Life

‘ดื่มไวน์กระตุ้นสมองได้’ มิติใหม่แห่งการดื่มไวน์ที่นักประสาทวิทยาแนะนำ

By: PSYCAT April 11, 2017

เมื่อนึกถึงกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง เราก็มักนึกออกแต่กิจกรรมที่ฝึกการคิด การเขียน หรือการแก้ปัญหา อาจจะเป็นการอ่านหนังสือสักเล่ม เล่มซูโดกุสักเกม หรือหาโจทย์คณิตศาสตร์มานั่งแก้สักหน่อย แต่ใครจะไปรู้ว่าอยากท้าทายสมอง กระตุ้นการทำงานของสมองครั้งหน้าลองหาไวน์มาดื่มสักแก้วก็อาจจะช่วยกระตุ้นสมองได้อีกทางหนึ่งเหมือนกัน

17-04-10-vacation-002

นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่เราคิดกันขึ้นมาเอง แต่ Gordon Shepherd นักประสาทวิทยาจาก Yale School of Medicine เพิ่งเขียนหนังสือเล่มใหม่เอี่ยมซึ่งออกเมื่อปลายปีที่แล้วซึ่งมีชื่อว่า  Neuroenology: How the Brain Creates the Taste of Wine ภายในหนังสือก็ว่าด้วยเรื่องของประสาทวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มไวน์ล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่คนแต่ละคนรับรู้รสชาติของไวน์ ปฏิกิริยาทางประสาทวิทยาที่ไวน์ทำกับสมอง

ภายในหนังสือเล่มนี้ Gordon Shepherd ก็เปิดเผยไว้ว่าไวน์หนึ่งแก้วสามารถช่วยกระตุ้นให้สมองส่วนที่ไม่ค่อยถูกใช้งานให้ทำงานขึ้นมาได้มากกว่ากิจกรรมใด ๆ ที่มนุษย์หนึ่งคนจะพึงกระทำได้! เนื่องจากการดื่มเพื่อลิ้มรสชาติและการสูดดมกลิ่นของไวน์มีส่วนเชื่อมโยงกับการควบคุมกล้ามเนื้อส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งภายในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม Gordon Shepherd อธิบายว่าในโมเลกุลของไวน์ไม่ได้มีรสชาติที่จะไปกระตุ้นสมองได้โดยตรงหรอก แต่เป็นสมองของเรานี่เองที่เมื่อดื่มไวน์เข้าไปแล้วทำหน้าที่สรรค์สร้างรสชาติขึ้นมาจากประสาทสัมผัส

restaurant-alcohol-bar-drinks

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากที่ในหนึ่งโมเลกุลของไวน์นั้นสามารถเข้าไปกระตุ้นต่อมรับรสและรับรู้กลิ่นในร่างกายเราได้ ไม่ใช่แค่หนึ่งรสชาติแต่อาจทำให้รับรู้เป็นพัน ๆ รส พัน ๆ กลิ่น ซึ่งการกระตุ้นการรับรู้รสและกลิ่นนี่เองที่จะไปทำปฏิกิริยาทางด้านการสัมผัสและอารมณ์ภายในสมองของเรา (เห็นไหมว่าช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้อย่างไม่น่าเชื่อจริง ๆ )

เมื่อไวน์กระตุ้นประสาทสัมผัสและอารมณ์แล้ว ไวน์ยังเชื่อมโยงกับการกระตุ้นสมองส่วนที่ดูแลเรื่องความรู้ความเข้าใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจำ การจดจำรูปแบบหรือโครงสร้างต่าง ๆ รวมถึงด้านความพึงพอใจ

ดังนั้นรสชาติของไวน์ไม่ได้อยู่ที่ไวน์แก้วนั้นเสียทีเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับสมองของแต่ละคนที่จะรับรู้รสชาติของไวน์ตัวนั้น ๆ ด้วย (เจ๋งใช่ไหมล่ะ) โดยเฉพาะปัจจัยที่แตกต่างกันอย่างเพศ อายุ รวมถึงลักษณะทางพันธุกรรมในน้ำลายของแต่ละคน

17-04-11-wine-002

อย่างไรก็ตามการกระตุ้นสมองในลักษณะนี้ไม่ได้แปลว่าเราจะดื่มไวน์เท่าไหร่ก็ได้ แล้วทุกครั้งที่ดื่มก็จะยิ่งไปกระตุ้นการรับรู้รสชาติและส่วนต่าง ๆ ของสมอง ผิดถนัด! เพราะทางที่ดีที่สุดคือการดื่มแบบจิบ ๆ เพราะถ้าหากดื่มมากไปสมองเราก็จะคุ้นเคยกับสิ่งที่ไวน์เข้าไปกระตุ้นให้เกิดกระบวนการ จนอาจไม่เกิดกระบวนการใด ๆ ในที่สุด ดังนั้นวิธีที่ดีต่อจิตใจคนดื่มและต่อสมองคนดื่ม ก็คือการดื่มแบบจิบ ๆ ทีละน้อย ๆ แต่จิบบ่อย ๆ นั่นเอง

งานวิจัยลักษณะนี้ก็มีมาให้เห็นอยู่เป็นประจำว่าบรรดาเครื่องดื่มมึนเมานั้นไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว เครื่องดื่มแต่ละชนิด แต่ละอย่างมีประโยชน์ในตัวเองด้วยเงื่อนไขที่ว่าการดื่มต้องเป็นไปในปริมาณที่พอดี ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นผู้ชายสไตล์ UNLOCKMEN ที่กิน ดื่ม เที่ยวกันให้สุดเหวี่ยงได้ แต่การงานไม่เสีย สุขภาพไม่เสีย ถ้าเรารู้จักความพอดี

SOURCE1SOURCE2SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line