World

Nihon Stories : ‘Rakugo’ ศิลปะแบบซิทดาวน์คอเมดี้ วิถีแห่งการสร้างเสียงหัวเราะตามขนบดั้งเดิมฉบับญี่ปุ่น

By: GEESUCH June 12, 2023

ในวันที่ทำงานหนักจนนาฬิกาอนุญาตให้นอนพักได้อีกไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะเริ่มวันใหม่ ในวันที่ฝนตกรถติดน้ำท่วมจนกลับบ้านไม่ได้ ในวันที่ความเศร้าทั้งหลายกัดกินใจ ใครหลายคนอาจจะการฟังเรื่องตลกเป็น Safe Zone คอยฮีลใจในวันที่เหนื่อยล้า ไม่ว่าจะมุกกัดจิกสังคมไทยของ ‘โน้ต-อุดม’ / การเล่าเรื่องแบบคนเลวไม่กลัวพระเจ้าของ Louis C.K. / หรือความปั่นของกลุ่มสแตนอัพคอเมดี้ a Katanyu Comedy ก็ตาม ทุกคนล้วนมีมุกตลกที่คอยชุบชูใจของตัวเองกันทั้งนั้น

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชอบเสียงหัวเราะแบบไหน UNLOCKMEN อยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับ ‘ราคุโกะ Rakugo’ ศิลปะการเล่าเรื่องตลกของประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความประณีต เป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องตลก เพราะนี่คือความงามของการเล่าเรื่องเพื่อสร้างเสียงหัวเราะ ที่สืบทอดต่อกันมากว่า 400 ปีแล้ว !


Rakugo คืออะไร ?

ความหมายของคำว่า ‘ราคุโกะ’ นั้นแปลได้ประมาณว่า “ถ้อยคำที่ร่วงหล่น (Fallen Words)” ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อแสดงภาพของการเล่าเรื่องแบบเป็นจำลองบทสนทนาคู่กับการบรรยายไหลยาวแล้ว ยังใช้สื่อถึงท่อนพันช์ไลน์ส่วนสำคัญในช่วงก่อนจบการแสดงที่เรียกว่า ‘โอชิ (Oshi)’ อันมีความหมายว่าหยดอีกด้วย

ในการแสดงราคุโกะนั้นจะใช้นักแสดงเพียงคนเดียว ซึ่งจะถูกเรียกว่า ‘ราคุโกะกะ (Rakugoka)’ สวมชุดกิโมโน พร้อมอุปกรณ์เพียง 2 อย่างติดตัว คือ ‘พัด (Koza Sensu) ซึ่งใช้ประกอบการแสดงในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะใช้แทนสิ่งของอย่างตะเกียบ ช้อน หรือจะใช้เพื่อแสดงอารมณ์ห้วงขณะนั้น กับ ‘ผ้าเช็ดหน้า’ (Tenugui) ที่เอาไว้ซับเหงื่อพร้อมกับใช้ประกอบการแสดงเหมือนกัน และมักจะจัดการแสดงในในโรงละครที่เรียกว่า ‘โยเซะ (yose)’      

ราคุโกะจะใช้เวลาบนเวทีเพื่อเล่าเรื่องที่เตรียมมาประมาณ 20-25 นาทีต่อหน้าผู้ชม โดยผู้เล่าจะทำหน้าที่เป็นทั้ง Narrative และเป็นนักแสดงที่สวมบทบาท Role Play ของทุกตัวละครที่เล่าออกมา โดยการดำเนินเรื่องราวจะอ้างอิงจากบทสนทนาของตัวละครเป็นหัวใจหลัก พร้อมกับใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่นเปลี่ยนน้ำเสียง ระดับเสียงสูง-ต่ำ การใช้ภาษามือเข้ามาประกอบ การแสดงสีหน้า และอีกมากมาย

เรื่องราวที่นำมาทำการแสดราคุโกะนั้นจะมีเนื้อหาไปในเชิงตลกเรียกเสียงหัวเราะเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจะสอดแทรกความดราม่า ความโรแมนติกอะไรก็แล้วแต่เนื้อหาที่ราคุโกะกะคนนั้น ๆ เตรียมมา และอยู่ที่เนื้อหาด้วย

ซึ่งในช่วงแรก ๆ ราคุโกะจะเล่าเรื่องแต่งที่เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยเอโดะ จนมาในยุคศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เรื่องเล่ามักจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยผู้เล่าเอง แต่ก็จะมีบ้างที่นักราคุโกะบางคนจะหยิบเรื่องราวซึ่งถูกแต่งในสมัยเอโดะมาใช้เล่าในสมัยปัจจุบัน และนั่นหมายความว่าราคุโกะกะเหล่านั้นได้รับเรื่องราวต่อมาจากอาจารย์ของตัวเองอีกที  

อย่างที่บอกไปตั้งตอนต้นว่าราคุโกะเป็นศิลปะการเล่าเรื่องตลกที่แสนประณีต เพราะฉะนั้นท่านั่งตลอดการแสดงราคุโกะก็จะอยู่ในโพซิชั่นที่เรียกว่า ‘เซอิซา (seiza)’ ซึ่งมีความหมายแปลจากภาษาญี่ปุ่นได้ว่า ‘ท่านั่งที่ถูกต้อง’ มันคือการนั่งคุกเข่าที่ขาทั้งสองข้างตั้งฉากอยู่ที่ 180 องศา ตัวนั่งตรง อย่างที่เรามักจะเห็นกันเป็นประจำจากประเพณีพิธีชงชาของญี่ปุ่น เซอิซายังเป็นสิ่งที่พรีเซนต์คุณค่าสำคัญ 2 ประการที่แสดงความเป็นประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย นั่นคือ ‘ความสุภาพ’ และ ‘การขอโทษ’ ว่ากันว่าญี่ปุ่นในสมัยก่อนนั้น ถ้าเราไม่ได้รับการสอนให้นั่งท่าเซอิซาอย่างถูกต้อง ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมประเพณีสำคัญ ๆ ได้เลย


จุดกำเนิดเสียงหัวเราะของ Rakugo

Original Rakugo : เมื่อพูดถึงจุดกำเนิดที่แท้จริงของราคุโกะนั้น ต้องเล่าย้อนกลับไปไกลในยุคสมัย ‘เฮอัน Heian (794 – 1185)’ ช่วงเวลาที่ศาสนามีส่วนสำคัญกับผู้คนมาก ๆ ในตอนแรกราคุโกะไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเสียงหัวเราะเป็นหลัก แต่เริ่มมาจากการที่พระสงฆ์สะสมเรื่องเล่า-เรื่องราวต่าง ๆ เพื่อประกอบร่างสร้างบทเทศนาให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะทำให้เหล่าศาสนิกชนสนใจในฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้นจนจบ 

The Legacy : ถ้าใครติดตามประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น จะรู้ว่ายุคสมัย ‘เซ็นโกคุ Sengoku (1467-1615)’ จะรู้จักกันในชื่อ ‘ยุคสงครามกลางเมือง’ มันคือช่วงเวลาที่บ้านเมืองของประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความโกลาหล มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงฐานอำนาจในประเทศมากที่สุดของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมราคุโกะในตอนนั้นคือการเป็นรากฐานสำคัญให้กับราคุโกะยุคปัจจุบัน โดยมีจุดเกิดเหตุตรงที่ในยุคเซ็นโกคุนั้น เหล่าพระสงฆ์จะชอบถูกเหล่าไดเมียว (เจ้าเมือง) เรียกตัวให้ไปสอนอ่านวรรณกรรม และจากตรงนั้นเอง พระนามว่า Anrakuden Sakuden ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งราคุโกะ ด้วยการถูกเชิญตัวหลายครั้งเข้า ก็ทำให้ต้องหาเรื่องไปเล่าให้กับเจ้าเมืองฟัง ทำให้ท่านได้เขียนหนังสือชื่อ Seisuisho ทั้งหมด 8 เล่ม อัดแน่นไปด้วยเรื่องตลกกว่า 1,039 มุก ซึ่งว่ากันว่าเป็นรากฐานของราคุโกะของยุคปัจจุบัน ที่จะเริ่มต้นขึ้นในสมัย ‘เอโดะ’ ในเวลาต่อมา 

Present Rakugo : รูปแบบของราคุโกะที่เป็นปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในยุคสมัย ‘เอโดะ Edo (1603-1867)’ ที่คำว่าราคุโกะเริ่มแพร่หลายออกไปนอกศาสนา จนกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งความบันเทิง กลายเป็นงานอดิเรกของทุกคน และได้ถูกจัดอยู่ในหมวดของประเภทของการแสดงตลกที่มีเรื่องของกฎต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พอเข้าช่วงต้นของศตวรรษที่ 18 ราคุโกะก็ค่อย ๆ ได้รับความนิยมน้อยลงไปเรื่อย ๆ สาเหตุอาจจะไม่ได้ถูกบันทึกเป็นอักษรอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าเพราะเรื่องเล่าของราคุโกะในตอนนั้นถูกแต่งขึ้นเพื่อเล่าให้ขุนนางกับสอดแทรกในศาสนา เลยทำให้คนทั่วไปยังไม่รู้สึกเชื่อมโยงด้วยเท่าไหร่นัก 

จนกระทั่งในช่วงปลายของศตวรรษที่ 18 ได้มีการฟื้นฟูราคุโกะขึ้นใหม่แบบชุดใหญ่ โดยชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า Utei Enba จนทำให้ช่วงเวลานั้นเองได้มีการตั้งกลุ่มราคุโกะทั่วทั้งเมืองหลวงอย่างกรุงเอโดะ พร้อมกับทำการปรับเนื้อหาของราคุโกะในช่วงเวลานั้นให้เป็นการเล่าเรื่องที่มาจากชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น ปัญหาประจำวันของคนทำงาน / ความกังวลของนักแสดงคาบูกิ / การล้อเลียนภาษาถิ่นต่าง ๆ เป็นต้น จนราคุโกะกลับมาครองใจผู้คนอีกครั้ง


เธอก็เป็น Rakugoka ได้นะ

การที่จะเป็นราคุโกะกะมืออาชีพได้นั้น มีวิธีการเดียวคือต้องไปฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ในสำนักที่เราชื่นชอบ และจะต้องใช้เวลาฝึกฝนเป็นเวลากว่า 3-4 ปี ! ถึงจะมีชื่อในวงการของตัวเอง เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าได้เป็นนักราคุโกะมืออาชีพที่มีสังกัดอยู่แล้ว

ในช่วงแรกก่อนจะเป็นโปรมันคือช่วงเวลาแห่งการเลียนแบบและค้นหาสไตล์ เมื่อเก่งมากพอ คุณถึงจะได้รับอนุญาตให้เล่นเรื่องที่ตัวเองเลือกหรือว่าแต่งขึ้นมาจากอาจารย์ประจำสำนัก การฝึกหัดเป็นราคุโกะนั้นเต็มไปด้วยความเข้มงวดมาก ๆ (แต่ก็ขึ้นอยู่อาจารย์แต่ละสำนักด้วย) บางสำนักก็ถึงขนาดว่าไม่ให้ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือไปออกเดทเลยด้วยซ้ำ แถมยังต้องทำงานบ้าน ซักผ้า ทำความสะอาด ทำอาหารให้กับสำนักด้วยอีกต่างหาก 


Rakugo ในวันที่กลายเป็น Soft Power ไปทั่วโลก    

ปัจจุบันราคุโกะคือศิลปะที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก มีการเล่าเรื่องในแบบภาษาอังกฤษ ทั้งยังมีนักราคุโกะกะที่เป็นชาวต่างชาติผู้มีชื่อเสียงอย่าง Katsura Sunshine อีกต่างหาก 

และแน่นอนว่าด้วยความเป็นประเทศที่รักในทุกวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง การเล่าเรื่องของราคุโกะก็เคยถูกทำเป็นซีรีส์และอนิเมะมาแล้ว และล่าสุดค่ายมังงะตัวท็อปอย่าง Shueisha ก็ได้ปล่อยมังงะเรื่อง Akane-Banashi (อาคาเนะพลิกตำนานวงการราคุโกะ) เล่าเรื่องของเด็กสาว ‘อาคาเนะ’ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงราคุโกะที่เก่งที่สุด เพื่อสานต่อความฝันให้พ่อของตัวเองที่เคยฝันสลายจากการเป็นนักราคุโกะมืออาชีพมาก่อน

เชียร์ให้อ่านเรื่องนี้กันมาก ๆ ไม่ใช่แค่เพราะว่าในญี่ปุ่นอย่างไฮป์นะ เพราะเอาจริงความน่าทึ่งของคนเขียนมังงะของประเทศนี้ คือการที่เขาสามารถทำให้เราอินกับเรื่องราวของวัฒนธรรมที่พวกเขารักมาก ๆ ราวกับว่ามันเป็นวัฒนธรรมของเราเองเหมือนกัน รู้สึกได้เลยว่าเขาอยากเล่าเรื่องราวนี้ด้วยใจรักอย่างแท้จริง 


ในหนังสือการ์ตูน Akane-Banashi เราจะได้เห็นแววตาที่เป็นประกายของอาคาเนะอยู่ตลอดเวลาเมื่อพูดถึงราคุโกะ เธอสู้ทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นราคุโกะกะถึงแม้ว่าแทบจะไม่เคยมีผู้หญิงประสบความสำเร็จในวงการนี้ และแม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายที่ต้องฝ่าฟัน ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไม ? มันก็อยู่ในหน้าแรกของหนังสือในช่วงเวลาที่เธอแอบดูพ่อของตัวเองซ้อมราคุโกะด้วยความมุ่งมั่นสุดชีวิตทุกคืน สิ่งนั้นเองทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะราคุโกะในชีวิตจริงหรือหนังสือ การเล่าเรื่องมีส่วนสำคัญต่อมนุษย์มาก ทั้งมีพลังในการส่งต่อความรู้สึกที่ดี ไปจนถึงสามารถกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราสามารถใช้ชีวิตทุกวันได้แบบง่ายขึ้นไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว : )  

SOURCE : 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line