Business

คุณเป็นผู้นำแบบไหน ? รู้จัก 6 Leadership Style ที่จะช่วยให้คุณเป็นผู้นำที่ดีขึ้น

By: unlockmen May 25, 2021

เราแต่ละคนมีวิธีการนำคนอื่นที่ต่างกัน บางคนชอบการออกคำสั่งให้คนอื่นทำตาม หรือ บางคนอาจชอบการตัดสินใจโดยการรับฟังความคิดเห็นคนอื่น ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะวิธีไหน แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน UNLOCKMEN เลยอยากให้ทุกคนได้รู้จัก ทฤษฎีผู้นำ 6 สไตล์ (6 Leadership Style ) ของ แดเนี่ยล โกลแมน (Daniel Goleman) และการนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

ใครคือ ‘แดเนี่ยล โกลแมน’

แดเนี่ยล โกลแมน (Daniel Goleman) เป็นนักจิตวิทยาสหรัฐฯ และเจ้าของหนังสือยอดฮิตอย่าง ‘Emotional Intelligence’ (1995) ซึ่งที่ผ่านมาเขาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็น การทำสมาธิ การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม การหลอกลวงตัวเอง ไปจนถึง ความคิดสร้างสรรค์

สำหรับทฤษฎีผู้นำ 6 สไตล์ เป็นทฤษฎีที่ได้รับการอธิบายในหนังสือชื่อ ‘Primal Leadership’ (2002) ซึ่งเป็นหนังสือที่โกลแมน เขียนร่วมกับเพื่อนอีกสองคน ได้แก่ ริชาร์ด โบยาทซิส (Richard Boyatzis) และ แอนนี แมคคี (Annie McKee) โดยผู้นำ 6 สไตล์ที่ถูกกล่าวถึง ได้แก่ Visionary Leadership, Democratic Leadership, Coaching Leadership, Pacesetting Leadership, Commanding Leadership และ Affiliative Leadership

Visionary Leadership

ภาวะผู้นำด้านวิสัยทัศน์ หรือ Visionary Leadership หมายถึง ผู้นำที่กำหนดวิสัยทัศน์ในการทำงานให้กับทีม โดยพวกเขาจะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าการกำกับให้คนทำตามเป้าหมาย กล่าวคือ พวกเขาจะบอกสมาชิกว่าเป้าหมายคืออะไร แต่ไม่บอกว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่าง เหมือนเป็นคนไกด์ให้สมาชิกในทีมค้นพบหนทางที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น

สไตล์การเป็นหัวหน้าทีมแบบนี้ จะเหมาะกับหัวหน้าที่ต้องการกำหนดทิศทางหรือเป้าหมายในการทำงานของทีมใหม่ หรือ ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขาย เป็นต้น แต่จะไม่เหมาะ ถ้าหัวหน้ามีประสบการณ์น้อยกว่าสมาชิกในทีม ซึ่งกรณีนี้ควรใช้ Democratic Leadership มากกว่า

สำหรับคุณสมบัติที่หัวประเภทนี้ควรมี ได้แก่ ประสบการณ์การทำงานที่มากกว่าสมาชิกในทีม วิสัยทัศน์ ความมั่นใจในตัวเอง ความเห็นอกเห็นใจ หัวใจที่ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และความสามารถในการส่งต่อความรู้สึกนั้นไปยังสมาชิกในทีมคนอื่นได้ สุดท้าย คือ ทักษะในการโน้มน้าวใจให้คนอื่นเห็นพ้องกับวิสัยทัศน์ของตัวเอง

Democratic Leadership

ภาวะผู้นำประชาธิปไตย หรือ Democratic Leadership หมายถึง ผู้นำที่เน้นสร้างความร่วมมือในทีมเป็นหลัก โดยวิธีนี้มักใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลหรือไอเดียจากสมาชิกในทีม และสร้างความเห็นพ้องในเรื่องที่จำเป็นต่อการทำงาน หัวหน้าประเภทนี้จะให้ความสำคัญกับการฟังมากกว่าการกำกับคนอื่น

อย่างไรก็ตาม Democratic Leadership จะไม่เวิร์ก เมื่อสมาชิกในทีมยังขาดประสบการณ์ ความสามารถ หรือ ไม่ได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงานมากพอ มันเป็นสไตล์ที่เหมาะสมเมื่อสมาชิกในทีมมีแรงจูงใจ ความรู้ และความสามารถในการทำงาน

โดยทักษะที่ Democratic Leader ควรมี ได้แก่ ทักษะในการฟังเชิงรุก (Active listening) และทักษะการนำกระบวนการ (Facilitation Skills)

Coaching Leadership

ภาวะผู้นำแบบสอนงาน หรือ Coaching Leadership คือ หัวหน้าที่เชื่อมต่อเป้าหมายส่วนตัวของสมาชิกในทีมกับเป้าหมายขององค์กร โดยพวกเขามักจะโฟกัสที่การพัฒนาคนให้ประสบความสำเร็จในอนาคต และการพูดคุยกับสมาชิกในทีม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และความเชื่อใจในการทำงาน

สไตล์นี้จะเหมาะสมเมื่อมีสมาชิกทีมที่ต้องการพัฒนาสกิลที่จำเป็นต่อการทำงานในระยะยาว หรือ มีสมาชิกดาวรุ่งที่หัวหน้าเห็นว่าควรค่าแก่การพัฒนาต่อ แต่จะไม่เวิร์กเมื่อสมาชิกทีมไม่มีความพยายาม หรือ ต้องการการกำกับดูแลและรับฟีดแบคเยอะ สำหรับกรณีนี้ควรใช้ Pacesetting Leadership หรือ Commanding Leadership มากกว่า

Pacesetting Leadership

ภาวะผู้นำสร้างมาตรฐาน หรือ Pacesetting Leadership คือผู้นำที่โฟกัสเรื่องผลงานและการทำตามเป้าหมาย พวกเขาจะมีความคาดหวังสูงกับทีมของตัวเอง และพยายามผลักดันพวกเขาให้บรรลุเป้าหมายในการทำงาน อย่างไรก็ตาม การใช้ Pacesetting Leadership ก็มีข้อเสีย คือ มันจะสร้างความกดดันใมากเกินไป จนสมาชิกทีมเบิร์นเอ้าท์ และเหนื่อยล้าได้

สไตลนี้จะเหมาะกับหัวหน้าที่ต้องการกระตุ้นให้สมาชิกทีมทำผลงานที่ยอดเยี่ยมในเวลาอันสั้น เช่น การทำงานในช่วงที่เกิดการแข่งขันสูง และไม่ควรใช้เมื่อสมาชิกทีมยังขาดความเชี่ยวชาญในการทำงาน นอกจานี้ หัวหน้ายังควรมีทักษะที่จำเป็น ได้แก่ ความสามารถในการพัฒนาคน และความสามารถในการสร้างแรงจูงใจ

Commanding Leadership

ภาวะผู้นำออกคำสั่ง หรือ Commanding Leadership หมายถึง หัวหน้าสไตล์เผด็จการ ที่เน้นการควบคุมสมาชิกแบบเบ็ดเสร็จ โดยใช้วิธีการออกคำสั่ง บทลงโทษ เพื่อให้สมาชิกทีมทำ หรือ ไม่กล้าทำบางอย่าง สไตล์นี้จะเหมาะกับช่วงที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤต ซึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ในช่วงที่สมาชิกทีมทะเลาะกันจนไม่มีใครฟังใคร และการกำกับสมาชิกในทีมที่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม สไตล์นี้มักถูกใช้ในทางที่ผิด และควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยสกิลที่หัวหน้าควรมี ได้แก่ ความสามารถในการจัดการวิกฤต (crisis management) ความสามารถในการคิดด้วยตัวเอง และความสามารถในการตัดสินใจท่ามกลางความกดดัน

Affiliative Leadership

ภาวะผู้นำสร้างความสามัคคี หรือ Affiliative Leadership หมายถึง ผู้นำที่ต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทีม โดยพวกเขาจะสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการป้องกันความขัดแย้งระหว่างสมาชิกทีม การใช้ Affiliative Leadership ให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเข้าใจอารมณ์ของคนอื่น และให้ความสำคัญอย่างมากกับความต้องการทางอารมณ์ของสมาชิกในทีม

สไตล์นี้จะเหมาะกับช่วงที่เกิดความแตกแยกภายในทีม เช่น ความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการทำงาน และการให้กำลังใจสมาชิกทีมที่เผชิญหน้ากับความเครียด โดยทักษะที่หัวหน้าประเภทนี้ควรมี คือ ความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้ง และการมองโลกในแง่บวก

นอกจากความสามารถในการเลือกใช้สไตล์การนำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ หัวหน้าควรรู้จักการทำลายกำแพงระหว่างหัวหน้าและลูกน้องด้วย เพราะความแตกต่างทางชนชั้น มักทำให้เกิดความกลัว และนำมาซึ่งปัญหาในการทำงานได้ เช่น ลูกน้องไม่กล้ารายงานข้อผิดพลาดที่พบในการทำงาน หรือมีความเครียดในการทำงาน ฯลฯ จะดีกว่าถ้าหัวหน้ารู้จักเปิดใจ และใกล้ชิดกับลูกน้องมากขึ้น

Appendix: 1 / 2

Image

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line