Entertainment

“5 หนังสือ DYSTOPIA ว่าด้วยโลกล่มสลาย” ที่ผู้ชายต้องอ่านเพื่อกระตุ้นความตื่นเต้นถึงแก่น

By: PSYCAT May 8, 2018

ผู้ชายหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นกับคำว่า Dystopia สักเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดถึงหนังสุดมันส์อย่าง The Hunger Games, The Maze Runner หรือแบบคลาสสิค ๆ ระดับพระกาฬอย่าง Blade Runner, Children of Men หรือที่พอจะเห็นภาพแบบง่ายโคตร ๆ ก็ต้องเป็น The Matrix หนังที่ผู้ชายอย่างเราคุ้นตาดีพวกนี้แหละคือหนังที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนัง Dystopia

เพราะ Dystopia คือเรื่องราวว่าด้วยโลกในอนาคตอันล่มสลาย หรือสังคมที่ไม่พึงประสงค์หรือน่าหวาดกลัว อาจจะผ่านภัยพิบัติล้างโลกมาจนต้องกินอยู่กันอย่างแร้นแค้น หรือแม้แต่การพัฒนาทางเทคโนโลยี การเมือง การปกครองไปแบบก้าวหน้าสุด ๆ (อย่าง The Matrix) แต่ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุม ปกครองที่โหดร้าย รุนแรง (ถ้าจินตนาการไม่ออกก็ลองนึกถึงหนังที่เรายกตัวอย่างไปได้เลย) เพราะในสังคม Dystopia แต่ละเรื่องก็จะมีความบิดเบี้ยวแตกต่างกันไปที่ทำให้เราเห็นภาพโดยที่เจ้าของเรื่องยังไม่ทันอธิบายเลยด้วยซ้ำว่านี่คือโลก Dystopia

ความสนุกของการเสพหนังหรือหนังสือ Dystopia มันจึงเร้าใจผู้ชายอย่างเรามาก ๆ ด้วยความที่การปกครองมันทั้งโหดร้าย ชวนให้เราลุกขึ้นมาต่อต้าน ทั้งความตื่นเต้นที่มันชวนให้เราลุ้นอยู่ทุกขณะว่าเราจะเจออะไรสุดแปลกประหลาดบ้าง หรือแม้แต่ความสิ้นหวังของระบบการปกครองที่ชวนให้เราขบคิดว่าถ้าเราต้องไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริง ๆ เราจะฝ่าฟันกับความสิ้นหวังในใจเราได้มากน้อยแค่ไหน ?

หนังสือ Dystopia จึงเป็นประตูที่จะพาผู้ชายอย่างเรามุ่งเข้าสู่โลกเร้นลับที่เราไม่เคยคาดคิด กระตุกจินตนาการ กระตุ้นความสงสัย เข้าใกล้ความสิ้นหวังแบบถึงแก่น! และนี่คือหนังสือ Dystopia 5 เล่มที่ UNLOCKMEN บอกเลยว่าไม่ควรพลาดจริง ๆ (แอบกระซิบว่าทุกเล่มแปลเป็นภาษาไทยหมดแล้ว หาอ่านได้ไม่ยากเลยเพื่อน)

Brave New World

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกทั้งใบไม่ถูกแบ่งเป็นประเทศนั้นประเทศนี้ แต่เป็นหนึ่งเดียวกันหมดและถูกเรียกว่า “รัฐโลก” (World State) มีรัฐบาลหนึ่งเดียวคอยปกครองคนทั้งโลก! Brave New World เขียนขึ้นโดย Aldous Huxley ในปี 1931 แต่ถัดมาอีกปีเดียวหนังสือเล่มนี้ก็ถูกแบนในไอร์แลนด์ ความพีคของการอ่านนิยาย Dystopia คือการที่แม้หนังสือเรื่องนั้นจะแต่งมาแล้วเกือบจะ 100 ปี แต่ก็ยังมีความล้ำแบบที่เราคาดไม่ถึง โดยใน Brave New World ว่าด้วยโลกที่ควบคุมชะตาชีวิตของคนตั้งแต่คลอดออกมา จัดลำดับสูงต่ำในสังคม ถ้าเป็นเด็กที่ถูกกำหนดมาแล้วว่าจะเติบโตมาเป็นชนชั้นแรงงานก็จะถูกปลูกฝังซ้ำ ๆ ว่าตัวเองต้องเป็นแรงงานเท่านั้น ลองคิดดูสิว่าโลกที่มีบรรยากาศ “แบ่งผู้คนออกเป็นส่วน ๆ ตามที่รัฐบาลกำหนด” มันจะน่าสยองขนาดไหน ?

1984

“ฮอตปรอทแตก” อาจเป็นอีกนิยามของ 1984 โดยเฉพาะท่ามกลางบรรยากาศการต้านรัฐประหารไทยปี 2557 ที่มีนักศึกษาและประชาชนใช้ 1984 เล่มนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านรัฐบาลทหารซึ่งเป็นเผด็จการ และรัฐบาลทหารก็พากันเต้นเป็นเจ้าเข้า จนถึงกับต้องไล่จับกุมคนที่ยืนอ่านหนังสือเล่มนี้ในที่สาธารณะมาแล้ว! เพราะ 1984 ว่าด้วยสังคม Dystopia ภายใต้สภาวะสงครามที่ถูกปกครองเบ็ดเสร็จโดยพรรคการเมืองเดียว และใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จในการควบคุมดูแลทุกสิ่ง ใครที่มีความคิดแตกต่างจากพรรค หรือส่อเค้าว่าจะเห็นไม่ตรงกับพรรคจะถูกจัดให้เป็น “กบฎทางความคิด” แถมประชาชนยังถูกสอดส่องจากรัฐทุกย่างก้าว แม้ 1984 จะแต่งขึ้นตั้งแต่ปี 1949 แต่ระดับความเข้มข้นของการตีแผ่เรื่องอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ดูจะเป็นจริงมากขึ้นทุกที ๆ ในโลกปัจจุบัน ไม่เชื่อไปลองหามาอ่านได้

The Handmaid’s Tale

อ่านชื่อแล้วอาจจะคุ้น ๆ เพราะ The Handmaid’s Tale นวนิยาย Dystopia ที่แต่งขึ้นตั้งแต่ปี 1986 ถูกนำมาทำเป็นซีรีส์ที่มีกระแสตอบรับน่าสนใจเรื่องหนึ่ง โดย The Handmaid’s Tale เล่าเรื่องในอนาคต (ปี 2195 ) ผ่านปากคำของ Handmaid ผู้หญิงที่ได้กลายเป็นสินทรัพย์ของผู้ปกครอง (ใช่ ในสังคมที่ถูกกดขี่ผ่านความเชื่อสุดขั้วเรื่องศาสนาและเรื่องเพศ ผู้หญิงจึงเป็นได้แค่สินทรัพย์) โดย Handmaid จะมีหน้าที่ “มีลูก” ให้กับเหล่านายพล!

The Handmaid’s Tale จึงว่าด้วยสังคม Dystopia ที่ผู้หญิงถูกปฏิบัติราวกับว่าพวกเธอไม่ใช่มนุษย์ มองเห็นเป็นเพียงเครื่องจักรที่ทำหน้าที่เป็นแม่ เป็นภรรยา หรือเป็นสินทรัพย์ของผู้ชายเท่านั้น หนังสือเล่มนี้จึงชวนให้ผู้ชายอย่างเราได้สำรวจตัวเองไปด้วยว่าเราให้ค่าความเป็นมนุษย์กับผู้หญิงอย่างไร ?

The Hunger Games

คงไม่ต้องอธิบายให้มากความ เพราะ The Hunger Games คือหนังไตรภาคที่เชื่อว่าผู้ชายทุกคนต้องเคยผ่านตามาแล้วแน่นอน ไม่ว่าจะเพราะความสวยเด็ดของ Katniss Everdeen หรือเพราะเนื้อเรื่องชวนติดตาม แต่ก่อนจะมาเป็นหนัง The Hunger Games ก็เป็นหนังสือที่มี 3 ภาคจบมาก่อนเช่นกัน เรื่องราวว่าด้วยสังคมแห่งการแบ่งแยกหน้าที่กันทำตามเขตที่อยู่ และการส่งวัยรุ่นมาเป็นเครื่องสร้างความบันเทิงด้วยการต่อสู้แข่งขันกัน ฉากหลังก็เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมชนิดที่อยากจะกระโดดเข้าไปล้มระบบการปกครองให้รู้แล้วรู้รอด ต่อให้เราจะดูหนังมาแล้ว แต่ก็บอกเลยว่าการเสพโลก Dystopia ในหนังสือจะทำให้เราได้รับรู้รายละเอียดยิบย่อยอีกมากมายที่หนังให้เราได้ไม่หมด รวมถึงความคิดการตัดสินใจของตัวละครที่มีมิติให้เราค้นหาอยู่อีกเพียบ

Farenheit 451

Farenheit 451 คือ Dystopia ที่ว่าด้วยเมื่อวันหนึ่งหนังสือถือเป็นภัยความมั่นคงระดับที่ต้องกำจัดทิ้ง! โดยผู้คนจะเสพความบันเทิงและข้อมูลได้จากโทรทัศน์ที่ผู้ปกครองเป็นคนกำหนดให้เท่านั้น และจะมีผู้ที่ทำหน้าที่เผาของต้องห้ามอย่างหนังสือที่อุณหภูมิ 451 องศาฟาเรนไฮต์ แต่แน่นอนว่าในโลกที่มีคนยอมทำตามอำนาจไปเรื่อย ๆ ก็ย่อมมีคนที่ฉุกคิดตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากลของสังคม แล้วโลกที่เราอยู่ล่ะ ? เรามีอิสระในการเลือกเสพข้อมูลและความบันเทิงแค่ไหน หรือเราก็กำลังถูกบังคับและฝังหัวด้วยอะไรบางอย่างอยู่กลาย ๆ แต่ไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ ?

UNLOCKMEN รับรองได้เลยว่าวรรณกรรม Dystopia 5 เล่มนี้จะไม่ทำให้ผู้ชายทุกคนต้องผิดหวัง (แค่จะประทับใจเล่มไหนมากกว่ากันแค่นั้นเอง) นอกเหนือจากความตื่นเต้น ความซับซ้อนของอำนาจ การกดขี่แล้ว สิ่งที่หนังสือ Dystopia ให้กับผู้ชายอย่างเราคือการกระตุกให้เราฉุกคิดว่าเรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหน ? ไม่แน่สังคม Dystopia ที่เราคิดว่าไกลตัวเหลือเกินอาจจะอยู่ใกล้แบบที่เรานึกไม่ถึงเลยทีเดียว

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line