Entertainment

GARAGE: DE FLAMINGO ผสมผสานแฟชั่นเข้ากับเสียงดนตรี ที่ทำให้เราเห็นสีและได้ยินเสียง

By: TOIISAN June 8, 2019

ดนตรีกับแฟชั่นมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องการสร้างสุนทรีย์และแรงบันดาลใจ UNLOCKMEN ได้พบกับวงดนตรีอินดี้-ป๊อปร็อก วงหนึ่งที่นำดนตรีและแฟชั่นร้อยเรียงออกมาเป็นบทเพลงเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ 

สิ่งที่ทำให้เราสนใจวงดนตรีที่มีชื่อว่า De Flamingo มีหลายอย่างทั้งบทเพลงที่หนักแน่นสื่ออารมณ์ เนื้อเพลงที่เล่าเรื่องราวกินใจ รวมถึงแฟชั่นที่จัดจ้านของสมาชิกแต่ละคนไม่ว่าจะเป็น โบนัส (ร้องนำ), จา (เบส), ปอม (กีตาร์) และ บีม (กลอง) แต่ละคนมีสไตล์ที่ไม่เหมือนกันแต่มารวมวงกันเพราะคำว่าดนตรี 

เมื่อเราได้นั่งพูดคุยกับพวกเขาพักใหญ่ก็ทำให้รู้ว่านอกจากเพลงและแฟชั่นแล้ว De Flamingo เป็นวงดนตรีมีที่อะไรมากกว่าที่เราเห็น 

 

ในวันที่เพลงร็อกมีแต่สีดำ De Flamingo กลับปรากฏตัวพร้อมกับสีชมพู 

มารวมตัวกันได้อย่างไร ?

โบนัส: จุดเริ่มต้นการทำวงของเราเกิดขึ้นเพราะเราเรียนที่ดุริยางคศิลป์มหิดลเหมือนกัน ผมกับจายังไม่รู้จักใครมาจึงรวมวงกันแค่สองคนก่อน จากนั้นก็หาสมาชิกไปเรื่อย ๆ ตอนแรกมีนักร้องนำเป็นผู้หญิงแล้วก็ทำวงจนจะจบปีสี่วงก็แตกไป

หลังจากวงแตกแล้วเกิด De Flamingo ขึ้นมาได้อย่างไร ?

โบนัส: ตอนแรกเคว้งกันอยู่ช่วงหนึ่งเพราะเราตั้งใจทำวงนี้มาก ๆ แต่ด้วยสมาชิกมีความฝันกันคนละอย่าง บางคนออกจากวงเพื่อไปทำตามฝัน บางคนตัดสินใจจะเดินทางต่อด้วยสมาชิกที่เหลือ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่จากนักร้องนำหญิงที่เป็นคนเล่าเรื่องก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย วันที่กำลังปรึกษากันผมดันพูดขึ้นมาว่า De Flamingo ก็เลยได้ชื่อวงแบบไม่ได้ตั้งใจ 

ทำไมต้อง De Flamingo ?

โบนัส: ผมเป็นคนชอบดูนิตยสารแฟชั่นครับ แล้วนกฟลามิงโก้ส่วนมากจะโผล่ออกมาแค่คอลเลกชัน Spring/Summer เท่านั้น ก็เลยรู้สึกว่านกตัวนี้มันโดดเด่น แถมปอมก็ไปหาความหมายเพิ่มเติมว่า Flamingo มีความหมายว่าอะไรบ้าง

“นกฟลามิงโก้ถ้าจะไปไหนก็ไปกันเป็นกลุ่ม เป็นนกที่มีความสามัคคีกลมเกลียวซึ่งมันโดนใจเรามาก ๆ เพราะวงเราเคยยุบไปครั้งหนึ่งแล้วเราตัดสินใจที่จะเดินต่อไปด้วยกันอีกครั้งเหมือนกับนกฟลามิงโก้”

เพราะว่านกฟลามิงโก้มีสีชมพูเลยทำให้เราต้องคอนเซ็ปต์วงเป็นสีเดียวกันรึเปล่า ?

โบนัส: วันที่เราได้คำว่า De Flamingo สีแรกที่นึกถึงคือสีชมพู แต่เทรนด์ช่วงตั้งวงเราแทบจะไม่เห็นผู้ชายใส่สีชมพูเลยยกเว้นคนในวงการแฟชั่น ช่วงนั้นจะมีแต่ผู้ชายมินิมอล ทุกอย่างต้องคุมโทนสีขาว ดำ เทา แล้วสีชมพูของเรามันชัดเจนและเรียกร้องความสนใจของผู้คนตอนที่ยังไม่มีใครรู้จักเรา ทำให้คนรู้ว่ามีวงอินดี้-ป๊อปร็อก สีสันสดใสอยู่นะ 

แสดงว่า De Flamingo จะต้องเป็นสีชมพูไปตลอด ?

โบนัส: ไม่จำเป็นต้องเป็นสีชมพูตลอดครับ เราสามารถหยอดสีอื่นลงไปตามอารมณ์เพลง ตามคอนเซ็ปต์ของเพลงนั้น ๆ 

จา: เพลง PINK จะให้สีสันที่หลากหลายครับ เวลาที่เล่นเพลงนี้จะรู้สึกว่ามันจี๊ดจ๊าด แซ่บ ให้สีสันที่ฉูดฉาดเพราะทุกอย่างมันออกมาเต็มที่ทั้งหมดไม่ว่ากีตาร์ เบส กลอง เสียงร้อง รวมถึงท่าทางที่เราสื่อสารที่ครบรสในเพลงนี้ เหมือนกับสายรุ้งเลย

 

จากสีสันสดใสสู่ “น้ำตาเทียม” สีของความเศร้า 

“น้ำตาเทียม” คือบทเพลงล่าสุดของ De Flamingo ที่ถ่ายทอดความเศร้าผ่านดนตรีสไตล์ป๊อบร็อกพร้อมกับขั้นตอนการทำเพลงแบบ Independent บอกเล่าความเศร้าทั้งเขาและเธอที่มองอย่างไรก็ไม่มีทางสดใสได้ เราจึงถามสมาชิกในวงว่าหากต้องนิยามเพลงน้ำตาเทียมให้เป็นสีแต่ละคนจะได้สีอะไรกันบ้าง

จา: น้ำตาเทียมสำหรับผมคือน้ำเงินอ่อนมาก ๆ จนแทบจะมองทะลุได้ เพราะตอนเขียนเพลงเพลงก็รู้สึกลื่นไหลเหมือนกับสีน้ำ รู้สึกว่าเหมาะกับสีใสมากกว่าสีสันที่ฉูดฉาด

โบนัส: ของผมเป็นสีน้ำเงินคราม เพราะว่าเห็นสีนี้ตั้งแต่เริ่มทำเดโมแล้ว เพลงน้ำตาเทียมเหมาะกับช่วงเวลาพลบค่ำแต่ไม่ถึงกับมืดสนิท 

ปอม: สีน้ำเงินแต้มเทา ที่เลือกสีน้ำเงินเป็นเพราะสีนี้คือตัวแทนของความเศร้า หว่อง จากนั้นแต้มด้วยสีเทาที่คิดเวลาเห็นจะนึกถึงสถาปัตยกรรมแบบลอฟต์หรือพวกรูปปั้นที่ดูเทียม

บีม: สำหรับผมมองเป็นสีนำ้เงินกรมท่า เข้ม ๆ หม่น ๆ เพราะเพลงสื่อถึงความเศร้าอยู่แล้วครับ 

เพลงน้ำตาเทียมก็ทำให้เราเห็นว่า De Flamingo ไม่จำเป็นต้องมีสีชมพูตลอดเวลา เพราะหากวันไหนเราเศร้า บทเพลงของพวกเขาก็พร้อมเป็นสีอื่นเพื่อปลอบใจเราได้เสมอ

 

 

แฟชั่นที่ถูกนำมารวมกับแนวเพลงอินดี้-ป๊อปร็อก 

อย่างที่รู้กันว่า De Flamingo นอกจากเรื่องบทเพลงและแนวดนตรีที่โดดเด่นแล้ว อีกหน่ึงสิ่งที่ทำให้ผู้คนสนใจคือเรื่องแฟชั่นของวง เราจะเห็นว่าโบนัสมักทำสีผมจัดจ้านอยู่บ่อย ๆ รวมถึงสมาชิกคนอื่นที่แต่งตัวเก่งแถมมีแนวที่ต่างกัน จึงทำให้เราอยากรู้ว่าทำไมถึงเป็นผู้ชายชอบแต่งตัว คิดว่าแฟชั่นจะมากลบดนตรีของวงหรือไม่ 

โบนัส: เราไม่คิดว่าแฟชั่นจะมากลบดนตรีเลยครับ พื้นฐานความชอบของพวกเราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว สมมุติว่ามีเวลา 4 วัน ก็จะซ้อมวง 2 วันก็พอ จากนั้นก็เริ่มหาเสื้อผ้ากันแล้ว เราใส่ใจหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ว่าเป็นนักดนตรีแล้วก็ก้มหน้าก้มตาเล่นดนตรีอย่างเดียว เพราะทุกคนมาดูเราแสดงสดเค้าไม่ได้ใช้หูฟังเท่านั้น แต่คนดูจะมองเห็นว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร พวกเราก็เลยตั้งเป้าหมายชัดเจนไว้ว่า

“De Flamingo จะนำเสนอทั้งเสียงเพลงกับภาพไปพร้อม ๆ กัน ให้น้ำหนักทั้งภาพและเสียงให้เท่ากันเท่าที่พวกเราจะทำได้” 

คิดว่าแฟชั่นทำให้วงโดดเด่นกว่าวงอื่นที่มีแนวดนตรีเดียวกันไหม ? 

โบนัส: ไม่มองว่าเป็นความเด่นนะครับ แต่จะมองว่า De Flamingo ทำให้ผู้ฟังมีทางเลือกมากขึ้น อย่างบางคนฟังเพลงป๊อปร็อกกับภาพจำสีดำหรือเทามาตลอด อยู่ ๆ ก็มีสีชมพูขึ้นมาให้เลือกพร้อมกับสร้างบทเพลงที่เข้าใจคนฟังพร้อมกับถามพวกเขาว่า “เห้ย แกคิดเหมือนเราไหม ?” ให้คนฟังรู้ว่ามีเราที่เข้าใจเขา นั่นคือสิ่งที่เราให้กับคนฟังครับ 

แสดงว่าเรื่องแฟชั่นเป็นความชอบที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นเพราะต้องทำเพราะสร้างภาพจำให้คนฟัง

โบนัส: ปกติผมเป็นคนชอบแต่งตัว แถมวง Drive ที่ผมชอบก็แต่งตัวเก่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งผมรู้จักสไตล์การแต่งตัวที่ชื่อว่า Oversize แล้วผมก็แต่งแบบนั้น ตอนนั้นคนรอบข้างไม่เข้าใจหาว่าเอาชุดนอนมาใส่ เขาไม่เข้าใจ ไม่รู้จักการแต่งตัวแนวนี้แต่เราก็ยังดื้อแต่งมาเรื่อย ๆ จน Oversize เป็นเทรนด์ที่คนทั่วไปเริ่มรู้จัก แบรนด์เสื้อผ้าหลายร้านเริ่มเอาเสื้อสไตล์นี้มาลง ทำให้ผมมองว่าดนตรีให้แรงบันดาลใจแฟชั่น ในทางกลับกันแฟชั่นก็สร้างแรงบันดาลใจให้ดนตรีด้วยเหมือนกัน

ปอม: วง The 1975 เป็นวงดนตรีที่ผมชอบ Matt นักร้องนำจะเปลี่ยนทรงผมบ่อยมาก เปลี่ยนแนวอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเห็นทรงผมจากนิตยสารที่เพิ่งออกแล้วก็มาเจอ Matt ทำผมทรงเดียวกับในแมกกาซีนเลย นอกจากนี้ผมก็ชอบ Annie Clark จาก St. Vincent จะชอบดีไซน์โปรดักชันและเสื้อผ้าใหม่เกือบทุกรอบที่แสดง ทำให้คนดูไม่เบื่อ เป็นแรงบันดาลใจว่าภาพและเสียงมันต้องมาด้วยกัน ถ้าเราทำได้บ้างก็จะทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมไปกับเรามากขึ้น 

เคยคิดเล่น ๆ ไหมว่าจะมีคนสนใจเรื่องแฟชั่นเรามากกว่าผลงานเพลง

โบนัส: ผมคิดว่าคนฟังส่วนใหญ่ชอบเพลงของ De Flamingo มากกว่าแฟชั่นของวง เพราะเรื่องการแต่งตัวคนอื่นๆ แต่งตัวเก่งกว่าพวกเรามาก เราไม่ใช่เทรนด์แฟชั่นกระแสหลัก ด้วยเหตุผลนี้เลยทำให้ผมรับรู้ได้ว่าคนที่ชอบเราเขาชอบในเพลงของเราและวิธีการนำเสนอของเราจริง ๆ 

 

ความดื้อ “รั้น” เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคไปสู่จุดหมาย

“มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกเราจะได้ไปเล่น Festival ที่ต่างจังหวัด พอบอกว่าเป็นวง De Flamingo คนก็ไม่รู้จัก แล้วเพจก็โดนถล่ม เป็นเหตุการณ์หนักสุดที่วงเคยเจอมาเลย”

De Flamingo ก็เป็นวงดนตรีที่มีจุดเริ่มต้นคล้ายกับวงดนตรีอื่น ๆ ในช่วงที่ยังเป็นวงหน้าใหม่พวกเขาต้องเจออุปสรรคมากมายอย่างเช่นเรื่องงาน Festival ที่โบนัสเป็นคนเล่าให้เราฟัง 

โบนัส: พวกเราได้ไปเล่น Festival ต่างจังหวัด แล้วทางเพจที่จัดงานเขาใบ้คำให้คนทั่วไปเดาว่าวงที่จะไปเล่นมีอะไรบาง มีคำใบหนึ่งเขียนว่า D_ _ _ _ _ _ _ _ _ ขึ้นต้นด้วยตัว D มีเว้นวรรคเหมือนกับชื่อวงเราทุกอย่าง แต่พอเฉลยว่าเป็น De Flamingo คนก็ไม่รู้จัก แต่พวกเราก็เข้าใจนะครับว่าหลาย ๆ คนอาจจะเสียเงินมาเพื่อดูวงดัง ๆ มาดูวงที่เขาชอบหรือวงที่เขาคิดว่าเจอแล้วจะสนุก แต่กลายเป็นว่าต้องมาเจอวงหน้าใหม่ ตอนนั้นคอมเมนต์ถล่มเพจกระจาย

แล้วเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ทำอย่างไรกันบ้าง ?

โบนัส: ตอนแรกยังไม่รู้เรื่องพอตื่นมาก็มีคนทักมาเยอะมากว่า “สู้ ๆ นะ” บางคนก็บอกว่า “ไม่เป็นไรนะ” ก็ยังไม่เข้าใจว่าคืออะไรจนต้องเข้าโซเชียลกันถึงได้รู้ แล้วก็มาคุยกับวงเพื่อเช็กสภาพจิตใจของแต่ละคน แต่พวกเราก็ไม่เฟลอะไรนะครับ เพราะว่าเข้าใจและคิดว่าสิ่งเดียวที่ทำได้ในตอนนั้นคือต้องลุยต่อ ซ้อมต่อไปและทำอย่างไรก็ได้ให้คนสิบคนหรือเพียงหนึ่งคนชอบเราก็พอแล้ว แต่สุดท้าย Festival นั้นก็ยกเลิกไปครับ

 

การเติบโตของเหล่านกฟลามิงโก้

จากวงดนตรีที่เริ่มต้นในรั้วมหาวิทยาลัย เจอกับอุปสรรคมากมายไม่ว่าจะสมาชิกแยกย้ายกันไปทำตามฝัน เจอคอมเมนต์ที่บั่นทอนแต่ในความลำบากก็มีเรื่องราวดี ๆ ด้วยเช่นกัน การค่อย ๆ เติบโตของวงดนตรีรวมถึงการเปลี่ยนแปลงคืออีกหนึ่งสิ่งที่เราอยากรู้ว่า De Flamingo เปลี่ยนอย่างไร และพวกเขาคิดว่าตัวเองโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน

บีม: ตอนทำวงสมัยเรียนจะรู้สึกสนุกกับมันมากเพราะได้เล่นดนตรีทุกวัน แต่พอวงของเราจริงจังเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เราเริ่มมีเป้าหมายที่ชัดเจน

ปอม: สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่แค่ตัวเพลง แต่เราได้เรียนรู้ในด้านที่เราไม่ถนัด ตอนแรกเราไม่มีคอนเนกชัน ไม่รู้ว่าจะต้องเดินเข้าหาสื่ออย่างไร แต่เมื่อมีค่ายเขาจะพาเราไปยังที่ต่าง ๆ ที่ลำพังเราสี่คนไม่มีทางเดินไปถึงเองได้แน่นอน แถมยังได้ความสามารถในด้านอื่นนอกจากการทำเพลงมาด้วย 

โบนัส: ตอนสมัยทำวงแรก ๆ ผมเล่นกีตาร์อย่างเดียว แต่พอนักร้องนำออกไปผมต้องฝึกร้องเพลง ผมต้องขยับมาอยู่ข้างหน้าและต้องสื่อสารกับคนดูให้ได้ เพื่อนก็ต้องมาร้องคอรัสแทน ทุกคนมีภาระเพิ่มขึ้น แต่ความเหนื่อยก็แลกมาด้วยความรู้สึกดีอย่างครั้งหนึ่งมีคนเดินเข้ามาพูดกับผมว่า “พี่แม่งโคตรเท่!” หรือตอนที่ไปแสดงในมหาวิทยาลัยและได้เห็นผู้ชายที่พร้อมจะสนุกและกระโดดไปกับเรา สิ่งเหล่านี้สำคัญมากสำหรับเราสี่คน

“แฟนเพลงคืออีกหนึ่งไฟในการทำงาน ทำให้เราอยากทำเพลงให้ดีขึ้น”

หลังจากการนั่งคุยด้วยบทสนทนาหลายต่อหลายประโยค ทำให้ UNLOCKMEN รู้จักตัวตนของวง De Flamingo เพิ่มมากขึ้น ได้เห็นมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานที่กว่าจะออกมาเป็นบทเพลงเพลงหนึ่งมันไม่ง่าย เห็นแฟชั่นจัดจ้านของวงที่มาพร้อมกับความใส่ใจผู้ชมของเหล่าสมาชิกที่ทำให้เราเฝ้ารอวันที่จะได้รับฟังบทเพลงใหม่ ๆ ของพวกเขาอีกครั้ง

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line