Life

THE REAL: ‘กอล์ฟมาเยือน’ จากหนุ่มบัญชีจุฬาฯ สู่ CREATOR สายถ่ายภาพที่ใช้ความเฟลเป็นบทเรียน

By: NTman October 21, 2020

ตอนนี้นับได้ว่าเพจ ‘กอล์ฟมาเยือน’ เป็นอีกหนึ่งเพจ Influencer เรื่องกล้อง ที่คนรักการถ่ายรูปต้องเข้าไปเยือนอยู่เป็นประจำ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ กอล์ฟได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วนับไม่ถ้วน เขาใช้เวลาปั้นเพจอยู่ 2 ปี กว่าจะได้คนติดตามหลักแสน และกระโดดไปครึ่งล้านในเวลาอีก 1 ปี จนปัจจุบัน มียอด Follower ใน Facebook เป็นหลักล้านคนเข้าไปแล้ว

แน่นอนว่าสิ่งที่เรา และคนส่วนใหญ่เห็น คือตัวตน ชื่อเสียง ความสำเร็จที่ผู้ชายคนนี้มีในปัจจุบัน แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้กอล์ฟ กลายมาเป็น ‘กอล์ฟมาเยือน’ ในวันนี้? คือประเด็นสำคัญที่ทำให้เราชวน ‘กอล์ฟ-กันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล’ ชายหนุ่มวัย 28 ปี มาพูดคุยกันในคอลัมน์ The Real สัปดาห์นี้

จุดเริ่มต้นที่นำพากอล์ฟมา ‘เยือน’ วงการถ่ายรูป

กอล์ฟเล่าย้อนให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้น กับการซื้อกล้องตัวแรกในชีวิตเพื่อไปถ่ายรูปเล่นในช่วงไปเที่ยววันหยุดกับพรรคพวก ซึ่งก็ยังเป็นมือสมัครเล่นมาก ๆ ถ่ายกันขำ ๆ กับเพื่อนทั่วไปตามประสา หลังกลับมาจากทริปนั้น ก็อัปรูปลง Facebook  ปรากฏว่าคนกดไลก์เยอะ คนชอบรูปของเขา ก็เลยสร้างเพจแยกออกมาจากเฟซส่วนตัว ซึ่งสมัยนั้นคนนิยมใช้ชื่อตัวเอง ตามด้วย Photography กันเยอะ และความที่ไม่อยากซ้ำใคร เขาเลยตั้งชื่อเกรียน ๆ ว่า ‘กอล์ฟมาเยือน’ พอจะเริ่มจริงจัง อยากจะเปลี่ยนให้น่าเชื่อถือหน่อยก็ไม่ทันแล้ว เพราะตอนนั้นมีคนกดไลก์เพจ กอล์ฟมาเยือนเกิน 150 คน ทำให้เปลี่ยนชื่อไม่ได้ตามกฎของ Facebook ก็เลยต้องปล่อยเลยตามเลยจนกลายมาเป็นชื่อเพจที่ทุกคนรู้จักจนถึงตอนนี้

และถึงแม้ว่ากอล์ฟจบบัญชีจุฬาฯ มาก็จริง แต่ก่อนหน้านั้นช่วงปี 3 เขาก็อยู่วงการนี้มาตลอด โดยรับงานถ่ายรูปทุกประเภท ตั้งแต่งานรับปริญญา งานแต่ง ไปจนถึงงานอสังหาฯ ซึ่งโชคดีก็คือ เขารู้ตัวเองว่าชอบอะไรตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ทำมันได้ดีด้วย โดยอาศัยสกิลมาร์เก็ตติ้งที่ร่ำเรียนมา ผสมกับงานถ่ายภาพ เกิดเป็นการตลาดออนไลน์ที่สร้างรายได้ให้กับตัวเอง อย่างการเอารูปสวย ๆ ไปลงพันทิปแล้วใส่คำโปรยเจ๋ง ๆ เพื่อเรียกงานและโปรโมทงานของตัวเอง จนมีแบรนด์ติดต่อเข้ามา เขาก็สามารถทำคอนเทนต์ตอบโจทย์ลูกค้าได้ เพราะได้เปรียบเรื่องสกิลการตลาดอยู่แล้ว ถึงจะไม่ได้ทำเงินมากมาย แต่ก็ยึดอาชีพนี้มาเรื่อย ๆ

วิถีช่างภาพที่ไม่ค่อยราบรื่น

แม้จะยังคงปักหลักกับอาชีพช่างภาพที่เขารัก แต่ถึงอย่างนั้นกอล์ฟเองก็เกือบหลงทางไปสายอื่น เพราะในช่วงแรกด้วยความเป็นห่วงครอบครัวของกอล์ฟจึงยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับอาชีพที่ยังดูไม่ค่อยมั่นคงสักเท่าไหร่ และตัวตนของเขาในสายอาชีพนี้ก็ยังไปไม่ถึงฝั่งสักที หากหลายคนยังจำกันได้ รูปตึกมหานครในตำนานที่กอล์ฟเป็นคนลั่นชัตเตอร์ไว้ เขาภูมิใจกับรูปนั้นมาก คนในโซเชียลก็ชื่นชอบ ยอดไลก์ก็ถล่มทลาย เลยพกความมั่นใจนี้ ไปบอกคุณพ่อว่าจะยึดงานถ่ายรูปเป็นงานหลัก เพราะเริ่มเห็นแววแล้วว่ามันน่าจะเป็นเส้นทางที่ใช่

แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ ‘คนไลก์วันนี้ พรุ่งนี้เขาก็ลืมแล้วว่าใครเป็นคนถ่าย’ ซึ่งความเห็นของคุณพ่อมันคือความจริงที่ตัวกอล์ฟเองก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ถึงแม้จะได้รับฟีดแบ็กเป็นความจริงที่เจ็บปวด แต่มันไม่ได้เขาคิดล้มเลิก แต่กลับทำฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า เราต้องทำคอนเทนต์ที่มีความต่อเนื่องและทำซ้ำได้ คอนเทนต์ถึงจะไม่ตันนั่นเอง

อย่ารอโอกาส แต่จงวิ่งเข้าหามัน

จากนั้นระหว่างช่วงว่างงาน เขาก็รับงานถ่ายภาพทั่วไป พออยู่ได้ในแต่ละเดือน โดยตั้งเดดไลน์ให้ตัวเองสำหรับสายงานช่างภาพ 1 ปี ก่อนจะกลับไปทำงานประจำถ้าสายนี้มันไม่เวิร์ก เขาทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด รับงานถ่ายภาพทุกงาน ทั้งอาหาร งานแต่ง งานรับปริญญา งานเล็กงานน้อย รับหมด เพื่อเรียนรู้งานสายนี้ให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ กอล์ฟไม่เคยรอโอกาส กลับกัน เขาวิ่งเข้าหามันด้วยซ้ำ

กอล์ฟเล่าให้เราฟังถึงโมเมนต์การออกไปไล่ล่าโอกาสครั้งสำคัญในช่วงเรียนปี 4  ด้วยการโทรหาบริษัท Nikon เพื่อจะนำโทรศัพท์ที่บรรจุรูปถ่ายผลงานจำนวนหนึ่งเอาไว้ไปให้ดู

“พี่ครับ ผมอยากร่วมงานกับ Nikon ผมต้องทำยังไงบ้างครับ?”

ประโยคสั้น ๆ ที่จริงใจ และชวนงง ในยุคสมัยที่แบรนด์อาจจะยังไม่คุ้นชินกับการทำตลาดผ่าน KOL หรือ Influencer ทั้งหลาย แต่สุดท้ายทางบริษัทก็นับถือความใจถึงของเด็กคนนี้ จนภายหลัง Nikon กลายมาเป็นสปอนเซอร์ให้กับกอล์ฟมาเยือนจนได้

และนอกจากจะพาตัวเองวิ่งเข้าใส่โอกาสแล้ว กอล์ฟยังเผื่อทางเลือกไว้ให้กับโอกาสในอนาคตอีกด้วย โดยหลังเลิกเรียนที่มหา’ลัย เขามักจะไปหาดาดฟ้าตึกสูง ๆ ขึ้นไปถ่ายรูปท้องฟ้า ถ่ายงาน Landscape  เพื่อเก็บเป็นผลงานและใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งไอ้ ‘ความสม่ำเสมอ’ นี่แหละ ที่ทำให้ชีวิตของเด็กบัญชีปี 4 คนนี้ เข้าใกล้ความเป็นช่างภาพมากขึ้น ถึงจะไม่รู้ว่าอนาคตจะได้เป็น เหมือนที่อยากเป็นหรือเปล่า แต่อย่างน้อยการลั่นชัตเตอร์บันทึกความทรงจำ ก็ทำให้เขาแฮปปี้กับโมเมนต์ ณ ตรงนั้นแล้ว

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราสนุก เราแฮปปี้กับมัน ความสม่ำเสมอมันพัฒนาสกิลของเรา จนบางทีเราอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้” กอล์ฟอธิบายความรู้ของช่วงเวลานั้นด้วยแววตาที่เราเชื่อว่าเป็นแววตาเดียวกันกับเด็กหนุ่มที่กำลังสนุกกับการพัฒนาตัวเองเมื่อหลายปีก่อน

ความแตกต่างจากวันแรกของ ‘กอล์ฟมาเยือน’ กับปัจจุบัน

“ต่างกันมาก ๆ เลย” กอล์ฟตอบทันที

“ด้วยความที่เมื่อก่อนยังไม่ได้เป็น Influencer แบบเต็มตัวเหมือนตอนนี้ แนวทางการทำงานก็เลยชิลล์ ทำตามใจตัวเองส่วนเป็นใหญ่ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นเวย์ของการทำงานมากขึ้น เราต้องเข้าใจว่าเราเป็นเหมือนแพลตฟอร์มโฆษณาตัวหนึ่ง เราต้องเข้าใจ Audience ของเรา ก็เลยจงใจทำให้มันแมสขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่รูปสวย ๆ เหมือนเมื่อก่อน ที่จะเน้นลงแกลเลอรีเป็นหลักอีกต่อไปแล้ว

จากที่เคยสื่อสารกับคนในแวดวงถ่ายรูปอย่างเดียว ก็ต้องเปลี่ยนมาสื่อสารกับคนดูทั่วไปที่อาจไม่ได้เล่นกล้องจ๋า ๆ แนวทางการทำคอนเทนต์ก็เลยต้องเปลี่ยนไปด้วย”

การไป ‘เยือน’ สุดประทับใจ

“จริง ๆ มีหลายครั้งมากเลยอะ ขอนึก ๆ ก่อนนะ” (ยิ้ม)

หลังจากกอล์ฟนึกออก เหตุการณ์ในอดีตก็พรั่งพรูออกมาอย่างลื่นไหล โดยเป็นเหตุการณ์ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเรียน ตอนนั้นกอล์ฟมีโอกาสได้ไปเที่ยวภูเก็ตกับเพื่อน นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้ถ่ายรูปแบบ Landscape และก็ได้เจอกับเพื่อนคนหนึ่ง ที่มีความรู้เรื่องกล้องแน่นมากและเก่งมาก เขาเรียนรู้จากเพื่อนคนนั้น จนได้สกิลต่าง ๆ ติดตัวมามากมายหลังกลับมาจากทริปนั้น

‘เรารู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ดีนะ และมันเปลี่ยนชีวิตเราได้เลย การออกไปเจอผู้คนมันเป็นสิ่งสำคัญมากในการพัฒนา ไม่งั้นเราก็จะอยู่กับตัวเองต่อไป’

หรือจะเป็นทริปไอร์แลนด์ ที่นอกจากความงามของหนึ่งในแหล่งธรรมชาติที่ดีที่สุดในโลกแล้ว การไปกับ ‘พี่เอ๋ นิ้วกลม’ ก็เป็นอีกสิ่งที่น่าประทับใจไม่แพ้ไอร์แลนด์เลย เขาได้เรียนรู้มุมมองในการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากนักเขียนคนนี้ ทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น หลังกลับมาจากทริปนั้น ชีวิตก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเยอะ

“กับพี่จอร์จ ธาดาก็เหมือนกัน ตอนนั้นเป็นทริปออสเตรีย ก่อนออกเดินทางคือ เกร็งมาก ๆ นั่นมันพี่จอร์จเลยนะ แต่พอเจอตัวจริงคือ เขาน่ารักมาก พี่จอร์จนี่ถือว่าเป็นระดับเทพไปแล้ว แต่เขาก็ยังมีความถ่อมตัว ความเข้าใจคนอื่น ผมสามารถมองผู้ชายคนนี้เป็นไอดอลได้เลย ถ้าโตมา เราอยากเป็นคนแบบเขาอะ”

เรียกว่าการไป ‘เยือน’ แต่ละครั้งของกอล์ฟ มักจะได้อะไรติดตัวกลับมาเสมอ การได้เจอผู้คน ทำให้เขาได้รับสกิลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ มุมมองการใช้ชีวิตและแน่นอน ‘สกิลการถ่ายรูป’ ที่ไม่อาจจะหาได้เลย หากไม่ออกมาจากเซฟโซน ซึ่งผิดกับเมื่อก่อน ที่เป็นคนชอบอยู่กับตัวเอง ถ่ายรูปคนเดียวไปเรื่อย ๆ ความพัฒนามันก็ไม่เกิด อย่างมากก็แค่ Search ตามอินเทอร์เน็ต ที่ช่วยได้บ้างไม่ได้บ้าง เราเลยได้เรียนรู้ว่า การอยู่กับตัวเองมากไปก็ไม่ใช่เรื่องดี ออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่กับคนใหม่ ๆ บ้าง บางทีมุมมองของพวกเขา อาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้ชีวิตเราเดินไปในทางที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนก็ได้

 

อะไรที่ไม่ใช่อย่าฝืน

จากเด็กหนุ่มที่วิ่งหาโอกาส จนมีโอกาสได้ทำงาน ได้พบเจอผู้คนมากมาย ที่มอบประสบการณ์ในการขัดเกลาฝีมือรวมถึงวิธีคิดของเขาอยู่เสมอ เราจึงอยากให้กอล์ฟนำประสบการณ์ที่เคยผิดพลาดของเขาส่งต่อให้คนอ่านได้นำไปปรับใช้กันดู

“อย่าพยายามทำในสิ่งที่ไม่เป็นตัวเอง” กอล์ฟเริ่มต้นถ่ายทอดด้วยคำพูดสามัญประจำตัวเหล่า Creator ทุกท่าน ที่ยังคงใช้การได้อยู่เสมอ นอกจากกอล์ฟจะเคยทำกระทู้พันทิปมาแล้ว ลองโพสต์คำคมก็แล้ว หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ากอล์ฟมาเยือน เคยรีวิวท่องเที่ยวมาก่อนด้วย โดยกอล์ฟบอกว่า เคยทำกระทู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ด้วยการใส่รายละเอียดลงไปแบบแน่นมาก ๆ เช่น การขึ้นรถเมล์ เตรียมงบไปเท่านั้นเท่านี้ ร้านไหนดี ที่ไหนน่าไป เพราะหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้คน จนเกิดการแชร์ต่อ ซึ่งมันก็เวิร์คในระดับหนึ่ง แต่ในแง่ของตัวเขาเอง สิ่งที่เขาฝืนทำอยู่เพื่อหวังยอด Engagement ให้กับเพจมันกลับดูดพลังงานไปอย่างมหาศาล เพราะกอล์ฟยอมรับแต่โดยดีว่าเขาไม่ใช่คนละเอียดในการเก็บดีเทลทุกสิ่งอย่างขนาดนั้น ฝืนทำอยู่หลายเดือนก็ต้องหยุดไป แล้วถอยกลับมาตั้งหลักหาสมดุลคอนเทนต์ที่มันเวิร์คกับคนดูและเวิร์คกับตัวเองให้ได้ ซึ่งระหว่างตั้งหลักตอนนั้นเพจเริ่มคนติดตามหลักแสนแล้ว แต่รายได้บางเดือนกลับมีแค่หลักพัน งานประจำก็ไม่มี

“ยอมรับว่ามีช่วงนึงที่ท้อมาก เคยนั่งอยู่ในห้องทั้งวัน นั่งเปื่อย ๆ แล้วรู้สึกว่าอนาคตยังไม่รู้จะทำอะไรเลย นั่งแช่อยู่อย่างนั้นเป็นเดือน ๆ พยายามบีบตัวเองตลอด ต้องทำให้มันสำเร็จดิวะ”

แต่ก่อนกอล์ฟมีความเชื่อว่า ถ้าทำเรื่องกล้อง สปอนเซอร์ที่เข้ามาก็จะเป็นบริษัทกล้อง ซึ่งงบมันก็มีแค่จำกัด บริษัทเหล่านั้นไม่สามารถ Support คน ๆ หนึ่งไปตลอดได้ขนาดนั้น ก็เลยไม่อยากทำเรื่องกล้อง เพราะคิดว่าอยู่ไม่ได้แน่ ๆ แต่ด้วยความที่มันเป็นสิ่งที่ชอบจริง ๆ ก็เลยตัดสินใจไม่สนความคิดพวกนั้น อยู่ไม่ได้ก็ช่างมัน ขอแค่ได้ทำอีกสักยกก็พอ และเมื่อได้ลงมือทำแบบจริงจังต่อไปอีกระยะหนึ่ง ผลลัพธ์ก็ค่อย ๆ ผลิบาน ทุกวันนี้ก็เลยได้เดินสายถ่ายรูปต่อไป ทั้งที่เมื่อก่อนก็ไม่เคยคิดว่าจะได้มาเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะศรัทธา ในความเป็นตัวเองล้วน ๆ

“บางทีเราไม่เห็นภาพด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันจะพาเราไปตรงไหน แต่ว่าระหว่างทางเราจะค่อย ๆ เจอ มันจะไม่ใช่เส้นตรงที่ตรงไปถึงเส้นชัยเลย มันจะเหมือนทาร์ซานโหนเถาวัลย์อะ ไปซ้ายบ้าง ขวาบ้าง แต่มันก็ไปข้างหน้า แค่อาจจะช้าหน่อย”

เส้นแบ่งระหว่างความฝัน และ ความจริง คือการเริ่มลงมือทำ

และก่อนที่จะจากกันในฐานะรุ่นพี่ที่เคยเดินตามความฝันของตัวเองมาก่อน กอล์ฟจึงมีเรื่องราวที่อยากจะฝากถึงคนมีฝันแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นมันยังไงดี

“ส่วนใหญ่คนจะกลัวตอนเริ่มที่สุดแล้ว ผมก็เหมือนกันนะ แต่ถ้าเรายังไม่เริ่มทำวันนี้ มันก็ไม่ได้ทำสักที เราก็เลยฝืนเริ่มทั้งที่ยังไม่พร้อมนั่นแหละ ระหว่างทางเราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะพาเราไปตรงไหน จะเจอกับอะไร แล้วทำให้เราไปต่อยังไงได้บ้าง เพราะฉะนั้น เริ่มเลยครับ เริ่มก่อนแล้วจะเจอทางเอง”

สิ่งที่ได้จากการนั่งสนทนากับกอล์ฟในวันนี้ ชวนให้เรานึกถึงคนส่วนใหญ่อีกหลายคน ที่มักจะมองหาแต่สิ่งที่ถูกต้อง ใครทำไว้ดี ก็จะทำตาม ซึ่งแม้ว่าเป็นทางลัดไปสู่การประสบความสำเร็จก็จริง แต่น้อยคนที่จะไปถึงตรงนั้นโดยไม่ล้มลงเลย เผลอ ๆ อาจเดินทางผิดเส้นตั้งแต่ต้นก็ได้ และกอล์ฟคือหนึ่งในผู้ที่ผ่านประสบการณ์นั้นมาอย่างโชกโชน จนทีสามารถยืนยันได้ว่า หากเรากล้าที่ลองเริ่มต้นโดยไม่กลัวความผิดพลาด และใช้ความผิดพลาดทั้งหลายที่เริ่มต้นมาจากตัวเรา หยิบยกเอามาเรียนรู้จากมันให้มากที่สุด เชื่อเถอะว่า ยิ่งล้มเหลว ยิ่งเฟล มากเท่าไร จะทำให้เราพบกับทางที่ใช่ได้เร็วขึ้นและยั่งยืนมากเท่านั้น

“ผมว่าความล้มเหลวมันสำคัญมากนะ เพราะมันทำให้เรารู้ว่า ครั้งหน้าเราจะทำอะไร ไม่ทำอะไร การเฟลทุกครั้ง มันไม่ได้เฟลจริง ๆ อะ มันคือ การเฟลเพื่อเรียนรู้ที่จะทำให้ครั้งหน้ามันไม่เฟล” นี่คือบทสนทนาท้าย ๆ ก่อนจะแยกย้ายจากกัน ที่ทำให้เรารู้สึกว่าการได้เป็นฝ่ายมา ‘เยือน’ กอล์ฟ ในครั้งนี้ มันได้พลังงาน และแง่คิดดี ๆ กลับไปมากมายจริง ๆ


Photographer: Krittapas Suttikittibut

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: Sorrapat Prasutjaritwong (สรภัศ พระสุจริตวงศ์)

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line