EVENT

ความมันส์ของ RYDER CUP 2018 ศึกกอล์ฟแห่งศักดิ์ศรี ยุโรป-สหรัฐ กับประวัติยาวนานร่วม 100 ปี

By: PEERAWIT April 4, 2018

ปี 2018 นี้ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่มีอีเว้นต์กีฬาใหญ่ ๆ เวียนมาจัดการแข่งขันอีกครั้งให้คนทั่วโลกได้ร่วมลุ้นร่วมเชียร์ร่วมมันส์ไปด้วยกัน และที่ผู้ชายอย่างเรา ๆ ไม่ควรพลาดก็คือการแข่งขันกอล์ฟแห่งศักดิ์ศรีระหว่างทีม ยุโรป และทีม สหรัฐอเมริกา “Ryder Cup 2018” (ไรเดอร์ คัพ 2018) ที่เตรียมระเบิดความมันส์ในการดวลวงสวิงที่ L’Albatros course ในสนาม Le Golf National (เลอ กอล์ฟ เนชั่นแนล) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายนนี้

ว่าแล้วก็ย้อนไปดูไฮไลท์เปิดตัวการแข่งขัน เรียกน้ำย่อยก่อนแข่งจริงกันหน่อย ซึ่งในงานเปิดตัว Thomas Bjørn (โธมัส บียอร์น) กัปตันทีมยุโรป และ Jim Furyk (จิม ฟิวริค) หัวหน้าทีมสหรัฐฯ ร่วมกันไดรฟ์กอล์ฟบนหอไอเฟล เหมือนกับที่ Arnold Palmer (อาร์โนลด์ พาลเมอร์) ตำนานโปรกอล์ฟชาวอเมริกันผู้ล่วงลับเคยทำไว้เมื่อปี 1976

ถามว่าทำไมไรเดอร์ ​คัพ ถึงน่าดู ? กอล์ฟรายการนี้มันเจ๋งอย่างไร ? แล้วอย่างผมที่ไม่ค่อยอินกับการดวลวงสวิงเท่าไหร่จะดูสนุกไหม ? ทีมงาน UNLOCKMEN ขอบอกว่าหากคุณรู้ที่มาที่ไปของกอล์ฟไรเดอร์ คัพแล้วหละก็ คุณอาจจะเปลี่ยนใจมาหลงใหลกีฬาชนิดนี้มากขึ้นก็ได้

 

จุดเริ่มต้นของศึกดวลวงสวิงแห่งศักดิ์ศรี

ภาพจาก golf.com

กอล์ฟประเภททีมสุดคลาสสิคนี้มีการถกเถียงถึงตัวเจ้าของไอเดียว่าเริ่มจากใคร บ้างก็ว่าไอเดียแรกเริ่มจาก James Harnett จากนิตยสาร Golf Illustrated ในปี 1920 ผู้ต้องการหาเงินสนับสนุนจากคนอ่าน เพื่อใช้จัดการแข่ง Professional match ระหว่าง USA กับ Great Britain แต่ถ้าพูดถึงถ้วย Ryder Cup อันนี้เกิดจาก Samuel Ryder (ซามูเอล ไรเดอร์) นักธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์พืชชาวอังกฤษผู้ร่ำรวย ซึ่งหลงใหลในกีฬากอล์ฟ ได้นั่งจิบชาคุยกับสมาชิกทีมอังกฤษ George Duncan และ Abe Mitchel และ Duncan นี่เองที่ชักชวนให้ Ryder สนับสนุนถ้วยรางวัลที่สลักชื่อตัวเองลงไป และจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกปี การแข่งขัน Ryder Cup จึงกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1927 จากนั้นก็จัดขึ้นเรื่อย ๆ มาทุก 2 ปี

กอล์ฟรายการนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการปรับแก้ไขระเบียบการแข่งขันมาเรื่อย ๆ จนลงตัว เดิมเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของทีมสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยครั้งแรกเมื่อ 91 ปีก่อน ทีมสหรัฐฯ ที่นำโดย Walter Hagen (วอลเตอร์ ฮาเกน) กัปตันทีมรวมพลังความแม่นเอาชนะสหราชอาณาจักรที่มี Ted Ray (เทด เรย์) นำทัพ 9 ครึ่ง – 2 ครึ่ง จากนั้นในปี 1947 ทีมสหราชอาณาจักรก็เชิญนักกอล์ฟชาวไอริชมาร่วมทีมด้วย และได้ใช้ชื่อทีมว่าสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ในปี 1973, 1975 และ 1977 จากนั้นนักกอล์ฟจากทั่วยุโรปก็เริ่มคันไม้คันมืออยากแจม ก็เลยรวมเป็นทีมยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1979

แต่ก็มีการพักดวลวงสวิงกันบ้างเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบของโลก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกหยุดยาวถึง 6 ปี ระหว่างปี 1939-1945 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนอีกครั้งคือในปี 2001 จากเหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐฯ

ภาพจาก YouTube

สำหรับแชมป์หนล่าสุดเมื่อปี 2016 คือทีมสหรัฐฯ นำโดยกัปตันทีม Davis Love III (ดวิส เลิฟ เดอะ เธิร์ด) ที่เอาชนะทีมยุโรปที่มี Darren Clarke (ดาร์เรน คลาร์ก) เป็นกัปตันทีมไปได้ 17-11 คะแนน ที่สนามฮาเซลไทน์ในสหรัฐฯ

 

ยุโรปต้องปรับกลยุทธ์รับมือสหรัฐฯ

ภาพจาก AP Photo/Francois Mori

ปัจจุบัน ไรเดอร์ คัพ เป็นการดวลวงสวิงกันระหว่างทีมนักกอล์ฟยุโรปและทีมก้านเหล็กสหรัฐฯ ข้างละ 12 คน ส่วนสถานที่จัดการแข่งขันก็จะหมุนเวียนสลับกันไประหว่างในยุโรปกับสหรัฐฯ โดยในปีนี้เป็นครั้งที่ 42 แล้ว

ครั้งนี้มีความน่าสนใจอยู่หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่กัปตันของทั้ง 2 ทีมที่ได้ทำหน้าที่นำทัพก้านเหล็กเป็นครั้งแรก ฝั่งยุโรปมี Thomas Bjørn (โธมัส บียอร์น) โปรจากเดนมาร์กนำทีม ส่วนฝั่งสหรัฐฯ เป็น Jim Furyk (จิม ฟิวริค) รับบทบาทกัปตัน ทั้ง 2 คนนี้อายุ 47 เท่ากัน แต่ถ้าดูจากชื่อชั้นแล้วฟิวริคน่าจะเหนือกว่า เพราะติดทีมไรเดอร์ คัพ สหรัฐฯ มาแล้ว 9 ครั้ง สถิติสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของทีม รองจากสถิติติดธง 11 ครั้งของ Phil Mickelson (ฟิล มิคเคลสัน) แต่ก็คงไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะตามสถิติบอกไว้ว่าสหรัฐฯ ไม่เคยคว้าแชมป์นี้นอกบ้านมา 25 ปีแล้ว

ฝั่งยุโรปซึ่งแพ้มาในครั้งล่าสุดพวกเขา “เจ็บแล้วจำ” มีการปรับกลยุทธ์พอสมควร จากที่เคยมี rookie ในทีมมากถึง 6 คนและก็โชว์ฟอร์มได้ไม่ดีนักเมื่อครั้งที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นกัปตันทีมสามารถเลือกผู้เล่นได้แค่ 3 คน มาครั้งนี้ก็เลยต้องเปลี่ยนแผน โดยกัปตันทีมยุโรปจะมีสิทธิ์เลือกผู้เล่นได้ 4 คน ส่วนอีก 8 คนจะมาจากคะแนนสะสมอันดับโลก 4 คน และอันดับคะแนนสะสมรายการเรซทูดูไบอีก 4 คน

ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ดูจะลงตัว ยังคงใข้วิธีคัดผู้เล่นตามเดิม โดยนักกอล์ฟ 8 อันดับแรกในไรเดอร์ คัพ พ้อยท์ลิสต์ ที่ตัดคะแนนหลังจากจบรายการเมเจอร์ พีจีเอ แชมเปี้ยนชิพ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2108 จะติดทีมอัตโนมัติทันที ขณะที่อีก 4 คนกัปตันจะเป็นคนเลือกเข้าทีม

 

เรียกน้ำย่อยก่อนดวล

แม้จะยังสรุปรายชื่อของนักกอล์ฟทั้ง 2 ทีมทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากยังมีเวลาเก็บคะแนนสะสมเหลืออยู่อีกหลายเดือน แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่าในครั้งนี้ทั้ง 2 ฝั่งน่าจะมีใครเป็นขุมกำลังในการคว้าชัย

ฝั่งยุโรปน่าจะมี Paul Casey (พอล เคซีย์) ยอดโปรกอล์ฟเมืองผู้ดีกลับมาร่วมทีม หลังจากล่าสุดเขากลับมาเป็นสมาชิกของยูโรเปี้ยนทัวร์ เคซีย์เป็นผู้เล่นที่ฟอร์มกำลังดีและคงเส้นคงวา ส่วนผู้เล่นใหม่ที่น่าจับตามองว่าน่าจะติดทีม คือ Jon Rahm (จอน ราห์ม) นักกอล์ฟชาวสเปนวัย 23 ปีที่มาแรงเหลือเกินในปีสองปีนี้

ด้านฝั่งสหรัฐฯ ได้ “พญาเสือ” Tiger Woods (ไทเกอร์ วูดส์) มาอยู่ในทีมแน่นอนแล้ว หลังจากที่ฟิวริคตัดสินใจเลือกเขาให้มาเป็นรองกัปตันทีมร่วมกับ Steve Stricker (สตีฟ สตริคเกอร์) และวูดส์เองก็นักเลงพอ เขาเปิดเผยว่าอยากเป็นทั้งรองกัปตันและอยากลงไปหวดช่วยทีมสหรัฐฯ ป้องกันแชมป์ศึกแห่งศักดิ์ศรี ขณะที่ผู้เล่นหน้าใหม่ที่น่าจะได้มาช่วยทีมไรเดอร์​ คัพ ก็น่าจะเป็น Justin Thomas (จัสติน โธมัส) โปรวัย 24 ปี ที่เคยลงเล่นกับทีมสหรัฐฯ ในศึกเพรซิเด้นท์ คัพ มาแล้ว

สำหรับการแข่งขันก็ยังเป็นแบบเดิม คือมี 3 วัน โดย 2 วันแรกเป็นการดวลแมตช์เพลย์สลับระหว่างโฟร์บอลและโฟร์ซัม ที่กัปตันทีมต้องใช้กึ๋นในการวางแผนประกบคู่ ก่อนที่วันสุดจะเป็นการแข่งในประเภทเดี่ยว 12 คู่แบบสโตรกเพลย์

 

สนามที่ผสานความดั้งเดิมและสมัยใหม่ไว้ด้วยกัน

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสังเวียนการดวลศึกไรเดอร์ คัพ 2018 ก็คือ สนาม เลอ กอล์ฟ เนชั่นแนล อัลบาทรอสคอร์ส ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง bid เอาชนะอีก 4 ประเทศในยุโรป คือ สเปน, โปรตุเกส, เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ และเป็นสนามที่ได้รับการออกแบบมาเจ๋งทีเดียว มีโอกาสก็อยากจะไปเยี่ยมสักครั้ง

สนามแห่งนี้มีระยะ 7,331 หลา พาร์ 72 ออกแบบโดย Hubert Chesneau (อูแบร์ เชส์นู) และ Robert Von Hagge (โรเบิร์ต วอน เฮกก์) ผสมผสานระหว่างรูปแบบของสนามกอล์ฟสมัยใหม่ที่มักจะมีแฟร์เวย์กว้างและเป็นเป็นคลื่น รวมกับลักษณะของลิงค์คอร์สแบบดั้งเดิมที่มักจะมีกรีนที่เร็วและบังเกอร์เยอะเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งสนามแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ดวลวงสวิงรายการ เฟร้นช์ โอเพ่น มาตั้งแต่ปี 1991 และจะได้ใช้ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

 

สถิติสหรัฐฯ ข่มยุโรปชัดเจน

ทีมสหรัฐฯ แข่ง 41 แมตช์ระหว่างปี 1927-2016 ชนะ 26 / แพ้ 13 / เสมอ 13

ทีมสหราชอาณาจักร, สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ แข่ง 22 แมตช์ระหว่างปี 1927-1977 ชนะ 3 / แพ้ 18 / เสมอ 1

ทีมยุโรป แข่ง 19 แมตช์ระหว่างปี 1979-2016 ชนะ 10 / แพ้ 8 / เสมอ 1

ดูจากสถิติแล้วทีมก้านเหล็กจากแดนลุงแซมก็ยังเป็นต่อ แต่ก็ไม่แน่ ลูกกลม ๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ ไม่ว่าทีมไหนจะชนะก็ตาม คนที่น่าจะสนุกที่สุดก็คือพวกเราที่ได้ลุ้น

Needles to say, BMW has once again offered invaluable support. – Darren Clarke, Captain Team Europe 2016

นับว่าเป็นการแข่งขันกอล์ฟรายการที่มีความพิเศษมาก ๆ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และมีเสน่ห์ดึงดูดให้ตามเชียร์สุด ๆ นับว่าเป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่รองจากแค่ Olympic Games และ Football World Cup เท่านั้น ซึ่งสีสันอีกอย่างที่อยู่คู่การแข่งขัน Ryder Cup มาตั้งแต่ปี 2006 คือรถยนต์ BMW ที่ถือเป็น Official Partner มาอย่างยาวนาน และมีการใช้รถ BMW รุ่นใหม่ ๆ เป็น ‘Official Car’ มาโดยตลอด

แค่นึกภาพยอดนักกอล์ฟเบอร์ต้นของโลกจากทั้ง 2 ทีมดวลกันในศึกแห่งศักดิ์ศรีแบบนี้ก็มันส์แล้ว เรายังจะได้ดูรถ BMW เท่ ๆ ตลอดการแข่งขัน ตอบโจทย์ครบทั้งคอความเร็ว และคอกอล์ฟ จะได้ไม่พลาดอะไรดี ๆ ที่ 2 ปีมีครั้งอย่าง Ryder Cup

SOURCE1SOURCE2SOURCE3

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line