Business

หนังสือไม่ใช่คัมภีร์ เราไม่ใช่สถาบันยกระดับสังคม คุยกับ “P.S. PUBLISHING” สำนักพิมพ์ยืนหนึ่งเรื่องความสัมพันธ์

By: anonymK April 10, 2019

นานพอสมควรที่เราไม่ได้คุยกับคนทำหนังสือ แต่มหกรรมหนังสือระดับชาติที่ประกาศย้ายสถานที่จากศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ไปที่เมืองทองธานีสะกิดเราให้รู้สึกว่า ถึงเวลาที่จะต้องออกไปพูดคุยกับคนทำหนังสือ ถึงเวลาไปสำรวจความจริงของตลาดหนังสือที่ใครเขาว่าซบเซากับตาแล้วว่าของจริงมันเป็นยังไงกันแน่

แล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะบรรยาศที่คึกคัก จำนวนคนที่มางานช่วงที่เราแวะไปเห็นชัดว่ามีคนสนับสนุนสิ่งพิมพ์อยู่มาก ส่วนสำนักพิมพ์ที่แวะไปคุยด้วยก็จัดจ้านทั้งเรื่องราวที่ตีพิมพ์และคำตอบทุกคำถามที่ผ่าตรงถึงใจแบบนี้

“ใครเป็นคนบอกวะ จริง ๆ เราเจอคำถามแบบนี้มาประมาณ 3 รอบได้”

“มันก็ใช่นะเวลาที่ทุกคนจะทำอะไรมันต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อสังคมอยู่ในนั้น เพื่อให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เปล่าประโยชน์เกินไป แต่เราก็มองว่า มันไม่ได้เป็นจุดประสงค์หลักขนาดนั้น เราไม่ได้เป็นโรงเรียนหรือว่าไม่ได้มีหน้าที่ทางสังคม ไม่ได้เป็นสถาบันทางสังคมที่จะทำหน้าที่ยกระดับให้สังคม”

ประโยคคำตอบกลั้วเสียงหัวเราะของ 2 สาว คุณจุ๋ม – ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล และคุณนิ่ม – สุพรรณี สงวนพงษ์ ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ P.S. Publishing ที่กระตุกให้เราตั้งคำถามกับตัวเอง เออ…จริง ใครบอกก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่รู้ตัวอีกทีมันเป็นหนึ่งในลิสต์คำถามที่เราโพล่งออกไปแล้วว่า “การเป็นสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือออกไป เรามีเป้าหมายอยากเปลี่ยนแปลงสังคมหรือเปล่า”

หนังสือที่ไม่ได้ตัดสินความเป็นมนุษย์
สำนักพิมพ์ที่ไม่ได้อยากเป็นศาลเตี้ยเสนอเรื่องราว

“P.S. ยืนหนึ่งเรื่องความสัมพันธ์” เป็น Motto ที่ค่อนข้างเรียบง่ายและอธิบายความเป็น P.S. ได้ดี แม้การพูดเรื่องความสัมพันธ์จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน แหย่ขาข้างหนึ่งเข้าไปขยี้จารีต ซ้อนประเด็นหนัก ๆ อีกชั้นแต่อ่านไปแล้วไม่รู้สึกขยาด ต่างหากที่ทำให้ตัวอักษรทุกเล่มของ P.S. มีเสน่ห์ ยั่วให้เราต้องพลิกอ่าน

ทำไม P.S. เลือกพูดเรื่องความสัมพันธ์

นิ่ม : เรามองว่าหนังสือความสัมพันธ์เป็นหนังสือที่มันเป็นสามัญสำนึกของการใช้ชีวิตอยู่แล้ว มันมีทั้งอำนาจ มีทั้งแบบเรื่องมายาคติ หรือความเชื่อบางอย่างที่แต่ละฝ่ายมีไม่เหมือนกัน เราก็อยากจะเอาเรื่องที่มันธรรมดาหยิบยกขึ้นมาพูด แล้วก็ให้เป็นที่ถกเถียงของคนอ่าน

จุ๋ม : ถ้าเล่าเรื่องอื่น ๆ โดยผ่านการใช้ความสัมพันธ์คนจะรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ง่าย จริง ๆ ความสัมพันธ์ของเรามันไม่ได้หมายถึงว่าเป็นคู่รักอย่างเดียว ในเรื่องสั้นหรือหนังสือของ P.S. มันมีทั้งความสัมพันธ์ที่เป็นคู่รัก เพื่อน ครอบครัว หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ลูกศิษย์-อาจารย์ ผู้บังคับบัญชากับคนที่ทำงาน อาจจะเป็นแบบเด็กจบใหม่ที่ไปทำงานแล้วเจอความกดดันในที่ทำงานด้วย

อ่านหนังสือเน้นเรื่องความสัมพันธ์ มองว่าคนที่สนใจเรื่องนี้จะถูกมองว่าเป็นคนน้ำเน่าไหม

จุ๋ม : เรามองว่าไม่ใช่นะ เพราะจริง ๆ ทุกวันนี้คนก็สนใจเรื่องนี้ ก็ไม่ผิดที่จะสนใจเรื่องนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้สนใจในมิติอื่น หรือไม่ได้สนใจเรื่องอื่น จริง ๆ ถ้าลองอ่านเนื้อหาดูอ่ะ เนื้อหาหลายอันมันพูดเรื่องหนักนะ มันพูดเรื่องการเมือง ประเด็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือ LGBTQ ด้วย

P.S. เน้นเล่าเรื่องหนักให้ย่อยง่าย เล่มบางไม่หนามาก ทำไมไม่ทำเล่มหนา เล่าลึกฮาร์ดคอร์ยาว ๆ ไปเลย

จุ๋ม : เรามองว่าถ้าอยากอ่านยาก ๆ ก็มีสำนักพิมพ์ทำเรื่องยาก ๆ อยู่แล้ว มันคือการแบ่งกลุ่มคนอ่าน แบ่งสัดส่วนการตลาด เรารู้สึกว่าจะมาคาดหวังให้สำนักพิมพ์นึงทำหนังสือที่มันซีเรียสหรือหนักแน่นทำไม ในเมื่อสำนักพิมพ์อื่นก็ทำไปแล้ว เรามีเพื่อนสำนักพิมพ์เยอะแยะที่ทำเรื่องนี้ อยากอ่านหนักก็ไปอ่านอันอื่น แล้วมันจะทำให้คนอ่านรู้ว่าถ้าอยากอ่านเรื่องแนวนี้ให้มา PS

หนังสือเขย่า “จารีต” ฟาด ๆ ร้าว ๆ ซับซ้อนเรื่องความสัมพันธ์

ไม่ใช่เรื่องเป้าหมายการนำเสนอที่น่าสนใจ แต่เนื้อเรื่องด้านในที่มีความเป็นมนุษย์จริง ๆ ทั้งเซ็กซ์ การคบซ้อน สารพัดแห่งความเย้ายวน เร้ากิเลส ที่ย้อนกลับไปในยุคก่อนหน้านี้หลายปีอาจจะเจอเก็บ แถมโยนข้อหาว่าเป็น “หนังสือไม่ดี” เซ็นเซอร์กันตั้งแต่ปก สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เราสนใจการเลือกต้นฉบับของพวกเธอ

จุ๋ม : เรามองว่าหนังสือไม่ใช่คัมภีร์สอนศาสนาค่ะ หนังสือคือเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้คนรับรู้ สิ่งที่คนรับรู้มันมีตั้งหลายอย่าง มีทั้งความรู้ ความรู้สึก เรื่องที่พูดได้หรือเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่การตัดสินใจ มันอยู่ที่คนอ่านมากกว่าว่าเขาเลือกมองว่าอันนี้คือดีหรือไม่ดี เราไม่ตัดสินแทนคนอ่าน แต่ให้คนอ่านตัดสินเองว่าเขาจะเลือกมุมมองไหนที่จะเอาไปใช้

นิ่ม : ไม่มีเซ็นเซอร์ เป็นแบบยังไงก็ได้ คือเรามีหมดทั้งความสัมพันธ์ที่บอกใครไม่ได้ เช่น เรื่องลับ ๆ ในที่ทำงาน หรือกับเพื่อนก็ตาม กับแฟนเพื่อนก็ตาม เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ธรรมดา เกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แค่คนไม่พูด

เราอาจจะโดนว่าว่าทำไมคุณไม่ดูแล ไม่นำเสนอสิ่งดี ๆ สู่สังคม ทำไมมีคำว่า ‘เงี่ยน’ ‘อีแรด’ ‘อีห่า’ ในหนังสือ มีคำว่า ‘เย็ด’ ด้วย ทำไมถึงมีอะไรอย่างงี้อยู่ในหนังสือ ซึ่งจริง ๆ แล้ว เราว่าตั้งแต่หลายปีมาแล้ว มันก็มีหนังสือแบบนี้ออกมาอยู่แล้ว คำถามคืออยู่ในหนังสือแล้วมันผิดอะไร เพราะหนังสือไม่ใช้คัมภีร์สอนศาสนาอย่างที่บอกไป แล้วประเด็นคือเราดูแล้วว่าบริบทที่มันอยู่มันได้ไหม ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ แล้วมาพูดว่า เฮ้ย! เย็ดกันไหม เอากันไหม โดยไม่มีที่มาที่ไป

จุ๋ม : แล้วคนไม่พูดกันหรอ คนไม่พูดคำว่าเย็ดกันหรอ คนก็พูด (หัวเราะ)

อ่านหนังสือที่มีประเด็นเผ็ดร้อนของสังคมขนาดนี้ อยากให้คนอ่านคิดต่อไหม

นิ่ม : ไม่ต้องคิดก็ได้

จุ๋ม : คืออ่านแล้วสนุกเฉย ๆ ได้อารมณ์เฉย ๆ ก็ได้ เราว่าคนอ่านแต่ละคนได้ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

ทำไมผู้ชายต้องอ่านหนังสือของ P.S. เมื่อกลิ่นเอสโตรเจนและเฟมินีนมันติดมาพร้อมน้ำหมึก ส่วนใหญ่นักเขียนผู้หญิงก็เป็นคนเขียน เราตั้งข้อสงสัยไว้ในใจถึงแม้ว่าส่วนตัวจะติดใจผลงานหลายเรื่องของสำนักพิมพ์นี้ แต่ feedback ที่กลับมาจากนักอ่านคนอื่นที่พวกเธอสะสมมาแชร์จะบอกเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นิ่ม : ช่วงแรก ๆ ที่หนังสือ Abtract bar ออก พอดีมันมีไวรัลว่า “ผมอ่านมาร์เกซครั้งแรกตอนอายุ 25” เป็นไวรัลที่ติด Hashtag กันเยอะมาก คนก็เลยเริ่มรู้จักหนังสือของสำนักพิมพ์ แล้วอยากจะทำความเข้าใจผู้หญิง เล่มนี้ทำให้เขารู้สึกว่าเขา Get feel มากขึ้นเลยว่า เฮ้ย ! ผู้หญิงมันก็คิดแบบนี้ว่ะ มันเหมือนกับว่าบนความสัมพันธ์เวลาเราคุยกัน บางทีเรามองว่าเราคุยกันตรง ๆ แต่จริง ๆ แล้วผู้หญิงคิดซ้อนไปอีกชั้นนึง

หนังสือของ P.S. หลายเล่มมากที่บอกสิ่งที่ผู้หญิงซ่อนอยู่ ถึงผู้หญิงอาจจะไม่ตั้งใจจะซ่อนนะ แต่มันเป็นธรรมดาของการคบกัน ที่มันจะมีผิว มีชั้นเชิง แต่พออ่านของ P.S. มันก็เข้าใจความรู้สึกกันมากขึ้น

สิ่งพิมพ์เอาแต่ใจ จะเป็นธุรกิจได้ไหม

แม้จะเห็นความรั้นของการนำเสนอที่อยากหยิบประเด็นที่คนไม่พูดมาเล่า ซอกหลืบความสัมพันธ์ที่มีหลายมุมมอง การวิ่งสวนกระแสโดดเข้ามาในธุรกิจที่หลายคนมองว่าหายใจรวยริน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่ามันทำให้ทั้งคู่ทำทุกอย่างได้สำเร็จคือการบาลานซ์ความคิดเรื่องธุรกิจควบคู่กับการทำงานที่รักด้วย

เราเคยพิมพ์หนังสือที่คิดว่าจะขายไม่ได้ไหม

จุ๋ม : ตอนนี้มีแล้วตอนนี้มีอยู่ 3-4 เล่มอยู่นะ มีอยู่ใน stock เต็มเลย

เรามองหนังสือเป็นสินค้าด้วยไหม หรือมองเป็นแพสชั่นอย่างเดียว

นิ่ม : เราก็ยังมองเป็นสินค้าอยู่ (หัวเราะ)

จุ๋ม : เอาจริง ๆ นะไม่ได้รู้สึกว่ามันสูงส่ง เป็นคนมีแพสชั่นมากเลย อยากให้สังคม อยากให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ได้รู้สึกขนาดนั้น เราทำเพราะว่าเราชอบที่จะทำ เพราะชอบอ่านหนังสือ เป็นงานที่ทำแล้วก็ตอบโจทย์ เป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว สิ่งที่เราพิมพ์ก็เป็นสิ่งที่เราชอบ

ทำไมหนังสือแต่ละสำนักพิมพ์ ขายถูกและแพงไม่เท่ากัน หนังสือของ P.S. ตั้งราคาจากอะไรบ้าง

นิ่ม : เราว่าส่วนหนึ่งเป็นเทคนิคทางการตลาดด้วยนะ แต่อีกส่วนเราว่ามันต้องอาศัยการทำงานมานาน ทำงานนานนี่หมายถึงว่า เราก็จะมีคอนเนคชั่นกับโรงพิมพ์นี้จนกระทั่งอาจจะได้ลด เราก็อยากให้คนอ่านเข้าใจเหมือนกันนะว่าการทำงานมันก็มีข้อผิดพลาด แล้วข้อผิดพลาดนี้เราก็เรียนรู้มันไปเรื่อยว่าครั้งต่อไปเราจะทำให้มันถูกลงได้ยังไง หรือตรงนี้มันแพงอยู่ เราจะลดต้นทุนตรงนี้ยังไง

จุ๋ม : เราก็อยากขายของถูกนะ เพราะเรารู้ว่าราคาเป็นส่วนหนึ่งที่คนจะตัดสินใจ แต่ว่าเรากดเครื่องคิดเลขแล้ว กด 3 รอบ 4 รอบแล้ว ต้นทุนทั้งหมดที่เรามี มันต้องขายราคานี้จริง ๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องเอากำไรเยอะ ๆ แต่มันเป็นราคานี้ที่สมเหตุสมผลที่คนทำงานจะได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม ที่ศิลปินที่ทำงาน แล้วที่นักเขียนที่ทำงาน 1 ปีได้หนังสือมา 1 เล่ม ควรจะได้ค่าต้นฉบับเท่านี้

งานวิจัยจากสถิติที่เราเข้าไปดูมา เป็นข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติบอกว่า คนจะสามารถใช้จ่ายเงินได้เท่าไหร่ ช่วงราคาของหนังสือ 200-500 เขาไม่ได้รู้สึกว่ามันแพง ถ้าเทียบแล้ว บัตรดูหนังก็ราคาประมาณนี้สำหรับหนังเรื่องนึง อันนี้ก็คือหนังสือเล่มนึง คุณไปกินชาบูครั้งนึงแพงกว่านี้ หรือว่าคุณไปแฮงเอาต์กับเพื่อน ถ้ามีคนบอกว่ามันแพงไปเราก็รับฟังนะ แต่ว่าเราก็ทำได้เท่านี้ ราคาได้เท่านี้จริง ๆ

คลายความสงสัยเรื่องราคาแล้ว รูปแบบการตลาดของ P.S. นับว่าแตกต่างจากแห่งอื่น ๆ เพราะเขาไม่ได้โหมออก โหมขาย โหมลดราคาในช่วงงานหนังสืออย่างเดียว เนื่องจากการวางแผนออกหนังสือเป็นรูปแบบการทยอยออกตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันการมาออกงานหนังสือพวกเธอก็ไม่ได้มองว่ามันกระทบกับโครงสร้างธุรกิจสิ่งพิมพ์ เพราะปกตินอกช่วงงานก็ลดราคาอยู่ราว 10 % เป็นปกติ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

กระนั้นก็อย่าคิดว่า งั้นไม่ไปแล้วดีกว่า เพราะในงานมันก็ยังมีความพิเศษในรูปแบบการจัดชุดแพ็คโปรโมชั่นที่จะเพิ่มส่วนลด ที่สำคัญการมาพบหน้ากันในงานแบ่งปัน feedback และพฤติกรรมการซื้อจะช่วย ปรับปรุง พัฒนาทั้งเนื้อหาและแนวทางธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย ส่วนเรื่องอาการใจหายจากการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานยืนยันมั่นเหมาะว่าไม่มีผลกระทบ แล้วเราจะได้พบเธอใหม่ที่เมืองทองธานี แนบความรู้สึกลุ้น ๆ ไปพร้อมกันกับสำนักพิมพ์ทุกเจ้าว่าการเปลี่ยนสถานที่จะมาพร้อมความสนุกและประสบการณ์ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นไหม

จุ๋ม : ทำไมต้องใจหายด้วยอ่ะ ยึดติดกับสถานที่

นิ่ม : คือมันไม่ได้ถึงขั้นใจหายขนาดนั้น แต่เราก็ยังมีความหวังนะว่างานที่จะจัดปลายปีมันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง หรืออะไรที่มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ เราไม่แน่ใจว่าตัวคณะกรรมการของสมาคมผู้จัดพิมพ์ที่เป็นผู้จัดงานเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงไหม หรือว่าเขาจะหาวิธีการเดินทางไปงานให้สะดวกมากขึ้นอะไรอย่างนี้ ถามว่าใจหายไหมมันก็คงเป็นเรื่องบรรยากาศมากกว่า บรรยากาศของการขายในสถานที่แบบนี้ มันก็แค่นั้น แต่ว่าในส่วนที่เรายังได้เจอเพื่อนสำนักพิมพ์ไหม เราก็คิดว่าเรายังได้เจออยู่เรา keep contact กันอยู่

4 เล่มนี้ผู้ชายต้องอ่าน

ขอปิดท้ายบทความด้วย 4 หนังสือแนะนำที่ผู้ชายเราควรอ่าน ไม่ต้องกังวลเรื่องราคาเพราะต่อให้จบงานหนังสือไปเราก็ได้ส่วนลด ที่สำคัญเนื้อเรื่องที่แสบสัน ลึกถึงใจเหล่านี้ยังเป็น Top of Mind ของพวกเราทีม UNLOCKMEN

KAZE โอบกอดสายลม​ พร่างพรมละอองฝน​

นักเขียน : อนุสรณ์ สนะพันธุ

เมื่อผู้ชายออกเดินทางไปดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งเอเชีย แต่ไม่ได้ไปในรูปแบบธรรมดาตามชาวบ้านชาวช่องที่มานั่งรีวิวว่าคุณต้องไปเที่ยวที่ไหน อยู่สบายยังไง เพราะเขาเคลื่อนที่ด้วยพาหนะ 2 ล้ออย่างมอเตอร์ไซค์ Backpack ไปกางเต็นท์ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยรอบทะเลสาบที่มีวิวเป็นภูเขาไฟฟูจิ สภาพอากาศที่ทรยศการพยากรณ์กับหัวใจเด็ดเดี่ยวที่ทำให้เราได้ค้นหาตัวตนระหว่างทางเล่มนี้จะปลุกไฟกับความรู้สึกโหยหาการออกเดินทางในตัวคุณ

BLACK CHERRY ความโหยหาเป็นชื่อยาเสพติด

นักเขียน : ลูกแก้ว โชติรส 

คุณรู้จักผู้หญิงที่กล้าบอกความต้องการของตัวเองไหม ผู้หญิงที่กล้าพูดเรื่องบนเตียงเต็มปากว่าต้องการหรือไม่ต้องการ เธอคือผู้หญิงที่แรด ร่าน หรือเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาหนึ่งคนที่คุณไม่รู้จะดีลกับรูปแบบความสัมพันธ์นี้อย่างไรกันแน่ เรื่องนี้อาจปลุกความรู้สึกคุณได้ถึงแก่นกาย แต่เราจะไม่ขายมากกว่านี้เพราะต้องไปอ่านเอาเอง

Summer – พายุ ฤดู ร้าย

นักเขียน : เพณิญ

เรื่องราวที่เล่าผ่านฤดูร้อนตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ความรักร้อนแรงของตัวละครต่างบุคลิก ที่ดำเนินไปโดยมีฉากหลังทางการเมืองซ่อนอยู่ เรื่องนี้บทรักว่าร้อนและสนุกแล้ว แต่ถ้าไปค้นแบ็กกราวน์ของเรื่องราวการเมืองในช่วงนั้นจะยิ่งขับเคี่ยวความเข้มข้นของเรื่องราวและความรู้สึกบนความสัมพันธ์นี้มากกว่าเดิม

Make love not War รักหรือรบรัก

นักเขียน : ปอ เปรมสำราญ 

หนังสือที่มีรูปแบบเป็นบทละคร พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นใหม่ ๆ ระหว่างผู้ชายผู้หญิงไม่ยอมคุยกัน เช่น ความรู้สึกของการมีลูกที่เป็นโซ่ทองความสัมพันธ์ อยากมีเขาไว้หรือไม่อยาก และหากไม่อยากเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร นี่เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น แต่อยากดู Main course ของจริงแนะนำให้พลิกอ่านด้านใน

สำหรับใครที่อยากค้นหาเรื่องราวความสัมพันธ์แบบอื่นที่อาจเป็นความสัมพันธ์เดียวกันกับคุณ เข้าไปติดตามต่อได้ที่ P.S. Publishing

Photographer : Warynthorn Buratachwatanasiri

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line