Guide

คุยกับ BEERCYCLOPEDIA “ในวันที่คราฟต์เบียร์ตก (ลงสู่) กระป๋อง” มันดีกว่าแบบขวดยังไง และทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

By: unlockmen July 17, 2017

ในวันที่ตลาดคราฟต์เบียร์ในไทยกำลังก้าวไปข้างหน้าและมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นทุกที คราฟต์เบียร์ที่บรรจุมาในขวดขนาดกะทัดรัดที่เราเห็นกันจนชิน ก็เริ่มเผยโฉมใหม่ในรูปแบบกระป๋องให้เราเห็นกันมากขึ้น โดยเฉพาะคราฟต์เบียร์ที่มาจากต่างประเทศที่มาในรูปแบบกระป๋องที่ทั้งสวย ทั้งน่าคว้ามากระดกจนเราแทบอดใจไม่ไหว

แต่ UNLOCKMEN ก็เชื่อว่าทุกคนคงสงสัยพอ ๆ กันว่าทำไมเบียร์ถึงต้องมาในรูปแบบกระป๋อง ทั้ง ๆ ที่ดื่มจากขวดก็ดีอยู่แล้ว วันนี้ UNLOCKMEN เลยถือโอกาสชวน BEERCYCLOPEDIA สารานุกรมของคนชอบเบียร์ มาให้คำตอบชัด ๆ กันไปเลยว่า “ในวันที่คราฟเบียร์ตก (ลงสู่) กระป๋อง” ทำไมถึงต้องเป็นแบบนั้น?

BEERCYCLOPEDIA: เมื่อประมาณเกือบ ๆ 3 ปีก่อน ผมเคยเขียนเรื่อง ขวด VS กระป๋อง โดยมีเนื้อหาที่บอกเล่าและอธิบายถึงความแตกต่างของบรรจุภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภท และทิ้งท้ายในทำนองทำนายทายทักว่าในอนาคตผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ในต่างประเทศจะหันมาใช้กระป๋องมากยิ่งขึ้น และแล้วไม่นานคำทำนายนั้นก็เริ่มเป็นความจริง

ปัจจุบันผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายใหญ่อย่าง Stone Brewing Co. , Brewdog, Sierra Nevada, Founders Brewing Co. , To Ol, Evil Twin, Modern Times, Hitachino Nest และอีกหลายเจ้า เริ่มหันมาใช้บริการของกระป๋องมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออย่างหนึ่งในเบียร์ที่ดีที่สุดในโลก และหนึ่งในเบียร์ที่ดีที่สุดในชีวิตที่ผมเคยดื่มอย่างเจ้า The Alchemist : Heady Topper ก็เลือกที่จะใช้กระป๋องเป็นบรรจุภัณฑ์หลัก

นั่นก็เพราะ “กระป๋อง” รักษาคุณภาพและรสชาติของเบียร์ได้ดีมากกว่า “ขวด” แต่อย่างไรนั้น เดี๋ยวผมจะลองอธิบายแบบสนุก ๆ ให้ฟังครับ

“แสง”ศัตรูตัวร้ายของเบียร์ที่ขวดอาจป้องกันให้คุณไม่ได้

BEERCYCLOPEDIA: อย่างที่ผมเคยเล่าเรื่องของศัตรูตัวสำคัญที่ทำร้ายทำลายรสชาติของเบียร์ให้เสียไป อันดับแรกก็คือ “แสง” ซึ่งแสงในที่นี่นั้นไม่ใช่แค่เพียงแสงแดดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดไฟบ้านเรา ๆ นี่เอง เพราะหลอดไฟแบบนี้ก็มีรังสี UV ที่คล้ายกับแสงจากดวงอาทิตย์เช่นกัน

เมื่อแสง UV ทำปฏิกิริยากับสารประกอบของฮ๊อปส์ ก็จะเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือที่เรียกว่ากลิ่น “สกังค์” นั้นเอง (ขออนุญาตไม่ลงลึกเรื่องของ off-flavor นะครับเดี๋ยวจะพากันงง 555) ซึ่งปัญหานี้ผู้ผลิตเบียร์ทราบกันดี นั้นทำให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์นิยมเลือกใช้ขวดสีชา แทนที่จะเป็นขวดเขียว หรือขวดใส เพราะขวดสีชานั้นสามารถป้องกันรังสี UV ได้ดีกว่าสีอื่น ๆ

แต่เมื่อเราเปรียบเทียบกันระหว่างกระป๋องและขวดนั้น แน่นอนว่ากระป๋องย่อมกินขาดเรื่องการป้องกันรังสี UV เพราะกระป๋องเบียร์มีลักษณะทึบแสงสนิท โอกาสที่จะเกิดกลิ่น “สกังค์” นั้นเรียกได้ว่าแทบจะเป็นศูนย์

อ็อกซิเจนก็ร้ายทำลายกลิ่นเบียร์ได้

BEERCYCLOPEDIA: ศัตรูตัวต่อมาคืออ็อกซิเจน ซึ่งจะทำให้เบียร์เกิดปฏิกิริยา Oxidation ต่อน้ำเบียร์ โดยเบียร์จะมีกลิ่นที่เปลี่ยนไปชัดเจน จะมีกลิ่นคล้ายกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าหรือกลิ่นลังกระดาษเก่า (นึกถึงกลิ่นลังลีโอตอนเด็ก ๆ)

รวมไปถึงการสูญเสียไปของคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เบียร์ซ่าน้อยลงอีกด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอากาศมีโอกาสจะเข้าได้จากทาง “ฝาเบียร์” แต่กระป๋องนั้นถูกออกแบบมาให้ลดการเกิดปฏิกิริยา Oxidation โดยตรง โดยจะสั่งเกตุว่า อาหารกระป๋องนั้นสามารถเก็บรักษาได้ยาวนานหลายปี เบียร์ก็เช่นกันที่จะมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดปฏิกิริยา Oxidation ผ่านการบรรจุกระป๋องอย่างมีมาตรฐาน

อุณหภูมิของเบียร์: ความสำคัญที่คนมองข้าม

BEERCYCLOPEDIA: ศัตรูอีกตัวที่มีผลอย่างมากต่อเบียร์นั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ นั้นก็คือจากร้อนไปเย็น หรือจากเย็นไปร้อน หลายคนอาจจะงงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร นึกแบบนี้ครับ มีร้านเบียร์หลายร้านที่ปิดตู้เย็น หรือดึงปลั๊กตู้เย็นออกทุกวันหลังปิดร้านเพื่อเป็นการประหยัดไฟ ข้อนี้ไม่ว่าจะขวดหรือกระป๋องก็จนปัญญาครับ พังพินาศพอกัน

ต่อมาก็คือเรื่องของการนำอุณหภูมิ หรือเรียกง่ายๆว่า เบียร์กระป๋องเย็นเร็วกว่าเบียร์ขวด อันนี้ก็ชัดเจนครับ เพราะโลหะนำความเย็นได้ดีกว่าแก้วแน่นอน และเนื้อกระป๋องเองนั้นก็มีความบางกว่าเนื้อของขวดแน่นอน นั้นทำให้ความเย็นสามารถเข้าถึงน้ำเบียร์ได้เร็วกว่า

น้ำหนักและความปลอดภัย เรื่องใหญ่ที่เราหลงลืม

BEERCYCLOPEDIA: นอกจากกระป๋องจะช่วยรักษาคุณภาพของน้ำเบียร์ได้ดีกว่าขวดแล้ว กระป๋องยังมีข้อดีอื่น ๆ อีก เช่นกระป๋องมีน้ำหนักที่เบากว่าขวดมาก (เมื่อเทียบในปริมาณน้ำเบียร์ที่เท่ากัน) นั้นทำให้สะดวกในการขนส่ง สะดวกต่อผู้บริโภคของเราเวลาแบกกลับบ้าน หรือจะหิ้วเบียร์ไปดื่มที่ไหนก็เบากว่า

เรื่องของความปลอดภัยก็เป็นอีกเรื่องที่กระป๋องเอาชนะขวด เพราะขวดแก้วเมื่อแตกก็อาจจะบาดหรือสร้างความบาดเจ็บได้ ถามว่ากระป๋องสามารถไหม ก็เป็นไปได้ครับ แต่คงน้อยคนมากที่โดนกระป๋องบาดถ้าไม่ใช่พวกมือซนจริง ๆ

ความงามและความสะดวกที่มาพร้อมกระป๋องอลูมิเนียม

BEERCYCLOPEDIA: ความสวยงาม อันนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคลครับ แต่หากเทียบกันจริงๆแล้ว กระป๋องจะมีพื้นที่ในการใส่โลโก้ ส่วนผสม คำอธิบายและอื่น ๆ ได้มากกว่าขวดประมาณ 30% เพราะสามารถใช้พื้นที่ในการออกแบบได้เกือบทั่วกระป๋อง ต่างจากขวดที่ทำได้เพียงฉลากเท่านั้น และกระป๋องยังทนทานต่อการเอาไปแช่ในถังน้ำแข็งอีกด้วย ใครที่เคยไปเที่ยวแล้วเอาเบียร์ขวดแช่ถังน้ำแข็งคงทราบดีว่าพอดื่มไปได้สักหน่อย จะมีฉลากหลุดลอยเต็มถัง เรียกว่าเบียร์ปนกันมั่วไม่รู้ขวดไหนเป็นขวดไหน

ข้อต่อมาคือความสะดวกในการเปิด! กระป๋องไม่ต้องการที่เปิดขวด แต่ข้อนี้ขออนุญาตยกเว้นสายแข็งทั้งหลายที่สามารถใช้ไฟแช็ค, ขวดเบียร์อีกขวด, ช้อน, ฟัน, เบ้าตา หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายในการเปิดขวดได้นะครับ

ขอให้นึกถึงวันที่เรายังเป็นเด็กน้อยจะเปิดเบียร์สักขวดต้องไปงัดกันตัวรับของลูกบิดประตู เบียร์ก็พุ่ง ตัวรับลูกบิดก็แง้ม กว่าจะได้กินเบียร์ขวดนึงมันช่างดราม่ายิ่งนัก ข้อสุดท้ายที่ผมนึกออกคือกระป๋องช่วยลดพื้นที่ในการทิ้งขยะได้มากกว่าขวด เพราะเราสามารถเหยียบกระป๋องให้แบนก่อนทิ้งได้ แต่คงไม่มีใส่เหยียบขวดให้แหลกก่อนทิ้ง (ตีนแหกสิครับ)


บทสรุปแห่งเบียร์กระป๋องที่แทบไม่มีข้อด้อยเลย?

BEERCYCLOPEDIA: สำหรับผมที่ลองนั่งนึกคุณประโยชน์ของกระป๋องที่มีมากกว่าขวด ก็ได้ประมาณที่เล่าไปครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่ากระป๋องจะไม่มีข้อด้อยเลย โดยข้อด้อยที่ผมนึกออกคือเมื่อกระป๋องสามารถนำความเย็นให้เบียร์ได้ดีกว่าขวด ก็จะสามารถนำความร้อนได้ดีกว่าเช่นกัน โดยหากเราเอาเบียร์กระป๋องและขวดที่แช่เย็นแล้ว มาตั้งในอุณหภูมิห้องปกติ เบียร์กระป๋องจะอุ่นขึ้นเร็วกว่าเบียร์ขวด

ส่วนเรื่องของ “กลิ่นกระป๋องหรือกลิ่นเหล็ก” ที่หลายคนชอบพูดกันว่าเบียร์กระป๋อง ดื่มแล้วมีกลิ่นเหล็ก ก็ต้องถามว่าดื่มแบบไหน รินใส่แก้วหรือยกดื่มจากกระป๋อง เพราะหากยกดื่มจากกระป๋องจังหวะที่จมูกเกือบ ๆ ชนกระป๋องแล้วหายใจเข้านั้นย่อมได้กลิ่นกระป๋องแน่นอนไม่มากก็น้อย

แต่หากรินใส่แก้วแล้วยังได้กลิ่นเหล็ก ถามว่าเป็นไปได้ไหม ก็ตอบว่าเป็นไปได้ครับแต่น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตคราฟต์เบียร์จากอเมริกาหรือยุโรป เพราะปัจจุบันมาตรฐานในการบรรจุอาหารลงในกระป๋องนั้น ภายในกระป๋องจะถูกเคลือบด้วยพลาสติกบาง ๆ ก่อน เพื่อไม่ให้อาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆสัมผัสกับเนื้อโลหะโดยตรง สบายใจหายห่วงได้ครับ

แต่หากเป็นเบียร์ราคาถูก อาจจะไม่มีการเคลือบอะไรก็เป็นได้ แต่ก็ไม่น่าจะมีกลิ่นเช่นกันครับ เพราะหากน้ำคิดว่าน้ำเบียร์สัมผัสกับกระป๋องแล้วจะมีกลิ่น ทำไมเบียร์สดที่บรรจุเบียร์ในถังโลหะ เราไม่ได้กลิ่นเหล็กหรือกลิ่นอะไรเลย ?

เบียร์กระป๋อง ทางเลือกความหลากหลายและการทดลอง

BEERCYCLOPEDIA: มาถึงตรงนี้ก็ยังเชื่อว่ามีหลายคง ยังคงอยากดื่มเบียร์จากขวดอยู่ นั้นก็เพราะว่ามัน “เท่ห์” กว่ากระป๋อง ดูดีกว่าเวลาถ่ายรูป แต่หากเพื่อน ๆ คนไหนที่อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกรักและหวงแหนในรสชาติของน้ำที่อยู่ข้างในบรรจุภัณฑ์ ผมเชื่อว่าในครั้งต่อไปที่จะเลือกซื้อเบียร์จะลองพิจารณาเบียร์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋องดูบ้าง อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวคุณเองได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ครับ

ได้ความรู้ไปเต็ม ๆ อย่างนี้ BEERCYCLOPEDIA สารานุกรมของคนชอบเบียร์ ยังทิ้งท้ายว่า ขอให้ทุกคน “มีความสุข….ทุกครั้งที่ดื่มเบียร์” ใครอยากได้ทั้งความรู้ ความสุขและเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับเบียร์ที่รับรองว่าถูกใจทั้งในแง่สาระและความบันเทิง UNLOCKMEN ก็ขอบอกเลยว่าห้ามพลาด กดไลค์ กดติดตาม BEERCYCLOPEDIA สารานุกรมของคนชอบเบียร์ ไว้ไม่ผิดหวังแน่นอน

THANK YOU SPECIAL CONTRIBUTOR…

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line