Life

ความรู้สึกย่อยยาก: เมื่อ “เวลา อายุ ประสบการณ์” ทำให้เรารู้สึกอ่อนไหวน้อยลง

By: anonymK July 2, 2019

“พี่คิดว่ามันไม่เจ็บ ชา ๆ ไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่พอเราโตขึ้นความรู้สึกมันจะย่อยยากขึ้น”

พอโตขึ้น เจออะไรหลายอย่างมากขึ้น เวลาพูดคุยกับคนรอบข้าง คำพูดแปลก ๆ รสชาติขมฝาด มักจะโผล่มาให้ได้ยินบ่อย ๆ จะว่าเป็นคำคมก็ไม่เชิง แต่คิดว่าเป็นคำอธิบายนอกพจนานุกรมที่เมื่อมาใช้แล้วตรงความจริงมากกว่า

เออ ก็แปลกดี อย่างเมื่อวานนี้เราได้ยินคำว่า “ความรู้สึกย่อยยาก” ศัพท์ที่ไม่ใช่คำพูดทางการแพทย์ แต่ฟังแล้วรู้สึกเสียดแทงเหมือนบางอย่างในชีวิตหล่นหายไปจากคำอธิบาย แล้วก้มหน้ายอมรับต่อว่าเป็นความจริง ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามที่เข้ามาในชีวิตเรา วันหนึ่ง “เวลา อายุ ประสบการณ์” จะทำให้มันย่อยยากขึ้นอย่างที่บอก และทั้งหมดจะลงท้ายด้วยคำตอบว่า “This too shall past” หรือแล้วมันจะผ่านไป

เมื่อ “ใหม่” ทุกอย่างย่อยง่ายเสมอ

ถ้าเปรียบอะไรสักอย่างเข้ากับการกินและระบบการย่อยอาหารทางกายภาพ สิ่งที่ “ย่อยง่าย” ก็คือสิ่งที่ดูดซึมได้ง่าย กินแบบไหนก็รับเข้าไปแบบนั้น แสดงออกมาแบบนั้นให้เห็นชัดเจน ความรู้สึกก็เช่นเดียวกัน วันที่ทุกอย่างดูใหม่ไปหมด เรารู้สึกวูบไหวกับทุกอย่างที่เข้ามาปะทะง่ายและแสดงออกต่อมันชัดเจน เจอคนทำตัวแย่ ๆ ใส่หรือทำให้ไม่พอใจ ก็แค่รู้สึกเกลียด เจอคนทำดีด้วยก็แค่รู้สึกรักและดีตอบ โหมใส่มันแบบตัว ๆ ทุกอย่างอ่านง่าย เข้าใจง่าย ย่อยง่ายไปหมด

แต่ความไวกับความย่อยง่ายของอารมณ์มักเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปตามอายุหรือประสบการณ์ที่มากขึ้น สิ่งนี้แทบจะกลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกคน จนกลายเป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องนำมาพิสูจน์ว่า ทำไมเราถึงรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ น้อยลงตามวันเวลาชีวิตที่เคลื่อนไปข้างหน้า ทำไมเราสามารถหัวเราะหรือเฉย ๆ ให้กับเรื่องใหญ่ที่ทำให้เครียดเป็นอาทิตย์ ๆ ได้ในวันวาน

ผลวิจัยของโรงพยาบาลแมคลีน รัฐแมสซาชูเสตต์ ในอเมริกา ทดสอบทัศนคติการมองโลกและอารมณ์พบว่าคนที่อายุมากกว่าจะมองโลกในเชิงบวกมากขึ้นจากการทดสอบ หลังจากทำแผนที่ทดสอบความไวต่ออารมณ์แบบดิจิทัลของชายและหญิงช่วงอายุตั้งแต่ 10 – 85 ปี เกือบ 10,000 ราย โดยให้มองและเลือกว่าหน้าแบบไหนโกรธมากกว่าหรือหน้าแบบไหนสุขมากกว่า

นอกจากงานวิจัยด้านบนแล้ว งานวิจัยบางตัวที่เราคุ้นเคยอย่างการปรับพฤติกรรมด้วยการทำสิ่งซ้ำกันต่อเนื่อง 100 วันสามารถช่วยให้เราข้ามขีดจำกัดได้ หรือการทริคความรู้สึกภายในสมองให้มองโลกมุมบวกจากการบอกมันซ้ำ ๆ ว่าเราเป็นคนเก่งก็ทำให้อุปสรรคมันเล็กกว่าที่คิด มองภาพบวกมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับเวลาเหล่านี้ ทำให้เห็นว่าเวลาสัมพันธ์กับความรู้สึกและการกระทำของร่างกายที่เปลี่ยนไปได้โดยสิ้นเชิง

โตแล้วเราไม่เจ็บกับเรื่องเดิมอีกต่อไป?

“เมื่อวานมีคนถามพี่ว่าเสียใจไหมถ้าน้องเขาจะหายไป พี่บอกว่าไม่นะ…แต่พอผ่านไปแค่วันนึงจู่ ๆ ความรู้สึกนั้นก็กลับมา”

คำพูดนี้ค่อนข้างน่าสนใจมากสำหรับเรา เพราะมันแปลว่าเรื่องที่ทำให้เราเจ็บ เราเสียใจ ไม่ได้หายหรือลดดีกรีความแรงของมันลง เพียงแต่อายุที่เพิ่มขึ้นจากประสบการณ์ที่เจอกับความผิดหวังในชีวิตมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกชินชากับมันและย่อยยากขึ้น ผ่านการแสดงออกที่ไม่ตรงไปตรงมาเหมือนเดิม ค่าของประสบการณ์คือการกลืนความเจ็บปวดไว้ข้างใน ชินชากับปัญหา หาความสุขจากสิ่งง่าย ๆ ไม่ทุกข์ร้อนแล้วมองมันเป็นเรื่องตลกที่จะผ่านไปในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

มูลค่าของอารมณ์ที่กดไว้จากประสบการณ์ทำให้เราเห็นภาพกว้างขึ้นสำหรับการทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น เราเข้าใจและยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและพร้อมปรับตัวกับมัน มองเห็นภาพกว้างเพื่อรับมือกับการใช้ชีวิตและการทำงาน แต่ขณะเดียวกันในวันที่เปราะบาง สิ่งเหล่านี้จะยังทำหน้าที่ของมันเสมอและพร้อมจู่โจมเข้าใส่

ไม่ว่าผลวิจัยจะบ่งชี้ว่าเป็นอย่างไร เราก็ไม่ได้ชี้นำว่าทุกคนควรจะรู้สึกแบบไหน ควรอาบน้ำร้อนหรือไม่ แบบไหนถึงดีกว่า และไม่ได้บอกด้วยว่าต้องอายุเท่านั้นเท่านี้ถึงจะรู้สึกแบบเดียวกันเพราะมันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่พบเจอของแต่ละคน ซึ่งทั้งหมดมันเหมือนการเก็บเลเวลชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ทุกคนยังคงต้องใช้ชีวิตและเผชิญกับบททดสอบยาก ๆ ที่ดาหน้าเข้ามาอยู่ดี แต่เราหวังว่าคุณจะได้ดื่มด่ำความสุขความทุกข์ของชั่วขณะที่ยังหายใจให้ครบ อย่านอยด์กับมันมากเกินไป เนื่องจากบางความรู้สึก แม้มันจะทุกข์และเสียใจขนาดไหน ถ้ามันผ่านไปแล้วอาจจะไม่วนกลับมาอีกในชั่วชีวิตนี้ ดังนั้น หากมีสิ่งที่หลงใหลและกำลังอยากทำ ถ้าไม่เดือดร้อนใคร เราก็อยากให้คุณลองลุกออกไปเผชิญหน้ากับมันเพื่อให้รู้สึกได้อย่างเต็มที่ก่อนความอ่อนไหวและประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตจะหายไป

 

Source: 1 / 2

 

 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line