Life

คนอื่นคือจักรวาล ตัวเราเล็กกว่าฝุ่นผง: 3 สิ่งซุ่มดักตีคนดี ที่ขยันละเลยความรู้สึกตัวเอง

By: anonymK July 18, 2019

“ความสำคัญ คนสำคัญ” เป็น 2 คำที่น้อยคนจะใช้กับตัวเองแต่สามารถหยิบยื่นให้คนอื่นอย่างเต็มใจ เคยสังเกตกันบ้างไหมว่าเรามักมองคนทั้งโลกดีหมด ใจกว้างให้อภัยคนที่ทำให้เรารู้สึกแย่ได้ แต่กลับหวดตัวเองอย่างรุนแรงเมื่อพบข้อบกพร่องที่เกิดจากตัวเองเสมอ

ถ้า “ดีเกินไป” คือสิ่งที่คุณทำให้คนอื่น แต่ไม่ยอมทำให้ตัวเอง เราขอให้ลดดีกรีมันลงอีกนิดเพราะบางครั้งมันอาจถ่วงคุณภาพชีวิตคุณลงจากผลสะท้อนทั้ง 3 ข้อต่อไปนี้

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก แต่ไม่ค้ำจุนเรา

อารมณ์สงสารเป็นธรรมดาของลูกผู้ชาย กายภาพของเราที่แข็งแรงกว่ามักมาพร้อมหน้าที่ที่ฝังหัวมาว่าควรปกป้องคนอื่น และถ้าดีกว่านั้นหน่อยหลายคนก็เลือกเป็นพ่อพระทางความคิด ทำไปทำมาจนเคยชิน โดยไม่รู้เลยว่าการรับเรื่องราวบอบช้ำของคนอื่นมามาก ๆ สงสารเขาไปเรื่อย มันทำให้เราเหนื่อยล้า สิ้นหวังกับเขาลงได้เหมือนกัน

ผลการวิจัยจาก University of Bradford เผยว่าแค่การรับข่าวจากสื่อโซเชียลที่ผ่านตาก็สร้างความเครียด ความรำคาญให้เราได้แล้ว ความเครียดที่ได้รับผ่านประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นของเราโดยตรงหรือของคนอื่นเหล่านี้ค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปในตัวเราจนทำให้รู้สึกดิ่ง จม สิ้นหวังและไร้ค่า แถมผลกระทบนี้ยังสื่อออกมาผ่านพฤติกรรมและความคิดด้วย ถ้าคุณสังเกตว่าช่วงนี้การมองโลกไม่ค่อยเหมือนเดิม จัดการอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ ทักษะวิเคราะห์หรือความรู้สึกอยากริเริ่มสิ่งต่าง ๆ ลดลง นอนไม่ค่อยหลับ แสดงว่าต้องเริ่มหันมาเมตตาตัวเองบ้างแล้ว พักการเสพเรื่องแย่จากโซเชียลเสียบ้าง

คนเจ็บปวดมือสอง

เรื่องของเขาแต่พอเราฟังหรือเห็นก็เอามาเก็บไว้ให้เจ็บแทน สิ่งนี้คือเลเวลสองที่เพิ่มระดับจากความดิ่งแบบแรก การรับความเจ็บปวดมือสอง ฟังแล้วดูคล้าย ๆ ควันบุหรี่มือสอง แต่มันเล่นงานเราด้วยความเจ็บที่รวดเร็วและรุนแรงมากกว่านั้นเพราะจู่โจมการใช้ชีวิตเข้าอย่างจังจากภาวะเหล่านี้

  • ติดเป็นภาพจำจนเก็บมาเป็นฝันร้าย
  • มีอาการ hyperarousal หรืออาการตื่นตัวมากเกินไปเป็นหนึ่งในอาการของ PTSD ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชจากการพบเหตุการณ์เลวร้าย จนรู้สึกกระวนกระวาย ใจสั่น ไม่มีสมาธิ
  • มีอาการ hypervigilance หรืออาการระแวดระวังตัวสูงผิดปกติ จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างไม่ราบรื่น ความสุขในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลงลด

คนที่มีความเสี่ยงของอาการนี้มักจะเป็นนักฮีลมืออาชีพที่รับเรื่องราวดาร์ก ๆ รุนแรงหรือภาวะลบเป็นประจำ เช่น หน่วยกู้ภัย จิตแพทย์ พระ นักข่าว แต่ใช่ว่าคนธรรมดาอย่างเราจะไม่เป็นนะ ถ้ารับเป็นที่ปรึกษาใจป๋าให้ชาวบ้านด้วย ฟังเรื่องราวลบมาไว้กับตัวมาก ๆ ความรู้สึกเหล่านี้จะค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาหาเช่นกัน ทางแก้คือเมื่อช่วยคนอื่นแล้วก็อย่าลืมหันกลับมาเยียวยาตัวเองด้วยการรับพลังบวกจากสิ่งรอบข้างเสียบ้าง หรือปลง ๆ อย่าไปทุกข์ร้อนอะไรกับมันให้มากมาย

Burnout ไฟมอด พอกันที

เสี่ยงจากการดูแลสิ่งมีชีวิตรอบข้างแล้ว แถมให้ว่าเรายังเสี่ยงกับการดูแลสิ่งไม่มีชีวิตอย่าง “งาน” ด้วย! ซึ่งความเครียดที่สะสมเรื้อรังนี้ ทาง WHO (องค์การอนามัยโลก) ได้บัญญัติชื่อเรียกมันว่า Burnout เจ้านี่เป็นอีกรูปแบบของการดูดพลังจากความเครียดที่ต่างจากความเหนื่อยล้าทั้งสองอย่างด้านบน

เวลาเดินหน้าไปแต่ชีวิตเราไม่เดินตาม ติดอยู่กับปัญหาเครียดแบบเดิมวน ๆ ของงานที่แก้ไขไม่ได้ สิ่งที่ตามมาคือเราจะเริ่มดูถูกความสามารถของตัวเอง ห่อเหี่ยว จนสุดท้ายก็ยกธงขาวยอมแพ้ไม่อยากจะทำอะไรกับมันอีกต่อไป ใครที่พบว่าตัวเองอกหักจากงาน ไฟเริ่มมอด ลองไปเช็กตัวเองได้ในบทความเกี่ยวกับ Burnout ที่ UNLOCKMEN เคยเขียนไว้ละเอียดในนี้ เพราะบางทีสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอาจจะเป็นสิ่งเดียวกับที่เราบอกไว้

คลายทุกข์ให้คนอื่นแล้ว ถึงเวลาเติมความสุขให้ตัวเองบ้าง เริ่มต้นจากการใส่พลังบวกให้ตัวเองก่อน แต่สำหรับใครที่คิดว่าเอาตัวเองขึ้นมาจากหลุมไม่ไหวเลยครับช่วงนี้ การพูดคุยกับใครสักคนเพื่อระบายความเศร้าออกไปบ้างหรือจับเข่าระบายให้จิตแพทย์ช่วยค้นและคลายความเศร้านี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่เราแนะนำ

ลองเปลี่ยนมุมมองให้กลับมาใจดีกับตัวเองอีกครั้งก่อนเผื่อแผ่คนรอบข้าง แทนที่จะพยุงกันไปสภาพเตี้ยอุ้มค่อม สุดท้ายทั้งเราและเขาต่างก็พังเป็นทางเลือกที่ดีกว่าและไม่สายเกินไป โปรดจำไว้อีกครั้งและจำให้ขึ้นใจ

“คุณไม่ใช่เศษฝุ่นแต่เป็นจักรวาลทั้งใบของตัวคุณเอง”

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line