Entertainment

GARAGE: ‘SCRUBB’ 20 ปีที่ระบายความกล้า บ้า ห่าม และความรักในดนตรีที่ไม่มีอะไรต้องฝืน

By: unlockmen February 26, 2020

เท่าที่พอจำความได้มีวงดนตรีเพียงไม่กี่วงที่ถูกบรรจุในความทรงจำวัยเด็กของเรา และยังแน่วแน่ทำเพลงใหม่อย่างไม่เคยหมดมุขหรือเหน็ดเหนื่อยจนถึงปัจจุบัน แล้วคงพูดได้เต็มปากว่า ‘Scrubb’ (สครับ) เป็นหนึ่งในไม่กี่วงนั้น

Scrubb คือวงดนตรีป๊อปร็อกอายุ 20 ปี ของ บอล – ต่อพงศ์ จันทบุบผา และ เมื่อย – ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ คู่หูต่างชั้นปีจากรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน พวกเขาสร้างสรรค์ดนตรีหลากสไตล์ กลั่นกรองคำร้องและท่วงทำนองที่บางครั้งก็อบอุ่นฟังสบาย แต่บางทีก็ลึกซึ้งราวกับพาเราดำดิ่งไปสัมผัสอารมณ์โคตรเศร้าที่เป็นหนึ่งส่วนของความสัมพันธ์

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่โตมากับเพลงเธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ ฟังเพลงกลัวและผ่านไปแล้วตอนเศร้าหม่น เปิดเพลงใกล้และรอยยิ้มฟังเพลิน ๆ ตอนแอบชอบใครสักคน หรือเคยใช้เพลงคู่กัน คนนี้ และเข้ากันดีมอบให้แฟนคนใดคนหนึ่ง

เราอยากให้คุณรู้จักและหลงรัก Scrubb อีกครั้ง ผ่านบทสนทนาของสองหนุ่มต่างสไตล์ที่โลดแล่นบนเส้นทางดนตรีมา 20 ปี ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันและยังทำมาจนถึงทุกวันนี้คือ ‘การทำเพลง’

หลายคน ‘ยังอยากรู้’ ว่าจุดเริ่มต้นของ Scrubb เกิดขึ้นตอนไหน?

เมื่อย: เราเจอกันในมหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ในชมรมดนตรีเหมือนกัน จนวันนึงอยากมีเพลงเป็นของตัวเอง เลยพยายามไปเสนอค่าย แต่ก็ไม่มีใครเอา (หัวเราะ) ก็เลยลองทำเพลงใต้ดินกันเอง มีเครื่องอัดสี่แทร็ก อัดเอง และหาที่วางขายกันเอง

จากนั้นก็ลองหาว่าสถานีวิทยุที่ไหนพอจะเปิดเพลงเราได้บ้าง ซึ่งตอนนั้นมี Cat Radio เราเลยส่งเพลงไปให้เขา แล้วพอได้ยินเพลงตัวเองครั้งแรกในวิทยุ ก็มีความสุขดีครับ

บอล: ไม่ได้สนผลลัพธ์ของมันแล้วอะ แค่มีคนเอาเพลงที่เราทำกันเอง อัดกันเองไปเปิดในวิทยุ ก็เป็นเรื่องที่โคตรดีที่สุดของความรู้สึกตอนนั้นแล้ว ไม่ได้มองเรื่องธุรกิจเป็นหลักเลย เพราะเราทำเพลงเพื่อสนองความห่ามของตัวเองล้วน ๆ

ต่อให้หายากนิดนึง แต่โชคดีที่มีคนบางกลุ่มยังพอฟังเพลงเรารู้เรื่อง นั่นคือจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของ Scrubb สองสามปีหลังจากนั้นก็มีค่ายเพลงมาสนับสนุนและช่วยให้เราได้ทำงานเพลงอย่างจริงจังมากขึ้น

‘ยังจำได้ไหม’ ว่าทำไม Scrubb ถึงเลือกจะมีกันแค่สองคน?

บอล: จริง ๆ Scrubb เคยมีสี่คนนะครับ แต่ผมว่าการทำวงมันก็เหมือนการมีเพื่อนในกลุ่ม เรามีทั้งเพื่อนที่ชอบเล่นดนตรีเหมือนกัน คนที่อยากไปประกวดก็มีเยอะ แต่บังเอิญคนที่ชอบแต่งเพลงเหมือนกันมันมีกันอยู่แค่สองคน และทัศนคติในการทำงานของผมกับเมื่อยก็คล้าย ๆ กันด้วย ก็เลยเหลือกันอยู่แค่นี้

“อินดี้” คือวิธีคิดและวิธีการทำงาน มากกว่าแนวเพลง

บอล: เราไม่เคยเรียกหรือใช้คำใด ๆ แบบที่ทุกคนรู้จักหรือใช้เรียกเราเลย ถ้าคนมาถามก็จะบอกแค่ว่าเราเป็นวงดนตรีป๊อปร็อกที่ทำเพลงกันเอง ไม่เคยบอกว่าเป็นวงอินดี้ แต่การที่คนอื่นจำกัดความให้ก็คงเป็นเรื่องที่ถูกต้องของเขาละครับ

มันคงเป็นอะไรที่พวกเขามองเห็นและอยากเรียกเรา แต่ในฐานะคนทำงานคำว่า “อินดี้” อาจเป็นวิธีคิด วิธีการทำงาน หรือวิธีการนำเสนอมากกว่าเป็นแนวเพลง ซึ่งเราก็เป็นแบบนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

วันที่เล่นดนตรีเพราะความห่ามกับวันที่เข้ามาเป็นศิลปินในอุตสาหกรรมเพลง ‘รู้สึก’ ต่างกันไหม?

บอล: ในแง่การได้ทำงานต่อมันเป็นเรื่องสนุก มีคนมาดูเรา มีคนจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนผลงานเรา และมีคนจ้างเราไปเล่นตามที่ต่าง ๆ แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือรายได้ แต่ถ้ายังมีความรู้สึกหรือรู้ผิดชอบชั่วดี ก็คงไม่สามารถเล่นดนตรีได้ตามอำเภอใจ

เราต้องซ้อมมากขึ้น ต้องหาความรู้ ต้องหาแรงบันดาลใจ และต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานมากขึ้นด้วย แต่ในความเหนื่อยและความจริงจังนั้น ก็คุ้มค่ากับการเติบโตตามเงื่อนไขของเวลา

ตลอดระยะ ‘เวลา’ 20 ปี ในเส้นทางดนตรี Scrubb ต้องเจออุปสรรคหรือพิสูจน์ตัวเองอย่างไรไหม?

เมื่อย: อุปสรรคคือเราไม่ได้วางแผนว่าจะทำเพลงมาถึงปัจจุบัน เรื่องคิดงานไม่ออกนี่เป็นปัญหาใหญ่เลย พวกเราไม่ได้เป็นคนประเภทที่วางแผนว่าเดี๋ยวจะมีอัลบั้มหนึ่ง สอง สาม หรือจะทำโน่นทำนี่ แต่เราค่อย ๆ แก้สถานการณ์มาเรื่อย ๆ จนมันเข้าที่เข้าทาง เอาจริง ๆ ทุกเพลงใหม่ ทุกอัลบั้มใหม่ ก็ยังมีปัญหาให้เราต้องแก้อยู่

บอล: การทำงานก็เหมือนการบ้าน พอโตขึ้นมันก็ไม่ได้ง่ายเหมือนตอนเริ่มแรก มันคือธรรมชาติของการทำงานละครับ ช่วงที่เบา ๆ ผ่านไปได้ ไม่ต้องคิดอะไรยากก็มี ช่วงที่หนักมาก ๆ จนคิดว่าไม่น่าจะรอดก็ยังมี จากวันที่เริ่มทำอะไรห่าม ๆ จนกลายมาเป็นอาชีพทุกวันนี้ บอกเลยว่า 20 ปีที่ผ่านมาพาเราไปเจออะไรเต็มไปหมด

รู้ว่าเคยถูกด่า แต่เราคุยกันเป็นเรื่องตลกทุกครั้ง

ไม่ได้ซีเรียสกับคอมเมนต์แย่ ๆ ถ้าซีเรียสก็คงเลิกไปแล้ว

เมื่อย: 20 ปีที่แล้วคือยุคที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ต ความสนุกคือเราได้เอาเพลงไปโพสต์ในเว็บบอร์ด และมีคนกลุ่มเล็ก ๆ มาฟังเพลงเรา แต่ก็มีคนมาคอมเมนต์ด้วยความรุนแรง (หัวเราะ) โดยที่ไม่ต้องรู้ว่าใครเป็นใคร

บอล: เรียกว่าเป็น social bullying รุ่นหนึ่ง ก็ได้ (หัวเราะ)

เมื่อย: มันเป็นคอมเมนต์แง่ลบหมดเลย แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันแย่

บอล: ผมมองว่ามันเป็นการวิจารณ์ผลงานที่ตรงไปตรงมาดี แต่ประเด็นคือเรามีทัศนคติอย่างไรเมื่อถูกวิจารณ์ ถ้าเราเศร้า เสียใจ โกรธ ต่อต้าน ก็คงไปทะเลาะ หรือซึมเศร้าจิตตกหนัก ๆ ก็คงท้อ เลิก และไม่อยากทำ แต่ถ้าเราเห็นว่าเรื่องจริงมันคือแบบนี้ แล้วทางเรายังอยากทำมันอยู่ ผมเชื่อว่าทุกคนก็คงมีทางไป

เมื่อย: มันคือความสนุกและความอยากทำ โดยไม่ได้สนใจรอบข้างเท่าไหร่

บอล: ผมอาจเผลอฝึกกีตาร์เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว หรือเมื่อยอาจพยายามร้องให้ชัดถ้อยชัดคำขึ้น ผมเชื่อว่าถ้าเรายังรักในสิ่งนั้น เราจะมีวิธีคิดหรือปฏิบัติต่อคำวิจารณ์ต่าง ๆ เพื่อทำให้มันดีกว่าที่ควรเป็น

ถ้าพูดถึง Scrubb แฟนเพลงจะ ‘คิด’ ถึงเพลงไหน?

บอล: มหาชนน่าจะนึกถึงเพลงใกล้ อีกยุคนึงน่าจะเป็นคู่กัน แต่ถ้าลงรายละเอียดมากหน่อย มันจะมีหลายช่วงอายุเลย เพราะว่าเราทำเพลงมาร่วม 20 ปี มีคนที่รู้จักเราเพราะทุกอย่าง มีคนที่รู้จักเราเพราะเข้ากันดี และมีคนที่เพิ่งรู้จักเราเพราะรอยยิ้ม

เวลาไปเล่นแต่ละที่ เพลงแต่ละเพลงก็จะร้องดังไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และช่วงเวลานั้น ๆ ว่าพวกเขาโตมากับเพลงไหน ซึ่งมันทำให้เรารู้ว่าคนที่ฟังเพลงเรามีหลายช่วงอายุ คนที่ฟังตั้งแต่ชุดแรกอายุ 40-50 ปีก็มี เด็กอายุ 15 ที่ฟังรอยยิ้มเป็นเพลงแรกก็ยังมี

เราจะเอาเพลงของแต่ละยุคสมัยมาคล้องเป็นโซ่เกี่ยวกันไว้

มันอาจพาคุณล้ำหน้าหรือย้อนหลังไปฟังเพลงเก่าหรือใหม่สักเพลงก็ได้

มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้ Scrubb ยังทำเพลงอยู่จนถึง ‘ทุกวัน’ นี้?

เมื่อย: ถ้ายังอยากเล่นดนตรีอยู่ก็คงต้องพยายามคิดงานใหม่ให้ได้ พยายามคุยกันเยอะ ๆ เพราะอุปสรรคของหลาย ๆ วงเกิดจากไม่ค่อยได้คุยกันหรือต่างคนต่างคิด ความสัมพันธ์ในวงอาจไม่ได้สนุกมากเหมือนวันเริ่มแรก แต่ถ้ามีจุดที่คุยกันได้หรือยังสนุกร่วมกันได้อยู่ ก็คงเป็นเรื่องดี

บอล: หนึ่งคือถ้าชอบมันจะไม่ค่อยมีอะไรฝืน โชคดีที่เรามีงานอดิเรกเป็นดนตรีที่เราก็ดันชอบมาก จะใช้คำว่ารักก็อาจจะเขินไปหน่อย (หัวเราะ) คือกิจกรรมยามว่างของเราคือเล่นดนตรีมากกว่าไปเตะบอล

สองคือเมื่อยกับพี่จะเป็นคนที่คิดเองอยู่เสมอว่าเราไม่เก่งเลย พอไม่เก่งก็ต้องฝึกให้มาก พอฝึกบ่อย ๆ พยายามบ่อย ๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือเพลงใหม่และอัลบั้มใหม่ที่เราอยากทำ พอไม่มีอะไรเก่งไปสู้คนอื่น สิ่งที่จะเอาไว้พิสูจน์ตัวเองหรือบอกใคร ๆ ว่าเรายังพยายามอยู่ ก็คือการทำเพลงนี่ละ

ฝากอะไรถึงเพลง ‘ธรรมดา’ หน่อยครับ?

บอล: ธรรมดาเป็นเพลงของวัยนี้มาก ๆ เลย ท่อนฮุกที่เมื่อยเขาร้อง “สิ่งที่เราคุ้นเคย ล้วนความหมายธรรมดา บางครั้งคนน้อยคนนั้น มองเห็นคุณค่า” ก็คือหัวใจของเพลงและเหมือนกับเรา ที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายธรรมดา ไม่มีอะไรหวือหวา และไม่ค่อยมีอะไรโลดโผนมากนัก ด้วยวัย ประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มันสงบลงตามกาลเวลา ธรรมดาจึงเป็นเพลงที่กลั่นจากวิธีคิดแบบเราในวันนี้จริง ๆ และเราว่าเพลงนี้มันค่อนข้างเป็นสัจธรรม

ทุกวันนี้ยังสนุกกับการขึ้นเพลงใหม่อยู่เลย

ถ้ายังสนุก ก็ยังทำเพลงอยู่ ไม่เคยขีดเส้นตัวเอง

เสียงเพลงของ Scrubb ที่วิ่งเข้าหูซ้ายและอาจไม่ได้ทะลุหูขวาของบางคน เดินทางผ่านเทปคาสเซ็ต, ซีดี, เครื่องเล่น MP3, สมาร์ตโฟน และขึ้นมาอยู่บนแอปพลิเคชันมิวสิกสตรีมมิงของยุคปัจจุบันได้อย่างน่าแปลกใจ

การเดินทางไกลของ Scrubb ตั้งแต่ยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล แน่นอนว่ามีอุปสรรคและขวากหนามนับไม่ถ้วน แต่พวกเขาทั้งคู่ยังดั้นด้นทำเพลงอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยตลอด 20 ปี สร้างสรรค์คำร้อง ทำนอง และจังหวะดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์จากทัศนคติ ความรู้สึก และประสบการณ์ชีวิตที่เป็นเบ้าหลอม

กว่า 75 บทเพลง จาก 9 อัลบั้ม สร้างขึ้นแด่แฟนเพลงที่ถูกจริตกับเรื่องเล่าสิ่งแวดล้อม สถานที่ ผู้คน รวมทั้งความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและช่วงวัยที่เติบโต แม้คนยุคใหม่อาจไม่ค่อยพูดถึงมากเท่าไร แต่เชื่อว่า “ลุงเมื่อยกับป้าบอล” วลีนี้ยังอยู่ในใจและความทรงจำของใครหลายคนเสมอ

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line