Work

เดดไลน์ไล่ล่า สติปัญญาแทบหลุดลอย! ‘วิธีรับมือความเครียดจากเดดไลน์ให้อยู่หมัด’

By: PSYCAT September 10, 2020

“เดดไลน์” คำนี้เป็นได้ทั้งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ และเป็นมวลอารมณ์แห่งความสยองพองขนสำหรับใครหลายคน ตอนยังไม่ใกล้กำหนดส่งความชิลทั้งหลายจะเกาะกุมหัวใจของเรา บางทีก็ปัด ๆ การทำงานไว้ก่อนบ้าง และบางหนก็เพราะว่ายังไม่ใกล้เดดไลน์ไอเดียอะไร ๆ ก็ยังไม่พุ่งกระฉูด

แต่เมื่อเดดไลน์คลืบคลานเข้ามา จนถึงขั้นไล่ล่า แม้ทางหนึ่งไอเดียจะพรั่งพรูทะลักล้น แต่อีกทางหนึ่งความเครียดก็สับขารัวตามมาติด ๆ ด้วยเช่นกัน

แต่ไม่ต้องตื่นตระหนกไปความเครียดจากเดดไลน์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เรารู้สึกอยู่เพียงลำพัง แต่จากผลสำรวจผู้คนวัยทำงานพบว่า 38% ล้วนต้องเผชิญกับความเครียดอันเนื่องมาจากการปั่นงานให้ทันกำหนดส่งกันแทบทั้งนั้น แล้วเราพอจะรับมือกับมันอย่างไรได้บ้าง?

การบอกให้ “ก็ทำงานให้เสร็จก่อนกำหนดนาน ๆ สิ” ดูเหมือนจะเป็นคำแนะนำง่าย ๆ ที่ใครก็แนะนำได้ แต่จะให้ทำจริงนั้นยากแสนยาก (ก็เพราะไอเดียดี ๆ มันมาตอนใกล้จะส่งงานไง!) ดังนั้น UNLOCKMEN ภูมิใจนำเสนอวิธีรับมือกับความเครียดจากเดดไลน์แบบอยู่หมัด ปั่นงานส่งครั้งหน้าอย่างน้อยถ้าจิตใจยังไหว จะอะไรก็สู้!

อย่าประมาทความคาดหวัง ยังไม่ลงมือทำก็ได้ แต่ต้องเข้าใจตัวเองให้ดี

ความเครียดว่าจะทำงานเสร็จทันหรือไม่ (อาจเพราะลงมือทำช้า)  เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เรามักเครียดเมื่อเดดไลน์ใกล้เข้ามา คือการที่เราค้นพบว่าสิ่งที่โปรเจกต์นี้ต้องการจากเรามันช่างมากล้น มากล้นจนไม่ใช่แค่เวลาก็ไม่พอ แต่ศักยภาพเราไปไม่ถึงงานนี้

การสำรวจความคาดหวังของเราต่องานหนึ่ง ๆ ที่รับมาแต่แรกจึงสำคัญมาก เราไม่ได้กำลังแนะนำให้คุณต้องรีบลงมือทำงานเพื่อให้ทันเดดไลน์ แต่เรากำลังบอกคุณว่าตั้งแต่ตอนรับงานเราต้องชัดเจนแต่แรกว่าเราคาดหวังอะไรจากงานนี้?

เราต้องชัดเจนกับตัวเอง เพื่อที่ถ้ารู้แต่ต้นว่างานนี้มันเกินศักยภาพของเรา เราจะได้ปฏิเสธ หรือสื่อสารกับคนที่เราจะส่งงานด้วยแต่แรก ไม่ใช่การรับมา ปล่อยไว้ ไม่แสดงความชัดเจน แล้วเพิ่งมาตระหนักตอนลงมือทำว่าปัญหาไม่ใช่แค่การทำไใ่ทัน แต่ปัญหาคือเนื้องาน ศักยภาพ และความคาดหวังที่ไม่ลงรอยกัน

ไม่ว่าเดดไลน์จะใกล้เข้ามาแค่ไหน การแบ่งงานเป็นส่วน ๆ จะช่วยเบาความกังวลได้

ความเครียดจากเดดไลน์ส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกที่ว่าเวลาเหลือน้อยลงทุกที ๆ ในขณะที่งานก้อนที่ยังไม่ได้ทำนั้นใหญ่ขึ้น ๆ ดังนั้นวิธีหนึ่งที่จะช่วยคลายความเครียดจากเดดไลน์ได้คือการแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ โดยแต่ละส่วนไม่ใหญ่เกินไป เพื่อที่เราจะไม่รู้สึกกดดันว่าต้องทำงานตลอดวัน หรือทำงานเยอะในคราวเดียว

ดังนั้นทันทีที่ได้งานมา แม้หัวใจด้านหนึ่งจะร่ำร้องว่า ไม่ทำ!จะไม่ยอมทำจนกว่าจะใกล้ถึงกำหนดส่ง แต่ก็ต้องบอกให้ตัวเองแบ่งงานเป็นส่วน ๆ ตั้งแต่ได้งานมา เช่น โปรเจกต์นี้ต้องหาข้อมูลอะไรเพิ่มไหม ยังไม่ได้ลงมือทำแต่ถ้าลองทำเทมเพลตพรีเซนต์รอไว้ก่อนจะเบาลงหรือเปล่า ฯลฯ การแบ่งงานเป็นส่วน ๆ แล้ว ลองกำหนดเวลาคร่าว ๆ ว่าแต่ละงานนั้นใช้เวลาเท่าไร บางงานอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง บางงาน 30 นาทีก็อาจจะเสร็จ

การที่เราแบ่งประเภทงานและเวลาคร่าว ๆ ไว้ ทำให้เรารู้สึกว่าเรารับมือได้ จัดการได้ ไม่ร้อนรน มากไปกว่านั้นบางงานที่เราเห็นว่าใช้เวลาไม่มาก  และไม่ได้ใช้ความคิดอะไร เราอาจเจียดเวลามาทำก่อนล่วงหน้าเดดไลน์นาน ๆ ได้ ทำให้เมื่อเดดไลน์ใกล้เขามาจริง ๆ เราจะไมาต้องโถมทำทั้งหมดในคราวเดียว รวมถึงการที่เรารู้สึกว่าเราเตรียมตัวมาแล้วประมาณหนึ่งจะทำให้เราลงมือทำงานที่เหลืออยู่ได้สงบกว่าเดิม

เดดไลน์มีเพียงหนึ่งเดียว แต่เดดไลน์ย่อยจะช่วยไม่ให้เราลนลาน

เดดไลน์คือตัวกระตุ้นให้ลงมือทำงานชั้นยอด เราไม่แปลกใจที่ใคร ๆ ก็อยากลงมือทำเฉพาะตอนที่กำหนดส่งมาจ่อรอ แต่หากไม่อยากทรมานตัวเองจากความเครียดเกินจะรับไหว ทันทีที่ได้งานมาลองสร้างเดดไลน์ย่อย ๆ ของงานแต่ละประเภทที่จะประกอบเป็นงานใหญ่ให้ตัวเองไว้

การกำหนดเดดไลน์ย่อย ๆ ต่างจากการทำงานใหญ่รวดเดียว เพราะเดดไลน์ย่อยจะเบาความรู้สึกกดดันของเราลง แต่ละครั้งที่เราลงมือทำ เรารู้ตัวว่ายังไม่ได้ต้องลงมือทำทั้งหมดแต่อย่างใด เพียงแต่ทำส่วนเล็ก ๆ นี้ให้เสร็จทันเดดไลน์ย่อยนี้ก็พอ จนกระทั้งถึงวันเดดไลน์ใหญ่ รู้ตัวอีกทีเราก็ไม่ต้องมาเครียดหรือกดดันในคราวเดียว แต่เป็นการนำงานที่เราทำสำเร็จย่อย ๆ ไว้แต่ละครั้ง มาประกอบกันเป็นงานชิ้นใหญ่

ปฏิเสธให้ได้ บางครั้งคำว่า “ไม่” ก็ช่วยให้เราไม่เครียดจากเดดไลน์

หลายครั้งที่ความเครียดจากเดดไลน์ ไม่ได้มาจากการกลัวทำงานไม่ทันกำหนดส่งเท่านั้น การทำงานในองค์กรที่หลาย ๆ ครั้ง เราก็มักถูกโยนงานมาเพิ่มเรื่อย ๆ จนกลายเป็นว่าเดดไลน์ไม่ได้มีแค่เดดไลน์เดียว แต่ซ้อนกันจนมีเดดไลน์รายวัน จนคล้ายว่าเราโดนไล่ล่าตลอดเวลา

ในกรณีนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการต้องรู้จักปฏิเสธให้เป็น งานบางงานคนที่ขอร้องให้เรารับผิดชอบหรือช่วยอาจเป็นเพราะเขาคิดว่าเราว่าง แต่หากเราพิจารณาเดดไลน์ที่ตัวเองมีในมือแล้วพบว่าเราไม่อาจรับงานมาเพิ่มไหว การปฏิเสธและชี้แจงว่าเรามีงานที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้วมากเท่าใด ก็อาจดีกว่าการรับมาเพราะเกรงใจ แต่งานออกมาไม่ดีสักอย่าง

รวมถึงงานประเภทงานด่วนงานร้อน ที่อยู่ ๆ คนอื่นก็เท แล้วเหลืออีกไม่กี่วันจะถึงเดดไลน์ แต่เราโดนโยนเผือกร้อนมาให้ เพราะดูว่าเราน่าจะทำได้ สถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาตัวเองให้ดีว่าไหวไหม? ไหวแค่ไหน? แม้หลาย ๆ องค์กรจะใช้งานประเภทนี้เป็นบททดสอบศักยภาพ แต่ถ้าต้องแลกมากับสุขภาพจิตที่เสียไป และงานที่ออกมาอาจไม่มีคุณภาพจนเราเองก็เป็นฝ่ายเสีย การรู้จักปฏิเสธบ้างก็จะช่วยทั้งตัวเราและองค์กรไปพร้อม ๆ กัน

“การต่อรอง” เมื่อเจอปัญหา ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย

เดดไลน์ กำหนดส่งคือสิ่งสำคัญ แต่อย่าลืมว่าเราทุกคนคือมนุษย์ หากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน เจอปัญหาระหว่างทางที่ต้องการการจัดการมากกว่ากำหนดเวลาเดิมที่เคยตกลงกันไว้ อย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดอยู่เพียงลำพัง อย่าลืมว่า “การต่อรอง” ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่เราทำได้และควรลองทำ

เพราะหลาย ๆ ครั้งฝ่ายที่กำหนดเวลาส่ง ก็กำหนดเผื่อเวลาเราส่งช้า หรือกำหนดเผื่อส่งให้อีกหลายฝ่ายพิจารณาอยู่แล้ว หากเรามีเหตุผลที่ฟังขึ้นเพียงพอ แลกกับงานที่มีคุณภาพขึ้น การต่อรองเลื่อนกำหนดส่งออกไปก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรทำ

อย่างไรก็ตามการต่อรองเลื่อนกำหนดส่ง ต้องเป็นไปเพราะเราพิจารณาว่ามีเหตุผลอันสมควรเท่านั้น ไม่ควรเป็นไปเพราะเราแค่รู้สึกว่าทำไม่ทัน งั้นเลื่อน ๆ ไปก่อนนะ เพื่อความน่าเชื่อถือของเราในอนาคต

“Perfectionism”อีกโซ่ตรวนที่ทำร้ายเรายิ่งกว่าเดดไลน์

บางครั้งความเครียดและกดดันไม่ได้มาจากการทำให้ทันกำหนดส่งเท่านั้น แต่มาจากการที่เรากดดันตัวเองว่างานนี้จะต้องดีที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด แม้เสร็จแล้ว แต่ดีกว่านี้ได้อีกก็ทำอยู่นั่น แก้อยู่นั่น หรือมัวแต่เฝ้ากังวลว่ามันยังดีไม่พอ มันยังไปไกลกว่านี้ได้อีก

ความเครียดประเภทนี้มักเกิดขึ้นกับ ใครหลายคนที่เป็น Perfectionism หมกมุ่นอยู่กับความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ แต่เราอยากบอกว่างานที่เสร็จทันเวลาโดยที่เราไม่เครียดจนเสียสุขภาพจิตนั้นสำคัญกว่าการหมกมุ่นเรื่องความสมบูรณ์แบบไม่รู้จบ

ไม่ได้หมายความว่าการพยายามทำงานให้ออกมาดีที่สุดไม่สำคัญ มันสำคัญมาก แต่ถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องมีลิมิตให้ตัวเองว่าเมื่อใกล้ถึงเวลาส่ง เราก็ต้องปล่อยวางและทำมันให้ดีเท่าที่กรอบเวลาเหลืออยู่ ถ้าเราโถมทำให้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด แต่กินเวลาล่วงเลยและทำตัวเองเครียดแบบไม่มีจุดจบ งานนั้นอาจไม่มีวันเสร็จและตัวเราเองก็จะจมอยู่กับความรู้สึกกดดันจนไม่อาจมูฟออนไปสู่งานใหม่ ๆ ได้เลย

เราล้วนเคยเผชิญความเครียดจากการปั่นงานกันมาแล้วทั้งนั้น แต่รับรองว่ามันไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน ในโลกที่ระบบทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน คนทำงานต้องแข่งขันกัน ใครทำงานได้เร็วกว่า มากกว่า อาจหมายถึงความก้าวหน้าที่มากกว่า แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าชีวิตเรามีด้านอื่น ๆ ที่ต้องดูแลเช่นกัน ทำงานให้ทันเดดไลน์แล้วก็อย่าลืมดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจให้แข็งแรงควบคู่กันไปด้วย

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line