FASHION

ย้อนรอย 60 ปี Hamilton Ventura กับเรื่องราวที่เป็นมากกว่าเรือนเวลาคู่ใจราชาร็อคแอนด์โรล Elvis Presley

By: NTman November 15, 2017

นอกจากดีไซน์ที่ถูกใจ กลไกการบอกเวลาที่เที่ยงตรง ปัจจัยการเลือกเรือนเวลาคู่ใจของเหล่าคนรักนาฬิกา คงหนีไม่พ้นเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ที่ทำให้นาฬิกาไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์บอกเวลา หรือเครื่องระดับที่บ่งบอกฐานะ แต่มันเป็นสิ่งที่สามารถสร้างคุณค่าทางจิตใจให้กับผู้เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี

ซึ่ง Hamilton ถือเป็นอีกแบรนด์นาฬิกาที่มีหลากรุ่น หลายซีรี่ส์ที่มีเรื่องราวและประวัติอันยาวนาน ผ่านหน้าประวัติศาสตร์กว่า 125 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งแบรนด์ขึ้นที่เมืองแลงคาสเตอร์ รัฐเพนซิลวาเนีย ในปี 1892 โดยเริ่มต้นจากการผลิตนาฬิกาพกคุณภาพสูงในจำนวนน้อย ๆ จนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในนาฬิกามาตรฐานของการทางรถไฟของสหรัฐอเมริกาในฐานะ “Watch of Railroad Accuracy” และ “The Railroad Timekeeper of America”

นอกจากนี้ความยิ่งใหญ่ของเรื่องราวเมื่อครั้งอดีตยังได้ส่งต่อถ่ายทอด DNA มาถึงคอลเลคชั่นปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาสำหรับกองทัพสหรัฐฯ ที่ Hamilton ผลิตในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรุ่น Khaki Field หรือคอลเลคชั่น Broadway ที่ตั้งชื่อมาจากนาฬิกาพกรุ่น Broadway ที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับ Hamilton เมื่อครั้งอดีต และเมื่อพูดถึงคอลเลคชั่นเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ Hamilton ถ้าไม่พูดถึงรุ่น Ventura ก็คงไม่ได้ ด้วยหน้าตาตัวเรือนที่โดดเด่นมีรูปทรงสามเหลี่ยมแปลกตา แถมยังได้รับการขนานนามว่าเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกในโลก ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่อีกด้วย

World’s First Electric Watch

จุดเริ่มต้นของเส้นทางการก้าวข้ามขอบเขตแห่งวิศวกรรมของ Hamilton กับโครงการผลิตนาฬิกาข้อมือที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เริ่มต้นขึ้นในปี 1946 เมื่ออดีตประธานบริษัท George Luckey ที่ในขณะนั้นยังคงเป็นหัวหน้าแผนกวิจัย ได้ตัดสินใจลองค้นคว้าความเป็นไปได้ในการใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาขับเคลื่อนกลไกนาฬิกา

ซึ่งโปรเจ็คต์ดังกล่าวนั้นถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี จนได้นาฬิกาต้นแบบที่พัฒนาโดย Fred Koehler ช่างเทคนิคชาวเยอรมัน แต่ขนาดของกลไกนั้น ยังมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะบรรจุอยู่ในนาฬิกาข้อมือ ทำให้ต้นแบบนาฬิกาพลังงานไฟฟ้านั้นมาในรูปแบบของนาฬิกาตั้งโต๊ะ

จนกระทั่งในปี 1952 Dr. John A. Van Horn นักฟิสิกส์ของ Hamilton ได้เดินหน้าผลักดันให้โครงการดังกล่าว เพื่อให้ Hamilton เป็นบริษัทนาฬิกาแรกของโลกที่นำเสนอนาฬิกาข้อมือพลังไฟฟ้าออกสู่ประชาชน ด้วยการร่วมงานกับ Phil Biemiller และ James H. Reese เป็นทีมพัฒนาที่แข็งแกร่งที่สุดของ Hamilton ที่ร่วมหัวจมท้ายพัฒนาโครงการนี้เรื่อยมาจนถึงปี 1954 ซึ่งแม้ว่าจะประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุกความล้มเหลวคือการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นของทีม

และในที่สุด Martin Walmer วิศวกรโลหะการ อีกหนึ่งในทีมงานพัฒนา ได้นำโลหะที่ทำจากแพลทินัม 77% และโคบอลต์ 23% มาใช้แทนจักรกรอก และทีมพัฒนาได้เปลี่ยนมาใช้แม่เหล็กแบบ Cylindrical magnet ถือเป็นจุดกำเนิดเครื่องคาลิเบอร์ 500 กลไกที่ฝังอยู่ในตัวเรือน Hamilton Ventura ซึ่งพลิกหน้าประวัติศาสตร์แห่งวงการนาฬิกา และถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของนาฬิกาควอตซ์ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

Design of The Future

รูปลักษณ์อันโดดเด่นของ Hamilton Ventura เกิดจากฝีไม้ลายมือการออกแบบของ Richard Arbib นักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ผู้ออกแบบรถยนต์หลากหลายรุ่นให้กับ General Motors ออกแบบเรือให้กับ Century รวมถึงออกแบบเครื่องดูดฝุ่นให้ Eureka และผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคอีกเกือบทุกประเภท Hamilton จึงมั่นใจในชื่อเสียงด้านการนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของเขา โดยเปิดอิสระให้เขาออกแบบได้อย่างเต็มที่


เมื่อได้โอกาสในการสร้างสรรค์งานแบบเต็มที่ Arbib จึงจัดเต็มวาดภาพสเกทช์นาฬิกามาหลายร้อยดีไซน์ อ่านมาถึงตรงนี้คงไม่ต้องเดาให้ยากว่า หนึ่งในรุ่นที่โดดเด่นขึ้นมาจากภาพร่างหลายร้อยแบบ คือ Ventura ซึ่งอาร์บิบวาดไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1956 และอาร์บิบเองได้เขียนชื่อกำกับไว้ว่า Ventura บนภาพ ด้วยตัวเรือนทรงสามเหลี่ยมรูปลักษณ์อสมมาตรเที่ไม่เคยมีใครได้พบเจอมาก่อนในโลกนาฬิกาและจิวเวลรี่ สามารถสื่อสารแนวคิดของนาฬิกาแห่งอนาคต เป็นตัวแทนของสไตล์มิดเซนจูรี่โมเดิร์นของยุคศตวรรษที่ 20 ได้เป็นอย่างดี สมศักดิ์ศรีการเป็นนาฬิกาข้อมือพลังงานไฟฟ้าเรือนแรกของโลก

Hamilton Ventura เปิดตัวเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3 มกราคม 1957 และได้รับการจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์ ว่ามันคือนาฬิกาข้อมือเรือนที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เรือนแรกในโลกที่ขายสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ Ventura รุ่นแรกใช้ตัวเรือน Yellow Gold 14 กะรัต ได้ถูกวางขายเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา ต่อมาในภายหลังจึงผลิตรุ่น Yellow Gold 18 กะรัต ที่เป็นรุ่นสำหรับส่งออกในเดือนตุลาคม 1958 สำหรับรายละเอียดบนหน้าปัดของ Ventura รุ่นแรก จะเห็นเส้นซิกแซกแทนสัญลักษณ์ของคำว่า “electric” สื่อถึงการเป็นนาฬิกาที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเรือนเวลาเหล่านี้ขับเคลื่อนด้วยกลไกคาลิเบอร์ 500, 500A และ 505 มีการคาดการณ์ว่า Ventura เหล่านี้ มีจำนวนการผลิตประมาณ 11,750 เรือน

Hamilton Ventura ของอดีตประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson

ด้วยชื่อชั้น เรื่องราวระดับตำนานในความเป็นนาฬิกาข้อมือพลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของโลก ทำให้ Ventura รุ่นแรกต่างเป็นที่ต้องการของนักสะสมเป็นอย่างมาก ยังคงมีการนำขึ้นมาประมูลของห้องประมูลระดับโลกอย่าง Christie’s เช่นรายการประมูล Important Watches วันที่ 24 เมษายน 2008 ที่มหานครนิวยอร์ค โดยจบการประมูลที่ 3,125 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าราคาวางจำหน่ายในปี 1957 ที่ 300 ดอลลาร์สหรัฐ ถึง 10 เท่า แต่เรือนที่คาดว่าเป็นนาฬิกาที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของ Hamilton คือนาฬิกาของ Lyndon B. Johnson ประธานธิบดีสหรัฐคนที่ 36 ที่จบการประมูลในรายการ Rare Watches and Americans Icons เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2017 ด้วยมูลค่าสูงถึง 18,750 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 630,000 บาท

Elvis’s Watches

อีกหนึ่งสิ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ Hamilton Ventura คือราชาร็อคแอนด์โรล Elvis Presley ที่เป็นแฟนคลับตัวยงของเรือนเวลารุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักสะสมนาฬิกา หรือแฟน ๆ ของ Elvis คงเคยเห็นภาพถ่ายของเขาในชุดเครื่องแบบและสวมนาฬิกา Ventura อยู่บนข้อมือซ้ายอย่างภาคภูมิใจ ซึ่งนั่นเป็นภาพถ่ายขณะที่เขารับราชการอยู่ในกองทัพบกและถูกส่งไปประจำอยู่ที่เยอรมัน

โดยส่วนตัว Elvis มีความหลงใหล และชื่นชอบใน Ventura เป็นอย่างมาก นอกจากจะสวมใส่เอง เขายังเลือกซื้อเป็นของขวัญให้กับคนสนิทใกล้ชิดอยู่หลายครั้ง อีกทั้งเขายังสวมใส่เข้าฉากการถ่ายทำ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจนกลายเป็นที่จดจำในภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii เมื่อปี ค.ศ. 1961 ทำให้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ใคร ๆ ต่างก็พร้อมใจกันเรียก Ventura ว่า “นาฬิกาเอลวิส”

Hamilton Ventura Elvis80

นอกจากนี้ยังมี Ventura ของ Elvis อีกเรือนที่ยังคงปรากฎเรื่องราวชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์ของ Ventura ซึ่งเขาได้ซื้อไว้ในค่ำคืนคริสต์มาสอีฟของปี ค.ศ. 1965 นาฬิกาเรือนนี้เป็นแบบ White Gold มีหน้าปัดสีดำและอยู่กับเขาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ปัจจุบันนาฬิกาเรือนนี้พร้อมใบเสร็จตัวจริงจากร้านค้าอยู่ในครอบครองของพิพิธภัณฑ์แห่ง Hamilton Watch Company และถือเป็นนาฬิกา Ventura เพียงเรือนเดียวที่มีเอกสารยืนยันว่าเอลวิสเคยเป็นเจ้าของและเคยสวมใส่ นับได้ว่าเป็นอีกเรื่องราวความภาคภูมิใจที่ Hamilton ได้นำไปจัดแสดงในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่านาฬิกาเรือนโปรคของราชาร็อคแอนด์โรลผู้ล่วงลับ สามารถสร้างความตื่นเต้นและประทับใจให้กับผู้เข้าชมได้เสมอ และยังได้มีการออกรุ่นพิเศษ Ventura Elvis80 เมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่ Elvis จะมีอายุครบ 80 ปีพอดี หากโรคหัวใจไม่คร่าชีวิตเขาไปก่อน

Men In Black 3

และไม่ใช่เพียงแค่ Elvis ที่ทำให้ Ventura โดดเด่นอยู่บนจอเงิน ด้วยรูปร่างตัวเรือนที่เป็นเอกลักษณ์นั้นทำให้ Ventura ได้มีโอกาสไปโลดแล่นอยู่ในภาพยนตร์อีกหลายต่อหลายเรื่อง และที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือในเรื่อง Men In Black ทั้ง 3 ภาค ซึ่ง Ventura ได้รับหน้าที่เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ไฮเทคประจำข้อมือของคู่หูบุรุษชุดดำ แห่งหน่วยจารชนพิทักษ์จักรวาล

60th Anniversary of the Ventura

นับตั้งแต่การถือกำเนิดในนามของนาฬิกาข้อมือพลังงานไฟฟ้าเรือนแรกของโลกเมื่อปี 1957 จวบจนถึงวันนี้ Ventura ได้สร้างประวัติศาสตร์ในวงการเรือนเวลา ด้วยคอลเลคชั่นอันโดดเด่นที่ถูกส่งออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี และในโอกาสพิเศษแบบนี้ทาง Hamilton จึงได้เปิดตัว Ventura 3 รุ่นพิเศษออกมาเป็นการเฉลิมฉลอง โดยทั้ง 3 รุ่นนั้นถือได้ว่าเป็นตัวแทนของ 3 ช่วงเวลา นับจากอดีต ปัจจุบัน พร้อมก้าวสู่อนาคต เพื่อตอกย้ำความสวยงามล้ำสมัยเหนือกาลเวลาของ Ventura

Hamilton Ventura Classic S&L

หวนระลึกถึงอดีตด้วยความสวยงาม ที่หยิบยกเอาความคลาสสิคของ Ventura ในปี 1957 มาสานต่อด้วยการนำดีไซน์ในอดีตมาออกแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน Hamilton Ventura Classic S&L มาพร้อมกับตัวเรือนสเเตนเลสสตีลชุบทอง PVD ทางด้านกลไก Hamilton เลือกที่จะใช้กลไกแบบควอตซ์ เพื่อส่งต่อความรู้สึกของ Ventura รุ่นแรกให้กลับมาอยู่บนข้อมือของเหล่านักสะสมในปัจจุบันอีกครั้ง ตัวเรือนมีสองขนาดให้เลือก คือ ไซส์ S ตัวเรือนขนาด 24 x 36.5 มิลลิเมตร และไซส์ L ขนาด 32.3 x 50.3 มิลลิเมตร โดยทั้ง 2 ไซส์มีสนนราคาอยู่ที่ 34,500 บาท

Hamilton Ventura Classic Jeans

แรงบันดาลใจในการออกแบบ Ventura Classic Jeans เกิดจากการตีความสไตล์แฟชั่นที่เข้ากับยุคปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอในรูปแบบของลายผ้าเดนิมที่ใช้ทำกางเกงยีนส์ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแฟชั่นไร้กาลเวลา ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 50 จนถึงปัจจุบันมาทำเป็นสาย เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า Ventura เป็นเรือนเวลาที่ไม่เคยล้าสมัย ตัวเรือนเป็นสเเตนเลสสตีลขัดเงา ขับเคลื่อนด้วยกลไกควอตซ์ หน้าปัดพิมพ์ลายผ้าเดนิมกลมกลืนไปกับตัวสาย มีสองขนาดให้เลือกเช่นเดียวกัน คือไซส์ S ตัวเรือนขนาด 24 x 36.5 มิลลิเมตร และไซส์ L ขนาด 32.3 x 50.3 มิลลิเมตร มีสนนราคาอยู่ที่ 33,500 บาท

Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton

เรือนเวลาตัวแทนแห่งอนาคตของ Ventura รุ่นนี้ได้รับแนวคิดการออกแบบมาจากไมโครโฟนของ Elvis มีการฉลุหน้าปัดแบบ Skeleton เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นการทำงานของกลไกขึ้นลานอัตโนมัติรุ่น H-10 ได้ สำหรับตัวเรือน Hamilton Ventura Elvis80 Skeleton ผลิตขึ้นจากสแตนเลสสตีลขนาด 42.5 x 44.6 มิลลิเมตร สำหรับรุ่นนี้ แฟน ๆ Ventura สามารถเป็นเจ้าของได้ในสนนราคา 61,000 บาท

สำหรับแฟน ๆ Hamilton Ventura รวมถึงใครที่สนใจอยากเป็นเจ้าของเรือนเวลาที่ผสมผสานระหว่างความคลาสสิกแบบอเมริกันเข้ากับเทคโนโลยีกลไกอันเที่ยงตรงจากสวิตเซอร์แลนด์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ สามารถไปสัมผัสคอลเลคชั่น  Ventura  ได้แล้ววันนี้ที่เคาน์เตอร์แผนกนาฬิกา ณ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร  02-610-0200  ต่อ 242, 229
ชมคอลเลคชั่น Ventura จาก Hamilton  เพิ่มเติมได้ที่ www.HamiltonWatch.com
FACEBOOK: www.facebook.com/Hamiltonwatch
TWITTER: www.twitter.com/hamiltonwatch
INSTAGRAM: www.instagram.com/hamiltonwatch
PINTEREST: www.pinterest.com/hamiltonwatch

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line