Featured

LEGEND OF THE YEAR: 5 LEGENDS แห่งปี 2019 ไม่ได้มีแค่ผลงาน แต่คือตำนานที่เราชื่นชม

By: PSYCAT December 27, 2019

ในยุคที่มีช่องทางเผยแพร่ผลงานเยอะยิ่งกว่าเยอะ ผลงานที่ผู้คนสร้างสรรค์จึงผุดขึ้นมายิ่งกว่าดอกเห็ด เราอยู่ในยุคสมัยที่ใครก็มีเพลงเป็นของตัวเองได้ ใคร ๆ ก็แสดงผลงานศิลปะของตัวเองได้ ใคร ๆ ก็มีงานเขียนเผยแพร่ได้เช่นกัน ปี 2019 จึงไม่ได้วัดกันแค่ “ผลงาน” อีกต่อไป

“ตัวตน ทัศนคติ การเรียนรู้ไม่รู้จบ และกาลเวลา” กลายเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าคุณคือ “Legend” ไหม? คุณเป็น “ระดับตำนาน” ได้หรือยัง? ไม่เพียงเท่านั้นสถานะ Legend ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะนิยามตัวเอง หรือเที่ยวประกาศบอกใคร ๆ ได้ คล้ายเป็นถ้วยเกียรติยศที่ผู้คนจะมอบให้คุณเอง

ตลอดปี 2019 UNLOCMEN ได้พบปะและสนทนากับบุคคลสำคัญจำนวนมาก ทุกคนมีความงดงาม เก่งกาจ และโดดเด่นหาตัวจับยากในทางทางของตัวเอง แต่ถ้าจะให้นิยามคำว่า “Legend” มอบความหมายของตัวตน ผลงานที่ท้าทายเหนือกาลเวลา เราเชื่อว่านี่คือ “LEGEND OF THE YEAR: 5 LEGENDS แห่งปี 2019 ที่ไม่ได้มีแค่ผลงาน แต่คือความเป็นตำนานที่เราชื่นชม

 

พงษ์สิทธ์ คัมภีร์: LEGEND เพลงเพื่อชีวิตและการเล่าเรื่องของผู้คน

ถ้าพูดถึงศิลปินเพลงเพื่อชีวิต คงไม่มีผู้ชายคนไหนไม่รู้จัก ปู-พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์” ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ผู้ถ่ายทอดเนื้อหา จังหวะและท่วงทำนองกินใจออกมาให้เราฟังตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเพลงช้าที่เนือยเนิบแต่กัดกินไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของเรา ไปถึงเพลงจังหวะฮึกเหิมที่สร้างแรงกระเพื่อมในหัวใจ แต่ไม่ว่าเพลงแบบไหนก็ไม่วายแฝง “เรื่องเล่า” บางแบบ ที่ชวนให้เราขบคิดถึงบางอย่างได้เสมอ

เรื่องเล่าแบบนั้นเองที่เรายกให้เขาเป็น “ตำนาน” เพราะบทเพลงของเขาไม่เพียงให้ความบันเทิง แต่มันบันทึกเหตุการณ์ จดจำยุคสมัย บอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่าสารพัดรูปแบบ

“คนชอบฟังเพลงเพื่อชีวิตก็เพราะเนื้อหามันโดนใจเขาในหลาย ๆ อย่าง เรื่องที่ได้ยินมันคือเรื่องราวของพวกเขา เพราะเพลงเพื่อชีวิตคือเพลงที่คนบันทึกเรื่องและเผยแพร่เรื่องของเขาเอง พอคนได้ฟังก็รู้สึกว่าถูกปลอบประโลมใจ ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรได้”

ผมแค่เล่าเรื่อง อาจจะเป็นเรื่องของใครคนหนึ่งไปถึงอีกคน

“สำหรับผม ผมไม่เชื่อว่าเพลงเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมก่อนหน้านี้ก็มีคนพูดมาก่อนผม ผ่านช่วงเวลายุคแล้วยุคเล่า เราก็เห็นกันใช่ไหมว่ามันแก้ไขอะไรไม่ได้ ซึ่งเราก็คิดแบบนั้นมาตั้งแต่แรก ผมแค่เล่าเรื่อง อาจจะเป็นเรื่องของใครคนหนึ่งไปถึงอีกคน เล่าไปเรื่อย ๆ เป็นการเล่าชีวิตให้ผู้คนฟังแค่นั้นเอง”

อ่านบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: “พงษ์สิทธ์ คัมภีร์” เพลงเพื่อชีวิตคือการปลอบประโลมและสร้างสุขให้ผู้คน

 

น้าเน็ก: LEGEND แห่งเสียงหัวเราะ ความสนุก ผู้มอง “ความตลก” เป็นศาสตร์และปรัชญา

“ผมไม่ใช่คนตลก” อาจมีใครหลายคนออกตัวแบบนั้น แต่ถ้าประโยคนี้ออกมาจากปาก น้าเน็ก-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา  พิธีกรมืออาชีพที่ใคร ๆ ก็ลงความเห็นว่าตลกหาตัวจับยาก เราคงส่ายหัวไม่เชื่ออยู่ในใจ แต่น้าเน็กยืนยันว่าเขาไม่ใช่คนตลก

สำหรับเขาความตลก อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะเป็นเครื่องมือที่ขับเคลื่อนชีวิตไปสู่ความสำเร็จ สำหรับเขาความตลกไม่ต่างจากปรัชญาและศาสตร์ล้ำลึกที่เขาตั้งใจเรียนรู้อย่างมุ่งมั่นและหนักหน่วงเพื่อทำให้ตัวเองแตกต่างและโดดเด่นออกมาในโลกและสมรภูมิการงานที่เชือดเฉือนกันอย่างดุเดือด

นั่นทำให้เราทึ่ง เพราะไม่ใช่แค่ผลงานที่เราเห็นตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่หมายถึงการที่เขาไม่ใช่คนตลก แต่เรียนรู้อย่างหนักมาโดยตลอด (แถมนำมาปรับใช้ได้อย่างน่าอัศจรรย์) ความตลกจากคนไม่ตลก การเรียนรู้ และกาลเวลา สิ่งเหล่านี้คือบทพิสูจน์ที่เราต้องยกคำว่า “ระดับตำนาน” ให้เขา

ผมไปเจอเครื่องมือที่เรียกว่าความตลกและเสียงหัวเราะ ผมดันชอบเครื่องมือนี้ ผมรู้สึกว่าอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะนั้นเป็นอำนาจบริสุทธิ์ เป็นเสน่ห์อะไรบางอย่าง มันไม่ต้องบังคับขืนใจ คุณสามารถอยู่เหนือผู้คนได้ในวิธีที่มันยิ้ม ๆ ผมชอบเครื่องมือนี้มากและผมก็เริ่มศึกษามัน”

“ความตลกเป็นศาสตร์ที่ไม่ตลกเอาเสียเลย”

“การที่เราจะทำให้ใครหัวเราะหรือสนุก หรือตลกไปกับเรา มันมีวิธี มันมีศาสตร์ของมัน มันมี Sense of Humor มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องปฏิกิริยาทางสมอง ผมศึกษามันในแง่วิชาการแบบซีเรียสเลย และเมื่อเราศึกษาความตลกแบบวิชาการพบว่า ความตลกเป็นศาสตร์ที่ไม่ตลกเอาเสียเลย”

อ่านบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: น้าเน็ก: ผมไม่ใช่คนตลก แต่เรียนรู้ที่จะใช้เสียงหัวเราะทำให้ทุกอย่างสนุกขึ้น ดีขึ้นและแตกต่าง

ธนชัย อุชชิน: LEGEND ผู้เชื่อว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ แต่เราต้องเรียนรู้ทุกวัน

“ธนชัย อุชชิน” หรือ “ป๊อด-Moderndog” เราคงไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าเขาเป็นใคร และถ้าเราบอกว่าเขาเป็นนักร้องและศิลปิน ก็ดูจะสั้นเกินกว่าผลงานและตัวตนของเขา มากไปกว่านั้นเขายังเรียบง่ายได้อย่างเหลือเชื่อ

วิธีคิดอันเรียบง่าย พร้อมรับอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ รวมถึงการยอมรับว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรอีกมากนี่เองเป็นเหตุให้เขาสร้างสรรค์ผลงานระดับตำนาน และเป็นตำนานมาได้อย่างยาวนาน

“ผมว่าการเรียนรู้นะ ผมชอบการเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่ใช่แค่ว่าไปรู้เรื่องราวอื่น ๆ การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือเรียนรู้ตัวเอง มันสนุกที่เราจะได้เรียนรู้ตัวเอง เพราะมันไม่รู้จบ การรู้จักตัวเองมันซับซ้อนหลายมิติกว่าที่เราจะเข้าถึงตัวเองและกล้ายอมรับตัวเองได้จริง ๆ “

“การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือเรียนรู้ตัวเอง”

“บางทีผมก็มีเพลงใหม่ ๆ ที่แต่งโดยที่ไม่ต้องคิด เหมือนตอนเด็กเลยที่เนื้อเพลงมันออกมาจากข้างใน คล้าย ๆ กับการทำงานศิลปะ เพราะเวลาเพนต์ บางทีใช้ความรู้สึกล้วน ๆ ก็ออกมาเป็นงานที่ดีได้ ในขณะที่บางครั้งคิดซับซ้อน แต่งานมันซับซ้อนเกินไป ดูแล้วไม่โฟลว์ ทีนี้พอเราถอด HEAD ออก แล้วลองใช้แต่ HEART บางทีมันลื่นไหลมากเลย”

อ่านบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: MASTERPIECE: คุยเรื่องศิลปะกับ “ป๊อด-ธนชัย”ผู้เชื่อว่าแรงบันดาลใจอยู่ในทุกที่

อุทิศ เหมะมูล: LEGEND แห่งวรรณกรรม ศิลปะ และการแหกคอก

ถ้าเราบอกว่านักเขียนรางวัลซีไรต์ เคยสอบตกวิชาภาษาไทย คุณจะเชื่อไหม? และถ้าคุณคือคนที่ระบบการศึกษาหรือผู้ใหญ่บอกว่าคุณไม่เก่งภาษา (หรือจริง ๆ ก็ไม่เก่งสักวิชา) คุณจะยอมจำนนตามนั้นแล้วปล่อยตัวเองถูลู่ถูกังไปตามที่ระบบการศึกษาตัดสินคุณหรือเปล่า?

“อุทิศ เหมะมูล” ไม่ยอมจำนน ตกภาษาไทยแล้วทำไมจะเป็นนักเขียนไม่ได้ (วะ!) เรียนไม่เอาไหนแล้วทำไมจะลืมตาอ้าปากเป็นคนสำคัญในประเทศนี้ไม่ได้ เขาขบถ แหกคอก ดื้อดึง และไม่ยอมแพ้ จนกลายเป็นเขาในวันนี้ที่ผลิตผลงานวรรณกรรมต่อเนื่อง สร้างสรรค์ผลงานศิลปะสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน

สำหรับเราความไม่ยอมแพ้ ดื้อดึงจนสุดทางที่เชื่อ และผลงานที่ผ่านกาลเวลาของเขาคือบททดสอบของความเป็น “ระดับตำนาน” ที่เขาสอบผ่านฉลุย

“มันเป็นชีวิตของเรา เราต้องใช้ชีวิตของเรา เราต้องมีสิทธิ์เลือกและตัดสินใจว่าจะทำอะไร ถ้าเราเปิดประตูบานหนึ่งให้เขา เขาจะเข้ามาเต็มที่ ขีดเขียนชีวิตของเราภายใต้คำว่า ‘ดูแล’ ซึ่งความหมายของมันก็คล้ายกับการ ‘ควบคุม’ เขาจะเข้ามามีสิทธิ์ขาด เราต้องทำให้เขาเห็นว่านี่มันคือชีวิตของเราไม่ใช่ของเขา ผลมันจะออกมาดีหรือเลวเราก็จะรับเอาไว้เอง”

“มันมีอะไรเยอะมาก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา”

“ผมค้นพบว่าภาษามันเป็นมากกว่าพยัญชนะ ตัวสะกด และไวยากรณ์ มันมีภาษาอื่น ๆ ที่มากกว่าที่เราเจอในห้องเรียน มันกว้างไกลกว่านั้นมาก ๆ ตอนเรียนเราจะถูกบีบให้เดินไปตามทางแคบ ๆ เพื่อใช้ภาษาที่ถูกต้องเพื่อสื่อสารกับคนอื่น เพื่อสอบได้และเรียนจบด้วยคะแนนที่ดี แต่เราไม่ได้เข้าใจภาษาอื่นอย่างภาษาในชีวิตคู่ ภาษากับคู่สนทนาที่มีบุคลิกและนิสัยแตกต่างกันไป มันมีอะไรเยอะมาก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา”

อ่านบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: “อุทิศ เหมะมูล” ชายผู้เต็มไปด้วยความขบถที่ขอเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง

JOEY BOY: LEGEND ที่ไม่ใช่แค่แรปเปอร์ แต่เป็น “เอนเตอร์เทนเนอร์”

โจ้-อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อนามสกุลนี้ แต่ถ้าหากเอ่ยชื่อ Joey Boy (โจอี้ บอย) ขึ้นมา เราเชื่อว่าต้องร้องอ๋อแน่นอน บทเพลงของเขาคือยาปลุกความสนุกที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน

ตลอด 25 ปี ในวงการ โจอี้ บอย เป็นทั้งนักร้อง นักแสดง โค้ช กรรมการรายการประกวดร้องเพลง นักกีฬายิงธนู หรือแม้กระทั่งนักกีฬาทีมชาติพารามอเตอร์ก็เป็นมาแล้ว เขาคือชายที่ผ่านมาหมดทุกเวที ไม่แปลกที่หลายคนจะยกย่องให้เขาเป็นมากกว่าแค่ศิลปิน แต่เป็นถึง ‘เอนเตอร์เทนเนอร์’ ระดับพระกาฬ ที่ยากจะมีใครเทียบเท่า

เพราะการเอนเตอร์เทนไม่ใช่แค่การขึ้นไปส่งสารทางเดียวแล้วลงจากเวที แต่เพราะต้องทั้งส่ง รับ และโต้ตอบปริมาณความสนุกให้ลื่นไหล ไม่ล้นเกินไป ไม่แห้งขอดเกินไป ซึ่งกว่าจะเชี่ยวชาญจนเอนเตอร์เทนใครก็สนุกได้ ย่อมอาศัยการฝึกฝน เรียนรู้ เคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนัก แบบนี้จะไม่ให้เรียกว่า “ระดับตำนาน” ได้อย่างไร?

“ถ้าพี่รู้ว่าพี่ต้องขึ้นเวที และนั่นคือเวทีของโจอี้บอย พี่จะกลายเป็น ‘คน ๆ นั้น’ โดยสมบูรณ์พี่ไม่ชอบที่สุดคือการเล่นเป็นแขกรับเชิญ เพราะพอมันไม่ใช่ตัวพี่ จะมีความงง ทำตัวไม่ถูก แต่เมื่อใดที่เป็นคอนเสิร์ตตัวเอง โจอี้ บอย 100% ก็จะออกมาอยู่ตรงนั้น บางครั้งตอนแสดง ในหัวมันคิดไปถึงเรื่องอื่น ๆ แต่ตัวเรากลับสนุกสนาน เล่นไปเรื่อย ๆ เหมือนอีกหัวของพี่มันจะคอยสังเกตคนดู แบบเฮ้ยโต๊ะนี้เขาสนุกยังวะ? ตรงนี้เขาคิดอะไร? เอ๊ะทำไมคนนี้นิ่ง ๆ วะ? ตัวที่เป็น ‘พี่โจ้’ จะคอยสอดส่อง หาข้อมูลให้กับโจอี้ บอย เพื่อให้โจอี้ บอยเล่นไปให้ถูกทาง และหาจังหวะดี ๆ เอนเตอร์เทนเขาให้ได้”

“ไม่ว่าจะมีกี่คนมาดู มันก็สนุกสำหรับเราอยู่ดี เราเองก็ทำให้เขาสนุกได้แน่ ๆ “

อ่านบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่: ZERO TO HERO: JOEY BOY เซียนเวทีระดับพระกาฬ มากกว่าแรปเปอร์ แต่คือ “เอนเตอร์เทนเนอร์”

 

ผลงานคือปราการด่านแรกที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราลงมือทำจริง เราหลงใหลในสิ่งนั้นหมดหัวใจ เราใส่ความพยายามไปทุกเม็ด แต่ปราการด่านต่อไปที่โหดหินยิ่งกว่าคือกาลเวลา ที่จะคอยถามเราว่าเรายังจริงจังกับสิ่งที่เรารักแค่ไหน? 5 ผู้คนระดับตำนานประจำปี 2019 ของเราพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาทำได้ พวกเขาผลิตผลงาน และทำมันต่อเนื่องผ่านวันเวลายาวนาน ควบคู่ไปกับการไม่หยุดเรียนรู้ และพัฒนาตัวตนอย่างไม่หยุดยั้ง

ถ้าปี 2019 นี้ เรายังอยู่ที่ปราการด่านแรก อยู่ในขั้นตอนตั้งไข่ผลิตผลงาน ก็ไม่ต้องท้อไป ทุกตำนานย่อมมีจุดเริ่มต้นมาจากผลงานตั้งไข่ชิ้นแรกเสมอ  ขอแค่ทำต่อไป อย่าหยุด เหมือนที่ตำนานทั้ง 5 คนของเราไม่เคยหยุดเลยเช่นกัน

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line