DESIGN

TOYS FOR BOYS: นาฬิกา AZIMUTH เรือนเวลาที่แตกต่าง บ่งบอกบุคลิก สไตล์ของผู้สวมใส่ได้ดีที่สุด

By: LIT January 10, 2018

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า นอกจากเจนีวาแล้ว เมืองเบียล ก็เป็นอีกต้นกำเนิดแห่งวิถีประเพณีดั้งเดิมแห่งการประดิษฐ์เครื่องบอกเวลาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตเรือนเวลามาจนถึงทุกวันนี้ ก้าวแรกของแบรนด์นาฬิกาอิสระอย่าง Azimuth ก็เริ่มต้นขึ้นที่นี่เช่นกัน ด้วยคอนเซ็ปต์ในการเป็นนาฬิการูปแบบเฉพาะตัวที่ผสานดีไซน์อันยอดเยี่ยม นวัตกรรมอันทันสมัย และประเพณีดั้งเดิมแห่งการประดิษฐ์เรือนเวลาของสวิส เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

สำหรับใครที่รู้สึกว่าชื่อแบรนด์ไม่ค่อยคุ้นหู ที่จริงแล้วเรือนเวลาแบรนด์นี้มีประวัติและเทคโนโลยีการผลิตที่ละเอียดอ่อนไม่แพ้แบรนด์ไหนในโลก แม้จะเป็นนาฬิกาสวิส แต่ผู้ให้กำเนิดแบรนด์และก่อตั้งโรงงานผลิตนาฬิกา Azimuth ขึ้นที่เมือง เบียล ตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 เป็นต้นมานั้น ไม่ใช่ชาวสวิส แต่เป็นชายผู้หลงใหลในเครื่องบอกเวลาชาวเอเชีย 2 ท่าน Alvin Lye กับ Christopher Long

ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้คร่ำหวอดมากประสบการณ์ในวงการนาฬิกา ทั้งในแง่ของการสะสม และการเป็นผู้จำหน่าย ซึ่งไม่เพียงพอสนองความต้องการที่แท้จริงของเขาทั้งคู่ได้ เพราะทั้งสองต่างประสงค์ที่จะสร้างนาฬิกาในอุดมคติขึ้นมาเอง ด้วยความที่ไม่มีนาฬิกาแบรนด์ใดตอบโจทย์คุณสมบัติที่พวกเขาต้องการให้มีได้

โปรเจ็คต์การก่อตั้งแบรนด์และโรงงานนาฬิกาของพวกเขาจึงก่อกำเนิดขึ้นโดยเลือกคำว่า Azimuth ซึ่งเป็นชื่อเรียกระยะคำนวณของเส้นขอบฟ้าจากตำแหน่งใด ๆ บนโลก มาเป็นชื่อแบรนด์ ด้วยเป็นความหมายแห่งการแสวงหาความรู้ทางปัญญาของมนุษย์ อีกทั้งคำนี้ยังมาจากรากศัพท์ภาษาอารบิก ที่หมายถึงเส้นทางที่นักเดินทางข้ามผ่านซึ่งก็เป็นความหมายที่โดนใจพวกเขาเช่นกัน ส่วนโลโก้ของแบรนด์มาจากลักษณะของแฮร์สปริง ที่เปรียบได้กับการเต้นของหัวใจแห่งกลไกจักรกล ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นในการผลิตแต่เพียงนาฬิกาจักรกลได้อย่างตรงประเด็นที่สุด

ความต้องการสร้างสิ่งที่แตกต่างนั้น คือวัตถุประสงค์หลักในการสร้างนาฬิกา Azimuth ดังนั้นนาฬิกาจาก Azimuth จึงแตกต่างจากนาฬิกาที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไป พวกเขาให้อิสระกับทีมออกแบบ และนักประดิษฐ์นาฬิกา ในการคิดสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ โดยมีกรอบเพียงแค่ว่า นาฬิกาในแต่ละแบบจะต้องมีความพิเศษกว่านาฬิกาโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านดีไซน์ทั้งในส่วนของโครงสร้างหรือการแสดงค่า และทางด้านความซับซ้อนของระบบกลไกก็ตาม อีกทั้งยังเน้นถึงกระบวนการผลิตคุณภาพสูงตามแบบฉบับสวิสเมดอย่างเข้มงวด นี่คือทิศทางอันชัดเจนของเรือนเวลาแห่งจินตนาการจาก Azimuth

นาฬิกาหลายแบบของ Azimuth ที่ประทับใจผู้ที่ชอบอะไรซึ่งมากกว่าเรือนเวลาแบบดั้งเดิมอันแสนจำเจจึงมักจะเป็นนาฬิกาที่มีดีไซน์แปลกใหม่โดนใจในสไตล์อวอง-การ์ด และมีวิธีการแสดงค่าอันซับซ้อน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ ด้วยความประทับใจในดุลยภาพแห่งการผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับวิชาการประดิษฐ์เรือนเวลาตามวิถีทางอันเก่าแก่อย่างลงตัว การสวมใส่นาฬิกา Azimuth จึงเป็นการแสดงออกถึงบุคลิกแห่งผู้นำและรสนิยมอันวิไลในการครอบครองผลงานชั้นเลิศ ทั้งยังบ่งบอกถึงความรักและหลงใหลในศิลปะแห่งกลไกจักรกลด้วย

นักออกแบบของ Azimuth จะเป็นต้นน้ำในการวางแนวคิดให้กับการสร้างนาฬิกาในแต่ละแบบตั้งแต่เริ่มต้น จากภาพวาดด้วยมือสู่การวาดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูงจนถึงการสร้างเรือนต้นแบบขึ้นมาโดยทำงานร่วมกับนักพัฒนากลไกในการคิดค้นหาหนทางสร้างสรรค์รูปแบบการแสดงค่าต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งแต่ละขึ้นตอนจะได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงจากช่างผู้ชำนาญในแต่ละสาขาวิชาเพื่อให้ทุกองค์ประกอบทำงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

ทั้งหมดนี้จะกระทำอย่างอิสระโดยไม่มีการกดดันด้านระยะเวลาการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด นาฬิกา Azimuth ทุกเรือนล้วนถูกประกอบขึ้นในโรงงานของตนเองที่สวิตเซอร์แลนด์ รวมไปถึงทุกขั้นตอนแห่งการคิดค้นพัฒนาและการโมดิฟายด์กลไกโดยเฉพาะด้านวิธีการแสดงค่าอันเปรียบเสมือนลายเซ็นของ Azimuth ที่กระทำบนฐานกลไกชั้นเลิศของสวิสอย่าง ETA และ Unitas ด้วย และเท่าที่ได้ทราบมานั้น อีกไม่นานเราก็จะได้เห็นกลไกอินเฮ้าส์แบบ 100% ที่ Azimuth พัฒนาและผลิตขึ้นภายในโรงงานของตนเองกันแล้ว

ปัจจุบัน Azimuth แบ่งแยกกลุ่มคอลเลคชั่นนาฬิกาของตนออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ SP-1 MECANIQUE, XTREME-1 และ ROUND-1 แต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านคอนเซ็ปต์และวัตถุประสงค์การออกแบบตลอดจนการใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกลักษณะและรูปแบบที่บ่งบอกถึงบุคลิกของตนเองได้ดีที่สุดด้วยตระหนักดีว่าความชื่นชอบและความต้องการของแต่ละบุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน แม้จะมีความรักให้กับเรือนเวลาเหมือนกันก็ตาม

SP-1 Spaceship

SP-1 MECANIQUE – จุดบรรจบแห่งความซับซ้อนทางดีไซน์และกลไก

คอลเลคชั่น SP-1 Mecanique เป็นกลุ่มนาฬิกาของ Azimuth ที่ล้วนนำเสนอแต่นาฬิกาที่มีดีไซน์แปลกใหม่สไตล์อวอง-การ์ด และใช้กลไกที่มีรูปแบบการแสดงผลอันซับซ้อนเหนือการแสดงเวลาแบบพื้นฐานทั่วไป โดยปัจจุบันมีให้เลือกถึงกว่า 10 รุ่น ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งในด้านดีไซน์ การตกแต่ง กลไก ฟังก์ชั่น ตลอดจนรูปแบบของการแสดงผลที่แตกต่างกัน อาทิ SP-1 Spaceship นาฬิกากลไกไขลานเบสจาก Unitas ที่ได้รับการโมดิฟายด์ให้แสดงค่าชั่วโมงด้วยจานดิสก์หมุนแบบจั๊มปิ้งอาวร์ อ่านค่าผ่านช่องกลมโดยติดตั้งเอาไว้บนเข็มนาทีไทเทเนี่ยมดีไซน์สามมิติขนาดใหญ่หมุนแสดงค่าไปพร้อมๆ กัน

ภายใต้ดีไซน์ตัวเรือนและกระจกหน้าปัดทรงโดมโค้งนูนที่นำมาจากลักษณะของจานบิน ซึ่งจะมีการตกแต่งให้เลือกอยู่หลายเวอร์ชั่นด้วยกัน หรือจะเป็นรุ่น SP-1 Landship ที่มากับดีไซน์แนวยานภาคพื้นดินสุดล้ำยุคเหมือนหลุดออกมาจากหนัง ไซ-ไฟ ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติที่แยกการแสดงชั่วโมงกับนาทีออกจากกัน โดยแสดงชั่วโมงด้วยกรวยหมุนซึ่งติดตั้งอยู่ด้านหน้าของตัวเรือน ขณะที่การแสดงนาทีจะกระทำผ่านเข็มเรโทรเกรดกวาดโค้งลู่ไปตามสเกลนาทีบริเวณขอบล่างของตัวเรือน

และก็มีรุ่น SP-1 Mr.Roboto ที่หลายคนชื่นชอบกันเป็นพิเศษในดีไซน์ที่ประยุกต์มาจากหุ่นกระป๋องสุดคลาสสิกยุคทศวรรษที่ 1950 ซึ่งมากับรูปแบบการแสดงค่าด้วยจานดิสก์ผ่านดวงตาทั้งสอง โดยฝั่งตาซ้ายจะเป็นจานแสดงชั่วโมง 12 หลัก ส่วนตาขวาจะเป็นจานแสดงเวลาจีเอ็มที 24 หลัก มีจมูกเป็นดาวสามแฉกแสดงการทำงานของวินาที และอ่านค่านาทีด้วยเข็มเรโทรเกรดที่กวาดบนสเกลในช่องปากของหุ่นยนต์ ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติที่โมดิฟายด์จาก ETA 2836-2

นอกจากนี้ในกลุ่มคอลเลคชั่น SP-1 Mecanique ก็ยังมีรุ่นดังของแบรนด์อย่าง SP-1 Roulette นาฬิกากลไกอัตโนมัติที่มีกลไกโมดิฟายด์พิเศษให้เกมรูเล็ตบนหน้าปัดนั้นเล่นได้จริง ๆ ด้วยการทำงานประสานกับของเม็ดมะยมกับลูกกลมบนปลายเข็มเรียวบางที่สามารถกลิ้งวนไปบนหน้าปัดที่ดีไซน์เป็นวงล้อรูเล็ตได้ เป็นต้น

ส่วนใครที่ปรารถนากลไกนาฬิการะดับสูง Azimuth ก็มีรุ่น SP-1 Twin Barrel Tourbillon ออกมาให้ชื่นชมกันด้วย เป็นนาฬิกาไขลานตูร์บิยองบาร์เรลคู่ที่ให้กำลังสำรองได้ยาวนานถึง 5 วัน และมีความพิเศษเหนือธรรมดาด้วยการแสดงชั่วโมงแบบจั๊มปิ้งที่ใช้จานดิสก์ 2 ชุดจัดวางตรงข้ามกันบนแกนเข็มนาทีขนาดใหญ่ดีไซน์สามมิติ โดยจะผลัดกันหมุนแสดงค่าชั่วโมงไปพร้อมๆ กับชี้แสดงค่านาทีบนสเกลบริเวณขอบหน้าปัดส่วนล่างวาดตัวผ่านเหนือกรงตูร์บิยองที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา บรรจุอยู่ในตัวเรือนทรงโล่ห์ดีไซน์คล้ายรถซูเปอร์คาร์สุดล้ำ

 XTREME-1 – นาฬิกาดำน้ำสำหรับมืออาชีพ

XTREME-1 เป็นกลุ่มคอลเลคชั่นนาฬิกาดำน้ำกลไกจักรกลที่มีความโดดเด่นของดีไซน์ตัวเรือนสุดทะมัดทะแมงและคุณสมบัติสำคัญแห่งการเป็นนาฬิกาดำน้ำระดับมืออาชีพเป็นจุดขาย ดังนั้นคุณสมบัติพื้นฐานแห่งนาฬิกาดำน้ำชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นเม็ดมะยมแบบขันเกลียว ขอบตัวเรือนหมุนทิศทางเดียวพร้อมสเกลนาทีสำหรับดำน้ำใช้งานถนัดมือ (ยกเว้นรุ่น Sea-Hum 3TZ ที่มากับสเกล 24 ชั่วโมงและหมุนได้สองทิศทาง)

เข็มและหลักชั่วโมงขนาดใหญ่เคลือบสารเรืองแสงลูมิโนว่ามองเห็นชัดเจน กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน และความสามารถในการกันน้ำที่มีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับความลึก 500 เมตร พร้อมฟังก์ชั่นทรีไทม์โซนจากเข็มจีเอ็มที และขอบตัวเรือนหมุนสองทิศทางระบุสเกล 24 ชั่วโมงในรุ่น Sea-Hum 3TZ ระดับความลึก 1,500 เมตร ในรุ่น Sea-Hum หรือรุ่น Sea-Hum GMT ที่มาพร้อมเข็มจีเอ็มทีกลางหน้าปัด ไปจนถึงระดับความลึก 2,000 เมตร ในรุ่น Xtreme-1 Deep Diver โดยทุกรุ่นจะมีฮีเลี่ยมแก้สเอสเคปเม้นท์วาล์วเพื่อป้องกันนาฬิกาเสียหายยามขึ้นจากระดับน้ำลึกมาให้ด้วยยกเว้นรุ่น 500 เมตร ที่ยังไม่จำเป็นนักที่จะต้องมี

และอีกคุณสมบัติที่ Azimuth มอบให้มาซึ่งไม่ค่อยพบกันในนาฬิกาดำน้ำซึ่งก็คือเกราะอ่อนภายในตัวเรือนที่ห่อหุ้มตัวกลไกเอาไว้เพื่อป้องกันมิให้สนามแม่เหล็กภายนอกส่งผลรบกวนต่อความแม่นยำในการทำงานของกลไกอัตโนมัติอันเป็นคุณสมบัติของนาฬิกาชั้นเลิศสำหรับนักสำรวจมืออาชีพนั่นเอง ทุกรุ่นใช้กลไกของ ETA ที่ไว้วางใจได้ในคุณภาพ

 

ROUND-1 ความคลาสสิกที่ไม่ธรรมดา

Round-1 เป็นกลุ่มคอลเลคชั่นนาฬิกาเรือนกลมสไตล์คลาสสิกตามแบบฉบับนาฬิกาทั่วไป แต่เมื่อเป็น Azimuth แล้ว ก็ย่อมจะต้องบรรจุเอาความไม่ธรรมดาลงไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นการออกแบบหน้าปัด และกลไกการแสดงค่าที่ซับซ้อนกว่าการใช้เข็มรูปแบบปกติที่เห็นกันจนชินตา โดยมีออกมาด้วยกันหลากรูปแบบหลายสไตล์ ซึ่งรุ่นที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมากก็คือรุ่นที่ชื่อว่า Back in Time นาฬิกากลไกอัตโนมัติแสดงเวลาแบบเข็มเดี่ยว ที่ได้รับการโมดิฟายด์กลไกให้เดินแบบทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งถือว่าเป็นนาฬิกาแบบเข็มเดี่ยวแบบแรกของโลกที่บอกเวลาแบบทวนเข็มนาฬิกา (ก่อนหน้านี้ก็มีออกรุ่นที่มีเข็มนาทีมาด้วยซึ่งจะมีเม็ดมะยมอยู่ด้านซ้ายก่อนจะปรับมาเหลือเพียงแต่แบบเข็มชั่วโมงเข็มเดี่ยวที่มีทั้งแบบเม็ดมะยมซ้ายและแบบเม็ดมะยมขวาในปัจจุบัน)

นอกจากนี้ก็มีรุ่น RRM นาฬิกากลไกอัตโนมัติที่แยกกันแสดงค่าแบบเรกูเลเตอร์ด้วยเข็มชั่วโมงบนหน้าปัดขนาดเล็ก เข็มนาทีแบบเรโทรเกรด และเข็มกลางแสดงวินาที รุ่น Retrograde Minutes Jour et Nuit นาฬิกากลไกอัตโนมัติแสดงชั่วโมงด้วยเข็มบนหน้าปัดเล็ก แสดงนาทีด้วยเข็มเรโทรเกรด แสดงวินาทีด้วยเข็มกลาง พร้อมช่องหน้าต่างแสดงกลางวัน/กลางคืน หรือถ้าไม่ต้องการฟังก์ชั่นแสดงกลางวัน/กลางคืนก็มีรุ่น Regulateur Retrograde Minutes ไว้รองรับ หรือแม้แต่นาฬิกากลไกไขลานสเกเลตันก็มีให้เลือกเป็นเจ้าของด้วย รวมถึงนาฬิกาที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามในคอนเซ็ปต์ต่างๆ และนาฬิกาสไตล์นักบินเรือนโตสไตล์บิ๊กไพล็อทอีกหลายรุ่น

จากนาฬิกาทั้งหมดใน 3 กลุ่มคอลเลคชั่นที่ Azimuth มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องยอมรับเลยว่าเป็นแบรนด์นาฬิกาอินดี้ขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการผลิตสูงทีเดียว ด้วยรูปแบบและฟังก์ชั่นที่หลากหลายให้คนรักนาฬิกาเลือกเป็นเจ้าของกันได้อย่างตรงใจ ยิ่งนโยบายการวางระดับราคาของ Azimuth ที่ไม่ต้องการให้นาฬิกาของพวกเขานั้นเข้าถึงยากด้วยแล้ว ทำให้การตัดสินใจซื้อนาฬิกา Azimuth สักเรือนนั้นเป็นเรื่องง่ายมาก แต่สิ่งที่ยากกว่าการตัดสินใจซื้อก็คือการเลือกว่าจะซื้อรุ่นไหนดี เพราะแต่ละรุ่นก็มีความน่าสนใจอยู่ในตัวด้วยกันทั้งนั้น

ติดตามรายละเอียด Azimuth เพิ่มเติมได้ทาง
FACEBOOK: www.facebook.com/azimuthwatchthailand
โทร:   081-657-3623

LIT
WRITER: LIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line