Guide

จบมาไม่จน: รู้จัก “เผยอิง” สถาบันอายุเฉียด 100 ที่ผลิตเจ้าสัวมากที่สุดในประเทศไทย

By: anonymK December 28, 2018

“Your education begins when you leave school. Not when you’re in school.”

แม้ประโยคข้างต้นของ Robert Kiyosaki มหาเทพผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรวยและสร้างไบเบิลเรื่องการลงทุนอย่าง “Rich Dad Poor Dad” จะเป็นสิ่งที่เราเห็นด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนใน “โรงเรียน” ยังคงเป็นปัจจัยหนุนนำที่ช่วยให้การเรียนรู้และดำเนินชีวิตจริงง่ายขึ้น

นั่นจึงไม่แปลกที่เมื่อบางสถาบันมีการชุมนุมของคนเก่ง คนรวยโดยไม่ได้นัดหมายสร้างผลผลิตเป็น “เจ้าสัว” ระดับตำนานหลายคนในเมืองไทย จะเป็นเหมือนสถานที่ที่สร้างสปอตไลต์ส่วนตัวให้ใครก็อยากส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน

จากนี้ไป UNLOCKMEN ขอพาคุณไปรู้จักกับโรงเรียนถิ่นเจ้าสัวไทยที่ได้รับการขนานนามว่าผลิต “เจ้าสัว” มากที่สุดในเมืองไทยให้คุณรู้จักและลองชั่งตวงวัดในใจว่าคุณอยากส่งคนรอบข้างไปเรียนสถานที่แห่งนี้หรือไม่ “โรงเรียนเผยอิง”

เปิดรั้วโรงเรียนจีน

แน่นอนว่าศัพท์ “เจ้าสัว” ไม่ใช่คำใช้เรียกคนรวยไทย และชื่อ “เผยอิง” อ่านก็รู้ได้ทันทีว่าไม่มาจากคำไทยแท้ จุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรียนแห่งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ได้เน้นความเป็นไทยขนาดนั้น แต่ตั้งใจให้เป็นสถานที่สำหรับส่งบุตรหลานชาวจีนในแผ่นดินไทยเข้ามาเรียนเพื่อสร้างความแน่นแฟ้น เพราะเลือดมังกรไม่ว่าหยดอยู่ในแผ่นดินไหนก็ยังคงเข้มข้น ถ้าไม่ใช่รูปแบบของโรงเรียนเราจะมองเห็นสมาคมแซ่ต่าง ๆ ที่ตั้งกระจายตัวอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งก่อตั้งมาเพื่อสนับสนุนเหตุผลใกล้เคียงกัน

โรงเรียนเผยอิงสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2459 หรือในสมัยของรัชกาลที่ 6 จากการระดมทุนของชาวจีนแต้จิ๋วในไทย ที่ได้พ่อค้าจีน 5 คน ได้แก่ พระอนุวัติราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) เชียวเกียงลิ้ง ตั้งเฮาะซ้ง โค้วปิ้ดจี๋  และกอฮุยเจียะ เป็นแกนนำรวบรวมและสร้างอาคารขึ้นจากงบประมาณทั้งหมด 3 แสนบาทโดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 4 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์

เคลือบน้ำข้าวแต่เข้มข้นพันธ์ุมังกร

เอกลักษณ์หนึ่งที่น่าสนใจของเผยอิงคือการออกแบบรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่คนไม่เคยเห็นอาจเข้าใจได้ว่าเป็นโรงเรียนคริสต์ แต่ความจริงด้านในอัดแน่นด้วยสาระความเป็นจีนแบบเน้น ๆ ชนิดที่นำครูจีนเดินทางเข้ามาสอนและวางหลักสูตรการเรียนแบบเดียวกันจีน จึงทำให้การเรียนโน้มไปทางจีนมากกว่า นักเรียนทุกคนต้องเรียนภาษาจีนถึง 6 ชั่วโมงขณะที่เรียนภาษาไทยเพียง 1 ชั่วโมง

Credit Photo: kiddymaster.com

นอกจากการเรียนที่มาจากต้นตำรับ เหตุผลที่เราสันนิษฐานได้ว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะจะสร้างพญามังกรขึ้นในไทยยังมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน

  1. ค่าเทอม 3 บาท : เดิมครั้งแรกเผยอิงเปิดให้เข้าเรียนฟรี แต่เมื่อคนต้องการเข้าเรียนเพิ่มขึ้นจึงเก็บค่าเทอมขึ้นในราคา 3 บาทที่ถือได้ว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลในยุคนั้น คนที่มีเงินจ่ายเข้ามาเรียนจึงต้องมีพื้นฐานฐานะทางครอบครัวที่ดี
  2. นักเรียนชายล้วน : ก่อนจะเป็นโรงเรียนสหศึกษาอย่างทุกวันนี้ด้วยระบบสังคมชายเป็นใหญ่ของจีน โรงเรียนเผยอิงยุคแรกจึงเปิดให้สมัครเข้าเรียนเฉพาะเด็กผู้ชายเท่านั้น ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็น “เจ้าสัว” มากกว่า “เถ้าแก่เนี้ย”
  3. ฐานคอนเนคชั่นและการรับวัฒนธรรมการค้าขาย : คนจีนขึ้นชื่อว่าคล่องเรื่องการค้าขายอยู่แล้วและเรื่องการรักษาคอนเนคชั่นก็ถือว่าสุด ดังนั้นพอทั้งหมดเข้ามารวมกันอยู่ในนี้ ไม่เพียงแค่ความรู้เท่านั้นที่ได้ แต่ศิษย์เก่าทั้งหลายจะมีโอกาสได้เกื้อกูลการทำธุรกิจและช่วยเหลือกัน นับว่าเป็นการกรุยทางสู่ความเป็น “เจ้าสัว” ให้ง่ายขึ้น
หนึ่งในเจ้าของที่มา “เรียบร้อยโรงเรียนจีน”

ใครเคยได้ยินวลี “เรียบร้อยโรงเรียนจีน” ความจริงที่มาของมันหมายถึงการ “ปิดโรงเรียนจีนทั่วประเทศไทย” ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น (พ.ศ. 2482) เพราะรัฐบาลในอดีตไม่ค่อยลงรอยกับจีนเท่าไหร่เนื่องจากอยู่ในภาวะสงครามที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งแน่นอนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับจีนรวมถึงโรงเรียนก็ร่วงเป็นโดมิโน่ โรงเรียนเผยอิงเองก็โดนหางเลขนี้เช่นกันด้วยเหตุผลการปิดเพราะทำผิดระเบียบการดำเนินกิจการโรงเรียนโดยการเลิกจ้างครูใหญ่คนไทย

ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ โรงเรียนเผยอิงจึงกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง และเริ่มต้นสอนภาษาจีนควบคู่กับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการนับแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับศิษย์เก่าที่เข้าเรียนแล้วได้ดิบได้ดีเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมมีหลายคน เช่น อุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนครและมูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง, เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ หรือ เจ้าของเบียร์ช้าง, อากู๋ -ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด, อนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นต้น

ทุกวันน้ีแม้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้นและเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ไปจากการสอนและหลักสูตรเดิม แต่ความเก๋าของ “เผยอิง” ที่ทำให้อยู่มา 90 กว่าปีจะเฉียดร้อย ถ้าเป็นคนคงต้องเรียกว่าอากงก็ยังไม่หายไปไหน ใครอยากไปสัมผัสพื้นที่ประวัติศาสตร์หรือโรงเรียนเจ้าสัวก็ลองแวะไปดูความสง่างามกันได้แถวถนนทรงวาด ย่านเยาวราช

นอกจากนี้เขาว่ากันว่ายังมีทีเด็ดตั้งด้านหน้าโรงเรียนด้วย คือ ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ศาลเก่าแก่สำหรับสักการะเพื่อช่วยเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวย ชาว UNLOCKMEN คนไหนอยากเสริมดวงสิ้นปีนี้จนถึงต้นปีหน้าว่าง ๆ ไม่ได้ไปไหนก็ไปลองไหว้ขอพรกันดูได้ บอกก่อนว่างานนี้เราไม่ได้มาโฆษณาอะไรแต่คิดว่าจะลองไปไหว้ดูเพิ่มสิริมงคลทางใจเหมือนกัน

SOURCE: 1 / 2
ยุวดี ศิริ. ตึกเก่า – โรงเรียนเดิม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547

ขอบคุณภาพจาก: เว็บไซต์โรงเรียนเผยอิง

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line