World

NIHON STORIES: SHIBARI การรัดรึงที่ก้าวผ่านเรื่องเพศ สู่ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัดจิตใจ

By: TOIISAN November 11, 2019

คุณเคยเห็นคนโดนมัดไหม? น่าจะเคย แล้วคุณเคยเห็นคนโดนมัดแล้วดูมีความสุขปนงดงามหรือเปล่า? คุณอาจสงสัยว่าเมื่อเรือนร่างถูกพันธนาการด้วยเส้นเชือกทบแล้วทบเล่า เนื้อถูกบีบ เรือนร่างถูกเน้น แล้วเราจะรู้สึกเป็นสุข รู้สึกงดงามหรือแม้กระทั่งรู้สึกราวกับถูกปลดปล่อยได้อย่างไร?

มนุษย์เราคงไม่อาจถูกปลดปล่อยจากการมัดได้ ถ้าไม่ได้รู้จักชิบาริ (Shibari) ศิลปะแห่งเส้นเชือกจากแดนอาทิตย์อุทัย และหากว่าคุณยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าชิบาริคืออะไร NIHON STORIES จะพาคุณดำดิ่งไปในศาสตร์และศิลป์นี้ไปพร้อม ๆ กัน

 

การใช้เชือกพันธนาการร่างกายเพื่อลงโทษ

จุดเริ่มต้นของการนำเชือกมาพันธนาการร่างกายมนุษย์ของชาวญี่ปุ่นไม่ได้เริ่มต้นมาจากเรื่องเซ็กซ์ แต่เริ่มมาจากการมัดเพื่อลงโทษ โดยใช้ศิลปะการป้องกันตัวแบบโบราณที่เรียกว่า โฮโจจุตสึ (Hojojutsu) มาพันธนาการนักโทษทั้งชาย-หญิง เชลยศึกต่างเมือง ตัวประกัน และภรรยาหรือบุตรสาวของขุนนางระดับสูงที่ทำความผิด ซึ่งการมัดจะเริ่มมีบันทึกแน่ชัดช่วงยุคมุโรมาจิ (Muromachi-jidai) แต่แพร่หลายมากในยุคเอโดะ

เหตุที่ต้องใช้เชือกมามัดแทนการจับผู้กระทำผิดยัดเข้าตารางเป็นเพราะญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นขาดแคลนทรัพยากรเหล็ก การใช้เหล็กต้องสงวนไว้สำหรับของจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ทำให้คุกแน่นหนามีไม่มากในญี่ปุ่น เชือกจึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแทนการขังนักโทษไว้ในลูกกรงเหล็ก 

จุดมุ่งหมายหลักของการมัดของชาวญี่ปุ่นสมัยโบราณคือ พยายามทำให้ผู้ถูกมัดรู้สึกอับอายคล้ายกับว่าถูกประจาน ผู้ถูกมัดจะรู้สึกทรมานและอยากได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการเร็ว ๆ ซึ่งการมัดเพื่อลงโทษจะสามารถแบ่งระดับความรุนแรงได้ 4 ขั้น ตามแต่โทษหนักเบา เริ่มจากระดับแรกคือมัดแล้วโบย ระดับต่อมาคือการมัดแล้วปาหินใส่ ระดับที่สามหนักขึ้นมาอีกด้วยการจับนักโทษมามัดเชือกให้แน่นมากขึ้นกว่าเดิม ให้ร่างกายงอเหมือนกุ้งจากนั้นนำไปแขวนเพื่อประจานให้อับอาย 

ส่วนระดับสุดท้ายจะต้องมัดให้แน่นหนาดิ้นไม่หลุดและทำให้ผู้ถูกมัดรู้สึกทรมานที่สุด แต่ต้องไม่ให้เชือกทำให้ร่างกายนักโทษถึงขั้นหลอดเลือดอุดตันหรือทำลายเส้นประสาท แม้ถูกมัดทิ้งไว้เป็นเวลานาน ซึ่งข้อบังคับเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการมัดเพื่อลงโทษของคนญี่ปุ่นสมัยโบราณก็มีกฎที่เคร่งครัด เป็นศาสตร์ที่ไม่ใช่การมัดอย่างไรก็ได้ตามใจ

เมื่อเวลาผ่านไปค่านิยมการมัดของชาวญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยน จากการใช้เชือกเพื่อลงโทษผู้ทำความผิดเริ่มประยุกต์เข้าสู่ความอีโรติกมากขึ้น เหล่าคุณชายจากชนชั้นสูงเริ่มมองหาความสนุกทางเพศจากการมัด มีการส่งคำเชิญนัดสังสรรค์เหล่าเพื่อนฝูง เพื่อรวมตัวกันดูการแสดงที่ใช้เชือกพันธนาการร่างกายของหญิงสาว วาดภาพลามก สำเร็จความใคร่ หรือแม้กระทั่งร่วมเพศกับหญิงสาวที่ถูกมัด เราจะเรียกการมัดประเภทนี้ว่า คินบากุ (Kinbaku) ที่ถูกประยุกต์มาจากการมัดนักโทษในยุคโบราณ 

 

จากการมัดเพื่อลงโทษสู่การมัดเพื่อความพึงพอใจทางเพศ

ยุคเอโดะถือเป็นช่วงเวลาที่เซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือต้องปกปิด ถือเป็นยุคทองของญี่ปุ่นทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และศิลปะ เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมไปจนถึงค่านิยมเปิดกว้างเรื่องเซ็กซ์

หลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมากไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์แกะไม้ชุงกะ (Shunga) ไปจนถึงบันทึกที่เขียนเรื่องราวของร้านยทสึเมยะ (Yotsumeya) หรือร้านเซ็กซ์ทอยสมัยเอโดะ มีทั้งยาชูกำลังไปจนถึงสินค้าสำหรับสร้างความพึงพอใจให้ทั้งชายหญิง ทั้งหมดเป็นเครื่องยืนยันถึงเรื่องเซ็กซ์เสรีสมัยเอโดะได้เป็นอย่างดี 

kinoko_shibari

เมื่อค่านิยมเรื่องเพศไม่ใช่สิ่งต้องหลบซ่อนหรือเหนียมอายเหมือนอย่างปัจจุบัน ทำให้ช่วงปลายยุคเอโดะมีงานศิลปะจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยเฉพาะภาพพิมพ์แกะไม้ชุงกะกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้รับความนิยมสูงมาก ๆ ในยุคเอโดะและปัจจุบันถูกพัฒนาจนมีชื่อใหม่ว่า เฮนไต (Hentai) เนื้อหาก็มีหลากหลายทั้งการเสพสังวาสของชายหญิงทั่วไป หญิงสาวกับหมึกยักษ์ การบังคับขืนใจ เซ็กซ์แบบหลายคน ไปจนถึงเซ็กซ์ที่ใช้เชือกมาพันธนาการ 

มรดกเกี่ยวกับค่านิยมทางเพศของยุคเอโดะตกทอดมาถึงช่วงทศวรรษที่ 1900 เมื่อชายคนหนึ่งนามว่าชิโน อิโต (Seiu Ito) สนใจถึงขั้นเรียกได้ว่าหมกมุ่นกับวัฒนธรรมเอโดะและเรื่องเซ็กซ์ที่มีพันธนาการมาเกี่ยวข้อง เขาเริ่มจริงจังกับความชอบของตัวเองมากขึ้นจนนำแรงบันดาลใจจากคินบากุมาใช้กับการแสดงละครคาบูกิหรือละครนอกที่ใช้นักแสดงชายทั้งหมดเป็นตัวเล่าเรื่อง เขาจับเรื่องเพศมามัดรวมกับการพันธนาการเพื่อลงโทษ จนมุมมองของการมัดร่างกายมนุษย์เริ่มเปลี่ยนไป

อิโตนำเสนอการมัดนักโทษเพื่อทรมานมาผสมกับเซ็กซ์แหวกแนว ผสานความทรมานเข้ากับงานศิลปะ เขาชื่นชอบการนำเชือกไปมัดหญิงสาวมากหน้าหลายตา ทั้งโสเภณี นางแบบวาดรูปในคราบศิลปะ แม่บ้านที่ยินยอม รวมถึงภรรยาที่กำลังท้องของเขา

หญิงสาวแต่ละคนจะถูกมัดด้วยท่าทางต่างกันไป บางคนสวมใส่เสื้อผ้า บางคนเปลือยทั้งตัว ถูกจับห้อย ผสมผสานกับการใช้เซ็กซ์ทอยชนิดต่าง ๆ เข้าฉากด้วย จากนั้นเขาก็วาดภาพพวกเธอและถ่ายรูปเก็บไว้ 

ปี 1960 อิโตนำภาพถ่ายหญิงสาวเปลือยที่ถูกพันธนาการด้วยมือของเขาไปตีพิมพ์บนนิตยสารฉบับหนึ่งชื่อ Great Tokyo Air Raid การตีพิมพ์ครั้งนี้ทำให้อิโต ถูกจับตามองจากบรรดานักวิจารณ์ศิลปะและได้รับความสนใจจากคนทั่วไป รวมถึงกองเซนเซอร์ของญี่ปุ่นที่ตะลึงพรึงเพริดกับผลงานของเขา

หลาย ๆ คนไม่ยอมรับศิลปะของอิโต มองว่านี่ไม่ใช่ศิลปะแต่เป็นการจับหญิงสาวมามัดเพื่อสนองความพึงพอใจของตัวเองเท่านั้น แต่ถ้าคนที่ชื่นชอบเหมือนกับอิโตมองว่านี่คือศิลปะที่ต้องใช้ความประณีตและระมัดระวังอย่างมาก เพราะไม่ใช่ว่าแค่หยิบเชือกมามัด ๆ แล้วจบไป แต่ต้องคิดถึงเทคนิคเมื่อพันธนาการว่าทำอย่างไรให้ไม่น่าเกลียด ลวดลายของเชือกบนร่างกายต้องสวยงาม ปมแต่ละปมต้องมีระยะห่างพอดี ผู้ถูกมัดจะต้องเชื่อใจคนมัด ส่วนคนมัดต้องคิดอย่างถี่ถ้วนว่ามัดอย่างไรนางแบบถึงไม่เจ็บ ระวังไม่ให้ผิดท่าจนเกิดอันตราย โดยตัวของอิโตเองก็เคยกล่าวถึงผลงานของเขาไว้ว่า

Yomikiri Romance magazine

“การแยกแยะระหว่าง ‘ศิลปะ’ กับ ‘ความหยาบโลน’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราสามารถตีความคำว่า ‘โป๊เปลือยหรืออนาจาร’ ได้กว้างดั่งมหาสมุทร” – Seiu Ito

สำหรับบางคนมองว่าผลงานของอิโตก้าวผ่านเรื่องทางเพศแต่นำเสนอความงามของการมัดแบบโบราณมากกว่า และชิโน อิโต ก็ถูกขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งการพันธนาการของยุคสมัยใหม่’

บางครั้งศิลปะลามกจากภาพพิมพ์แกะไม้อาจไม่เติมเต็มความสุขได้มากเท่าที่ควร คินบากุและการมัดของอิโตปรากฏอยู่ในหนังเอวีจำนวนมากของญี่ปุ่นเพราะตอบสนองความต้องการของชายที่มีรสนิยม BDSM โดยว่ากันว่าการถ่ายหนังผู้ใหญ่ใช้เชือกมัดร่างกายของญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1980 ก็ได้รับความนิยมมากพอจะทำให้การมัดร่างกายยังคงอยู่ไม่เลือนหายไปจนถึงปัจจุบัน 

ภาพยนตร์เกาหลีที่คว้ารางวัลในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากงาน BAFTA (British Academy of Film) เรื่อง The Handmaiden (2016) ผลงานกำกับของ Park Chanwook บอกเล่าเรื่องราวของคนญี่ปุ่นกับเกาหลีก็มีฉากเหล่าผู้ชายสังคมชนชั้นสูงใช้เวลาว่างนั่งฟังหญิงสาวอ่านหนังสือลามก หรือดูการแสดงทางเพศที่มีเชือกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ก็มีให้เห็นบ่อย ๆ ในช่วงปลายเอโดะและยังคงมีอยู่จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นว่าศิลปะในแบบที่อิโตพยายามสื่อยังคงผูกอยู่กับเซ็กซ์

 

ก้าวผ่านเรื่องเพศสู่ศิลปะและการเยียวยาจิตใจที่เรียกว่า SHIBARI 

Hunter Ryan

จุดเริ่มต้นจากการประยุกต์ศิลปะป้องกันตัวโฮโจจุตสึ (Hojojutsu) มามัดนักโทษ และใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความเริงรมย์ทางเพศอย่างคินบากุ เรื่องราวของเชือกที่รัดรึงร่างกายของคนญี่ปุ่นก็ถูกตีความหมายมากกว่าแค่เรื่องเพศอีกต่อไป เมื่อการพันธนาการที่เรียกว่าชิบาริ (Shibari) เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

เมื่อประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้จากสงคราม จักรวรรดิสุดยิ่งใหญ่ที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินล่มสลายลง การมัดนักโทษหรือเชลยศึกแบบ Kinbaku เพื่อจับกุมหรือเพื่อล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นเรื่องแสลงของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ บทบาทของมันจึงลดลงกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยที่อยู่ในโลกใต้ดิน เกิดการมัดแบบใหม่แตกแขนงออกมาเป็นชิบาริที่เน้นศิลปะมากกว่าเรื่องเพศ

community member Philipp Goeser

ชิบาริถือเป็นพันธนาการเพื่อศิลปะที่มีกลิ่นอายอีโรติก แต่จะไม่มีความทรมาน ไม่มีน้ำตา ไม่มีการบังคับขืนใจเหมือนอย่างการมัดเพื่อลงโทษแบบเมื่อก่อน เน้นไปยังศิลปะ ความบันเทิง และความสวยงามของสรีระของมนุษย์ แต่ก็ยังคงมีอารมณ์วาบหวามซ่อนอยู่ 

หากคินบากุคือการมัดเพื่อสนองความพึงพอใจของคนมัด ชิบาริก็ถือเป็นการมัดเกิดขึ้นจากความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย บางครั้งบางเวลาเจอเรื่องเครียดหรือปัญหาแก้ไม่ตกบางคนก็ติดต่อกับศิลปินที่ชำนาญเรื่องการมัดเพื่อขอให้เขามัดตัวเองอยู่นิ่ง ๆ สักครู่ เพราะช่วงเวลาถูกมัดทำให้มนุษย์มีเวลาอยู่กับความคิดของตัวเอง ลอยตัวอยู่กลางอากาศแต่ไม่ร่วงสู่พื้น จดจ่อกับความเจ็บปวดเล็กน้อยเวลาถูกมัดเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกอัดอั้นไปกับเชือกที่รัดทั่วร่าง

community member Philipp Goeser

community member Philipp Goeser

ไม่น่าเชื่อว่าการมัดที่หลายคนมองว่าจะต้องผูกกับเรื่องของเซ็กซ์กับความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่ชิบาริในอีกแง่มุมสามารถบำบัดจิตใจ เยียวยาความเครียดและให้สมาธิได้ ส่วนเรื่องของความเหมาะสมหรือความดีงามของสังคมก็คงสุดแล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละคน บางคนอาจไม่ชอบแต่ก็ไม่ใช่ว่าชิบาริจะเป็นเรื่องผิดศีลธรรม หากมีคุณค่ากับจิตใจของใครหลายคน

ศาสตร์ของการมัดเชือกบนร่างกายมนุษย์เพื่อลงโทษหรือเพื่อความบันเทิงทางเพศถือเป็นเพียงแค่ส่วนย่อยของวัฒนธรรมที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกใต้ดิน เหมือนกับวัฒนธรรมการอ่านหนังสือเฮนไตเริ่มจากคนกลุ่มเล็ก ๆ หรือวัฒนธรรมที่เคยไม่เป็นที่รู้จักแต่ปัจจุบันโด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Hiphop มาจนถึงการมัดแบบชิบาริจากการมัดของนักโทษสู่ศิลปะและการบำบัด ทั้งหมดล้วนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของรสนิยมของมนุษย์ที่มีแตกต่างหลากหลายกันไปตามรสนิยม 

สำหรับใครที่สนใจชมศิลปะแห่งการรัดรึงและปลดปล่อยอย่างใกล้ชิด เราอยากชวนมางาน Shibari Workshop x Garage : “Freedom From Bondage”  นอกจากดื่มด่ำ Shibari Live Performance ศิลปะแห่งเส้นเชือกและเรือนร่างแบบใกล้ชิด ยังมีวงสนทนาว่าด้วยความสัมพันธ์ การผูกมัดและอิสรภาพกับ “Unnamedminor” และ “ลูกแก้ว-โชติรส” รวมถึงดื่มด่ำดนตรีจาก Stoic ใน GARAGE Live Session แบบเอ็กซ์คลูซีฟ

 

SOURCE 1 / 2 / 3 / 4 / 5

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line