Survival

อยู่รอดปลอดภัยจากข่าวปลอม! “5 วิธีรอดจากหลุมดักควาย”เพื่อเป็นผู้ชายมีวิจารณญาณขึ้น

By: PSYCAT March 19, 2018

สิ่งที่เกลื่อนกลาดพอ ๆ กับขยะในบ้านเมืองของเราก็คงจะหนีไม่พ้นบรรดาข่าวปลอมที่ขยันสร้างออกมาเพื่อเหตุผลอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ที่ที่ข่าวปลอมแพร่กระจายได้ไวยิ่งกว่าโรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังระบาด แค่กดแชร์แบบไม่คิดเพียงคลิกเดียวจากปลายนิ้วก็สร้างแรงกระเพื่อมส่งต่อข่าวปลอมได้เป็นวงกว้างแล้ว ผู้ชายที่ภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือขนาดไหน ถ้าหน้าเฟซบุ๊กเต็มไปด้วยการแชร์ข่าวปลอมมามั่ว ๆ ความน่าเชื่อถือก็คงพังทลายลงไปในทันใด เพื่อไม่ให้สูญเสียความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมาแสนนาน UNLOCKMEN ขอเสนอเคล็ดวิธีสังเกตข่าวปลอมมาให้ จะได้ไม่ตกลงไปในหลุมดักขนาดใหญ่ที่เขาขุดไว้หลอกลวงอีก

ที่มาสำคัญที่สุด

ไม่ใช่ว่าเห็นพาดหัวโดนใจก็แชร์มาชื่นชม เห็นพาดหัวด่าคนที่เราเกลียดเหมือนกันแล้วแชร์มาด่า หรือเห็นพาดหัวเล่าเหตุการณ์สุดแปลกแล้วแชร์มาตื่นตะลึงทันที โลกนี้มันร้ายกับผู้ชายอย่างเรากว่านั้นเยอะ! ก่อนจะเชื่อให้เลื่อนสายตาดูหน่อยก็ยังดีว่าข่าวนี้มีที่มาจากเว็บไซต์อะไร? หรือเว็บไซต์อะไรที่เป็นคนเผยแพร่ข่าวที่ว่านี้ ถ้าชื่อเว็บไซต์ประเภทนัดยิ้มที่ริมดอย สาวน้อยซู่ซ้า ผู้กล้าออนไลน์ เว็บที่ชื่อก็ไม่น่าเชื่อถือแล้วหรือเด็กอนุบาลอ่านก็รู้ว่าอยากปั่นยอดไลก์หรือปั่นเพจวิว ก็อย่าไปไลก์ไปแชร์ให้เสียเวลา แถมกดรีพอร์ตสักหนึ่งทีเป็นของแถมได้เลย

ชื่อคนเขียน

ชื่อคนเขียนคอนเทนต์ก็สำคัญ ลองพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าชื่อคนเขียนคนนี้เราเคยเห็นเขาเขียนให้ที่ไหนอีกไหม หรือถ้าเป็นนามปากกาชื่อมันน่าเชื่อถือหรือเปล่า ตามดูบทความอื่น ๆ ที่เขาเขียนว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ มีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน หรือเว็บไซต์ที่คนคนนี้เขียนให้เว็บไซต์อื่น ๆ น่าไว้วางใจเพียงใด ถ้าไม่มีอะไรเลย เหมือนสร้างแอคเคาต์มาเขียนบทความนี้เพื่อปั่นกระแสอย่างเดียว ก็พอจะบอกได้เลยว่าน่ากลัวมากที่จะเป็นข่าวปลอม

เช็คแหล่งข้อมูลอ้างอิงซิ

บางทีหลาย ๆ คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ก็เป็นข่าวที่แปลมา โดยเขาจะใส่แหล่งที่มาของข่าวที่แปลเอาไว้ เราก็อย่าแค่อ่าน ไลก์ แชร์แค่เพราะโดนใจ แล้วจบ สละเวลากดเข้าไปสักนิดว่าเว็บไซต์ต่างประเทศที่แปลมาน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือก็เป็นเจ้าพ่อข่าวปลอมของต่างประเทศเช่นกัน พอ ๆ กับชื่อคนเขียนในเว็บไซต์ต่างประเทศนั้น บางคนก็เขียนข่าวปลอมเป็นหลักก็ให้ระวังไว้ให้ดี ไม่ใช่เห็นว่ามาจากเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศแล้วคิดว่าเชื่อได้หมด นั่นเป็นวิธีคิดที่ผิดมหันต์เลย

กูเกิลอิมเมจช่วยคุณได้

บ่อยครั้งที่ข่าวเขียนพาดหัวใหญ่โตรุนแรง แถมมีรูปมาประกอบด้วย เป็นใคร ใครก็อยากเชื่อ ยิ่งใจพร้อมโอนเอนจะเชื่ออยู่แล้วมือยิ่งสั่นอยากแชร์ให้เพื่อนอ่านต่อรัว ๆ เราอยากบอกว่าบางทีเขาก็ขโมยภาพมาจากข่าวอื่น แล้วแต่งนิยายใส่รัว ๆ ก็ได้ หรือบางทีรูปหลายเดือน หลายปีผ่านไปแล้ว แต่เอามาเขียนเหมือนคนในข่าวเพิ่งพูดเรื่องนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น Google Reverse Image Search จะช่วยคุณได้ เพื่อดูว่าภาพที่ใช้ในคอนเทนต์หรือข่าวนั้น ๆ ปรากฏอยู่ที่เว็บไซต์อื่น ๆ โดยมีเนื้อหาว่าอย่างไร หรือบอกวันที่ที่รูปนี้โผล่ขึ้นมาบนอินเตอร์เน็ตแรก ๆ มันคือเมื่อไหร่ ช่วยป้องกันการโดนหลอกด้วยภาพไปได้หลายระดับ

เว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเขาพูดถึงข่าวนี้ไหม?

หลายข่าวก็เป็นข่าวใหญ่สุดน่าตื่นตะลึง ข่าวใหญ่จนเราอยากเป็นคนแรก ๆ ที่แชร์ข่าวรายนี้สู่วงเพื่อนในสังคมออนไลน์ แต่คิดสิคิด ถ้าข่าวใหญ่ขนาดนี้ทำไมเว็บไซต์ข่าวหลัก ๆ เขาไม่ลง? เพราะฉะนั้นถ้ามีข่าวพีค ๆ อย่าเพิ่งรีบแชร์เพราะกลัวจะตกข่าว ให้เปิดดูเว็บไซต์ข่าวใหญ่ ๆ ที่น่าเชื่อถือดูก่อนว่าเขามีข่าวนี้ลงเหมือนกันไหม หรือเงียบกริบมีแต่เว็บไซต์ที่เราอ่านนี้ที่ปั่นกระแสอยู่เว็บไซต์เดียว ถ้าเเป็นเว็บฯ เดียวที่พูดถึงเรื่องนี้ หรือมีแต่เว็บไซต์ที่ดูไม่น่าเชื่อถือที่พูด ๆ ก็อป ๆ กันมา ก็เตรียมใจได้เลยว่า ปลอม!

ในวันที่ชีวิตเรากว่าครึ่งอยู่บนโลกออนไลน์ ข่าวสารที่เข้ามาในชีวิตจากช่องทางนี้จึงแทบเป็นข่าวส่วนใหญ่ที่เราได้รับ ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่เหนือบ่ากว่าแรงอะไรที่ตรวจดูให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะไลก์ ก่อนจะแชร์ นับเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อความน่าเชื่อถือของตัวตนในโลกออนไลน์ของเราเองอีกด้วย

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line