Style

รวมสุดยอดไอเดียเจ๋งจากงานชุมนุมทางความคิด Creative Unfold 2015 โดย TCDC

By: Chaipohn September 24, 2015

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา UNLOCKMEN ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานชุมนุมทางความคิดครั้งใหญ่ “Creative Unfold 2015” จัดโดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภายใต้ธีม SHIFT decode:design:disrupt หรือ “เร็วทันคิด พลิกโอกาส” การชุมนุมนี้ทาง TCDC ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทั้งในด้านการออกแบบจากทั่วโลกมาบรรยายปัจจัยความสำเร็จในยุคที่ทุกชีวิตก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล Unlockmen รวบรวมไอเดียเจ๋งจากผู้บรรยายแต่ละท่าน พร้อมเปิดวาร์ปลิงค์วิดิโอที่เกี่ยวข้องให้ไปอินสไปร์กันต่อ

150924-cutcdc-1

ดร. จอร์แดน แบรนดท์

นักอนาคตศาสตร์และผู้อำนวยการกองทุน Spark Investment Fund ของ Autodesk

คุณอ่านไม่ผิดหรอก ดร.แบรนดท์เป็นนักอนาคตศาสตร์จริงๆ สิ่งที่เขาทำ คือ สิ่งที่เราคิดว่ามีเฉพาะในหนังโลกอนาคต และกำลังจะเปลี่ยนแปลงโลกของนักออกแบบในแบบที่คาดไม่ถึง ดร.แบรนดท์แนะนำให้เรารู้จักโปรแกรมใหม่จาก Autodesk ซึ่งใช้คู่กับการปริ้นท์สามมิติ (3D Printing) โปรแกรมนี้ ใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบโดยหาแบบที่ดีที่สุด จากความเป็นไปได้พันๆแบบ ภายใต้เงื่อนไขที่ดีไซเนอร์กำหนด เช่น ให้ใช้วัสดุน้อยที่สุด นน.เบาที่สุด หรือแข็งแรงที่สุด ซึ่งดีไซเนอร์ก็ทำหน้าที่เพียงแค่ตั้งค่า และเลือกแบบที่คิดว่าสวยที่สุดเท่านั้น หลายๆผลงานการออกแบบจากโปรแกรมนี้ออกมาดูไม่เหมือนสิ่งที่ออกแบบโดยมนุษย์ (รูปสะพานลอยด้านล่าง) โปรแกรมนี้ทำให้คนธรรมดาที่ไม่เคยเรียนออกแบบสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์หรือแม้กระทั่งสร้างบ้านได้ด้วยตัวเอง เมื่อประกอบเข้ากับเครื่องปริ้นท์สามมิติแล้ว การสร้างอะไรซักอย่างก็ใช้แค่เพียงปลายนิ้ว

150924-cutcdc-2

สำหรับคนที่สนใจข้อมูลโปรแกรมของดร.แบรนดท์ สามารถกดเข้าไปฟังได้ที่ลิงค์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=oTLTPBOYDRY หรือทวิตเตอร์ @gordobia นอกจากนี้ดร.แบรนดท์ยังมีโปรเจค P9 ซึ่งสนับสนุนดีไซเนอร์ไฟแรง มาเป็น Artist in Residence ใครสนใจลองสมัครที่ http://www.autodesk.com/artist-in-residence/home

 

150924-cutcdc-3

พอร์เทอร์ เอริสแมน

ผกก.และผู้สร้างภาพยนตร์สารคดี Crocodile in the Yangtze : The Alibaba Story และอดีตรองประธานของ Alibaba Group

เอริสแมน เคยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับแจ็ก หม่า เขาเปิดคลิปปราศัยของแจ็ก หม่า เมื่อสิบปีที่แล้วให้เราดู ทำให้เรารู้ว่าแจ็ค หม่าใช้แค่สองปัจจัยในการพาบริษัท Alibaba ให้เติบใหญ่สู้กับ amazon.com หรือ ebay.com ได้ คือ 1.ความเชื่อมั่นว่าคนจีนก็มีความสามารถไม่แพ้ใคร และ 2.การ localize หรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเวบไซต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมคนท้องถิ่นจริงๆ พอร์เทอร์ย้ำเตือนให้เราเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกอย่างจากโลกตะวันตกจะสามารถใช้ได้กับแถบเอเชียซะหมด โดยเฉพาะประเทศเพิ่งพัฒนาได้ไม่นานอย่างประเทศจีน หรือแม้แต่เมืองไทยเองก็ตาม เรามัวแต่มองโมเดลความสำเร็จของบริษัทยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตก อย่างแอปเปิล หรือ กูเกิล จนลืมไปหรือเปล่า ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการออกแบบสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองผู้ใช้ของเราเอง

ทวิตเตอร์ @PorterErisman เวบสารคดี Crocodile in the Yangtze www.crocodileintheyangtze.com นอกจากนั้นลองเสิช “Jack Ma” ในยูทูป จะพบกับคลิปปราศัยของแจ็ก หม่ามากมาย ซึ่งล้วนแต่จะทำให้คุณฮึกเหิม มีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อความสำเร็จ

 

150924-cutcdc-4

อาซิฟ ข่าน

หัวหน้าสถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Asif Khan

ข่าน ได้ออกแบบอาคารสปอนเซอร์ในการแข่งกีฬาโอลิมปิกถึงสองหน และออกแบบพิพิธภัณฑ์ Guggenheim สาขาเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ สิ่งที่อาซิฟสอนเรา คือ หลายๆครั้งที่นักออกแบบหรือครีเอทีฟจะต้องเจอบรีฟแย่ๆ อย่างตัวเขาเองในกรณีออกแบบพาวิลเลียนให้กับ Megafon ซึ่งมีบรีฟประโยคเดียว คือ “มันจะต้องว้าว” อาซิฟกลับคิดว่า ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ของครีเอทีฟที่จะต้องสร้างสรรค์ให้ได้อย่างที่ลูกค้าคาดหวัง เขาจึงทำผลงานที่น่าทึ่งอย่าง Mega Faces พาวิลเลี่ยนที่ทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆสามารถมีภาพเป็นประติมากรรมนูนต่ำบนอาคารขนาดใหญ่ได้ เพื่อสื่อว่าคุณก็สามารถเป็นฮีโร่โอลิมปิกได้เหมือนกัน

ทวิตเตอร์ @asif_can ลองเข้าไปดูผลงานของ Asif Khan สตูดิโอได้ ที่ http://www.asif-khan.com ไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้คือ Coca-Cola Beatbox Pavilion, Maga Faces Pavilion, Guggenheim Helsinki

 

150924-cutcdc-5

กาดี้ อามิท

ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าดีไซเนอร์ของ New Deal Design

อามิท คือผู้ออกแบบ Fitbit เขาเชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเพื่อการสวมใส่โดยเฉพาะ กาดี้บอกว่าเทคโนโลยีที่ดีไม่ใช่แค่ฉลาด (Smart Technology) แต่จะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ “รู้กาลเทศะ” (Wise Technology) คือรู้ว่าเวลาไหนควรจะแจ้งเตือน และเวลาไหนควรจะเงียบ นอกจากนั้นเขาโชว์โปรเจค UnderSkin ให้เราดู โปรเจคอนาคตที่จะฝังอุปกรณ์เข้าไปในมือ (ถูกต้องแล้ว ผ่าตัดและฝังเข้าไปใต้เนื้อ) โดยมีไฟ led แสดงผลเรืองขึ้นมาใต้ผิวหนัง เป็นลวดลายคล้ายแทตทู ซึ่งคุณจะสามารถใช้อุปกรณ์นี้ในการวัดน้ำตาลในเลือด จ่ายเงินแทนบัตรเครดิต หรือแม้กระทั่งแลกนามบัตรเวลาที่จับมือทักทายกับคนอื่น

ทวิตเตอร์ @NewDealDesign ลองเข้าไปดูเวบไซต์ http://newdealdesign.com มีงานออกแบบสนุกๆสร้างแรงบันดาลใจหลายงานมากๆ รายละเอียดโปรเจค UnderSkin

150924-cutcdc-6

ไผท ผดุงถิ่น

ผู้ก่อตั้ง builk.com และนายกสมาคม Thailand Tech Startup Association

ไผท เป็นคนไทยคนเดียวในการบรรยายครั้งนี้ และทำให้เราภูมิใจว่าคนไทยก็สามารถมีผลงานเจ๋งๆเทียบชั้นชาวโลกได้ ไผทเปลี่ยนวงการผู้รับเหมาด้วยการสร้างเวบชื่อ builk.com ที่ทำให้ผู้รับเหมาสามารถเข้าไปคีย์บัญชีรายรับรายจ่ายได้ฟรีๆ โดยเวบไซต์ builk จะทำหน้าที่เป็นเหมือนแอดมินแสนฉลาด คอยเตือนผู้รับเหมาว่าเมื่อไหร่ที่กำลังจะใช้เงินเกินบัดเจท ปัจจุบันมีผู้รับเหมากว่า 6,000 รายใช้งาน จากจุดเริ่มนี้ เขานำมาปฏิวัติวงการด้วยการทำเวบไซต์ขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์แห่งแรกในประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่ builk มีอยู่ ทำให้ไผทสามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไหร่จังหวัดนั้นๆจะสั่งสินค้าตัวไหน และเป็นจำนวนเท่าไหร่ เขาจึงสามารถสั่งสินค้าในราคาถูกส่งให้ผู้รับเหมาแต่ละรายได้ ทั้งเขาและผู้รับเหมาต่างก็แฮปปี้กันทั้งคู่

ลองเข้าไปเล่นเวบของไผท builk.com คุณจะรู้ว่าในยุคนี้ “ข้อมูล” มีค่ามากกว่าทองเสียอีก ซึ่งรูปแบบนี้ก็อาจจะมาปรับใช้เพื่อจัดระบบให้กับอุตสาหกรรมของคุณได้เช่นกัน

 

150924-cutcdc-7

โนบุมิชิ โตสะ

นักดนตรีและผู้ก่อตั้ง Maywa Denki

โตสะ เปิดการบรรยายด้วยการยอมรับตั้งแต่แรกเลยว่าเขาสร้างสรรค์ “เครื่องจักรไร้สาระ” (Nonsense Machine) ผลงานของเขามีทั้ง  เครื่องป้อนมะเขือเทศอัตโนมัติ Tomatan สำหรับนักวิ่งมาราธอน (หน้าตาเหมือนเด็กชายมะเขือเทศตัวเล็กขี่อยู่บนคอนักวิ่ง) เครื่องหัวเราะ หรือแม้กระทั่งเครื่องจักรหางนกยูงเพื่อทำให้เต้นได้ดีขึ้น เขาคือศิลปินผู้มีชีวิตเพื่อทำสิ่งที่ตัวเองรัก และหาเลี้ยงชีพด้วยการนำผลงานศิลปะของเขามาประยุกต์และนำไปเสนอบริษัทของเล่น ออกมาเป็นเครื่องดนตรีอย่าง Otamatone ผลงานของโตสะแต่ละชิ้น ผ่านการคิด ทดลองแล้วทดลองอีกอย่างเข้มข้น เขาออกแบบทุกอย่างตั้งแต่กลไก หน้าตาไปจนถึงวิธีการพรีเซนต์ คำสุดท้ายที่โตสะฝากไว้ก่อนจะเปิดคอนเสิร์ตสุดเพี้ยน คือ คนรอบๆข้างอาจจะบอกว่าความฝันของเราไร้สาระ แต่เมื่อบวกกับความมานะพยายามแล้ว ความฝันของเราก็กลายเป็นความสำเร็จได้เช่นกัน

การดูวิดิโอของโตสะ เรียกได้ว่าเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง เราแนะนำเครื่องจักรหางนกยูง  https://www.youtube.com/watch?v=6fg1Bm93TGI เวบไซต์ www.maywadenki.com (ลองกดเข้าไปดูที่ Product และเลือกแบบงานอาร์ตหรืองานแมส) และวิดิโอสัมภาษณ์ www.youtube.com/watch?v=4e3UnyGf76I (ในบางช่วงเป็นภาษาเยอรมัน แต่โตสะให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ)

 

อ่านรายละเอียดของงาน Creative Unfold ได้ที่ www.cu-tcdc.com

เรื่องและภาพ Whiteline Studio

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line