World

14 วินาทีชี้เป็นชี้ตายที่นาฬิกาเป็นตัวช่วยสำคัญ ในภารกิจ APOLLO 13

By: LIT April 11, 2020

ในปี 1970 วันที่ 11 เมษายน ภารกิจ Apollo 13 ถูกสั่งยกเลิก ทั้งลูกเรือบนยานหรือเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินล้วนไม่เคยประสบกับเรื่องระทึกขวัญเฉียดหายนะแบบนี้มาก่อน

นักบินอวกาศมากประสบการณ์ James Lovell พร้อมลูกเรือได้รับมอบหมายภารกิจให้เดินทางไปดวงจันทร์ ซึ่งนับเป็นภารกิจนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ครั้งที่สาม และเป็นผลงานความสำเร็จชิ้นถัดไปของโครงการอพอลโล นอกจาก Lovell ทั้ง Jack Swigert นักบินประจำยานควบคุม และ Fred Haise นักบินประจำยานสำรวจดวงจันทร์ ต่างก็สวมใส่นาฬิกาโครโนกราฟ OMEGA Speedmaster Professional – หนึ่งในอุปกรณ์อย่างเป็นทางการของ NASA สำหรับทุกภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์นับตั้งแต่ปี 1965 ด้วยเช่นกัน

 

 

เครื่องบอกเวลายังคงเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์สำหรับภารกิจอย่างไม่มีผันแปร ตามที่ James Ragan วิศวกรของ NASA ที่เป็นผู้ทดสอบและรับรองมาตรฐานของ OMEGA Speedmaster กล่าวไว้เมื่อปี 1964 ว่า

“นาฬิกาถือว่าเป็นอุปกรณ์สำรองที่มีความสำคัญยิ่งยวด หากนักบินอวกาศไม่สามารถติดต่อสถานีภาคพื้นได้ หรือเครื่องบอกเวลาดิจิตอลมีปัญหา ของชิ้นเดียวที่พวกเขาจะสามารถฝากชีวิตได้ก็คือนาฬิกาที่สวมอยู่บนข้อมือ ของที่ขาดเสียไม่ได้เมื่อมีปัญหา”

 

วิกฤตของ Apollo 13 เริ่มขึ้นในสองวันให้หลังจากการปล่อยตัว หลังถังออกซิเจนเกิดระเบิดขึ้น แรงระเบิดพังส่วนยานบริการจนสิ้นสภาพ ชีวิตของเหล่านักบินอวกาศตกอยู่ในสถานการณ์คอขาดบาดตาย ภารกิจไปดวงจันทร์ถูกยกเลิก เรื่องสำคัญที่สุดคือการพาลูกเรือกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย ทาง Houston หาวิธีประยุกต์ด้วยการย้ายนักบินอวกาศเข้าไปอยู่ยานสำรวจดวงจันทร์ อย่างไรก็ตามยานสำรวจกลับไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับลูกเรือหลายคนได้เป็นระยะเวลานาน

ดังนั้นลูกเรือจึงต้องปิดอุปกรณ์เกือบทุกระบบเพื่อประหยัดพลังงาน – หน้าจอแสดงเวลาดิจิตอลดับลง ทิ้งให้นักบินอวกาศทั้งสามลอยเคว้งอยู่ในอวกาศและอุณหภูมิที่ลดต่ำจนติดลบ ยาน Apollo 13 ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างมากอีกตลอดหลายวัน ด้าน NASA ก็ทำงานชนิดไม่มีพักเพื่อแก้อุปสรรคที่ทวีความอันตรายมากยิ่งขึ้นทุกขณะ

แต่วิกฤตนี้เองที่ทำให้เรือนเวลา OMEGA ได้ฉายบทบาทด้านความเที่ยงตรงตามที่ได้ถูกรังสรรค์มา เนื่องจากยานหลุดออกจากเส้นทางเดิมไปราว 60 ถึง 80 ไมล์ทะเล หมายความว่ายานจะไม่ได้ตรงเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกและพุ่งไปสู่ความอนันตกาลโดยไร้ทางแก้ไข ลูกเรือจึงต้องตั้งค่าด้วยสองมือตัวเอง พวกเขาต้องเปิดการทำงานเครื่องยนต์เป็นระยะเวลา 14 วินาที ไม่ขาดไม่เกิน ห้ามผิดพลาด เนื่องจากไม่มีนาฬิกาดิจิตอลให้พึ่งพา Swigert จึงใช้นาฬิกาโครโนกราฟ OMEGA Speedmaster เพื่อจับเวลาในการจุดเชื้อเพลิง ส่วนทาง Lovell ใช้เส้นขอบฟ้าเป็นเครื่องนำทาง James Lovell ผู้ควบคุมภารกิจให้การภายหลังว่า

“พวกเราใช้นาฬิกา OMEGA ที่อยู่บนข้อมือของ Jack ส่วนผมต้องคอยบังคับยาน Jack นับถอยหลังเวลาเปิดการทำงานเครื่องยนต์เพื่อปรับเส้นทางให้เรากลับบ้านได้อย่างสวัสดิภาพ”

 

 

ท้ายที่สุดการปรับวิถียานผ่านพ้นไปได้ด้วยดี  ในวันที่ 17 เมษายน รวมเวลาทั้งสิ้น 142 ชั่วโมงกับอีก 54 นาที หลังจากปล่อยตัว ยาน Apollo 13 ก็สามารถลงจอดบนมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ได้อย่างปลอดภัย นาฬิกาได้แสดงบทบาทและทำหน้าที่ตามที่ได้รับการออกแบบมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

ในวันที่ 5 ตุลาคมปี 1970 OMEGA ได้รับรางวัล “Silver Snoopy Award” ของ NASA – เพื่อแสดงความขอบคุณต่อการมีส่วนในการนำมนุษยชาติไปสำรวจพรมแดนอวกาศจนประสบผลสำเร็จ การที่ตัวละคร Snoopy ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมาสคอตอย่างไม่เป็นทางการของ NASA ก็เพราะอุปนิสัยขี้เล่นที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียดเมื่อเจอกับสถานการณ์กดดันได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสื่อถึงความสำเร็จและเป็น “วอชด็อก” ประจำภารกิจอีกด้วย

ทุกวันนี้เข็มกลัดสูทเงินสเตอร์ลิงยังคงเป็นเหมือนรางวัลชวนให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ในการสำรวจอวกาศของ OMEGA โดยเฉพาะบทบาทสำคัญในคราว “ความล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จ” ของยาน Apollo 13

 

credit
All photographs courtesy of NASA from nasaimages.org

LIT
WRITER: LIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line