Life

ลืมอะไรไปหรือเปล่า ใส่แล้วจะทิ้งยังไง ? ว่าด้วยการจัดการ ‘หน้ากากอนามัยใส่แล้ว’ วันโควิด-19 ระบาด

By: anonymK March 4, 2020

ตอนนี้ข่าวเรื่องโควิด-19 หลั่งไหลเข้ามาเยอะมาก ทั้งวิกฤตของการระบาด มาตราพระราชบัญญัติการควบคุมโรคที่มีบทลงโทษ เศรษฐกิจขาลง ราคาแอลกอฮอล์กับหน้ากากในท้องตลาด ไปจนถึงคนที่คิดจะฉวยโอกาสจากสถานการณ์เสี่ยงต่อชีวิต เอาหน้ากากเดิมมาซักบ้าง ทำแบบไม่มีคุณภาพบ้าง เพื่อหวังจะขายเอาเงินอย่างเดียว

แต่สิ่งที่เรายังไม่ค่อยเห็นคนคิดต่อหลังจากรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการกักกันโรค คือการจัดการกับหน้ากากอนามัยเหล่านั้น เพราะการจัดการที่ไม่รัดกุมอาจจะทำให้เชื้อจากหน้ากากแพร่กระจายต่อโดยที่เราไม่รู้ตัว จนนำไปสู่การติดเชื้อของบุคคลอื่นต่อ และสุดท้ายวงจรระบาดก็อาจจะกลับมาถึงเรา

UNLOCKMEN นำคำแนะนำจากเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไปและข้อมูลที่เผยแพร่ของกรมอนามัย รวบรวมมาเผยแพร่ต่อเพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการต่อได้อย่างถูกวิธี ปลอดภัยกับตัวเองและผู้คนรอบข้าง

ก่อนอื่นจำไว้ว่าหน้ากากอนามัยใช้แล้วแบบใช้แล้วทิ้ง ต้องแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. หน้ากากของคนติดเชื้อ
2. หน้ากากของคนสบายดี

ซึ่งจะมีดีเทลต่างกันตอนท้าย แต่จุดเริ่มต้นหลังจากเราปลดออกจากหูตัวเอง เพื่อความปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม วิธีจัดเก็บที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงสุดคือการ “พับหรือม้วนก่อนทิ้ง” เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อของสารคัดหลั่งที่อยู่ภายในหน้ากาก

พับก่อนทิ้ง (เหมาะกับหน้ากากสี่เหลี่ยมผืนผ้า)
1. จับขอบพับครึ่งแนวยาว (ด้านที่โดนปากเราเอาไว้ด้านใน)


2. จับขอบพับครึ่งแนวยาวอีกทบ
3. พับครึ่งตามแนวขวาง เพื่อให้เชือกอยู่ฝั่งเดียวกัน
4. ใช้เชือกด้านข้างรัดให้แน่น

5. ใส่ถุงพลาสติกหรือห่อกระดาษให้มิดชิด
ม้วนก่อนทิ้ง (เหมาะกับหน้ากากแข็ง ทรงแนบใบหน้า)

ถ้าสังเกตให้ดีหน้ากากแบบแข็ง ๆ จะไม่เหมาะกับการพับครึ่งแนวยาวเพราะมันไม่ได้สมมาตรกันขนาดนั้น แต่เหมาะกับการม้วนแนวขวางมากกว่า แต่เนื่องจากตัวอย่างของเราที่ใช้แล้วตอนนี้มีเฉพาะหน้ากากอนามัยแนวยาว จึงแนะนำภาพวิธีนี้ (อันที่จริงวิธีนี้ก็ใช้ได้ทั้งคู่ ลองพิจารณาเอาตามความเหมาะสม)

1. จับขอบพับครึ่งตามแนวขวาง (ด้านที่โดนปากเราเอาไว้ด้านใน)
2. ม้วนจนสุดปลายแล้วรัดยางให้เก็บให้อยู่ทรง
3. ใส่ถุงพลาสติกหรือห่อกระดาษให้มิดชิด

หลังจากได้หน้ากากที่ม้วนหรือพับพร้อมทิ้งเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อไปคือการเลือกถังขยะ กรณีที่เราอยู่ด้านนอกบ้านแล้วพบถังขยะหลากสี ให้ทิ้งใส่ถังสีแดงที่เขียวว่า “ขยะติดเชื้อ” เท่านั้น อย่าไปทิ้งถังสีอื่น หรือถังที่เขียวว่าขยะอันตรายเพราะถังสำหรับขยะอันตรายคือถังของสารประเภทโลหะหนัก เคมี ฯลฯ

แต่กรณีที่เราไม่มีถังแบบนั้นในบริเวณที่พักอาศัยเพราะอยู่ตามบ้าน หลังจากเตรียมหน้ากากพร้อมแล้วให้หาถุงพลาสติกใสหรือถุงกระดาษ มัดทิ้งรวมกันไว้ เพื่อเวลาพนักงานมาเก็บ พวกเขาจะได้สามารถเห็นมันได้อย่างชัดเจนและจัดการกับมันได้อย่างถูกต้อง ส่วนใครที่รู้ตัวว่าติดเชื้อก็นำถุงที่บรรจุหน้ากากใช้แล้วทิ้งเหล่านี้มัดใส่ถังไปตากแดดเพื่อให้ความร้อนฆ่าเชื้อ หรืออยากพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อก็ทำได้เช่นกัน

หมายเหตุ: ง่ายที่สุดคือการตากแดด งั้นเราก็ตากแดดได้ต่อให้มีหรือไม่เชื้อเพื่อความปลอดภัย หรือถ้าไม่มีเวลาจะไปจับถุงไปตากที่ไหน ง่าย ๆ กว่านั้นก็คือใส่ในถังที่ปิดมิดชิด และสุดท้ายอย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่หรือเจลล้างมือหลังทิ้งหน้ากากอนามัย

ขยะที่ทิ้งไป กลัวจังเขาจะเอาไปเก็บ เขาเอาไปไหนกันแน่?

สำหรับสิ่งที่หลายคนกังวลว่า ไอ้ที่เราเอาไปทิ้งเขาจะเอาไปกำจัดอย่างไรต่อ เรื่องนี้ต้องบอกเลยว่าทางภาครัฐจะมีรถสำหรับเก็บขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ ไม่ใช่รถเขียว ๆ ที่เก็บขยะเราตามปกติ ช่วยให้เชื้อโรคไม่กระจาย ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วง

ส่วนใครที่เห็นกับตาว่า “รถเขียว” เป็นรถมาเก็บขยะเหล่านี้ของเราก็ไม่ต้องตกใจ เนื่องจากตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข ขยะติดเชื้อหมายถึงขยะที่เกิดในสถานพยาบาล ที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในโรงพยาบาล ดังนั้นขยะของหน้ากากอนามัยนอกโรงพยาบาลเหล่านี้จะถือว่าเป็น “ขยะมูลฝอยปกติ” ทั่วไป ซึ่งถ้าเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับวัตถุที่โดนสารคัดหลั่งและบรรจุอยู่ในพื้นที่มิดชิด ยังไงย่อมดีกว่าแน่นอน

การรู้จักวิธีป้องกันอย่างครบวงจรคือหนทางที่นำไปสู่การป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราทุกคนต้องการ เสียสละเวลา 1-2 นาที เพื่อทำตามขั้นตอนด้านบนนี้ รับรองว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกชีวิตอย่างแน่นอน

 

SOURCE:  1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line