Entertainment

NIHON STORIES: 5 หนังญี่ปุ่นโคตรเท่ที่ไม่ควรพลาดจากงาน JAPANESE FILM FESTIVAL 2020

By: TOIISAN February 4, 2020

หากพูดถึงสื่อความบันเทิงของญี่ปุ่นในมุมมองคนไทยคนส่วนใหญ่ ผู้คนมักนึกถึงแอนิเมชัน มังงะ บ้างก็กระโดดไปยังวงการเพลงทั้ง J-ROCK และไอดอลญี่ปุ่นกันเสียมากกว่า เพราะหลายคนมักมองว่าภาพยนตร์ญี่ปุ่นอาจมีสไตล์บางอย่างที่ไม่คลิกกับคนไทยส่วนใหญ่เท่าไรนัก

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านภาษา กิริยาท่าทาง แอกชัน หรืออะไรก็ตามที่ทำให้วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงนักดูหนังไทยกว้างเท่าซีรีส์เกาหลีหรือภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ แต่ก็ใช่ว่าเราจะนำมาตัดสินว่าไม่ดังแล้วจะไม่ดีหรือไร้คุณภาพได้

วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นเคยสร้างตำนานต่อโลกมาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งผลงานหลายเรื่องของผู้กำกับระดับตำนาน Kurosawa Akira (คุโรซาวะ อากิระ) กับเรื่อง Rashomon (1950) และ 7 Samurai (1954) ล้วนส่งให้เขาคว้ารางวัลอันทรงเกียรติอย่างรางวัลความสำเร็จตลอดช่วงชีวิตจากเวทีออสการ์ได้สำเร็จ หรือผลงานดราม่าโคตรสะเทือนใจของ Koreeda Hirokazu (โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ) ที่ทำหนังออกมาทีไรก็คว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลหนังเมืองคานส์อยู่เป็นประจำ จึงทำให้ UNLOCKMEN มั่นใจว่าช่วงนี้จะต้องมีหนังญี่ปุ่นน้ำดีออกมาให้เราได้ดูกันอย่างแน่นอน

การเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์ญี่ปุ่นทำให้คนที่ไม่รู้จักวงการหนังญี่ปุ่นมาก่อนเริ่มให้ความสนใจและ สำหรับประเทศไทยในปีนี้พวกเรามีโอกาสรับชมผลงานที่ยอดเยี่ยมทั้งหมด 14 เรื่อง จากงาน Japanese Film Festival 2020 กันอีกครั้ง UNLOCKMEN จึงคัดเลือกภาพยนตร์ 5 เรื่องในงานนี้มาเล่าสู่กันฟัง แนะนำให้ชาวเราได้พิจารณาดูว่าหนังเรื่องไหนน่าสนใจและอยากจะไปชมให้เต็มตาในโรงภาพยนตร์

 

THE FABLE

The Fable (2019) หรือในชื่อไทยว่า “โหดไม่ถามชื่อ” ภาพยนตร์แอกชันที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนชื่อเดียวกัน ผลงานที่สร้างสรรค์จากปลายปากกาของอาจารย์ Katsuhisa Minami (คัตสึฮิสะ มินามิ) เล่าเรื่องราวของ The Fable ชายผู้มีอาชีพเป็นนักฆ่ารับจ้างชื่อดังในวงการใต้ดิน เขาเก่งกาจ ชำนาญในศาสตร์ด้านการต่อสู้ รับฆ่าคนทุกแวดวงไม่ว่าจะเป็นยากูซ่า ตำรวจ นักการเมือง ดาราดัง และนักธุรกิจพันล้าน แถมไม่เคยผิดพลาดเลยแม้แต่ครั้งเดียว 

เขาคือดาวเด่นของวงการนักฆ่า การจ้างวานจึงเรียงมาให้เขาทำไม่เว้นแต่ละวัน The Fable สังหารคนอยู่ตลอด การเก็บแต้มครั้งนี้เพิ่มความพยายามของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่หมายหัวอยากจับเขามาเข้าตารางให้ได้ เหล่ามิตรสหายของนักฆ่าหนุ่มจึงเริ่มระแวงว่าหาก The Fable ยังคงรับงานแบบขันแข็งอย่างนี้ต่อไปสักวันหนึ่งข้างหน้าเขาจะต้องโดนจับได้แน่ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักฆ่ามือฉกาจเปลี่ยนไปตลอดกาล 

The Fable จึงถูกส่งไปกบดานอยู่แถบชนบท บ้านนอกที่ไร้ความวุ่นวาย ไร้การเดินทางแบบเบียดเสียด ไร้สีสันและจืดชืด เขาต้องถูกเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนบุคลิก เปลี่ยนกิจวัตรประจำวันและต้องปรับตัวให้เข้ากับ ‘สังคมคนธรรมดา’ ให้ได้เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งการเป็นคนธรรมดาในมุมมองของ Fable โคตรจะยากสำหรับเขา 

คนธรรมดาอาจมองว่าการเป็นมือปืนแม่งโคตรยาก 

แต่สำหรับ The Fable การเป็นคนธรรมดาคือสิ่งที่ยากแสนสาหัส 

ภาพยนตร์เรื่อง The Fable (2019) กำกับโดย Kan Eguchi (คัง เอกุจิ) และได้ Watanabe Yusuke (วาตานาเบะ ยูสุเกะ) นักเขียนบทจาก 20th Century Boys (2008), Gantz (2010), Joker Game (2015) และ Attack on Titan (2015) มาเล่าเรื่องราวของยอดมือปืนในฉบับคนแสดง ส่วนผู้ที่มารับบทเป็น The Fable คือนักแสดงชายชื่อว่า Okada Junichi 

 

MASQUERADE HOTEL 

“คดีฆาตกรรม นักสืบ และการสอบสวน” คือสิ่งที่ใคร ๆ ต่างก็รู้กันดีว่าชาวญี่ปุ่นสามารถเล่าเรื่องราวคดีปริศนาได้อย่างเก่งกาจ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนเรื่องยอดนักสืบจิ๋วที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เด็กจนโต หรือจะเป็นมังงะเรื่องอื่น ๆ ที่เดินเรื่องด้วยคดีฆาตกรรม งานวรรณกรรมพีค ๆ ของ Higashino Keigo (ฮิงาชิโนะ เคย์โงะ) อีกหนึ่งปรมาจารย์งานเขียนด้านสืบสวนสอบสวนที่เชี่ยวชาญจนได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมนักเขียนนิยายสืบสวน-สอบสวนญี่ปุ่นช่วงปี 2009-2013 ก็พอจะทำให้เราเห็นภาพว่าคนญี่ปุ่นเล่าเรื่องแนวนี้ได้เก่งกาจ แยบยลจริง ๆ 

Masquerade Hotel (2019) ดัดแปลงจากหนังสือในวรรณกรรมชุด Masquerade เล่ม “พิกัดต่อไปใครเป็นศพ ?” ของอาจารย์ Higashino Keigo เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์มคล้ายกระโดดออกจากหน้าหนังสือและมีชีวิตในจอภาพ โดยเล่าเรื่องราวคดีฆาตกรรม 3 ศพในกรุงโตเกียว โดยฆาตกรทิ้งปริศนาไว้ให้พวกตำรวจตามสืบจนรู้ว่าพิกัดต่อไปที่ฆาตกรจะก่อคดีอีกครั้งจะเกิดขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ท่ามกลางบรรยากาศลึกลับ ทุกสิ่งชวนน่าสงสัย เจ้าหน้าที่สืบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้จะต้องปลอมตัวเป็นพนักงานโรงแรมเพื่อไขคดีให้ได้ 

ชื่อของ Higashino Keigo สามารถดึงความสนใจของผู้ชมชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี เพราะงานของเขาให้ความสำคัญกับแรงจูงใจที่ทำให้ใครสักคนก่อคดีฆาตกรรมมากกว่ากลวิธีการฆ่า หรือการตั้งคำถามว่า “ฆาตกรฆ่าคนและอำพรางคดีอย่างไร ?” 

Masquerade Hotel ได้ Suzuki Masayuki (สึซึกิ มาซายูกิ) มานั่งแท่นผู้กับ แถมบทของนักแสดงนำก็ยังได้ Takuya Kimura (ทาคุยะ คิมูระ) มารับบทเป็นตำรวจที่ต้องปลอมตัวเป็นพนักงานโรงแรม ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่า ชื่อของเขาก็มีส่วนที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจวงกว้าง และกวาดรายได้กว่า 4,000 ล้านเยน ในประเทศญี่ปุ่น

 

SAMURAI SHIFTERS

ประวัติศาสตร์และรากเหง้าอันเก่าแก่ของญี่ปุ่นคือความเท่ที่ใคร ๆ ต่างก็ให้ความสนใจ โดยเฉพาะกับเรื่องราวของเหล่าขุนนางและนักรบโบราณ หลายคนต่างต้องเคยเห็นภาพความเท่ของซามูไร เห็นความแข็งแกร่งของโชกุน แต่สำหรับ Samurai Shifters นำเสนอเรื่องราวของยุคสมัยโบราณที่อาจทำให้ภาพเท่ ๆ ที่เคยเห็นกลมไปเลยเมื่อดูหนังเรื่องนี้ 

Samurai Shifters (2019) จะพาผู้ชมย้อนกลับไปยังเอโดะ พบเจอกับ Matsuidaira Naonori (มัตสึไดระ นาโอโนริ) ลูกหลานของ Tokugawa Ieyasu (โทกูงาวะ อิเอยาซุ) ไดเมียวผู้ยิ่งใหญ่ที่รวมญี่ปุ่นซึ่งแตกเป็นก๊กให้รวมเป็นหนึ่งได้สำเร็จ ผู้คนในยุคนั้นต่างเล่าขานตำนานของโทกุงาวะ เกรงกลัวอำนาจอันยิ่งใหญ่ของตระกูลนี้ แต่มัตสึไดระ นาโอโนริ ที่เป็นลูกหลานของโทกุงาวะกลับถูกโยกย้ายไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ มาถึง 7 ครั้ง

ขบวนเดินทางของขุนนางเป็นสิ่งที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง มีคนติดตาม มีซามูไรอารักขา แถมช่วงนั้นก็โดนโชกุนสั่งลดงบประมาณ เรื่องราวจุกจิกกับการเดินเท้าในยุคโบราณจะทำให้เราเห็นญี่ปุ่นในอีกมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ลืมเรื่องสู้รบไปได้เลย เพราะการเมืองและวิถีชีวิตอันแสนวุ่นวายของเหล่าขุนนางตกอับ ซามูไรที่กำลังจะโดนปลดเป็นสามัญชน และสาวงามนั้นก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน 

Samurai Shifters (2019) ภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์ผสมกับมุกตลกเจ็บ ๆ เรื่องนี้กำกับโดย Inudo Isshin (อิชชิน อินุโดะ) ที่เคยสร้างผลงานไว้ในหนังสงครามเรื่อง The Floating Castle (2012) โดยเขาเป็นผู้กำกับร่วมกับ Haguchi Shinju (ฮากูชิ ชินจิ) จับมือกันเล่าประวัติศาสตร์อันแสนดุเดือดช่วง 1590 

 

12 SUICIDAL TEENS 

ยังคงอยู่กับหนังดราม่าสยองขวัญกันอย่างต่อเนื่องกับภาพยนตร์เรื่อง 12 Suicidal Teens (2019) เรื่องราวของเด็กวัยรุ่น 12 คนตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองพร้อมกับนัดกันมาฆ่าตัวตายหมู่ในโรงพยาบาลร้าง แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นดังหวังเมื่อพวกเขาพบกับศพที่ 13 ในโรงพยาบาล

ไม่มีใครรู้ว่าร่างไร้วิญญาณนั้นเป็นใคร ทำไมถึงมาตายในที่ที่พวกเขานัดกันไว้ และจากสภาพศพที่ดูเหมือนว่าจงใจทำให้ดูเป็นการฆ่าตัวตายได้ก่อความหวาดระแวงให้กับ 12 คนที่เหลือว่าอาจจะมีฆาตกรปนอยู่ในกลุ่มก็เป็นได้ 

นอกจากเรื่องราวที่ชวนสงสัยและน่าตื่นเต้นที่ดำเนินเรื่องอยู่ในโรงพยาบาลร้าง ชีวิตที่แตกต่างกันของบุคคลทั้ง 12 คนซึ่งตัดสินใจนัดกันมาตายก็เต็มไปด้วยความน่าสนใจ บางคนเป็นเด็กนักเรียนฐานะธรรมดา บางคนเป็นลูกคุณหนู เป็นสาวแกล เป็นแยงกี้ ที่มีชีวิตและเรื่องราวที่แตกต่างกันไป สะท้อนสังคมญี่ปุ่นที่มีปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นญี่ปุ่นมากกว่า 250 คนในปี 2017 และถือว่ามีการเสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 30 ปี 

12 Suicidal Teens (2019) ดัดแปลงมาจากมังงะเรื่อง Juuni-nin no Shinitai Kodomotachi ของ Tow Ubukata (โทว อุบุคาตะ) ส่วนในภาพยนตร์ได้ผู้กำกับ Yukihiko Tsutsumi (ยูกิฮิโกะ สึสึมิ) นั่งแท่นควบคุมการเล่าเรื่องปริศนาครั้งนี้

 

MY DAD IS A HEEL WRESTLER 

“อาชีพนักมวยปล้ำ” ถือเป็นอาชีพที่ผู้คนในญี่ปุ่นให้ความสนใจ นักมวยปล้ำบางคนโด่งดังจนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ ด้วยเทคนิคที่แพรวพราว แอกชันที่สะกดผู้ชมจนอยู่หมัด เป็นไอดอลของเด็กผู้ชายญี่ปุ่น รวมถึงคาแรกเตอร์ที่ยืนอยู่ฝั่ง ‘พระเอก’ ทั้งหมดหล่อหลอมให้นักมวยปล้ำนามว่า Takashi Omura (ทาคาชิ โอมุระ) ขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการ

สิ่งหนึ่งที่ชายชาตรีในวงการมวยปล้ำต้องระวังที่สุดคืออาการบาดเจ็บจากร่างกาย ข่าวร้ายมาเยือนวงการอีกครั้งเมื่อดาวเด่น Omura ได้รับบาดเจ็บบริเวณเข่าขณะต่อสู้และทำให้เขาต้องลาวงการไปนานถึง 10 ปี และเมื่อเวลาที่แสนยาวนานผ่านไปเขาหวนคืนสู่วงการอีกครั้งในฐานะ ‘ตัวร้าย’ จากเสียงเชียร์กลายเป็นเสียงโห่ เขาก็ไม่คาดคิดว่าจะได้รับเสียงโห่ร้องก่นด่าเขา แถมลูกชายวัย 9 ขวบ ที่มองพ่อเป็นไอดอลมาตลอดก็บอกกับเขาว่า 

“ถ้าพ่อเป็นตัวร้าย ผมจะเกลียดพ่อ” 

การต่อสู้ของ Omura ในสิบปีให้หลังจึงไม่ได้มีแค่การต่อสู้ในสังเวียน แต่เขายังต้องต่อสู้กับตัวเองและสู้เพื่อครอบครัวไปพร้อมกัน 

My Dad is a Heel Wrestler (2018) บอกเล่าชีวิตครอบครัวและโลกของมวยปล้ำผ่านนักแสดงมวยปล้ำชื่อดัง Takashi Omura (รับบทโดย Hiroshi Tanahashi) กำกับโดย Fujimura Kyohei (ฟูจิมูระ โคโยฮิ) ที่ทำให้ผู้ชายแมน ๆ โดยเฉพาะถ้าใครที่เป็นพ่อคนแล้วได้ดูอาจน้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัว 

 

ภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องที่ UNLOCKMEN เลือกหยิบมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์คุณภาพที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 14 เรื่อง ในงาน Japanese Film Festival 2020 โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 7 -16 กุมภาพันธ์ (กรุงเทพฯ)  ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ส่วนใครที่อยู่ต่างจังหวัดก็สามารถเช็กตารางรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นจะย้ายไปฉายยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยได้ที่ Japanese Film Festival 2020 เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2563

ลองไปทำความรู้จักกับวงการหนังญี่ปุ่นให้มากขึ้นผ่านการรับชมภาพยนตร์ญี่ปุ่นกันครับผม

SOURCE: 1 / 2

 

เรื่องราวของวงการภาพยนตร์และแอนิเมชันญี่ปุ่นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

NIHON STORIES: KUROSAWA AKIRA ผู้กำกับหนังซามูไรที่กลายเป็นตำนานจำไม่ลืมของวงการหนัง

NIHON STORIES: จากนิยายกลายเป็นหนัง เมื่อพิษสุรา สาวงาม และจิตใจหลอมรวมให้เขา ‘สูญสิ้นความเป็นคน’

NIHON STORIES: “สายฝนสีดำในฤดูร้อนที่ฮิโรชิมะ” 74 ปี จากวันล่มสลายที่ก่อร่างสร้างใหม่หลังสงคราม

NIHON STORIES: 5 อันดับมังงะที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอด 51 ปี ของ SHONEN JUMP 

 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line