World

MISSION TO MARS: เมื่อภารกิจสู่ดาวอังคารนำไปสู่คำถามว่ามนุษย์มีสิทธิ์ปกครองดาวเคราะห์สีแดงนี้หรือไม่?

By: PERLE November 28, 2018

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในแวดวงดาราศาสตร์และอวกาศคงไม่มีข่าวไหนจะได้รับความสนใจไปกว่าข่าวยาน InSight ยานสำรวจไร้คนขับขององค์การ NASA สามารถลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จหลังจากที่ถูกปล่อยขึ้นสูห้วงอวกาศในวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่มนุษย์สามารถส่งยานไปลงจอดบนดาวอังคาร แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปในแง่ภารกิจ เพราะเป้าหมายของ InSight คือการสำรวจโครงสร้างทางธรณีวิทยาของดาวอังคารโดยละเอียด

ภาพถ่ายแรกจากยาน InSight หลังจากที่ลงจอดได้สำเร็จ

ถึงแม้ว่า InSight จะเป็นยานไร้คนขับเช่นเดียวกับลำก่อน ๆ ที่ NASA เคยนำไปลงจอดบนดาวดังคาร ซึ่งหมายความว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังคงไม่มีมนุษย์คนไหนได้ฝากรอยเท้าไว้บนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ แต่การที่ภารกิจสำรวจดาวอังคารค่อย ๆ คืบหน้าขึ้นเรื่อย ๆ และความฝันที่ดาวเคราะห์ดวงนี้จะเป็นบ้านหลังที่ 2 ของชาวโลกก็เข้าใกล้ความจริงขึ้นมาทุกที

แต่ในเมื่อมนุษย์ไม่ใช่เจ้าของดาวอังคาร ไม่ได้ถือกำเนิดที่นั่น เป็นแค่เพียงผู้มาเยือนและหวังจะตั้งรกรากเท่านั้น สิ่งนี้จึงนำไปสู่คำถามทางจริยธรรมที่ว่าถ้ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคาร ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน และการย้ายถิ่นฐานครั้งนี้นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตดังกล่าว การอพยพสู่ดาวอังคารเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่?

Life in the Universe

ตามที่นักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นสามารถอาศัยอยู่ที่ไหนก็ได้ในจักรวาลกว้างใหญ่ เพียงแต่ในสถานที่นั้น ๆ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้

น้ำ, แหล่งให้ความร้อนและพลังงาน, แร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน และโพแทสเซียม

ดาวอังคารก็มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนดังนั้นการที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่จึงมีโอกาสเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ไม่ใช่สถานที่เดียวในจักรวาลที่มนุษย์ค้นพบและมีองค์ประกอบครบต่อการดำรงชีวิต เนื่องจาก Europa หนึ่งในดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ของดาวพฤหัส และ Enceladus ดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ของดาวเสาร์ก็มีคุณสมบัติดังกล่าวเช่นกัน

ดูเหมือนว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์จะไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ เพราะตอนนี้โครงการ Europa Clipper มีแผนที่จะปล่อยยานสู่อวกาศในปี 2020 โดยเป้าหมายคือการสำรวจดวงจันทร์บริวารดังกล่าวอย่างละเอียด และนำผลที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสภาพของดาวอังคาร เพื่อหาแนวทางลดการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นในภารกิจตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร และในอนาคตคาดว่าจะมีโครงการสำรวจ Enceladus ด้วยเช่นกัน

Contaminate

ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของยุคสำรวจอวกาศ เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างก็หันมาให้ความสำคัญในเรื่องการปนเปื้อนทางชีวภาพอย่างจริงจัง โดยในปี 1959 NASA ได้จัดประชุมเพื่ออภิปรายถึงความจำเป็นในการฆ่าเชื้อยานอวกาศที่ถูกส่งไปยังต่างดาว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ทั้งหมดได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการฆ่าเชื้อดังกล่าว

นอกจากจะเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาจดำรงอยู่บนดาวดวงนั้น ๆ แล้ว ยังป้องกันผลลัพธ์ของการสำรวจไม่ให้ผิดเพี้ยนอีกด้วย ซึ่งข้อตกลงนี้ของ NASA มีผลบังคับใช้ภารกิจสำรวจระบบสุริยะทั้งปวง แน่นอนว่ารวมถึงดาวอังคารด้วย

แต่อย่างไรก็ตามภารกิจ Galileo ของ NASA ในปี 1995-2003 เป้าหมายคือการสำรวจดาวพฤหัสและดวงจันทร์บริวาร มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปนเปื้อนโดยเฉพาะกับดวงจันทร์ Europa

เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงอย่างสิ้นเชิง ในวันที่ 21 กันยายน 2003  NASA ตัดสินใจใช้เชื้อเพลิงสุดท้ายของ Galileo เพื่อส่งลงสู่ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี ด้วยความเร็ว 30 ไมล์ต่อวินาที และทำให้ยาน Galileo ระเหยหายไปในไม่กี่วินาที

14 ปีต่อมา NASA ได้ใช้วิธีเดิมอีกครั้งในภารกิจ Cassini ที่กำลังโคจรรอบดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวาร ก่อนที่พลังงานจะหมด Cassini ได้พุ่งลงสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อทำลายตัวเอง

Mars

ดาวอังคารตกเป็นเป้าหมายของภารกิจด้านดาราศาสตร์มากมายตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต แต่ทุกภารกิจคือการส่งยานไร้คนขับไปสำรวจทั้งสิ้น ข้อดีก็คือหุ่นยนต์มีความเสี่ยงปนเปื้อนน้อย ที่สำคัญยานอวกาศทั้งหมดที่ออกแบบมาเพื่อลงจอดบนดาวอังคารต้องผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้ออย่างเข้มงวดก่อนเปิดตัว

แต่ในอนาคตเมื่อพูดถึงการย้ายถิ่นฐานสู่ดาวอังคาร แน่นอนว่าการต้องมีมนุษย์โดยสารไปกับยานด้วยนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีระบบช่วยชีวิต ระบบจ่ายพลังงาน เครื่องพิมพ์ 3D อาหาร และเครื่องมือ ที่มนุษย์ต้องนำติดตัวไปด้วยเพื่อการอยู่รอดและเริ่มต้นการตั้งรกรากบนดาวดวงใหม่ สิ่งที่ตามมาคือการปนเปื้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Ethics, Right, And Mars

การปนเปื้อนบนดาวอังคารไม่ใช่เรื่องที่คาดไม่ถึง เมื่อรายงานเรื่อง ‘Biological Contamination of Mars: Issues and Recommendations’ ยืนยันว่าภารกิจส่งมนุษย์สู่ดาวอังคารจะทำให้เกิดการปนเปื้อนกับดาวเคราะห์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

David Weintraub ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Vanderbilt University ให้ความเห็นว่าการจะส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารนั้นต้องหาหลักฐานการมีชีวิตอยู่ในอดีตหรือปัจจุบันบนดาวอังคารได้อย่างถูกต้องเสียก่อน เพื่อนำมาชั่งน้ำหนักว่าการตัดสินใจตั้งอาณานิคมใหม่บนดาวอังคารนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและคุ้มค่าหรือไม่

แม้ว่าเราจะเพิกเฉยไม่สนใจต่อความเสี่ยงที่สิ่งมีชีวิตหรือแม้กระทั่งจุลินทรีย์จะได้รับผลกระทบจากการมาเยือนของอาคันตุกะจากดาวเคราะห์สีน้ำเงิน แต่ในอีกแง่หนึ่งมนุษย์โลกอย่างเราเองก็ได้รับความเสี่ยงจากสิ่งแปลกลอมของดาวอังคารด้วยเช่นกันเมื่อมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน สิ่งเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวโลก นี่คือปัญหาระดับมนุษยชาติที่ควรมีการจัดการประชุมเพื่อหาทางออกและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่าง NASA, โครงการ Mars 2117 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, หรือแม้กระทั่งโครงการภาคเอกชนของ SpaceX, Mars One, Blue Origin ก็ยังยืนยันและมุ่งมั่นที่จะส่งมนุษย์ไปเหยียบดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ให้ได้

ส่วนนักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าในตอนนี้มีหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนว่าบนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตอยู่ ดังนั้นกรรมสิทธิ์ของดาวเคราะห์ดวงนี้จึงเป็นของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น และสิ่งที่มนุษย์กำลังพยายามทำอยู่คือการรุกราน

มนุษย์โลกมีสิทธิ์จะยึดครองดาวอังคารเพียงเพราะว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเราสามารถทำได้หรือเปล่า? นี่คือคำถามทางจริยธรรมที่ต้องตอบให้ได้ก่อนที่ก้าวแรกของมนุษย์จะก้าวลงสู่ผืนผิวดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้

 

SOURCE1/2/3

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line