Business

IN-DEPTH: ‘คนธนาคาร’ อาชีพเบื้องหลังที่ทุกวินาทีในทุกวัน คือความสำคัญระดับประเทศชาติ

By: anonymK April 30, 2018

เมื่อก่อนมีเงินเขานับเป็นน้อง มีทองเขานับเป็นพี่ แต่เดี๋ยวนี้วิธีนับมันไม่เหมือนเก่าต่อให้เดินล่อนจ้อนออกนอกบ้าน ไม่คล้องทองหยองเต็มคอ หรือกระเป๋าสตางค์จะแฟ่บแค่ไหน ตราบเท่าที่มีสมาร์ทโฟนในกำมือมันก็อุ่นใจ เพราะเราอยู่ในสังคม cashless society ที่ถ้าย้อนกลับไป 5-10 ปีที่แล้ว พูดไปก็คงไม่มีใครเชื่อหรือนึกออกว่าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ไร้พรมแดนหน้าตาเป็นอย่างไร พอ ๆ กับที่หลงลืมความยุ่งยากเดิมที่มีว่ากว่าจะซื้อของสักชิ้น จ่ายบิลสักอย่าง เราใช้ชีวิตกันด้วยความยุ่งยากขนาดไหน

ระหว่างที่อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจจะกำลังมองว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าลองย้อนคิดว่าปรากฏการณ์สเกลใหญ่ขนาดนี้ที่เกิดขึ้นในสังคมแถมผ่านมาเป็นปี ๆ แล้ว ใครเป็นคนทำ? ใครที่อยู่หลังการกดนิ้วบนจอกระจกตอบโจทย์การใช้ชีวิตพวกเรา คนที่แอบอยู่หลังความ Easy เหล่านั้น พวกเขาคือใคร ทำอาชีพอะไรกัน คำตอบคุณเหมือนที่เราจะเฉลยหรือเปล่า ?

พวกเขาเหล่านี้คือ “คนธนาคาร”

เมื่อปรากฎการณ์ดิจิทัลแบงกิ้งมันมาจากกลุ่ม “คนธนาคาร” คนที่เราไม่เคยมองเห็นหน้า และงาน UNLOCK ก็เป็นงานถนัดของพวกเราอยู่แล้ว UNLOCKMEN ขอถือโอกาสนี้บุกไปตามหาและพูดคุยกับคนเบื้องหลังกันให้มันลึกสุดใจกันถึงถิ่นที่ SCB สำนักงานใหญ่ อาณาจักรของพวกเขา กันดีกว่า

 

รู้จัก “คนธนาคาร” กลุ่มคนสนุกสายดิจิทัลแบงกิ้ง

ถ้าไม่นับรวมบรรยากาศครึกครื้นและคราคร่ำด้วยผู้คนยกฟลอร์ด้านนอกห้องที่เราคุยกัน คนต่างวัย ต่างสายอาชีพแต่เป็นเจ้าของความคิดสนุก ๆ ที่รวมตัวกันคิดแคมเปญฉบับ Fast & Furious ออกมาให้เราทุกคนได้ใช้ทั้ง 5 คนตรงหน้าซึ่งเป็นตัวแทนจาก SCB มาพร้อมรอยยิ้มเสียงหัวเราะกับการยิงมุกใส่กันก็ทำเอาเราเริ่มรู้สึกตื่นเต้นและไฟลุกโชนไม่น้อย “นี่ไม่ใช่ธนาคารแบบที่เราเคยเข้าใจ ไม่ได้เชื่องช้า ไม่ได้เก่า และคนที่นี่มี Energy เกินร้อย!”

ก่อนที่ถ้อยคำเข้มข้นกับความสนุกของคนแบงก์จะเล็ดลอดออกมาในย่อหน้าต่อไป เพื่อให้เข้าอรรถรสกันมากขึ้นแบบไม่สับสน เราขอแนะนำพี่น้องชาวธนาคารที่ขับเคลื่อนเซอร์วิสโหด ๆ แต่ใช้ง่ายเป็นมิตรทั้ง 5 ที่รวบตำแหน่งอันหลากหลายทั้งระดับแกนนำและระดับปฏิบัติการมารวมกัน ดังต่อไปนี้ เรียงลำดับจากด้านซ้าย – ขวา จดจำชื่อของพวกเขาไว้ให้ดีล่ะ

  1. คุณธนา โพธิกำจร (ทอมมี่) – ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking
  2. คุณธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์ (อ้อ) – ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดบริหารยุทธศาสตร์
  3. คุณชนินทร อัศววิชัยโรจน์ (โจ) – Mobile Developer
  4. คุณสหัสภพ สุวัฒนภักดี (เติ้ง) – Mobile Developer
  5. คุณอิศเรศน์ ชัยวิเชียร (เม) – เจ้าหน้าที่วางแผนกลยุทธ์การตลาด

 

จากเคาน์เตอร์สาขาถึง 4G เซอร์วิสแบงก์กิ้ง

ถึงจะบอกว่าดิจิทัลแบงก์กิ้งมันกลายเป็นคีย์เมสเสจของคนยุคนี้ แต่อันที่จริงจุดเริ่มต้นของแคมเปญกับฟีเจอร์และการ transform ธนาคารจากรูปแบบเดิมที่สุดแสนจะแมนนวลเดินเข้าสาขามาเป็นการเสกเงินสดจากมือถือ นอนเล่นและทำธุรกรรมในบ้านมันใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้นจากประโยคเดียวของผู้บริหารระดับสูงที่ว่า

“เราจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”

ประโยคนี้เหมือนไม้ขีดก้านแรกที่จุดขึ้นปลุกแพสชันสีม่วงให้คนทั้งองค์กร ขยับตัวกันแบบ Faster และ Better ส่งแคมเปญกับเซอร์วิสดี ๆ เพื่อตอบโจทย์หัวใจของธนาคารยุคใหม่ที่จะเข้าไปนั่งในใจของลูกค้าทุกคน

โดยคุณทอมมี่บอกกับเราว่า 3 สิ่งหลักที่ทีมพยายามปรับจากการเป็นธนาคารรูปแบบเดิม คือ 1. สร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้า 2. เสิร์ฟทุกอย่างด้วยความเร็วจากหลังบ้านโดยใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน และ 3. ปรับวัฒนธรรม วิธีการทำงาน กับสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนทำได้อย่างคล่องตัวขึ้น เรียกได้ว่าบูสต์กันยกแผง

คุณเม : “เมื่อก่อนทุกคนมองจากภายนอกเข้ามา เป็นแบงก์จะทำอะไรทีนึงนี่ ช้า แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันกลายเป็น คิดเร็ว ทำเร็ว แล้วก็เรียนรู้เร็ว ทุกวันนี้ยิ่งเรื่อง marketing มันไปเร็วมาก process ทุกอย่างถูก unlock ออกมาได้เร็วขึ้น มีการคิดและการตัดสินใจรวดเร็วมากขึ้น อยากลองทำอะไร อยากลองคิด อะไร ก็เปิดกว้าง เพราะเราจะไม่หยุดเป็นแค่ Financial Banking แล้ว เรามองลูกค้าเป็นหลัก แอปฯ ก็จะบริการ ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าทุกคนทุกวัยให้ได้มากที่สุด”

 

รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอ LAUNCH (SERVICE & CAMPAIGN)

ไม่ใช่แค่บริการกดเงินไม่ใช้บัตรหรือโอนเงินผ่านสมาร์ทโฟนที่เราทำกันเป็นประจำซึ่งเป็นแค่เศษหนึ่งส่วนเท่าไรไม่รู้ใน SCB EASY APP แต่บริการด้านอื่นกับการเปลี่ยนโฉมการใช้เงินแบบ cashless society หรือสังคมไร้เงินสดที่นับวันยิ่งมีวิธีการที่สะดวกขึ้น ถูกใจเรามากขึ้น อย่างความใจป้ำล่าสุดที่ SCB ส่งออกมาก่อนใครเกิดเป็น ฟรี ฟรี ฟรี ! ฟรีโนมีนอน (Freenomenon) ลบค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่าง ๆ ของแคมเปญ มานี สตอรี่ พร้อมใบหน้าเบลล่าถักผมเปีย มันก็ทำให้เราอดถามไม่ได้ว่ากว่าจะสอบผ่านออกมาเป็นบริการและแคมเปญฟรีดี ๆ แบบนี้ พวกเขามีเบื้องหลังความคิดและลำดับขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไรกันแน่

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การลุยก่อน…ได้เปรียบ

คุณอ้อ : จากทางทีมยุทธศาสตร์นี่แหละ คือเรารู้อยู่แล้วว่าภายในไม่กี่ปีข้างหน้าค่าธรรมเนียมมันจะต้องถูกลดลงไปเรื่อย ๆ ด้วยการแข่งขันจาก Fintech จากคู่แข่งต่าง ๆ เราก็มาคิดกันแล้วว่าในฐานะแบงก์เราจะปล่อยให้ค่าธรรมเนียมค่อย ๆ หายไปเอง หรือเราจะมองหาทางที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันก่อน ประกาศออกมาก่อนที่คนอื่นเขาจะทำ ทำยังไงเราถึงจะเป็นคนแรกที่ทำให้ตรงนั้นมันเป็นสิ่งที่ประทับใจลูกค้า แล้วลูกค้าอยากจะเข้ามาใช้กับเรา อยากจะมาทำธุรกรรมกับเรามากขึ้น”

คุณทอมมี่ : “เป็นความกล้าของ SCB จริง ๆ ก่อนที่เรามี Event ที่เรียกว่า Freenomenon กลางปีที่แล้วเราเห็นเทคโนโลยีใหม่ ช่องทางใหม่ที่สามารถเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นเลยให้ทางฝั่งทีม Developer ดูแล้วก็บอกว่าสามารถใช้ Line เป็นช่องทางเข้าถึงลูกค้า ประจวบกับทาง Line ก็เพิ่งเปิดแพลตฟอร์มใหม่เพื่อให้เข้าไปถึง เราก็เลยโยนให้ทีม Mobile Developer ลองดูสิว่าเราสามารถทำ alert เราเรียกมันว่า chat bot ที่ถามไปไอ้ตัวนี้มันก็จะตอบกลับมาได้ว่ายอดเราเหลือเท่าไรได้ไหม

ทีมก็ลอง ดูว่าเทคโนโลยีนี้ใช้อะไรได้บ้าง เราก็ลองทำกันภายในก่อน แล้วพอทำออกมาลูกค้าก็ติดสุด ๆ เราก็เลยคุยกับทีมยุทธศาสตร์ว่า ถ้าเรานำตรงนี้ไปถึงลูกค้ากว้าง ๆ เลยนะ แต่ว่ามันก็มีผลกระทบเรื่องค่าธรรมเนียม ซึ่งค่าธรรมเนียมสำหรับ SMS alert ที่เยอะ แต่บริการนี้มันจะแจ้งทุกยอดที่เกิดขึ้นให้ลูกค้าโดยไม่มีค่าธรรมเนียม เรากล้าลุยไหม จริง ๆ แล้วเป็นการกล้าลุยก้าวแรกของ SCB ก็เลยทำให้ตอนนี้ SCB CONNECT เป็นบริการที่เติบโตเร็วที่สุดเท่าที่เรามีมาตั้งแต่แบงก์เปิดมา”

คุณเติ้ง : “SCB CONNECT เหมือนเป็นวิธีทำแอปพลิเคชันที่แตกต่างจากปกติครับ อย่างสมมติความท้าทายหนึ่งของการทำ mobile app คือคุณจะทำยังไงให้ user เขาดาวน์โหลด แต่ Line เราสามารถข้ามสเต็ปนั้นไปได้เลยแต่ความท้าทายก็คือเราจะทำอย่างไรให้เราเสิร์ฟบริการที่ยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ให้เขาใช้งานง่าย ทำยังไงให้เขาอยากใช้เรา หรือเห็นว่าเรามีประโยชน์มากกว่าคู่แข่งอะไรอย่างนี้ครับ”

คุณเม : “สำหรับมานี สตอรี่ เราหยิบกระแสเทรนความเป็นไทยที่กำลังมา มาเล่นกับมานะมานี สิ่งที่เราทุกคนเติบโตมา มันเป็นอะไรที่สอนเราตั้งแต่เด็กและเป็นการเติบโตมาด้วยกัน แนะนำเราทุกอย่าง ตั้งแต่การอ่านออกเขียนได้ แนะนำสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ แก่เรามากมาย แล้วมันตรงคอนเซ็ปต์ตรงที่มานีมีคอนเซ็ปต์ตัวหนังสือที่มันง่ายและมันเฟรนลี่ มันเหมือนกับ app ของเราที่มันอีซี่แล้วก็เฟรนลี่ ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ นานา มันก็ยิ่งทำให้สิ่งที่เราปล่อยออกไปเนี่ย feedback กลับมาคนชอบมาก”

 

จับจังหวะ BEAT งานแบงก์ ความท้าทายและแพสชันงาน

จะไวให้ทันความล้ำของกระแสไลฟ์สไตล์กับเทคโนโลยี กึ๋นต้องมี แพสชันเองก็ต้องได้ ในร้อยแปดพันเก้าอย่างของการสุมหัวและงานคิด อะไรคือเชื้อเพลิงและความท้าทายในการทำงานของพวกเขากันบ้าง

คุณทอมมี่ : “พวกเราทั้งทีมต้องไหวตัวตลอดเวลา ยิ่งทีมเขาโจทย์เปลี่ยนแทบจะทุกวัน ทีมที่เราทำมามีความสนุกอย่างนึงก็คือว่าเราออกของใหม่ ๆ ตลอดเวลา มีความไดนามิก สนุกไปกว่านั้นกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ตอนนี้กำลังร้อนมาก ทุกแบงก์เริ่มไหวตัว มันก็ตื่นเต้นตลอดเวลาว่าคู่แข่งจะทำยังไง เพราะคู่แข่งทำให้เราเก่งขึ้น ทุกคนขยับตัวเร็ว เราก็ต้องเร็วกว่า ก็เลยต้องคล้าย ๆ กับเปิดหูเปิดตา ต้องวิ่ง ต้องลองของ แล้วก็ต้องปรับตัวเร็ว ๆ คล้าย ๆ เป็นแพสชันที่ทำวันต่อวัน มีอะไรใหม่ ๆ ให้ลองตลอดเวลา”

 

คุณอ้อ : “ทางทีมกลยุทธ์ก็จะคิดว่าทำยังไงนะเราถึงจะยังเป็นหนึ่งในใจของลูกค้าได้ อันนี้ก็เป็นแพสชันสำคัญว่าแบงก์ต้องทำอะไรใหม่ ๆ ไหม อะไรที่เราจะสามารถสร้างคุณค่ากับลูกค้าและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเขาได้ วิธีการคิดของเราตอนนี้เราจะให้น้อง ๆ เขาลงไปเจอคนข้างนอกจริง ๆ ให้ทีม ไปลงตลาดกัน ไปนั่งคุย คือเน้นไปลงพื้นที่จริง ๆ ไปคุยกับคนที่เขาจะต้องเป็นลูกค้าของเราจริง ๆ เข้าถึงให้เห็นอะไรแปลกใหม่ ไม่ใช่แค่คิดว่าสิ่งที่เราอยากทำคืออะไรแล้วทำออกมาเอง”

 

คุณเม : “คือถ้าอย่างฝั่งผมเอง แพสชันคือเราจะทำยังไงที่เราจะลบภาพเดิมของแบงก์ออกไป แต่ก่อนคือทุกคนจะจำแค่ว่าแบงก์กิ้ง แกขายของ ถ้าฉันไปเจอแก แกจะขายบัตรเครดิตฉัน แกจะขายประกันฉัน คือเราพยายามที่จะลบภาพพวกนั้นทิ้งไปให้หมดว่า ฉันไม่ใช่แบงก์แบบเดิม ๆ แล้วนะ ฉันเป็นแบงก์ที่ฉันใส่ใจทุกคน ฉันเป็นแบงก์ที่ฉันมองเห็นลูกค้าเป็นหลัก

 

คุณเติ้ง : “คือถ้าเป็น Developer แพสชันเราหลัก ๆ ก็จะอยู่ในเรื่องของเทคโนโลยี การได้ลองจับเทคโลโนยีใหม่ ๆ การที่ได้ศึกษา อันนี้แหละเป็นแพสชันของเราที่ทำให้เราเลือกมาทำอาชีพนี้ ทีนี้พอมาอยู่ในแบงก์ที่มีผลิตภัณฑ์ มีไทม์ไลน์ที่ต้องโปรโมทสินค้าและบริการให้กับลูกค้า เราก็จะต้องต่อยอดมาว่าแค่เทคโนโลยีและบริการที่เราทำได้อาจจะไม่พอแล้ว ทำยังไงให้มันได้ตามความต้องการและออกมาทันเวลาที่เราจะโปรโมททาง marketing ครับ โจทย์พวกนี้มันก็จะเป็น challenge ของเราครับ”

 

คุณโจ : “โจว่าสำหรับ Developer ทุกคนทั้งทีม ความสุขของทุกวันที่ตื่นขึ้นมาจะมาทำงาน คือการได้เขียนโค้ด การได้จับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และถ้าเป็นเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่ในบริษัทไหนเราก็สามารถหาได้ ได้ใช่ไหมครับ แต่พอเรามาทำแบงก์มันมีสิ่งที่เหนือไปกว่านั้นคือ แบงก์มีฐานลูกค้าค่อนข้างมาก สิ่งที่ Developer คนอื่น อยู่ในบริษัทอื่น ๆ ไม่เคยเจอเลยก็คือ การทำให้รองรับลูกค้าได้มาก ๆ ขนาดนี้ คือมันเป็น challenge อย่างหนึ่งที่เราจะทำยังไงให้ระบบมันเสถียร ระบบมันมีคุณภาพเพื่อมอบให้กับลูกค้ามาใช้บริการของเราครับ มันต้องคิดมากกว่าการที่เรานำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ครับ เราต้องทำให้มันดีกับลูกค้า”

 

BACKBONE INSIGHT

ความครีเอทของนักคิดที่เป็นต้นทางสุดเฉียบเราก็รับรู้กันมาแล้ว แต่กับอาชีพเบื้องหลังอย่างสาย Developer หรือ Dev ที่เขียนโค้ดแปรความคิดมาเป็นสิ่งที่เราต้องใช้งานจริง พวกเขาที่ทำหน้าที่เสมือนกระดูกสันหลังของบริการทุกอย่างทุกวันนี้ เราลองมาฟังกันบ้างดีกว่า ปกติพวกเขาพูดน้อย แต่นี่คือโอกาสดี และเราเชื่อว่าคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณเองก็อยากรู้

 

คนทำงานแบงก์แบบ Dev ต้องเป็นยังไง?

 

คุณโจ : “โจว่าถ้า Dev นะครับ ขอแค่มีแพสชัน คุณมีแพสชันที่แบบเข้ามาทำงานเพื่อสร้างแพสชันด้านเทคโนโลยีน่ะครับ มันก็มีความสุขในการทำงาน แค่วัน ๆ นึงมีความสุขในการทำงาน มันก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว คือ productivity ของมันจะทะยานสูงมาก เวลาทำงานเราจะรู้สึกอินกับมันกับโปรดักส์”

คุณเติ้ง : “จริง ๆ เรื่องสกิลมันเป็น priority รอง ๆ ลงมาด้วยซ้ำ อย่างแรกคือเหมือนกับว่าอยู่ที่คาแรคเตอร์ก่อน ว่าคุณมีแพสชันในงานไหม คุณรักงานที่คุณทำหรือเปล่า คุณ Open หรือเปล่า พร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไหม มีความขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวเสมอ ๆ หรือเปล่า คือคนประเภทนี้ได้มาทำงานไม่เคยผิดหวัง แล้วก็เรื่อง communication ว่าคุณสามารถคุยกับคนอื่นได้รู้เรื่องไหม เพราะการทำงานเป็นทีมเราต้องมีการสื่อสารกัน”

 

Career path สาย Dev โตไปไหนในธนาคาร ?

คุณโจ : “ถ้าเรื่อง career path ที่นี่โจว่าเปิดกว้าง ถ้าคุณอยากโตในสาย technical อยากเก่ง technical ก็ไป เป็น technical specialist ตรง ๆ ไปเลย หรือว่าถ้าคุณมีสกิลในการบริหารคน มันก็จะมีสายของการบริหารเป็น people management อาจจะมีลูกน้อง มี Dev ในทีมของตัวเอง ดูแลทีม ดูแลโปรเจกต์ ดูแลโปรดักส์”

คุณเติ้ง : “ก็คือมีสองสาย career path มีสองสาย technical คือถ้าคุณบอกว่าไม่ได้อยากมีลูกน้อง ไม่ได้อยากมีอะไร อยากจะไปสายลึกทางลึก หาดีเทลเรื่อยๆ ก็ไปทาง specialist เราไม่ได้มีเพดานเงินเดือนมากำกับ ก็คือเราอยากได้คนเก่งอยู่แล้ว เพราะยิ่งมีคนเก่งก็ยิ่งเป็นการการันตีว่าเซอร์วิสของเราจะดี กับอีกสายนึงก็คือคนที่สามารถดูแลทีม สามารถเป็นตัวแทนของทีมได้ อันนี้ก็เป็นสายที่เดาว่าทุก ๆ คนน่าจะคุ้นเคย คืออาจจะเป็นทีม lead เป็นทีม manager ขึ้น ๆ ไป แต่ว่าก็จะดูแลทาง technical ครับ”

 

สุดท้ายและท้ายสุด ข่าวดีสำหรับคนที่ใจฮึกเหิมอยากเข้าไปคนธนาคารแต่ไม่รู้จะมีที่เหลือเผื่อไว้บ้างไหม บอกได้เลยว่าอย่างฝ่าย Digital Banking 40 เท่าตัวเขาก็ขยายจำนวนมาแล้ว จากตอนแรกแค่ 10 คนจนปัจจุบันมี 400 คน และตอนนี้กำลังหาทีมขยายต่อไปเรื่อย ๆ ด้วย ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่เริ่มออกอาการคันไม้คันมือ มีไฟฝันอยากจะทำเรื่องยิ่งใหญ่สนุก ๆ กับเขาบ้างแล้วแต่ติดจะกลัวว่ามันจะเป็นเรื่องซีเรียส ลบภาพจำการทำงานธนาคารน่าเบื่อที่ซีเรียสกับเรื่องการเงินไปได้ จากนั้น โปรดฟังจากปากพวกเขาอีกครั้ง!

 

“เรื่องเงินมันต้องซีเรียสในแง่แค่ว่าปลอดภัยที่สุด ในวิธีการทำงานของเราเนี่ย มันก็จะมีขั้นตอนเช็กก่อนที่จะออกไป จริง ๆ SCB ตอนนี้เหมือนเปิดรองรับไอเดียจากทุกคนจริง ๆ ถึงอยู่คนละสายงานแต่สนิท มาเจอกันแทบจะเบื่อหน้ากัน (หัวเราะ) มันมีจุดให้แชร์ และทุกเสียงจะถูกรับฟังได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะใหญ่เล็กแค่ไหน ถ้าเป็นไอเดียที่ดีเนี่ยเราลุยหมด ตอนนี้เราลุยมากที่ SCB!”

 

ขอบคุณสิ่ดี ๆ ที่ได้เรียนรู้จาก คนธนาคาร อีกบทบาทของการทำธุรกรรมทางความคิดที่ UNLOCKMEN มีโอกาสรับรู้และแบ่งปัน ใครสนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกอย่างพวกเขา เข้าไปสมัครและดูรายละเอียดกันได้ที่ http://www.scb.co.th/career/

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line