DESIGN

ฝีมือไม่มีผลเท่าเส้นสาย! ผลวิจัยเผยศิลปิน ABSTRACT ระดับโลกดังได้เพราะมี CONNECTION

By: anonymK March 11, 2019

มันต้องมีสักครั้ง ที่เราเดินเข้าไปดูงานจัด Gallery Art แนว Abstract แล้วซึมซับสุนทรียภาพข้างหน้าพร้อมความรู้สึกสงสัยว่า “เฮ้ย ! ทำไมงานนี้เป็นงานดังระดับโลกวะ?” หรือรู้สึก “เข้าไม่ถึงความงามระดับสากล” ที่หลายคนชื่นชม

ความสงสัยนี้ถูกเก็บงำมานับศตวรรษ การประเมินค่าความงามที่ไม่อาจตีความให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ เพราะ “ความสวย” เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่เรื่องทั้งหมดนี้ได้รับการอธิบายด้วยผลวิจัยล่าสุดจาก Columbia Business School ว่า ทั้งความเก่งกาจและความครีเอทีฟเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงอันโด่งดังให้ศิลปิน เพราะปัจจัยที่ช่วยเป็นป๋าดันพวกเขาโด่งดังมันมาจาก “CONNECTION” ต่างหาก

Connection กับแวดวงศิลปะ

แม้คอนเนคชั่นฟังแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องของธุรกิจมากกว่าศิลปะ แต่การศึกษาวิจัยเรื่อง Fame as an Illusion of Creativity: Evidence from the Pioneers of Abstract Art หยิบ “ชื่อเสียงและความสำเร็จ” แบบนามธรรมในวงการศิลปะ มากางและวิเคราะห์จนพบต้นตอของชื่อเสียงเหล่านั้นว่า นอกจากความเก่งแล้ว สิ่งที่ดันให้พวกเขาโดดเด่นขึ้นมาเหนือศิลปินคนอื่น ๆ คือกลุ่มคนที่พวกเขาคบหา

การวิจัยครั้งนี้ใช้ชื่อศิลปินสาย Abstract ที่อยู่ในยุค 1910 – 1925 นำมาประเมินคะแนนผลงานจาก 2 วิธี วิธีแรกคือการประเมินงานผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนอีกวิธีคือการเซ็ตนักประวัติศาสตร์ศิลปิน 4 คนขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกำหนดการให้คะแนน ไดอะแกรมแผงผังวงสังคมที่โชว์บนผนังเหล่านี้ทำให้เห็นว่ายิ่งอยู่ในวงล้อมมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าคนที่สันโดษ และพอเทียบระหว่างค่าความคิดสร้างสรรค์กับการอยู่ในวงสังคมแล้ว เห็นชัดว่าไม่ว่าคะแนนด้านครีเอทีฟจะสูงทิ้งช่วงแค่ไหนก็ไม่ช่วยให้ดังได้เท่ากับคนที่เป็นที่รู้จักในแวดวง

นอกจากนี้ Hint ที่ช่วยทำนายความโด่งดังของศิลปินยังมีรายละเอียดสำคัญบางประการ เช่น คนที่รู้จักต้องเป็นกลุ่มศิลปินจากหลายประเทศและต่างอุตสาหกรรม วงการนายหน้า หรือคนที่ศิลปินสัมพันธ์ด้วยต้องมีอายุมากกว่า เป็นต้น

ตัวอย่างของศิลปิน Abstract ที่งานวิจัยนำมาเปรียบเทียบความสัมพันธ์นี้คือศิลปินสาวสาย Abstact อย่าง Suzanne Duchamp กับ Vanessa Bell  ทั้งสองคนนี้แม้จะเป็นศิลปินหญิงจากสายเดียวกันแต่คะแนนนิยมต่างกันลิบลับ เครือข่ายสังคมของ Duchamp อยู่กับกลุ่มศิลปิน Dada ขณะที่กลุ่มของ Bell อยู่ในสังคมของ London Groups (สถานที่ที่ Bell เรียน) ซึ่งสามารถคำนวณค่าความหลากหลายของแวดวงคนที่ได้รับชมงานสูงกว่า และลากยาวไปถึงการรู้จักกับ Gertrude Stein นักเขียนหญิงชาวอเมริกัน เชื้อสายเยอรมัน-ยิว ที่เออร์เนส เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ยกย่องให้เธอเป็นนายพลทางวรรณกรรม ดังนั้น ว่ากันง่าย ๆ ว่าถ้าคุณกำลังหาหนทางโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทริคที่ง่ายที่สุดมันมากจากคนที่คุณรู้จัก เพราะคนเหล่านั้นจะเป็นกำลังขับเคลื่อนผลงานของคุณออกไปสู่สาธารณชนด้วยแรงส่งที่มากกว่าคุณดันผลงานของตัวเอง

นักปั้นงาน VS นักปั้นชื่อเสียง เรื่องราวที่เคยเล่าซ้ำในสื่ออื่น

ผลงานศิลปะถ้าอยู่ข้างทางอาจจะราคาตก แต่พอปัดฝุ่นมาอยู่ในมือคนที่สามารถโปรโมตมันได้ หรือมีอำนาจคอนเนคชั่นในมือคดีจะพลิกทันที ประเด็นนี้เคยตีแผ่ผ่านหนังเรื่อง Velvet Buzzsaw หนัง thriller ที่วางแบคกราวน์เรื่องทุนนิยมกับงานศิลปะนำมาผสมผสานกัน

เรื่องเล่าของภาพศิลปะอาถรรพ์ที่วาดด้วยเลือดมนุษย์ คร่าชีวิตคนที่พยายามหาประโยชน์จากมัน ทั้งนายหน้างานศิลปะ นักวิจารณ์และทุกคนที่หลงใหลมัน ความแยบยลและสยองขวัญจะถูกใจหรือไม่ เราแนะนำให้ไปเปิดดูด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เราได้หลังจากดูเรื่องนี้คือการเปิดเผยอีกมุมหนึ่งของโลกศิลปะที่ขับเคลื่อนด้วยเล่ห์การค้า นายหน้างานศิลป์มีผลต่อการจัดแสดงผลงานให้เป็นที่รู้จักผ่านการจัดแสดงในพื้นที่ต่าง ๆ มีประเด็นเรื่องการลัดคิวจัดแสดงผลงาน นักวิจารณ์มีผลต่อผลงานของศิลปิน ฯลฯ ผลวิจัยนี้จึงสนับสนุนให้เห็นว่าความดังกับคอนเนคชั่นทางศิลปะอาจไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่มีคนนำมาวิเคราะห์มันอย่างจริงจังเท่านั้นเอง

สำหรับคนที่ยังมองภาพไม่ออก เพราะ Velvet Buzzsaw อาจดูเป็นเรื่องแต่งมากเกินไป การดู Kusama Infinity สารคดีชีวิตของ Yayoi Kusama น่าจะทำให้ยิ่งอินกับประเด็นนี้ลึกซึ้งขึ้น ป้าลายจุดที่มีผลงานระดับโลกมาจัดแสดงที่ไทยในงาน Bangkok Art Biennale ปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตเป็นตัวแทนขบถที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านศิลปะ ลวดลายจุดที่เราเคยชื่นชมความจริงมันกำเนิดขึ้นมานานมากแล้วตั้งแต่เธอยังอยู่ในวัยสาว แต่โดนสังคมหันหลังให้และบดขยี้ความคิด ความสามารถที่มีวันนั้นจึงไม่อาจพาเธอไปถึงปลายฝั่งที่มันควรเป็นและต้องจบครึ่งของชีวิตซึ่งเคยมีไฟลุกโชนกับการทำงานศิลป์ขับเคลื่อนสังคมลงด้วยการบำบัดจิตในโรงพยาบาล

กว่าสังคมจะตอบรับก็เป็นวันที่เธอแก่ชราลงแล้ว เหลือเพียงคุณป้าไร้พิษภัยวัย 89 ปีกับลายจุดที่แสดงความน่ารักไม่รุนแรงเหมือนเก่า “สังคม” บิดชีวิตและงานศิลปะให้น่าชื่นชมและป่นปี้ได้ในคราวเดียวกัน สังคม คนรู้จักช่างมีผลต่อการยอมรับของผู้คนและความโด่งดัง

งานวิจัยนี้ไม่ใช่การหยิบประเด็นความสามารถมาโต้แย้ง แต่เป็นการไขปูมหลังความดังที่คาดไม่ถึงให้เห็นได้ง่ายขึ้นว่า แค่งานเนี้ยบ ความคิดคม ๆ อย่างเดียวมันไม่ช่วยอะไรถ้าสุดท้ายแล้วไม่มีใครชื่นชมมัน และคอนเนคชั่นก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้คนเห็นงานของเรามากขึ้น ชื่นชมงานเราได้มากขึ้น และยิ่งถ้าคนที่ได้เห็นมันคือคนต่างวงการ การบอกต่อปากต่อปากยิ่งขยายฐานความชื่นชอบ เป็นโอกาสให้งานได้รับความยอมรับในวงกว้างเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งมันเป็นหนึ่งในกลไกที่เราเห็นในทุกวันนี้ว่าคนผลิตผลงานควรมีส่วนในการเผยแพร่มันเพื่อให้คนอื่นได้เห็น หากต้องการสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

SOURCE: 1 / 2

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line