Life

นั่งแล้วก็อยากนั่งอีก! ทำไมคนเราถึงมักจะมีที่นั่งประจำ ที่ต้องนั่งตรงนั้นซ้ำ ๆ ไม่ยอมเปลี่ยน

By: unlockmen October 10, 2018

ตั้งแต่สมัยเรียนก็นั่งที่ประจำ ขึ้นเครื่องก็จองที่นั่งเดิม ๆ ดูหนังก็เช่นกัน หรืออะไรที่ต้องเลือกที่นั่ง เรามักจะกวาดสายตาคร่าว ๆ จนปิ๊งเข้ากับที่นั่งที่เข้าตา แล้วจองที่นั่งนี้ไว้ในใจให้เป็นที่นั่งประจำของเรา ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ เคยสงสัยบ้างมั้ยว่าทำไมไอ้ที่นั่งที่เราเคยหย่อนตูดลงไปแล้ว มันเหมือนจะส่งเสียงเรียกให้เรากลับไปนั่งมันทุกครั้งที่เดินเข้าไปในห้องนั้น เพราะพฤติกรรมของมนุษย์นั้นซับซ้อนและมีเรื่องราวอยู่เสมอ UNLOCKMEN จะพามาหาคำตอบในเรื่องนี้กัน

บางคนอาจคิดว่า เราทำไปเพราะว่าเคยชินไง เคยนั่งตรงนี้ก็แค่อยากจะนั่งอีก มันไม่เห็นจะมีอะไร แต่จริง ๆ ไอ้พฤติกรรมทำอะไรซ้ำ ๆ แบบนี้เนี่ยมันมาจากธรรมชาติของมนุษย์จริง ๆ แหละ มีคำอธิบายคร่าว ๆ โดย Robert Gifford Psychology Professor แห่ง University of Victoria ว่าเรามีพฤติกรรมแบบนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นมนุษย์ถ้ำ ไม่ได้มีวิวัฒนาการอะไรมากมายนัก ในตอนนั้นเราก็จะมีพื้นที่เป็นของตัวเองกันใช่มั้ย ประมาณว่ามี “อาณาเขต” เป็นของตัวเองนั่นแหละ ตีกรอบไว้เลยว่า นี่! ตรงนี้ของกู! หน้าที่ของเราที่ต้องรับผิดชอบต่ออาณาเขตก็คือ ป้องกันไม่ให้คนอื่นมารุกราน ไม่ให้ใครเข้ามาสุ่มสี่สุ่มหน้า หรือโดนยึดอาณาเขตไป มองในสเกลใหญ่ขึ้นก็คือ เหมือนกับที่เรามักจะรวมกลุ่มเพื่อป้องกันการล่าอาณานิคมนั่นแหละ เรารวมตัวกันสู้เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือปกป้องอาณาเขตของตัวเองเอาไว้ ไม่ให้ตกไปอยู่ในการครอบครองของคนอื่น

มันเป็นกลไกทางจิตวิทยาตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีต่อถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ไอ้การนั่งเก้าอี้นี่ก็เหมือนกัน มันทำให้เรารู้สึกเหมือนเราเป็นเจ้าของที่ตรงนั้น พอต้องทำแบบนั้นทุกวัน มันเลยเป็นการหวงถิ่นแบบที่เราไม่รู้ตัว เพราะถ้าเลือกได้เราก็คงจะนั่งที่เดิม และเซ็ง ๆ เสมอที่มีใครก็ไม่รู้มานั่งที่ของเรา แต่ด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่สั่งสอนเราถึงสิทธิ์ ใครมาก่อนก็ควรจะได้ที่นั่งไปก่อน อาจทำให้เราที่บังเอิญมาสายในวันนั้น โคตรเซ็งกับการโดนแย่งถิ่นเดิมไป แต่ก็ไม่อาจตีอกชกตัวหรือโวยวายอะไรได้ ในเมื่ออีกฝ่ายเขาสามารถนั่งในที่ของเราได้อย่างถูกต้อง

อีกเรื่องที่สังเกตได้ว่ามันเกี่ยวพันกับเรื่องการหวงอาณาเขตที่มีมาแต่ไหนแต่ไร คือการที่เรามักจะจองที่ให้เพื่อนนั่งข้าง ๆ เรา หรือหากมีเพื่อนที่พอจะคุยกันได้มาขอนั่งด้วย เราสามารถผายมือเชิญให้เขานั่งได้แบบสนิทใจ เพราะมันมีความสัมพันธ์ที่น่าไว้วางใจ หากเป็นคนที่ไม่สนิทเอาเสียเลย หรือคนที่ไม่ชอบขี้หน้า เราก็คงกระอักกระอ่วนที่จะให้เขามานั่งด้วย เพราะเหมือนเป็นการยอมให้ศัตรูหรือใครที่เราไม่ไว้ใจเข้ามาในบ้านเรานั่นเอง

เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ Marco Costa Psychologist แห่ง University of Bologna ทดลองถ่ายภาพนักเรียนในชั้นเรียนของเขา 2 ห้อง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อดูพฤติกรรมการนั่ง การจับกลุ่มของนักเรียน และพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่านี้ ในห้องเรียนแรกมีนักเรียน 47 คนและอีกห้องมี 31 คน โดยเขาเลือกห้องที่มีจำนวนที่นั่งมากกว่าจำนวนเด็กนักเรียน และพบว่านอกจากพฤติกรรมการนั่งจับกลุ่มกับเพื่อนหน้าเดิม ๆ แล้ว พวกเขายังนั่งที่เดิมไปทั้งเดือนเลยล่ะ

เวลาเราเลือกที่นั่ง เรามักจะเลือกเอาทำเลที่ดีที่สุดสำหรับเราเอง ไม่ว่าจะเป็นจุดที่หลบมุมที่สุดของคนรักความสันโดษ มุมที่มองเห็นกระดานและฟังอาจารย์ได้ชัดเจนที่สุดสำหรับเด็กเรียน มุมที่มีเก้าอี้ว่างติดกันเยอะ ๆ เพื่อที่จะได้นั่งจับกลุ่มสำหรับคนที่มีเพื่อนกลุ่มใหญ่ ทั้งหมดนี้ล้วนถูกเลือกเอาตามความพอใจ และมุมนั้นจะถูกมองว่ามันคือ “ทำเลทอง” ของคน ๆ นั้นตามพฤติกรรมของแต่ละคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะนั่งที่เดิม เพราะรู้สึกหวงแหนทำเลทองของตัวเอง

แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่คำตอบของมั่นน่าทึ่งอยู่พอสมควร เพราะพฤติกรรมของมนุษย์ที่เราอาจมองข้ามในหลาย ๆ เรื่อง มักจะมีคำตอบเจ๋ง ๆ แฝงอยู่เบื้องหลังเสมอ

SOURCE

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line