Survival

SURVIVAL: แนะนำอุปกรณ์เอาตัวรอดที่ยอดชายสาย ADVENTURE ต้องมีไว้ จะได้พร้อมลุยให้มันส์สุด

By: PEERAWIT July 10, 2018

เพราะทุกสิ่งอาจเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิด เราจึงต้องเตรียมพร้อมให้ถึงที่สุด 

ไม่ว่าคุณจะเป็นยอดชายสาย Adventure ผู้เชี่ยวชาญป่าเขาแค่ไหน เป็นสุดยอดขาลุยสุดสัปดาห์เพียงใด หรือเป็นนักสำรวจมือใหม่ ก็อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากได้เหมือนกัน ดั่งเช่นเหตุการณ์ที่น้อง ๆ นักฟุตบอล และโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คน ต้องติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานเกือบ 10 วัน จนกระทั่งทีมช่วยเหลือได้ค้นพบทั้ง 13 คน และสามารถช่วยเหลือทุกคนออกมาจากถ้ำหลวงได้อย่างปลอดภัยแล้ว ก่อนจะส่งไปรักษาตัวต่อไป ทีมงาน UNLOCKMEN ขอชื่นชมทุกคนทุกฝ่ายที่ร่วมมือร่วมใจกันทำภารกิจนี้จนประสบความสำเร็จ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและมิตรสหายของ จ.อ.สมาน กุนัน ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้

ส่วนหนุ่ม ๆ ที่เป็นสายใกล้ชิดธรรมชาติก็ต้องพร้อมลุยให้มันส์ถึงที่สุดเช่นกัน ทั้งร่างกาย จิตใจ ทักษะ และกำลังเสริมที่ช่วยให้เราอยู่รอดได้ อย่างอุปกรณ์ยังชีพต่าง ๆ ที่ช่วยชีวิตใครมานักต่อนัก แต่ถ้าจะให้ยก survival gear ไปทั้งหมดก็คงจะหนักเกินแบกลุยป่า เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกเตรียมแต่ของที่จำเป็น และมีประสิทธิภาพในการช่วยให้เราอยู่รอดได้ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน  UNLOCKMEN ขอแนะนำอุปกรณ์เอาตัวรอดที่ชายสาย Adventure ต้องมีติดตัวไว้เวลาออกไปลุยป่า

 

มีดยังชีพ

ภาพจาก KnifeArt.com

เริ่มต้นด้วยของเหมาะมืออย่าง Survival knife หรือ มีดยังชีพ ที่จะช่วยคุณได้หลายอย่างเวลาอยู่ในป่าเขา เป็นของมีคมสำคัญที่จะช่วยคุณตัดเชือก เปิดสิ่งต่าง ๆ ปอกผลไม้กิน สร้างที่กำบังต่าง ๆ  รวมถึงช่วยในการจุดไฟ และอาจมีบทบาทกับการปฐมพยาบาลอีกด้วย

ส่วนการเลือกมีดที่จะเอาไปลุยด้วยนั้น แน่นอนว่าต้องคำนึงถึงความคงทนแข็งแรง โดยผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามีดแบบ fixed blade หรือ มีดเป็นด้ามนั้น เหมาะกับการใช้งานเป็นมีดยังชีพมากกว่ามีดพับเอนกประสงค์ยอดฮิตที่หลาย ๆ คนมีไว้ในครอบครอง แต่จริง ๆ แล้วมีไว้ทั้งสองชนิดก็ดี เพราะว่ามีดทั้งสองแบบก็พกพาง่าย ไม่เกะกะหรือหนักกระเป๋าแน่ ๆ

 

อาหารยังชีพ

ภาพจาก radioaratiba.com.br

การเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากพบเจออย่างหลงทาง, โดดเดี่ยว, ตกที่นั่งลำบาก หรือบาดเจ็บ การมีอาหารยังชีพติดตัวมา จะช่วยให้เบาใจลงได้เยอะ ที่สะดวกและสามารถกินได้ทันทีก็อาจเป็นพวก energy bar ที่ให้พลังงานสูง หรืออาหารง่าย ๆ ที่พกพาได้

ภาพจาก YouTube

ส่วนที่กำลังถูกพูดถึงในตอนนี้ก็คือ พาวเวอร์เจล (Power Gel) ของเหลวให้พลังงานสูง ร่างกายสามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว นักบินอวกาศและนักกีฬานิยมใช้เพื่อเพิ่มพลังงาน เนื่องจากพอกินไปแค่ 15 นาที ก็จะได้พลังจากกรดอะมิโนและคาร์โบไฮเดรตเข้มข้น โดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า พาวเวอร์เจลเป็นอาหารเฉพาะกิจชั่วคราวสำหรับคนที่สภาวะร่างกายไม่ปกติ เหมาะสำหรับใช้เสริมพลังงานให้กับผู้ที่ใช้พลังงานมาก ๆ  และเพื่อการฟื้นฟูสภาพบุคคลที่อดอาหารมานาน ดังนั้นไม่ควรเอามากินเล่นกันนะ เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินจริง ๆ ดีกว่า

อีกอย่างหนึ่งที่ควรศึกษาไว้ก็คือการหาอาหารตามธรรมชาติ เผื่ออาหารหมดแล้วจริง ๆ จะได้กินเพื่ออยู่ได้ แม้ว่าจะต้องกลั้นใจกินเข้าไปอย่างที่ Bear Grylls แนะนำไว้

 

แบ็กแพ็กที่ลุยได้

ภาพจาก YouTube

แบ็กแพ็กมีอยู่หลายแบบมากตามท้องตลาด แต่ที่เหมาะกับการเอาไว้ยังชีพก็จะมีลักษณะ เช่น จุของได้เยอะและหลากหลาย, กันน้ำ, สะพายสบายบ่า และไม่ทำให้ปวดหลัง ส่วนเรื่องความเท่ ความสวยงามเป็นเรื่องรอง ของไว้ยังชีพต้องเน้น function ไม่ใช่ fashion

ลองโฟกัสที่แบรนด์แนว adventure ไปเลย ไม่ก็หาดูตามร้านหรือแผนกเดินป่าก็ดี เวลาไปสำรวจธรรมชาติคงไม่ต้อง keep cool แบบ street style  เพราะถ้าใช้งานเป้ผิดประเภท ความเท่ก็อาจกลายเป็นปัญหาก็ได้

 

ชุดปฐมพยาบาล

ภาพจาก My Outdoors Life

สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือ first aid kit หรือ ชุดปฐมพยาบาล อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นมาก ๆ แม้เราจะหวังว่าไม่ต้องใช้มันก็ตาม ถ้าเราไม่พกมันไปด้วย เท่ากับว่าเราประมาทธรรมชาติรอบตัวอยู่ ยิ่งขาลุยทั้งหลายบาดแผลเต็มตัวยิ่งต้องพึ่งพา สิงห์สาราสัตว์จนถึงแมลงตัวตัวแสบก็ยิ่งต้องเตรียมรับมือ แม้ว่าจะเป็นการรักษาเบื้องต้น แต่หลายคนก็รอดตายจากชุดปฐมพยาบาลมานักต่อนัก เพราะฉะนั้นควรมีติดตัวเอาไว้เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา

 

เชือก

ภาพจาก AliExpress.com

เชือกอาจจะไม่ค่อยมีบทบาทตอนตั้งแคมป์ แต่มันจะมีประโยชน์มาก ๆ ตอนที่เราจำเป็นต้องสร้างที่กำบังไว้ยังชีพ แถมอาจเป็นเชือกเส้นสุดท้ายที่ช่วยชีวิตเราได้ โดยเชือกที่เหมาะกับการพกไปลุยด้วยก็คือ parachord หรือ เชือกร่ม เพราะว่ามันแข็งแรง ยืดหยุ่น และมีน้ำหนักเบา แถมไม่เปลืองพื้นที่สัมภาระ จับยัดไปได้เลย แค่จำให้ได้ว่ายัดไปตรงไหน

เจ้าเชือกร่วมนี่จะมีบทบาทเวลาที่เราต้องซ่อมที่กำบัง หรือเตนท์ ใช้ไว้ช่วยปีนป่าย หรือใช้ไว้ช่วยล่าสัตว์ (ที่ล่าได้อย่างถูกกฏหมาย)

 

ผ้าใบกันน้ำ

ภาพจาก Survival Common Sense

ถ้าเรามีเชือกแล้ว มี paracord แล้ว ควรนำผ้าใบกันน้ำติดตัวไปด้วย พอพลบค่ำเริ่มตั้งแคมป์ เราก็จะสามารถสร้างเตนท์กำบังได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ โดยสิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมก็คือสิ่งที่จะเอาไว้ขึงผ้าใบกันน้ำให้อยู่ โดยมากก็จะขึงกับต้นไม้ในบริเวณนั้น ส่วนประโยชน์ของมันที่เห็นชัด ๆ ก็คือกันฝนได้ กันน้ำค้างดี พกพาง่าย น้ำหนักไม่มาก ต้องขอบคุณหน้าที่ของมันในวันที่ฝนพรำจริง ๆ  ถึงจะขาลุยตัวจริงแค่ไหน แต่ถ้าเป็นหวัดอยู่กลางป่าเขาก็คงจะร่วงเอาง่าย ๆ

 

ผ้าห่มอวกาศ

ภาพจาก Wuxi Emsrun Technology Co.,Ltd.

Emergency foil space blankets หรือ “ผ้าห่มอวกาศ” หรือ ผ้าห่ามฉุกเฉินนี้ เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ยังชีพที่เป็นที่พูดถึงกันในภารกิจช่วยเหลือโค้ชและนักเตะทีมหมูป่าฯ  เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในถ้ำ และที่ที่มีอากาศเย็น รวมถึงการดำน้ำด้วย ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อการทำงานของสมอง ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบการหายใจ

เบื้องต้นเจ้าผ้าห่มผิวมันวาวนี้ทำมาจาก PET ฟิล์มเคลือบฟอยล์ มีคุณสมบัติช่วยให้ร่างกายเราอบอุ่นได้ถึง 90 %  กันร้อน กันหนาว กันน้ำ กันลมได้หมด แถมเบาอีกด้วย เป็นสิ่งหนึ่งที่สาย adventure ควรมีเอาไว้เผื่อใช้ตอนฉุกเฉิน ประโยชน์แฝงอีกอย่างหนึ่งก็คือความมันวาวสะท้อนแสงที่เห็นได้ชัด เหมาะกับการโบกเพื่อขอความช่วยเหลือ

ส่วนเทคโนโลยีนี้เริ่มต้นจาก NASA ที่ได้พัฒนาขึ้นมาใช้กับการควบคุมอุณหภูมิยานอวกาศ ดาวเทียม และนักบินอวกาศ มาตั้งแต่แต่ปี ค.ศ. 1964 โดยผ้าห่มอวกาศแบบี่ใช้งานบนอวกาศจริง ๆ จะทำจากพลาสติก Mylar บาง ๆ เคลือบฟิล์มอลูมิเนียม เก็บอุณหภูมิได้ดี สะท้อนรังสีความร้อนก็ได้ถึง 97% ทำให้อุณหภูมิของคนหรือสิ่งที่ถูกห่อไวคงที่มากที่สุด รู้แบบนี้ ต้องมีติดตัวไปลุยแหลกแล้ว

SOURCES 1 / 3

 

กระบอกน้ำ

ภาพจาก Stanley

หลายคนตายน้ำตื่นเพราะมันแต่เตรียมของอย่างอื่นโดยมองข้ามกระบอกน้ำไปเลย ซึ่งอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่มักจะถูกลิสต์ไว้ท้าย ๆ นี้ เป็นหนึ่งในของจำเป็นของนักสำรวจเช่นคุณ ประโยชน์ของมันคงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว เก็บน้ำไว้ดื่ม รองน้ำธรรมชาติตุนไว้แก้กระหาย ฯลฯ  และเพราะว่ามันสำคัญ ก็ต้องเลือกที่มันดี ๆ หน่อย ทางที่ดีไม่ควรใช้ขวดพลาสติก ให้หากระบอกน้ำที่แข็งแรงโยนใส่เข้าไปในแบ็กแพ็กซะ ได้ใช้แน่นอนนะบรรดาพ่อเสือสามัญทั้งหลาย

 

อุปกรณ์ส่งสัญญาณ

ภาพจาก survival kits

อุปกรณ์ที่ช่วยแสดงตำแหน่งของคุณได้ และช่วยส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้ดี อาจไม่ต้องไฮเทคอะไรมากมาย ใช้ “นกหวีด” เล็ก ๆ ก็เอาอยู่แล้ว เพราะมันพกง่าย เป่าก็ดังลั่น บางทีก็น่ารำคาญ

สมมุติว่าคุณเกิดโชคร้ายเดินตกหล่มข้อเท้าพลิก ลุกขึ้นไม่ไหว หยิบเจ้านกหวีดมาเป่าซะ เสียงโทนแหลมของมันมักจะฟังชัดเข้าหูผู้อื่นได้ง่าย (แค่นั่งทำงานในเมืองยังได้ยินเสียงตำรวจจราจรเป่านกหวีดเลย) แค่เป่ามันให้ปรี๊ด ! คุณก็อาจรอดจากอันตรายได้หลายอย่าง แต่ถ้าหลงป่าลึก แนะนำให้จุดไฟให้ควันลอยขึ้นสู่ที่สูง เพื่อให้ผู้อื่นสามารถระบุตำแหน่งของคุณจากระยะไกลได้

 

เข็มทิศ

ภาพจาก sympathink.com

เดี๋ยวนี้ในสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่นมีทั้งแอปแผนที่ต่าง ๆ รวมถึงฟังก์ชันเข็มทิศให้ใช้งาน แต่เมื่อแบตหมด พาวเวอร์แบงค์มอด สิ่งที่จะช่วยระบุทิศทางได้คือเข็มทิศธรรมดา ๆ ที่เรารู้จักมันตั้งแต่เด็ก แต่เราอาจจำวิธีใช้มันอ่านแผนที่ไม่ได้แล้ว

ว่าง ๆ ก็หยิบมันขึ้นมาเล่นดู ทวนวิธีการใช้งานกับแผนที่ อ่านทิศให้เข้าใจ พอความทรงจำกลับมาคุณก็จะมั่นใจได้ว่าทริปนี้ไม่มีหลงง่าย ๆ ในเมื่อคุณใช้มันคล่อง เจ้าสิ่งนี้ถือว่าควรนำติดตัวไปด้วยอย่างยิ่ง แม้ว่าเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปแล้วแค่ไหนมันก็ยังช่วยชีวิตคุณได้

 

เทคโนโลยีล้ำหน้า

ภาพจาก The Courier Mail

จากภารกิจที่ถ้ำหลวง นอกจากจะเห็นความร่วมมือร่วมใจจากหลาย ๆ หน่วยงาน และจากผู้เชี่ยวชาญของนานาประเทศแล้ว สิ่งที่ได้เห็นอีกก็คือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยยังชีพมนุษย์ อย่าง “Escape pod” ที่อำนวยการสร้างโดย Elon Musk  CEO ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Tesla, SpaceX และ Boring Company ซึ่งแม้ว่าจะพกพาไม่ได้ แต่ก็น่ากล่าวถึง เพราะว่ามันไอเดียที่หากพัฒนาได้สมบูรณ์แล้ว ก็คงจะช่วยชีวิตมนุษย์ได้อีกมากมาย

โดยเขาได้ทวิตบนทวิตเตอร์ @elonmusk แสดงความเห็นต่อวิธีการช่วยเหลือเด็ก ๆ และโค้ชของพวกเขาว่า จะใช้เรือดำน้ำขนาดเท่ากับเด็ก 1 คน โดยผลิตจากท่อส่งออกซิเจนเหลวของจรวด Falcon 9  ที่เบาพอจะยกด้วยคนสองคน และเล็กพอที่จะผ่านที่แคบต่าง ๆ ได้ ที่สำคัญ มันแข็งแรงมาก ๆ  ซึ่งตัว escape pod นี้ มีหูหิ้วที่ใช้ได้ทั้งหิ้วและผู้เชือกสำหรับลากได้ทั้งหมด 8 หู (หน้า 4 หลัง 4) ต่อกับถังอากาศได้ 4 ถัง ซึ่งไม่ยื่นออกมาเกะกะให้เสี่ยงต่อการชน และมี cap seal ป้องกันรั่วในชั้นที่ 2  รวมถึงมีช่องไว้ใส่วัสดุถ่วงน้ำหนักให้พอดี

แม้ว่าเวอร์ชั่นนี้จะเป็นไปไม่ได้สำหรับการพกพา แต่เราเชื่อว่าจะต้องมีรุ่น Inflatable เวอร์ชั่นยางขนาดเล็กพับเก็บได้ในฟังก์ชั่นใกล้เคียงกับออกมาในอนาคตแน่นอน เมื่อถึงวันนั้นมันก็ Make Sense ถ้าจะยัดเพิ่มติดตัวเข้าไปผจญภัยแบบโหด ๆ เพราะถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขั้นสุดขึ้นมาเกี่ยวกับความซวยทางน้ำ เจ้า Escape Pod สไตล์นี้ก็น่าจะสามารถช่วยชีวิตเราได้แน่นอน

 

ภาพจาก Solo Survival part 2

สุดท้าย สิ่งที่ขาดไม่ได้ที่สุด สำคัญที่สุด ที่ทุกคนต้องพกไปด้วยเสมอ คือ “สติ”  ซึ่งทีมหมูป่าฯ ทั้ง 13 คน และทีมงานทุกคนในภารกิจนี้มีไม่แพ้สิ่งอื่น แม้เราจะเตรียมตัวไปดีแค่ไหน อุปกรณ์ยังชีพพร้อมเพียงใด ก็ต้องเข้าใจว่ามนุษย์เราไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ในป่าใหญ่และท้องทะเลยังมีสิ่งที่เหนือการควบคุมของเรา อะไรก็เกิดขึ้นได้ การเป็นผู้ชายสาย adventure ต้องมีสติ และความไม่ประมาทติดตัวไว้เสมอ จะได้ดูแลตัวเองและคนอื่นที่ร่วมทริปได้อีกนาน

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line