World

PLEASE DO NOT FLUSH งดแค่ถุงกับหลอดไม่พอ เป้าหมายต่อไปคือ “การงดคอนแทคเลนส์”

By: anonymK August 21, 2018

ตั้งแต่เรื่องจำนวนพลาสติกล้นโลกก้าวเข้ามาเป็นวาระแห่งชาติที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เราก็เริ่มเห็นคนที่เดินตามท้องถนนถือถุงผ้าติดไม้ติดมือเพื่อบรรจุของที่ซื้อจากร้านค้าแทนการใช้ถุงพลาสติก หรือช่วงพักกลางวันการถือปิ่นโตลงไปเพื่อใช้ซื้อข้าวก็เริ่มไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

ทว่าไม่เพียงเรื่อง “ถุงพลาสติก” หรือ “โฟม” ที่เราสามารถเห็นได้ตำตาและทยอยลดการใช้แล้ว เรื่องใกล้ตัวอื่นที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังเตรียมรณรงค์เป็นเป้าหมายถัดไปคือพฤติกรรมการทิ้ง “คอนแทคเลนส์” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเรื่องการมองเห็นของหนุ่มสายตาสั้นอย่างเรานั่นเอง

photo by : Adam Jones, Ph.D.

เชื่อหรือไม่! ผลสำรวจของ Arizona State University เผยว่าจำนวนคอนแทคเลนส์ที่ถูกทิ้งผ่านชักโครกหรืออ่างล้างหน้าเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีมากถึง 2.9 ข้างต่อปี ทันทีที่เลนส์ไหลผ่านท่อในบ้านของเราไป ปลายทางของมันจะกองกระจุกกันในแหล่งน้ำ จนสร้างปัญหามลพิษแหล่งน้ำจากไมโครพลาสติก

“เราพบว่าคนกว่า 15 – 20% ที่สวมคอนแทคเลนส์เลือกใช้วิธีทิ้งมันลงในอ่างล้างหน้าหรือชักโครก ตัวเลขนี้เป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเราพิจารณาจากคนเพียง 45 ล้านคนในสหรัฐฯ ที่สวมคอนแทคเลนส์เท่านั้น” – Charlie Rolsky นักศึกษาปริญญาเอกเผยข้อมูลนี้ในงาน National Meeting & Exposition of the American Chemical Society ครั้งที่ 256

ไอเดียเรื่องคอนแทคเลนส์เริ่มขึ้นระหว่างที่ Rolsky กับเพื่อนร่วมงานของเขาที่ ASU ร่วมกันศึกษาเรื่องมลพิษจากพลาสติก หนึ่งในเพื่อนร่วมงานของเขาสวมใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำเริ่มสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับคอนแทคเลนส์ข้างที่ใช้งานแล้ว เขาพบว่าคนส่วนใหญ่เมื่อถอดมันออกแล้วทิ้งมันด้วยการโยนใส่ชักโครกแล้วกดชักโครกไปง่าย ๆ หรือโยนลงในซิงค์แล้วเปิดน้ำไล่ลงไปในท่อแทนการทิ้งลงในถังขยะ

พฤติกรรมนี้ส่งผลทำให้เลนส์พลาสติกจำนวน 6-10 เมตริกตันลอยฟ่องในโรงบำบัดน้ำเสียทั่วสหรัฐอเมริกาแทบทุกปี นักวิจัยคาดการณ์ปริมาณและเส้นทางของขยะเลนส์เหล่านี้ไว้ว่าพลาสติกเหล่านี้มีน้ำหนักถึง 23,000 กิโลกรัม อาจสะสมในตะกอนน้ำเสียซึ่งในที่สุดประมาณ 55% ของขยะเหล่านี้จะโดนนำมากำจัดลงพื้นดิน และบางส่วนจะไหลลงสู่แม่น้ำหรือมหาสมุทรซึ่งส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตใต้น้ำต่อไป

แม้ว่า “คอนแทคเลนส์” จะยังคงเป็นไอเทมสำคัญสำหรับผู้ชายอย่างเราซึ่งจะให้เลิกใช้ก็คงยังไม่ได้ แต่การเลือกทิ้งให้ถูกวิธีเพื่อการจัดการที่ถูกต้อง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่พวกเราชาว UNLOCKMEN ทุกคนทำได้ไม่ยาก

อย่าลืมส่งต่อคอนเทนต์นี้ให้กับคนที่คุณรักเพื่อแสดงความรักที่มีต่อโลก เพราะเรื่องของพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ สำคัญกว่าที่คิด

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line