป็นคนดัง คนส่วนใหญ่ก็คิดแบบนี้แหละ เราเองก็เคยคิด แต่ทุกอย่างย่อมมีหลายเรื่องเบื้องหลังที่เราคาดไม่ถึง

โลกใบนี้ไม่เคยให้อะไรเรามาง่าย ต่อให้เราจะมองว่าอายุน่าจะเป็นใบเบิกทางให้คนเห็นใจความตั้งใจของหนุ่มใหญ่วัยเกษียณสักคน

จริง แล้วลุงไม่เคยได้รับโอกาสจากใครนะ ลุงเข้าไปในกลุ่มคนทำโมเดลใหม่ เนี่ยเราเป็นคนแก่คนนึงที่ไปถามข้อมูลเขาน่ะ คนที่ทำมาก่อนเขาค่อนข้างจะกั๊กจะหวงเขาจะปฏิเสธเราบ้างบอกเราเรื่องไม่จริงบ้าง

ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าเราต้องหาความรู้ด้วยตัวเองใน Youtube บ้างในเอกสารบ้าง แล้วเอาความรู้เดิม จากประสบการณ์ที่เราร่ำเรียนมาเนี่ยมาประกอบกัน

โลกใบนี้ไม่ได้ให้อะไรเรามาง่าย เพราะการใช้เงินซื้อสิ่งสำเร็จรูปอำนวยความสะดวกคือโอกาสของคนเฉพาะกลุ่ม

พูดง่าย ลุงแอนตี้ของแพงนะอุปกรณ์ทำโมเดลเนี่ยมันแพงแต่ละอย่างเนี่ยแพงมา แล้วเราคิดว่าเราไม่มีโอกาสใช้ของแพง มาทำงานเราหรอกเราพยายามหาของที่วัสดุหาง่ายวัสดุก่อสร้างร้าน 20 บาทตามตลาดสิ่งรอบตัวเรามาใช้

งานศิลปะมันไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุแพง เราอาศัยฝีมือมากขึ้น ทุกวันนี้งานลุง ลุงคิดว่าต้นทุนเรื่องวัสดุไม่เท่าไหร่แต่ต้นทุนฝีมือ ความคิด ของแบบนี้งานศิลปะมันจะมาตีคุณค่าด้วยวัสดุอุปกรณ์มันไม่ได้

 

งานศิลปะ งานที่รสนิยมของคนทำและคนเสพมีสิทธิ์ต่างกัน

สิ่งที่สัมผัสได้นอกจากความตั้งใจ คือความรักงานและความเป็นศิลปิน ทุกงานที่ทำออกมาไม่ว่าผลงานจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ประเภทของงานจะเป็นแบบไหน (พรีออเดอร์แบบเดียวหลายชิ้น ประมูลหรืองานตามสั่ง) ลุงติ๊กยืนยันกับเราว่าเกรดของความตั้งใจในการทำงานไม่ต่างกัน  อาจจะมีเหลื่อมเรื่องความสนุกบ้างเฉพาะงานประมูลเพราะได้ใช้จินตนาการมากเป็นพิเศษ

งานไหนที่ประทับใจที่สุด ?

ถ้าบอกว่าประทับใจ เรียกน้ำตาของลูกค้าเราได้ มันมีงานนึง เขาเอารูปถ่ายมาให้เรา มีรูปใบเดียว สมัยเขาเด็ก แล้วรูปนี้เหลืองมาก เพราะว่าเมื่อก่อนมันไม่มีโทรศัพท์มีอะไรถ่าย ฟิล์มเหลืองมากเลย ลุงก็พยายามทำให้เขาให้ได้

เชื่อไหม พอเขาเห็นงาน เขาร้องไห้เลยนะ น้ำตาร่วงเลย ทำให้เราร้องไห้ไปกับเขาด้วย เขาบอกว่าเขานึกถึงตอนเขาเด็ก ตรงนี้ยายเคยป้อนข้าว ตรงนี้หนูเคยวิ่งเล่น อะไรประมาณนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าจุดนี้มันสำคัญนะ ตั้งแต่นั้นมางานลุงจะใส่ใจเรื่องนี้มาก คือความรู้สึกมันเอามาพูดเล่นกันไม่ได้ถูกไหม มันต้องออกมาโดยใจ คือน้ำตาเขาร่วง เราร้องไห้ไปกับเขา เรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันสร้างให้เขาได้ขนาดนี้เลย

มีคนปฏิเสธงานบ้างไหม ?

ไม่มีนะ แต่มีอยู่คนนึงทำให้เราเสียความรู้สึก คือเขาพูดกลับมากับเราว่าเขาตั้งความหวังไว้สูงเกินไปลุงคืนตังค์เลยนะ คืนตังค์เลย แล้วงานชิ้นนั้นคุณจะไปเขวี้ยงทิ้งหรืออะไรก็แล้วแต่คุณ เพราะสไตล์งานเราเป็นแบบนี้ ถ้าคุณต้องการเนี้ยบ คุณต้องไปจ้างสถาปนิกไง ถูกไหม

งานศิลปะ เรื่องรสนิยมเป็นการซื้อสไตล์ ซึ่งอาจต่างกันบ้าง แต่สำหรับปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะเมื่อเราถามถึงขั้นตอนการทำงาน ลุงติ๊กอธิบายกับเราว่างานทุกชิ้นระหว่างขั้นตอนการทำจะส่งให้ลูกค้าดูเป็นระยะ จนกระทั่งถึงตอนส่งมอบงาน

 

สเกลชีวิตต่อไปของลุงติ๊กสเกล

หลังมีโอกาสได้จับพลัดจับผลูเข้าวงการศิลปะแบบเต็มตัวและได้ทำอย่างที่ตั้งใจแล้ว ลุงติ๊กบอกเราว่าจากนี้เขามีเป้าหมายจะทำคอร์สเรียนออนไลน์ เพื่อให้คนที่เดินทางมาเรียนไม่สะดวกสามารถเรียนรู้ได้แบบไม่จำกัด

ถ้าซื้อคอร์สนี้จะได้ทั้งเซตอุปกรณ์ กลุ่มไลน์สำหรับติดตามและพัฒนาผลงานโดยไม่ทิ้งกัน ใครที่อยากเรียนรู้ไว้เพื่อเป็นวิชาชีพ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก ใครที่อยากเรียนลองเข้าไปดูได้ที่นี่

อ้อ! แล้วที่สงสัยกันว่า คนมาเรียนเยอะขนาดนี้แล้วลุงจะทำยังไง ไม่กลัวคู่แข่งเหรอ ลุงเขาบอกกับเราทั้งเรื่องข้อมูลเชิงสถิติว่าจากตอนที่ลุงเข้าไปทำใหม่   ตอนนั้นจำนวนคนเล่นโมเดลเหล่านี้อยู่หลักหมื่น แต่ตอนนี้ตลาดกว้างขึ้น เพิ่มเป็นหลักแสนแล้วในระยะเวลาสองปี ยอดคนที่สะสมก็ไม่น้อยลงเพราะเจ้าของเดิมยังไม่เลิกเล่น คนใหม่ก็เพิ่มเข้ามา ที่สำคัญแม้จะมีคนเข้ามาเรียนเยอะ แต่น้อยคนที่จะลุกมาทำเป็นอาชีพจริงจัง ดังนั้น ยังไงตลาดนี้ก็ยังสดใสสำหรับคนที่อยากจะเข้ามา

ไม่กลัวเลย คำถามนี้ ลุงเจอแทบทุกสื่อ ลุงไม่กลัว ต่อให้เขาบางคนเก่งกว่าลุงอีก เก่งคือเขาเนี้ยบ ทำบ้านทำอะไรสวยมากเลยนะ แต่เขาไม่ได้อารมณ์

แล้วพวกเราล่ะ จะกลัวอะไร ? อยากทำอะไรก็รีบทำเสีย ไม่ว่าจะเป็นสเกลหรืออย่างอื่น อย่าปล่อยให้เวลาฉกฉวยโอกาสของเราไปล่ะ

 

PHOTOGRAPHER: Krittapas Suttikittibut

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line