Business

ด้านมืดของการเป็นเจ้าของธุรกิจ อีกมุมปวดหัวใหญ่ ๆ ที่หลายคนมองข้าม

By: Chaipohn November 29, 2016

ระยะหลังมานี้ เราได้เห็นเทรนด์ที่สวนทางกันอย่างแรง แต่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ เทรนด์แรกที่เห็นได้ชัดคือคนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ เป็น Freelance หรือเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องใช้คำสรรพนามว่า พนักงานบริษัท ด้วยกระแสที่ถูกปลูกฝังผ่านสื่อปลุกใจลอยลม หรือหนังสือชวนฝันที่คอยยุให้คนลาออกแล้วจะประสบความสำเร็จ หลายครั้งเราก็อยากถามตัวคนเขียนว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง มีเงินในบัญชีเป็นสิบล้านจริงหรือเปล่า ถึงได้มาเชียร์ให้คนคิดตามขนาดนั้น

อีกเทรนด์ที่ปรากฏบนหน้าข่าวอยู่เกือบทุกวัน กลับเป็นข่าวบริษัทขนาดใหญ่ยักษ์มากมาย ที่มีประวัติทำธุรกิจมายาวนานหลายสิบปี กลับต้องปิดตัวลง หรือขายหุ้นส่วนใหญ่จนชื่อตระกูลผู้ก่อตั้งต้องถูกลบออกไปอย่างน่าตกใจ แน่นอนว่าเศรษฐกิจช่วงปีนี้และปีต่อ ๆ ไปของประเทศไทยนั้น อยู่บนความน่าใจหายที่มองไปทางไหนก็เงียบเหงา ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บนท้องถนนที่เคยต่อคิวแย่งกันขึ้น กลับโชว์ข้อความว่างเปล่าหลายต้นเรียงต่อกันราวกับภาพเมืองร้างที่เห็นในหนังซอมบี้

161129-ownbusiness-1

บริษัทหลายแห่งมีการไล่พนักงานออกอย่างต่อเนื่อง ตัดเงินผลประโยชน์ที่เคยได้ให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน หวังประคองตัวให้ผ่านช่วงเลวร้ายไปให้ได้ ส่วนคนรุ่นใหม่กลับไม่ง้อบริษัทใด ๆ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เมื่อเทรนด์ที่สวนทางกัน 2 เทรนด์นี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำให้เราเกิดความสงสัย ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงได้มีความใจกล้าอย่างที่คนรุ่นเก่าอย่างพวกเราไม่มี อาจจะเป็นเพราะการถูกเลี้ยงดูอย่างห่อหุ้ม มีคนคอยดูแลตลอดเวลา ไม่เคยได้สัมผัสปัญหาด้วยตัวเองมาก่อน บวกกับภาพการใช้ชีวิตเลิศหรูสวยงามบน Social network ที่หลายคนอยากจะมีประสบการณ์หรูหราเหล่านั้นไว้อวดคนอื่นบ้าง เมื่อความอยากได้มีมากเกินกว่าที่ฟันเฟืองในการทำงานจะมอบให้ได้ กลายเป็นว่าบริษัทเหล่านั้นมันช่างไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่เอาเสียเลย อยู่แล้วมันอึดอัด มันไม่ใช่

เป้าหมายในการทำงานก็ต่างกัน คนที่มีตำแหน่งสูง ๆ ในบริษัทใหญ่ ๆ ตอนนี้ มักจะมีจุดเริ่มต้นจากการเข้าไปทำงานในบริษัทโดยเน้นว่าต้องมีพื้นที่ให้ได้แสดงฝืมือ ให้ได้เรียนรู้ ให้ได้ลองผิดลองถูก งานหนักไม่ใช่ปัญหา ทำจนมั่นใจว่าเก่งจริง รู้จริง มากกว่าจะเป็นการนั่งแช่รอเงินดือนไปเรื่อย ๆ หรือเน้นกระโดดเปลี่ยนงานเพื่อเพิ่มเงินเดือนให้ตัวเอง โดยหลายคนที่ทำแบบนี้มักจะลืมเพิ่มความสามารถติดตัวเข้าไปด้วย ทำให้เกิดการตัน เอาตัวไม่รอดในบริษัทแห่งใหม่ ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่มากมายนับไม่ถ้วน

161129-ownbusiness-6

จากการที่ได้พูดคุยกับอาจารย์หลายท่าน เจ้าของบริษัทหลายคน รวมถึงคนรุ่นใหม่อีกหลายชีวิต ทำให้เราได้ไอเดียที่ค่อนข้างชัดเจนว่า คนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี มั่นใจในตัวเองสูง และคิดอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะคิดว่ามันคือเป้าหมายเดียวที่จะบอกว่า ตัวเรานั้นได้เป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน เป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน และเป็นการหาอิสระภาพให้กับชีวิต มีเวลาทำในสิ่งที่อยากทำ ซึ่งเหมือนคนสองคนที่กำลังมองกันคนละมุม คนนึงเลือกมองแต่ภาพสวยงามของชีวิตคนประสบความสำเร็จแสนสบาย อีกคนที่โตกว่ามักจะมองว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องใช้แรง พลัง ร่างกาย เวลา และทุนทรัพย์มากมายนับไม่ถ้วน และนี่คือตัวอย่างบางส่วนของความน่าปวดหัวในการทำธุรกิจส่วนตัว ลองถามใครดูก็ได้ แล้วจะรู้ว่ามันจริงสุด ๆ

161129-ownbusiness-7

ขึ้นขี่หลังเสือแล้วยากจะลง อยากจะหยุดพักแค่ไหนก็ต้องทนกัดฟัน

อย่าคิดว่าอยากทำก็เปิด ไม่อยากทำก็ปิด อยากเข้าออฟฟิศเมื่อไหร่ก็เข้า การทำธุรกิจนั้นไม่มีเวลาเริ่มงานหรือหยุดงาน ทุกนาทีคือการทำงานตลอดเวลา ภาพท่านประธานออกไปตีกอลฟ์นั้นจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จไปไกลแล้ว คุณมีเงินหมุนมากพอที่จะจ้างคนเก่ง ๆ เงินเดือนสูง ๆ มารับผิดชอบแทนได้แล้ว แต่ก่อนหน้านั้น แม้ว่าคุณจะรู้สึกเหนื่อยเหมือนจะขาดใจ  ท้อแท้จนไม่อยากจะลุกขึ้นยืน คุณก็ต้องกัดฟันทำมันให้ได้ ไม่มีการลาหยุด ลาป่วย หรือถ้าทำไปแล้วเบื่อจนอยากปิดบริษัท ก็ใช่ว่าจะเลิกทำแล้วเดินออกมาอย่างสบายตัวได้ เพราะมันจะมีข้อกฏหมาย และเงินที่ต้องจ่ายชดเชยจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นบอกลาวันว่าง วันสบายที่เคยมีไปได้เลย

เทียบกับการทำงานในบริษัท เบื่อหน่อยก็แค่ลา ปิดฝา Laptop คือเลิกงาน วันลาพักร้อนคือไม่ต้องตอบเมล์อะไร เพราะมีคนในทีมช่วยดูแล นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่อดีตเจ้าของบริษัทหลายคนต่างเฮกันกลับไปทำงานประจำ

161129-ownbusiness-8

ความเสี่ยงสูงถึงขั้นทำให้หมดตัวได้ง่าย ๆ

คำว่าธุรกิจของตัวเอง หมายถึงการควักเงินของตัวเองทำให้ธุรกิจเคลื่อนไหวได้ เงินหมดเมื่อไหร่มันก็หยุดเมื่อนั้น ถ้าให้ไล่ค่าใช้จ่ายในการตั้งบริษัทว่ามีอะไรบ้าง แต่ละเดือนต้องจ่ายอะไรบ้าง ให้พูดทั้งวันก็อาจจะไม่หมด โดยเฉพาะบรรดา Fixed Cost ที่คำศัพท์บอกความหมายในตัวเองดีอยู่แล้ว มันคือต้นทุนที่ต้องจ่ายออกตลอดไป ไม่มีใครสนใจว่าคุณจะเดือดร้อนอยู่หรือไม่ จะติดไว้ก่อนเหมือนยืมเงินเพื่อนก็ไม่ได้ ไม่มีคือไม่มี ไม่มีคือจบกัน ทุกอย่างพังทันที หุ้นส่วน นายทุน ก็พร้อมจะทิ้งคุณได้ตลอดเวลา ถ้าคุณหอบเอาตัวเลขแดงเถือก ไร้ซึ่งแผนการที่ชัดเจนในอนาคต

ถ้าคุณมี Fixed Cost เป็นเงินเดือนอยู่ที่ห้าแสนบาท สองเดือนหนึ่งล้านบาท สามเดือนเท่ากับ 1.5 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่า Benefits ต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายให้พนักงานในบริษัท ค่าประกันสุขภาพ  ซึ่งนี่คือตัวเลขระยะเวลาที่บริษัทส่วนใหญ่มักจะมี Credit Term อยู่ที่อย่างน้อย 90 วัน วาง Invoice ช้าไปวันเดียว ต้องรอขึ้นเดือนใหม่ แล้วระหว่างนั้นจะแก้ปัญหายังไง ถ้าตอบคำถามนี้ได้ก็โอเค

161129-ownbusiness-9

รายได้ดูเหมือนมาก แต่หักค่าใช้จ่ายแล้วกลายเป็นขาดทุน

เดือนนี้บริษัททำรายได้หนึ่งล้านบาท แต่หัก Production cost ต่าง ๆ แล้วเหลือ margin 20% คือ 200,000 บาท ตัวเลขนี้ยังต้องผ่านการหัก Cost ต่าง ๆ อีก เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าออฟฟิศ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่า Adobe account ค่า Shutter Stock สารพัดค่าใช้จ่าย บางทีอาจจะไม่เหลือกำไรเลยสักแดงก็เป็นได้ ซึ่งตัวเลขทั้งหลายเป็นสิ่งนอกเหนือที่จะควบคุมคนเดียวได้

ในขณะที่การเป็นพนักงานออฟฟิศ คุณไม่มีต้นทุนอะไรต้องหัก เงินเดือนทั้งหมดคือตัวเลขบวกสีเขียวที่การันตีว่าได้ทุกเดือนแน่นอน ขอแค่บริหารการเงิน ค่าใช้จ่ายของตัวเองให้ดี

161129-ownbusiness-10

ทีมงานคู่ใจ หายาก แต่ไปง่าย (มาก)

ในเมื่อคุณคิดว่าต้องทำธุรกิจถึงจะรวย การเป็นพนักงานบริษัทมันห่วยแตกเหลือเกิน แน่นอนว่าคนอื่นก็ต้องมีความคิดแบบเดียวกับคุณ คุณจะต้องเจอกับพนักงานที่มานั่งเล่น Facebook ตลอดเวลา, พนักงานที่มาเกือบบ่าย แต่กลับเวลาปกติทุกวัน, พนักงานที่พร้อมจะโกงบริษัท พนักงานที่ทำงานห่วยแตก แต่ไม่เคยปรับปรุงผลงาน และพร้อมจะลาออกใส่หน้าคุณทันทีถ้าเกิดความไม่พอใจ ทำงานน้อยแต่อยากได้เงินเยอะ ลงแรงน้อยแต่อยากได้ผลตอบแทนเยอะ

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สมัยนี้ที่ดูจะ sensitive มากเป็นพิเศษ ความไม่พอใจ ความเบื่อหน่าย ความเกลียดชังถูกส่งต่อถึงกันได้อย่างง่ายดาย มาพร้อมความมั่นใจว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นของกล้วย ๆ พร้อมจะลุกจากคุณไป พร้อมกับเอาเพื่อนร่วมงาน ไอเดีย ลูกค้า ความลับบริษัทไปทำธุรกิจแข่งกับคุณโดยไม่เกรงใจอะไรทั้งสิ้น แน่นอนว่าไม่ใช่จะเป็นกันทุกคน แต่เชื่อเถอะว่าหันไปที่ไหน ก็ต้องมีคนแบบนี้ปนแฝงอยู่ในทุกบริษัทแน่นอน

161129-ownbusiness-11

คำว่า คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า นอกจากจะบรรยายชีวิตแต่งงานได้เห็นภาพแล้ว ยังสามารถบรรยายชีวิตเจ้าของบริษัท vs พนักงานบริษัทได้เห็นภาพดีไม่แพ้กัน สุดท้ายจงจำเอาไว้ว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ ถ้าคุณมีทีมงานที่ดี บรรยากาศการทำงานที่สนุก บริษัทจะกลายเป็นเหมือนสวรรค์สำหรับทุกคน แต่ถ้าวันใดที่ทีมงานห่วย บรรยากาศแย่ แล้วล่ะก็ การเป็นพนักงานประจำ แค่ลาออกเปลี่ยนที่ก็จบปัญหา แต่ตัวคุณต้องอยู่กับป้ายบริษัทไปตลอด

และอย่าคิดว่าต้องเป็นเจ้าของธุรกิจเท่านั้นถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ ที่จริงแล้วการได้ตำแหน่งใหญ่ อยู่ในบริษัทชั้นนำนั้น ก็มีทั้งรายได้มหาศาลที่ไม่ต้องหักค่าใช้จ่าย แถมยัง manage เวลาของตัวเองไปทำสิ่งที่ชอบได้ดีกว่าซะอีก นอกจากนี้ยังอาจจะได้รับเชิญไปเป็น Consultant ที่ปรึกษาจากบริษัทอื่น ๆ สวัสดิการมากมายตามตำแหน่ง รถยนต์บริษัทพร้อมคนขับรถ ค่าใช้จ่ายที่เบิกได้ ทริปท่องเที่ยว Outing ประจำปี แม้การจะไปถึงในตำแหน่งนั้นจะไม่ง่าย แต่ในเมื่อเทรนด์คนส่วนใหญ่ดูจะไม่แข่งขันด้วย มันน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะควรจะคิดสวนกระแสดูบ้าง ว่าไหมครับ?

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line