Business

ปี 2018 แล้วครับ “ยังเชื่อว่าโซเชียลมีเดียเป็นผู้ร้าย” ทำลายชีวิตการงานกันอยู่จริง ๆ หรือ?

By: PSYCAT January 3, 2018

“คนที่ชีวิตเขาสมบูรณ์แบบดีพออยู่แล้ว เขาไม่ต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดียแจตลอดเวลาหรอกว่ะ” คุณยังเป็นคนหนึ่งที่เชื่อแนวคิดทำนองนี้แบบไม่ลืมหูลืมตาอยู่หรือเปล่า? UNLOCKMEN อยากกระซิบบอกอย่างสุภาพและมีเหตุผลว่า “นี่ปี 2018 แล้วครับ” โลกกำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างเร็วไวไม่หยุดยั้ง ไม่มีความถูกต้องหนึ่งเดียวให้เราเสพอีกต่อไป และโซเชียลมีเดียก็ไม่ใช่ผู้ร้ายทำลายชีวิตอย่างที่เราเชื่อเท่านั้น

ความเชื่อที่ว่าถ้าจะให้งานรุ่ง ต้องทิ้งโซเชียลมีเดียให้ร่วงกราวลงไปเท่านั้น มันจะยังเวิร์คอยู่จริง ๆ หรือ? วันนี้ UNLOCKMEN เอาเหตุผลที่ว่าทำไมเราไม่ควรทิ้งโซเชียลมีเดียไว้ข้างหลังถ้าอยากก้าวสุดพลังเรื่องงานไปข้างหน้าได้ไกลกว่าคนอื่น

แต่ในฐานะที่ UNLOCKMEN คือเว็บไซต์ที่พาผู้ชายทุกคนก้าวเข้าสู่อณาจักรแห่งคอนเทนต์หลากหลาย ผู้ชายทุกคนคงไม่แปลกใจว่า “โธ่ ก็เป็นเว็บไซต์ที่อยู่บนโลกออนไลน์ ก็ต้องเชียร์โซเชียลมีเดียอยู่แล้วล่ะสิ” เราอยากให้วางความคิดที่เคยมีแล้วทำใจร่ม ๆ เพราะโซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นจอมวายร้ายอย่างที่เราเคยเข้าใจเสมอไป

จากการศึกษาพบว่าแค่เฉพาะโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กได้สร้างวงอุตสาหกรรมตลาดงานขนาดยักษ์ โดยมีตำแหน่งงานกว่า 4.5 ล้านตำแหน่งถือกำเนิดขึ้นภายใต้การมีอยู่ของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่นี้ แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้มาโฆษณาตลาดงานให้เฟซบุ๊กแต่อย่างใด แค่อยากบอกผู้ชายทุกคนอย่างใจ ๆ ว่า เฮ้ย โซเชียลมีเดียมันก็มีผลดี ๆ ต่อสัญชาตญานการทำงานของมนุษย์อยู่เหมือนกัน

ด้านหนึ่งถึงจะร้าย แต่ภายในคือ “ตัวตน” อีกรูปแบบ

“โห เล่นโซเชียลมีเดียขนาดนั้น ระวังเถอะเจ้านายจะมาคอยเช็ค แล้วไม่รับเข้าทำงานเอา!” เราก็ไม่อยากปฏิเสธวิธีคิดแบบนั้นเลยและอยากจะบอกด้วยซ้ำว่านั่นคือเรื่องจริง! แต่การที่มันเป็นเรื่องจริงไม่ได้แปลว่ามันมีแต่ข้อเสีย เพราะแนวคิดว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อการทำงานของเรานั้นคือแนวคิดที่โคตรจะสมเหตุสมผลและเป็นความจริงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ๆ ในแต่ละวินาทีที่โลกหมุนไป

แต่โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือที่บอสเอาไว้ตามสอดส่องพฤติกรรมที่อาจจะ (เผลอ) ทำตัวแย่ ๆ ของเราได้แค่นั้น เพราะมันอาจเป็นเครื่องมือที่เอาไว้มองภาพรวมของตัวคุณ ไว้บอกว่าคุณเป็นใคร มีตัวตนอย่างไรและจะเข้ากับองค์กรของเขาได้ดีมากแค่ไหนอีกด้วย เข้าใจง่าย ๆ ก็คือมันคือที่ที่คุณจะสร้างตัวตนและภาพลักษณ์ที่คุณอยากให้คนเห็น (ทางการงาน) ที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่ง

ดังนั้นการที่เราเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมออนไลน์ มันไม่ใช่แค่การมีโอกาสได้พบเจองานที่มากขึ้นเท่านั้น แต่มันมีความสำคัญเท่ากับประวัติย่นย่อของคุณทั้งชีวิตที่บรรจงเอามาเรียบเรียงใส่กรอบรอวันที่หัวหน้างานจะเข้ามาเห็นได้ดีทีเดียว

ถ้าให้พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช่แล้ว! ถ้าเราติดโซเชียลมีเดียมากแล้วเผลอทำอะไรไม่ดีไว้ ไม่ว่าจะบอสหรือใครก็ตามมาเจอพฤติกรรมสุดแย่ของเราได้ทั้งสิ้น แต่ทว่าในทางกลับกันนั้นโซเชียลมีเดียก็ไม่ต่างอะไรจากผืนผ้าใบขนาดใหญ่ให้เราแต่งแต้มผลงาน กรอกประวัติ ระบุตัวตน และด้านคุณภาพภายในตัวเราที่เราอยากนำเสนอให้คนอื่นเห็น ได้เข้ามาศึกษา เยี่ยมชมได้โดยง่ายเช่นกัน

ต้องไม่ลืมว่าโซเชียลมีเดียคือสื่อสังคมที่มีพลังมหาศาล แต่คุณก็สามารถควบคุมสิ่งที่คุณอยากให้คนเห็นได้เช่นกัน คุณสามารถจัดวิถีทางที่จะสร้างอัตราต่อรองระหว่างคุณกับองค์กรต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางที่คุณต้องการได้มากขึ้น สร้างความประทับใจได้มากขึ้น ขอเพียงคุณคิดอย่างรอบคอบ ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสม นำเสนอแต่สิ่งที่ไม่ทิ้งร่องรอยที่จะทำร้ายตัวเองภายหลัง ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้ชีวิตจริง ๆ แล้วอย่างนี้จะบอกว่าโซเชียลมีเดียไม่สำคัญ ทิ้งมันไว้ข้างหลังถ้าอยากงานรุ่งได้ลงอีกจริง ๆ หรือ?

มีแต่ความเห็นที่สาดไปมา แต่ก็หา “ข้อมูล” ได้แนบแน่น

“โซเชียลมีเดียมีแต่พวกมือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ สาดความเห็นใส่กันไปมา สุดท้ายก็มั่ว!” คงปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าบนโลกออนไลน์เราทุกคนล้วนเป็นนักแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะความคิดเห็นที่เราเชื่อเหลือเกินว่าถูก ว่าดี ว่าจริง! จึงไม่แปลกที่ขวบปีเก่า ๆ ก่อน ๆ เราจะรู้สึกว่า “โถ ก็แค่โซเชียลมีเดียแหละวะ พูดกันไปเรื่อยจะไปเอาอะไรกับมัน”

แต่นี่ปีใหม่ พ.ศ.ใหม่แล้ว รู้หรือไม่ว่าในสงครามความคิดถ้าเรารู้จักพาตัวเราเองออกจากอคติที่มีอยู่ในใจ ศึกษาทุกความคิดเห็นของคนรอบตัว โดยเฉพาะคนที่เราต้องร่วมงานด้วย ทั้งบอส ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ฯลฯ ไม่ว่าเขาจะคิดต่างกับเราอย่างไร หรือเรามองว่าความคิดเห็นของเขาช่างไร้สาระขนาดไหน นอกจากเราจะได้เรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ ที่อาจจะนำมาใช้ (หรือบอกตัวเองว่าจะไม่มีวันเอามาใช้) ในการทำงาน เรายังได้รู้จักตัวตนของคนคนหนึ่งที่ร่วมงานกับเราได้ลึกซึ้งกว่าที่เขาแสดงออกในที่ทำงานอีกด้วย

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามระลึกไว้เสมอว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียคือสิ่งที่ “เกิดขึ้นจริง” ไม่ว่าความเห็นนั้นจะจริงหรือจะมั่ว แต่สิ่งที่จะสอนเราคือรู้จักเสพข่าว รู้จักตัวตน พลิกมุมมองอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ไม่หลงเชื่อและมีสติ คิดดูสิ มีโซเชียลมีเดียให้ฝึกสมองขนาดนี้ อย่าเผลอตัวมองมันเป็นแค่เรื่องเล่น ๆ สิ

ปี 2018 แล้วครับ เราคงต้องยอมรับว่าเราปฏิเสธโลกออนไลน์ไปจากชีวิตของเราไม่ได้ ผู้ชายเต็มที่กับชีวิตอย่างเราคงต้องพลิกมันให้รอบแล้วหามุมที่จะพาเราพุ่งทะยานไปกับมันได้ไกลที่สุด โดยเฉพาะเรื่องงานที่เป็นแทบทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรา ถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์กับโลกออนไลน์อย่างไร ลองเริ่มต้นถกเถียงกันอย่างสุภาพและมีเหตุผลกันหน่อยดีไหมว่า “ตกลงในสายตาคุณเราสามารถใช้โซเชียลมีเดียให้งานรุ่งได้แน่ จริงหรือเปล่า?”

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line