Girls

“จิ๋มไม่ได้กลิ่นปลาเค็มเสมอไป ทุกคนล้วนมีกลิ่นพิเศษเฉพาะตัว”พญ.ขวัญชนก เพจน้องสาว

By: PSYCAT March 2, 2020

จิ๋มมีกลิ่นเหมือนปลาเค็ม?

เราอนุญาตให้คุณสารภาพมาที่นี่ ตอนนี้ ว่าคุณคือคนหนึ่งที่เคยคิด เคยเชื่อ เคยเล่นมุกตลกโปกฮาว่า “จิ๋มมีกลิ่นเหมือนปลาเค็ม” อาจเพราะฟังต่อ ๆ กันมา อาจเพราะเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ หรือเคยมีประสบการณ์ตรงกับกลิ่นปลาเค็มจากอวัยวะร่องแคบด้วยตัวเอง

แต่ไม่ว่าอย่างไหน SEX CONVERSATION วันนี้อยากกระซิบบอกคุณว่า ไม่! จิ๋มไม่ได้มีกลิ่นปลาเค็มเสมอไป “บางคนอาจมีจิ๋มกลิ่นปลาแซลมอนก็ได้” พญ.ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ หรือ คุณหมอน้ำอ้อย หมอเวชศาสตร์ครอบครัว ผู้เป็นแอดมินเพจน้องสาว (เพจที่ว่าด้วยเรื่องสุขอนามัยทางเพศของสาว ๆ ) บอกเราแบบนั้น และแน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีกลิ่นเฉพาะตัวแบบไหนก็ได้ สำคัญที่ว่าเรารู้จักกลิ่นของเราดีแค่ไหน? เราเคยสำรวจสุขภาพทางเพศของตัวเราเอง หรือคนที่เรารักหรือไม่?

จิ๋มไม่ได้มีกลิ่นปลาเค็มไปหมด, จิ๋มดำไม่เกี่ยวกับทำบ่อย, จิ๋มตดไม่ได้แปลว่าจิ๋มหลวม และอีกสารพัดเรื่องจิ๋ม ๆ ที่ผู้ชาย (และบางครั้งก็ผู้หญิงและอีกหลาย ๆ เพศ) เข้าใจผิด มาดำดิ่งไปใน (บทสนทนาว่าด้วย) จิ๋มและการดูแลสุขภาพทางเพศไปพร้อม ๆ กัน สัญญาว่าหลังอ่านจบ คุณจะเข้าใจจิ๋มขึ้นอีกเยอะ!

สำหรับสาว ๆ เราคงไม่ต้องแนะนำว่า “เพจน้องสาว” คือเพจที่ว่าด้วยอะไร แต่สำหรับหนุ่ม ๆ ที่รู้สึกว่าการรอบรู้เรื่องอวัยวะเพศหญิงเป็นสิ่งไกลตัว เราก็อยากเล่าให้ฟังว่าเพจน้องสาวคือเพจที่ว่าด้วยเรื่องจิ๋ม ๆ หลากหลายแง่มุม ทั้งสุขภาพอนามัย กิจกรรมทางเพศ การคุมกำเนิด และการดูแลตัวเอง โดยมี พญ.ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ เป็นหนึ่งในแอดมินคอยให้ความรู้และคำปรึกษา

นอกจากเป็นแอดมินเพจน้องสาวแล้ว คุณหมอน้ำอ้อยยังเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีที่จบแพทย์เฉพาะทาง และบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกด้วย

“สุขภาพทางเพศของผู้หญิงไทยต้องเจริญรุ่งเรือง” จุดเริ่มต้นเพจน้องสาว?

เชื่อว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่สงสัยเรื่องนี้ “อะไรคือจุดเริ่มต้นให้หมอสนใจเรื่องเพศ?” แล้วเรื่องเพศกับเรื่องทางการแพทย์มันมีจุดร่วมอยู่ตรงไหน? เราต้องไม่มองจิ๋ม มองจู๋ แยกเป็นอวัยวะเป็นชิ้น ๆ สิ หมอน้ำอ้อยบอกเราแบบนั้น เรื่องเพศแบบองค์รวม เรื่องเพศที่ทุกเพศต้องถูกพูดถึง ต้องได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกัน

เรารอฟังคำตอบจากเธออย่างตื่นตาตื่นใจ…

เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นสาขาเฉพาะทางอันหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก เพราะเป็นหมอเฉพาะทางด้านทั่ว ไป คนไทยจะรู้จักหมอเฉพาะทาง เฉพาะโรค เฉพาะอวัยวะ หัวใจ ไต ตับ แต่หมอเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลทั่ว ไป สามารถดูแลได้ทุกชิ้นส่วนอวัยวะ โดยที่ไม่ได้แบ่งว่าดูตา ดูตับ ดูไต ดูได้หมด ดูแลคนทั้งคน ดูด้านจิตใจด้วย

“เราก็เรียนหมอครอบครัวนี่แหละ ก็จะมีหนังสือที่ต้องอ่าน อารมณ์หนังสือนอกเวลาที่นอกเหนือจากสิ่งที่เราเรียน อย่างที่บอกว่าเราดูแลด้านจิตใจด้วย ดูชีวิตคนด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีคาบเรียนที่ให้อ่านหนังสือนอกเวลา เกี่ยวกับชีวิตคน การรักษาโรคในแอฟริกา

จนมีหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานกับครอบครัว มีบทหนึ่ง ที่เป็นบทว่าด้วยเรื่อง Sexual Problems โดยเฉพาะเลย บทก่อนหน้านั้นก็จะเป็นแต่งงาน การดูแลกลุ่มแต่งงาน การดูแลกลุ่มหย่าร้าง แล้วก็มีเรื่อง Sexual problems อันนี้”

“เราได้รับผิดชอบการพรีเซนต์ Sexual Problems บทนี้ เราอ่านแล้วก็เลยอิน พออ่านเลยได้รู้ว่าปัญหาเรื่องเพศเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการใส่ใจเท่าไหร่ เหมือนเราเองที่จบมา 6 ปี ที่เป็นนักศึกษาแพทย์ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นประเด็นที่หมอต้องไปดู ฉันก็แค่เรียนเรื่องจู๋ไม่แข็ง แค่เรียนเรื่องจิ๋มแห้ง มองสิ่งเหล่านี้เป็นโรค ๆ มองอวัยวะชิ้น ๆ แล้วก็จบ เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราต้องดู บ้านเรายิ่งเป็นสังคมที่ไม่ได้พูดเรื่องเพศอยู่แล้ว

Sex Therapist ก็ไม่มี พออ่านบทนั้นเลยเพิ่งรู้ว่าจริง ๆ มันเป็นหน้าที่ของเราด้วยนะที่จะต้องดูสิ่งเหล่านี้ เลยเป็นจุดที่เริ่มต้นสนใจเรื่องเพศ ระหว่างที่เรียนเฉพาะทาง 3 ปี ได้อ่านตอนปี 2 ต้น ๆ ระหว่างนั้นตอนปี 3 ก็มีไปดูงานที่ต่างประเทศเกี่ยวกับ Sexual Health แล้วก็ดูเรื่องความหลากหลายทางเพศ”

“สิ่งนี้ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าฉันอยากพัฒนาสุขภาพทางเพศของผู้หญิงไทย ให้เจริญรุ่งเรือง”

“ตอนนั้นเพิ่งรู้ว่างานดูแลเรื่องความหลากหลายทางเพศ เขาจะอยู่ในคลินิก Sexual Health เราเลยตั้งคำถามว่าทำไมในประเทศไทยไม่มี Sexual Health คลินิก? ในไทยมีแต่คลินิกสุขภาพเพศชายที่ดูเรื่องจู๋ไม่แข็ง ก็คือโรคจู๋ไม่แข็ง มีแค่นั้น แล้วคลินิกที่ดูเรื่องเพศแบบรวม ๆ อยู่ที่ไหน?”

“เราพยายามไปตามหา จนรู้มาว่า Sexual Health คลินิกก็มีในเมืองไทยนะ ที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์เขาไปจบ Clinical Sexologist มา จบด็อกเตอร์ เป็นคลินิกเพศแบบรวม ๆ ไม่แบ่งจู๋ ไม่แบ่งจิ๋ม เราก็เลยต่อยอด พอเราอยากรู้อะไรเราก็จะไปเรื่อย ๆ ไปดูงานที่คลินิก

เราชอบ รู้สึกว่ามันเป็นช่องว่างจริง ๆ มันเป็นการเติมเต็มการเป็นหมอครอบครัวที่เราได้เรียนมาด้วย แต่ตอนไปก็รู้สึกว่า แล้วทำไมไม่มีคลินิกสุขภาพเพศหญิง เราไปเสิร์ชกูเกิล มีขึ้น ก็มีแต่คลินิกผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน”

“เรื่องผู้หญิงที่ไม่เสร็จ ไม่เสียวดูไม่ถูกนำมาเป็นประเด็น ทั้ง ๆ ที่ มันก็เป็นโรคโรคหนึ่ง อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับเรื่องไม่แข็ง แต่ว่าเรื่องนี้ไม่เห็นมีใครพูดถึงในสังคมเลย เราไม่เคยรู้จักโรคนี้ด้วยซ้ำ จนได้เจออาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ สิ่งนี้ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าฉันอยากพัฒนาสุขภาพทางเพศของผู้หญิงไทย ให้เจริญรุ่งเรือง (หัวเราะ)”

“Sexual Health คลินิก” ไม่เสร็จ ไม่เสียว รักษาที่เดียวจบ

แม้แรงบันดาลใจ ความตั้งใจ และเจตนาที่ดีของคุณหมอจะชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณหมอเริ่มเห็นช่องว่างระหว่างไทยกับต่างประเทศ คือในไทยเรายังให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพทางเพศของผู้คนน้อยมาก น้อยแค่ไหน? น้อยถึงขั้นที่ต่างประเทศนั้นมีคลินิกที่ให้บริการคำปรึกษาทั้งโรคทางเพศ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่องไม่เสร็จ ไม่เสียวโดยเฉพาะ (ใช่แล้ว เรื่องไม่เสร็จ ไม่เสียว เราก็สามารถขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้ ไม่ต้องเสิร์ชหาเองแบบมั่ว ๆ) แต่ในไทยนั้นแทบไม่มี

“ของต่างประเทศเขาจะมีแพทย์เฉพาะทางอีกชื่อ ไม่ใช่นรีเวช แต่เป็นแพทย์ที่ดูเรื่องเกี่ยวกับเพศ เช่นว่าเขาไม่ได้ดูตกขาวที่เกิดจากมะเร็งปากมดลูก เขาไม่ได้ดูตกขาวที่มาจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์”

“ประเด็นคือสิ่งที่เขาบริการคือเรื่องยาคุมกำเนิด การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ HIV หนองใน สิ่งที่น่าสนใจของเขาก็คือเขาทำให้คนกล้าเข้าไปหาเขา เข้าถึงได้ง่าย สามารถเดินเข้าไปและนัดได้เลยโดยไม่ต้องบอกชื่อ เข้าไปหมอก็จะดูแลคนนั้น มีแค่หมอคนนั้นที่รู้เรื่องประวัติของคนนั้น แต่ประวัติเหล่านี้จะไม่เชื่อมไปที่โรงพยาบาลอื่น”

“ตอนนั้นเราไปที่อังกฤษ ระบบเรื่อง Digital System ของเขาค่อนข้างดี เวลาเราไปโรงพยาบาลหนึ่ง ทุกอย่างจะเชื่อมไปที่อีกโรงพยาบาล สามารถดูกันได้หมด แต่อันนี้สมมติว่าเรามีหมอครอบครัวประจำตัวเราอยู่ แต่เราเป็นหนองในและเราไม่อยากให้หมอครอบครัวของรู้

เราก็ไป Sexual Health คลินิก เพื่อให้หมอที่นั่นดูแลเราแบบไม่ต้องเปิดเผยชื่อได้ ดีตรงที่วัยรุ่นก็สามารถเข้ารับบริการได้โดยที่ไม่ต้องมีผู้ปกครองมาด้วย อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง”

“แต่มันก็มีอีกประเด็นที่เราสงสัยคือ Sexual Health คลินิกของเขาไม่เห็นดูเรื่องไม่เสร็จ ไม่เสียวอะไรเลย ในขณะที่เมืองไทยของอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ดูเรื่องไม่เสร็จ ไม่เสียว แต่ไม่ได้ไปแตะเรื่องยาคุม แตะเรื่องการติดเชื้อ เพราะสองอันนั้นจริง ๆ ในไทยมีหมอที่ทำอยู่แล้ว เช่น หมอเรื่องโรคติดเชื้อ หมอเรื่องนรีเวช  อาจารย์ก็เลยดูเรื่องไม่เสร็จไม่เสียว

“จนเราได้คำตอบว่าต่างประเทศเขามี Sex Therapist ที่เรียนมาให้บำบัดเรื่องไม่เสร็จ ไม่เสียวอยู่แล้ว แต่คือประเทศไทยยังไม่มีอะไรเลย เหมือนแม่โอทิส ในซีรีส์ Sex Education ใน Netflix นั่นแหละคือ Sex Therapist ซึ่งบ้านเราไม่มี”

เพศต้องพูด ยิ่งพูดเป็นปกติ ก็รักษาและดูแลตัวเองได้อย่างปกติ

นั่นสิ ทำไมเราถึงคุยเรื่องอื่น ๆ กันได้ แต่เรื่องเพศกับถูกบอกว่าไม่เหมาะ ไม่ควร ไม่ดี อยู่เสมอ การคุยเรื่องเพศไม่ได้หมายถึงการเชิญชวนให้ทุกคนมามีเพศสัมพันธ์กันเถอะ แต่คุณหมอมองว่าก็เหมือนเรื่องออกกำลังกาย หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เราต้องรู้วิธีที่ถูกต้อง ปลอดภัย แชร์อุปกรณ์ที่ดี แชร์วิธีการที่เหมาะสม คนไม่ชอบออกกำลังกาย เห็นโพสต์แนะนำท่าออกกำลังกายที่ถูกต้องก็คงไม่ได้อยากลุกไปออกกำลังกายเดี๋ยวนั้น

เรื่องเพศก็เช่นกัน มันคือการแชร์ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้อง มากกว่าการเชิญชวนและมันควรเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกคนจะได้ดูแลสุขภาพทางเพศของตัวเอง

“ถ้าไม่มีที่ให้คุยเรื่องเพศ คนก็ไปเสิร์ชกันเอง โดยหลับหูหลับตาคลำไป คนโชคดีก็ได้ข้อมูลที่ถูก คนที่โชคร้ายก็ไปหยิบได้อะไรก็ไม่รู้มา แล้วก็ไปลองกับชีวิตตัวเอง จะดีจะร้ายมันก็แล้วแต่ดวงเลย เรามองว่าส่วนหนึ่งเพราะว่าเรื่องเพศคุยไม่ได้ เลยต้องไปเสิร์ชหาเอง

แต่ถ้าเราคุยได้ เราคุยกับแม่ได้ แม่ก็พาไปโรงพยาบาลก็จบ แต่ถ้าไปบอกแม่ แล้วแม่ด่า เราก็จะคิดว่างั้นเราเสิร์ชเองดีกว่า พอเสิร์ชก็ไปเจอใครก็ไม่รู้ สมมติคนชื่อตะมุตะมิบอกให้ไปซื้อยาเหน็บ เราก็ลองไปซื้อยาเหน็บมาใช้กับตัวเองซึ่งมันไม่ดี”

“อันหนึ่งที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคืออยากให้เพจเราเป็นเครื่องมือให้คนสื่อสารกันให้มากขึ้น เช่น ส่งโพสต์ไปให้ดูว่าเรื่องนี้นะ พาไปฉีดวัคซีนหน่อย พาไปตรวจภายในกัน เป็นสื่อกลางที่ทำให้สื่อสารกับคนใกล้ชิดได้มากขึ้น จุดประสงค์เราไม่ได้ต้องการให้คนมาคุยในเพจหรือคุยในกลุ่มลับเพื่อที่จะได้ความรู้เรื่องนี้เท่านั้น”

“แต่หนึ่งเขาได้ความรู้ในการดูแลตัวเอง สองคือเขาเอาอันนี้ไปเป็นสื่อที่จะคุยกับคนอื่นได้มากขึ้นก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่คิดว่า ถ้าเราคุยกันได้มากขึ้น เหมือนที่คนอื่นคุยกันเรื่องการออกกำลังกาย เวลาคนออกกำลังกายเราก็ยังมาแชร์เลยว่าฉันทำอันนี้ ฉันซื้ออันนี้อันนั้นมา เอมพาวเวอร์กันและกัน ซึ่งช่วยให้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น อย่างน้อยมันได้มีวิธีที่เราเข้าถึงข้อมูลได้ว่ามันมีวิธีที่ดูแลตัวเอง ให้ดีขึ้นได้”

เล่าเรื่องสุขภาพทางเพศด้วยภาษาละมุนละไม ให้ความรู้และชวนคนมาดูแลตัวเอง

เวลาพูดถึงเรื่องเพศ เรามักนึกถึงภาษาโจ่งแจ้งความดุความเดือด อาจเพราะในสายตาคนส่วนใหญ่มักเหมารวมว่าเพศคือเรื่องแรง ๆ ข้ามเส้นแบ่งสังคมบางอย่าง แต่คุณหมอทำให้ทุกอย่างดูซอฟต์ลง เปลี่ยนภาพจำว่าเพศต้องพูดอย่างโฉ่งฉ่างเท่านั้น เพราะเพศสามารถพูดได้หลายน้ำเสียง หลากวิธี ไม่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ และคุณหมอเลือกใช้น้ำเสียงหวาน ๆ พาสเทล ๆ ทำให้ทุกคนเข้าถึงเรื่องเพศได้อย่างละมุนละไม

“หนึ่งคือพูดแบบไม่ลามก พูดให้มันเป็นเหมือนเรื่องธรรมดาทั่ว ๆ ไป ที่ผู้หญิงคุยกัน ตลกนิด ๆ หน่อย ๆ ได้เท่าที่จะทำได้ จะเน้นให้ใช้ภาษาที่ละมุนละไม ไม่โจ๋งครึ่ม หยาบคาย ซึ่งตอนเขียนก็ไม่ได้คิดมากหรอก แค่คิดว่าเราชอบภาษาแบบนี้ เราอยากอ่านประมาณนี้ ก็เลยเขียนไปแบบนั้น แต่กลายเป็นว่ามันดูเป็นซิกเนเจอร์ขึ้นมา ภาษาตะมุตะมิน่ารัก ๆ ของเรานี่คนดูชอบกันอยู่เหมือนกัน”

“จริง ๆ ไม่ได้มีแบบแผนว่าจะเล่าอะไรยังไง เคยตั้งแบบแผนไว้ว่า วันที่เท่านั้นเราจะพูดสิ่งนั่นสิ่งนี้ สุดท้ายก็ทำตามใจตัวเองตลอดเลย ก็เลยไม่มีกำหนด เรื่องที่เลือกมาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิดกันเยอะ แล้วก็อันดับที่สอง เราเลือกเขียนเรื่องที่ถ้ามีคนรู้แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพเขา อย่างเรื่องการล้างจิ๋ม หรือเรื่องอวัยวะแต่ละชิ้นมันเรียกว่าอะไร”

“อีกเรื่องเรื่องที่รู้แล้วจะดูแลตัวเองได้ดีขึ้น เช่น ให้ไปตรวจสุขภาพนะ ตรวจภายใน ตรวจ HIV เป็นประเด็นที่ภาครัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากนัก เขาจะไปที่กลุ่มเสี่ยงมากกว่า ซึ่งผู้หญิงมักจะถูกหมก ๆ ไว้

เหมือนประเทศเรามีงบประมาณจำกัด เราก็ต้องเอาไปลงที่กลุ่มเสี่ยงก่อน อันนี้ก็เข้าใจ แต่รู้สึกว่าในระดับบุคคลอย่างน้อยคุณควรจะรู้ว่าแค่คุณมีเซ็กซ์ครั้งเดียวโดยที่ไม่ได้ใส่ถุงยาง ก็ติดเชื้อได้แล้วนะ ไม่ใช่ว่าคุณต้องเป็นหญิงขายบริการ คุณถึงจะติดเชื้อ เพราะบางทีหญิงขายบริการเขารู้จักการป้องกันที่ดีมากกว่าด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น ผู้หญิงแทบไม่ค่อยได้รู้เรื่องนี้เลย เราเลยใส่เรื่องพวกนี้เข้าไปด้วย”

“จิ๋มตด-ฝ่าไฟแดง” คำถามยอดฮิตจากลูกเพจผู้ชาย

แม้กลุ่มเป้าหมายหลักของเพจน้องสาว และการสื่อสารเรื่องเพศเบื้องต้นจะเป็นผู้หญิง แต่เพราะในสังคมนี้ไม่ค่อยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ลูกเพจผู้ชายก็เข้ามาปรึกษาปัญหาคาใจเป็นจำนวนมาก เราเองเลยแอบถามหน่อยว่าคำถามไหนที่ลูกเพจหนุ่ม ๆ มักเข้ามาขอคำปรึกษามากที่สุด?

“อันหนึ่งที่แปลกใจที่ไม่คิดมาก่อนว่าจะมีคือเรื่องฝ่าไฟแดงจะท้องหรือเปล่า? มีเพศสัมพันธ์แล้วเมนส์มาจะท้องไหม? ซึ่งเลยแอบคิดอยู่เหมือนกันว่า วัยรุ่นเขาคิดว่าวิธีนี้คือวิธีการคุมกำเนิดหรือเปล่า?

คำตอบแบบว่าง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเลือดนั้นคือเมนส์จริง ๆ ก็ไม่ท้อง แต่ว่าถ้าเกิด แต่คุณจะเชื่อได้ยังไงว่าเลือดรอบนั้นคือเมนส์จริง? โดยเฉพาะคนที่เมนส์มาไม่สม่ำเสมอ อาจจะเป็นเลือดจากการติดเชื้อหรือข้างในมีการอักเสบ เสียดสี ถลอก เลือดไหลก็ได้ หรือมีติ่งเนื้อปากมดลูกที่ไปกระทบแล้วเลือดไหลได้ อยู่ที่มันอาจจะไม่ได้ออกแค่วันเดียวจนดูเหมือนเมนส์ก็ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นการที่มีเซ็กซ์ตอนเมนส์มาเพื่อคุมกำเนิด ไม่ควรใช้วิธีนี้ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือการติดเชื้อ มันก็ยังสามารถติดเชื้อได้อยู่ถ้าเราไม่ใส่ถุงยาง มีโอกาสที่จะเจอเลือด เจอปากแผลได้ง่ายขึ้น”

“ผู้ชายหลังไมค์ก็จะมีถามเรื่องตัวเองบ้าง ถามเรื่องแฟนเขาบ้าง เช่น เรื่องจิ๋มตด แฟนจิ๋มตด ช่องคลอดหลวมใช่ไหม? ผมต้องทำยังไงดี? ต้องใช้ยาไหม? เราก็ให้ข้อมูลไปว่ามันปกตินะ หรืออย่างผู้ชายที่เจอบ่อยก็คือ ทำแบบนี้จะท้องไหม?”

“อันนี้เยอะแฟนผมจะท้องไหม ต้องทำยังไง เรื่องท้องนี่เยอะ ทุกคนไม่ได้พร้อมจะท้อง เขาก็มีด้วยเหตุผลอื่น ๆ เขาไม่มีความรู้มากพอที่จะดูแลตัวเอง ไม่แน่ใจว่าแค่ความรู้อย่างเดียวหรือเปล่า อาจเป็นเรื่องการเข้าถึงการบริการ เช่น ถ้าเขาสามารถไปซื้อถุงยางได้ง่าย ๆ โดยไม่ถูกตัดสิน เขาก็อาจดูแลตัวเองได้

แต่บางทีไปซื้อถุงยางก็โดนมองว่าเด็กไป หรือว่าการฝังยาคุมก็เหมือนกัน เด็กวัยรุ่นอายุ 15 ปี จริง ๆ ตาม พ.ร.บ. คือเขามีสิทธิที่จะรับบริการการฝังยาคุมได้ แต่กลายเป็นว่าไปแล้วโดนมองแรง สุดท้ายน้องคนนี้ยังไม่ได้ฝัง แล้ว 3 เดือนผ่านไป สิ่งที่เขากลับมาถามเราก็คือ เขาจะท้องไหม หนูกินยาคุมฉุกเฉินไป ดังนั้นการให้ความรู้ก็ส่วนหนึ่ง แต่ไปถึงตรงนั้นแล้วก็อาจติดด้วยระบบ ซึ่งคงต้องแก้ไขกันต่อไป

ยิ่งสเกลใหญ่นโยบายก็ส่วนหนึ่ง คนทำงานจริงก็ส่วนหนึ่ง มันมีทั้งเรื่องความรู้และความเชื่อส่วนตัว อำนาจในตัวคนนั้นอีก ตอนนี้เราทำอะไรได้ก็ทำ”

“จิ๋มตดไม่ได้แปลว่าช่องคลอดหลวม มันเกิดจากหดขยายของกล้ามเนื้อ แล้วอาจจะมีลมผลุบเข้าไป”

“จิ๋มตดไม่ได้แปลว่าช่องคลอดหลวม มันเกิดจากหดขยายของกล้ามเนื้อ แล้วอาจจะมีลมผลุบเข้าไป พอลมผลุบเข้าไปแล้วกล้ามเนื้อหดขยายอีกรอบ มันก็อาจเกิดขึ้นได้ จิ๋มตดได้ ไม่ได้เกิดจากช่องคลอดหลวม และเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน”

“กิจกรรมที่มักจะทำให้จิ๋มตดก็คือเซ็กซ์ที่มีการสอดใส่แบบเร็ว ๆ แรง ๆ ซึ่งเหมือนปั๊มลมล้อรถจักรยาน นั่นแหละ เหมือนมันอาจมีจังหวะที่ลมผลุบเข้า แล้วปุ๊ดออกมาได้”

“ข้อสังเกตอีกอย่างก็คือท่าด็อกกี้ ซึ่งก็ปกติไม่ได้ผิดปกติอะไร เพียงแต่ถ้าจิ๋มตดแล้วดันมีกลิ่นที่เหมือนตดที่ออกมาจากรูก้น อันนี้อาจจะมีรูเชื่อมอะไรหรือเปล่า คือความผิดปกติที่ต้องไปหาหมอ แต่ถ้ามีจิ๋มตดร่วมกับอาการอย่างอื่น ช่องคลอดหน่วง มีฉี่เล็ด ฉี่ราด ก็อาจมีกลุ่มอาการมดลูกหย่อนซึ่งควรไปหาหมอ​

“อันนี้ฝากถึงผู้หญิงที่ไปใช้สมุนไพรมันไม่ช่วย ต้องไปหาหมอ อาจต้องขมิบร่วมด้วย เพราะเป็นเรื่องของกล้ามเนื้อ เหมือนออกกำลัง แต่ควรไปหาหมอตรวจให้ชัดเจนก่อน”

อาการมดลูกหย่อน คือมดลูกมันหย่อนลงมา สิ่งที่มันสัมผัสได้อย่างหนึ่งคือช่องคลอดหลวม ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนที่เคยคลอดลูกทางช่องคลอด คลอดเอง เบ่งอึนาน ๆ หรือยกของหนัก ซึ่งไม่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์บ่อย กล้ามเนื้อช่องคลอดมีลักษณะเฉพาะของมัน ใช้บ่อยได้เท่าที่ต้องการ”

จิ๋มไม่จำเป็นต้องเหม็น และไม่ได้มีกลิ่นปลาเค็มเสมอไป

ทันทีที่ถามถึงปัญหาคาใจที่ลูกเพจหนุ่ม ๆ มักเข้ามาถามบ่อย ๆ บทสนทนาก็พาเราไหลไปถึงเรื่องที่สาว ๆ คาใจ ปนหงุดหงิดอย่างเรื่อง “ใครบอกวะว่าจิ๋มมีกลิ่นปลาเค็ม?” โอเค อวัยวะส่วนนั้นอาจมีกลิ่นเฉพาะตัวบางแบบ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีกลิ่นปลาเค็มเป็นยี่ห้อเฉพาะตัว ผงซักฟอกยังมีหลายสสาร หลายกลิ่น แล้วผู้ชายกล้าดียังไงมาบอกว่าจิ๋มผู้หญิงมีกลิ่นเดียว!?

“ไม่ จิ๋มไม่เหม็น” คุณหมอลากเสียงยาววว

“จิ๋มมันมีกลิ่นเฉพาะตัวของมันแต่มันไม่ได้เหม็น ผู้หญิงบางคนยังไม่เข้าใจเลยว่าของตัวเองจะมีกลิ่นได้ มีตกขาวได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ”

“จิ๋มทุกคนไม่ต้องเป็นกลิ่นปลาเค็มนะ คนที่เขาเอามาแชร์กับเรา เขาบอกว่าเขาไม่ขำกับมุกนี้ เขาถามว่า คนคนนั้นไม่เคยเจอจิ๋มที่ไม่เค็มหรอ? ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะมีกลิ่นปลาเค็ม มันเป็นกลิ่นเฉพาะตัว แต่ไม่ได้แปลว่าจิ๋มผู้หญิงโดยปกติต้องเป็นกลิ่นนั้น กลิ่นปลาเค็มโชยขนาดนั้น แต่ทางการแพทย์ก็ไม่ได้มีเขียนไว้นะว่ากลิ่นแบบปลาเค็มนี่คือโรคอะไร ถ้ามันเหม็นควรไปหาหมอ”

ทางการแพทย์ก็ไม่ได้มีเขียนไว้นะว่ากลิ่นแบบปลาเค็มนี่คือโรคอะไร ถ้ามันเหม็นควรไปหาหมอ

“เรื่องกลิ่นมีส่วนทำให้คนล้างจิ๋มผิดแล้วเกิดโรคตามมา จึงทำให้มีกลิ่นจริง ๆ  เราว่าอันนี้ไม่ใช่แค่ความเข้าใจผิดของผู้ชาย เป็นความเข้าใจผิดของผู้หญิงด้วย”

“ผู้หญิงสามารถมีกลิ่นและตกขาวที่เป็นปกติซึ่งเป็นเรื่องที่เจอได้ แต่ต้องไม่มีอาการอย่างอื่น ไม่คัน ไม่แสบ ไม่มีไข้ ไม่ปวดท้อง อีกอันหนึ่งก็คือกลิ่นกับลักษณะตกขาวต้องหน้าตาเหมือนเดิม ถ้าอาการอย่างอื่นไม่มี แต่หน้าตาตกขาวเปลี่ยนไป จากขาว ๆ เหลือง ๆ เป็นสีเขียว ก็ควรไปหาหมอ”

“เรื่องกลิ่นปลาเค็ม ผู้หญิงทุกคนไม่ได้มีกลิ่นน้องสาวเป็นกลิ่นปลาเค็ม ไม่รู้ว่ามันเริ่มมาจากใครที่มีกลิ่นปลาเค็ม แล้วไปดมของเขาทำไม หรือเป็นการเปรียบเทียบเพื่อกดความเป็นผู้หญิงหรือเปล่า? ไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นยังไง เพราะจริง ๆ มันไม่ใช่”

“ไม่ใช่จิ๋มทุกจิ๋มจะมีกลิ่นปลาเค็ม อาจมีกลิ่นปลาแซลมอนก็ได้”

“มันก็เป็นกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งมันไม่เหม็น ถ้ามันเหม็น คุณน่าจะมีปัญหาอะไรสักอย่างที่ควรไปหมอ อาจเป็นเรื่องการทำความสะอาดที่ผิดวิธี หรืออาจเป็นเรื่องการติดเขื้อก็ได้ แต่ไม่ใช่จิ๋มทุกจิ๋มจะมีกลิ่นปลาเค็ม อาจมีกลิ่นปลาแซลมอนก็ได้”

“สีจิ๋ม เปิดซิง จุดสุดยอด” รวมฮิตความเข้าใจผิด ๆ เรื่องน้องสาวที่ผู้ชายหลายคนไม่รู้

เพราะเราอยู่ในสังคมที่เรื่องทางเพศคือมิติสุดลี้ลับ และอวัยวะเพศของผู้หญิงยิ่งลี้ลับมากกว่า จึงไม่แปลกที่ผู้ชาย (ผู้หญิงและอีกหลายคน) มีเรื่องจิ๋ม ๆ ที่เข้าใจผิดอีกมาก วันนี้เราจะไม่ยอมปล่อยเรื่องนี้ผ่านไป เราขอให้คุณหมอแก้ความเข้าใจผิด ๆ โดยเฉพาะเรื่องเข้าใจผิดฮิต ๆ ที่ผู้ชายคิดว่าตัวเองรู้ดี แต่ที่จริง ไม่ คุณช่างไม่รู้อะไรเลย…

“จริง ๆ ไม่เกี่ยวเลย สีจิ๋มอยู่ที่เม็ดสีของร่างกายเฉย ๆ ซึ่งก็อาจไม่เหมือนสีผิวที่หน้า หรือสีผิวที่แขนขาด้วย เป็นเรื่องเม็ดสีที่ไม่เกี่ยวว่าใช้งานมาเยอะจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน หรือสีแบบไหน ของผู้หญิงทุกคนแตกต่างกันมาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เรื่องเพศเลย เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก

ผู้ชายไม่เห็นมีความเชื่อเรื่องนี้บ้างเลย? มีคนในกลุ่มพูดว่า “ทำไมชอบคิดว่าจิ๋มดำคือมีอะไรมาบ่อย ทีผู้ชายไข่ดำ ผู้หญิงยังไม่ว่าอะไรเลย”

“เรื่องเยื่อพรหมจรรย์ มีเซ็กซ์ครั้งแรกไม่จำเป็นต้องมีเลือดออกเสมอไป เพราะว่ามันเยื่ออาจจะขาดไปจากสาเหตุอื่นแล้วก็ได้ จริง ๆ เยื่อพรหมจรรย์มันเป็นชื่อที่แบบ ไม่ควรใช้เท่าไร เพราะมันทำให้ไปผูกกับความเป็นพรหมจรรย์ ผูกกับเรื่องความบริสุทธิ์ ยิ่งทำให้มีความเข้าใจผิดเรื่องเยื่อนี้มากขึ้น” 

“เยื่อพรหมจรรย์โยงกับความบริสุทธิ์คือเรื่องที่ผู้ชายเข้าใจผิด เพราะเรื่องความบริสุทธิ์เหมือนเป็นความเชื่อเชิงสังคมมากกว่า ทางการแพทย์ ไม่มีระบุ ต้องเป็นอวัยวะเพศชายที่ผ่านเข้าไปถึงจะเสียซิง เกี่ยวกับพรหมมะ แต่คือจะบอกว่ามันไม่เกี่ยวข้องกัน”

“เรื่องนมดำ ฐานนมใหญ่ ไม่ได้แปลว่าโดนดูดมาเยอะ เหมือนหน้าตาแคมนั่นแหละ มันหลากหลาย คนหน้าขาวแต่นมดำก็มี มันไม่เกี่ยว มันแค่เราเป็นเรา มันคือความหลากหลาย เหมือนคุณจะมีไฝตรงนี้ คุณจะมีขี้แมงวันตรงนั้น ลักษณะมันก็เป็นแค่ลักษณะที่ไม่ได้บ่งบอกอะไร”

นมดำ ฐานนมใหญ่ ไม่ได้แปลว่าโดนดูดมาเยอะ เหมือนหน้าตาแคมนั่นแหละ มันหลากหลาย คนหน้าขาวแต่นมดำก็มี

“เรื่อง Squirt ก็เป็นเรื่องของหนังโป๊ ผู้ชายเข้าใจผิดว่าผู้หญิงทุกคนจะ Squirt ได้ ซึ่งผู้หญิงจะ Squirt หรือไม่ก็ได้โดยที่ Squirt ไม่เกี่ยวข้องกับจุดสุดยอด Squirt ได้โดยไม่ต้องเสร็จก็ได้ มันเป็นสิ่งที่หนังโป๊มักจะถ่ายทอดให้เราเข้าใจอย่างนั้น

การ Squirt คือการกระตุ้นจุดบางอย่างแถว ๆ อวัยวะเพศ พอกระตุ้นถึงจุดตรงนั้นอาจมีน้ำหลั่งออกมา ต้องบอกว่ามันมีทั้งน้ำที่ใช่และไม่ใช่ปัสสาวะปนกัน แต่ถ้าฉี่ไหลออกจากช่องคลอดก็อาจผิดปกติต้องหาหมอ”

“รวมถึงเรื่องจุดสุดยอดที่ผู้ชายชอบว่าผู้หญิงเสร็จช้า แต่จริง ๆ เป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่จะใช้เวลานาน แต่ก็ไม่เสมอไปนะผู้หญิงบางคนก็เสร็จเร็วได้ แต่ผู้ชายชอบว่าทำไมเสร็จช้าอย่างนี้ผิดปกติมั้ย ต้องรักษามั้ย มันเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่ต้องใช้เวลากระตุ้นนานกว่า”

“ผู้หญิงไม่ได้ผิดอะไร ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่ายถ้าอยากไปให้ถึงจุดสุดยอดได้ อีกความเข้าใจผิดเรื่องจุดสุดยอดคือเรื่องเสร็จภายนอก เสร็จภายใน จากข้อมูลต่างประเทศผู้หญิงมักจะเสร็จจากการกระตุ้นคลิตอริสมากกว่า

แต่ผู้ชายมักคาดหวังว่าสอดใส่แล้วจะเสร็จ ส่วนใหญ่อาจจะต้องกระตุ้นภายนอกไปด้วย หรือสอดใส่เสร็จ แล้วจะมากระตุ้นให้ภายหลังก็ได้”

ผู้ชายบางคนก็ไม่เล้าโลม จ้องแต่จะเสียบ ๆ อย่างเดียว ซึ่งไม่ได้

“อีกเรื่องคือผู้ชายชอบทำแรง ๆ เป็นวัฒนธรรมจากหนังโป๊ จริง ๆ คลิตอริสคือจุดบอบบาง Sensitive มาทำแรง ๆ มันเจ็บ ไม่ต้องกระตุ้นแบบนั้น หรือไม่ก็แค่ถาม บางคนอาจชอบรัว ๆ ก็ได้ แต่ต้องถาม ต้องพูดคุย อีกเรื่องสำคัญคือผู้ชายบางคนก็ไม่เล้าโลม จ้องแต่จะเสียบ ๆ อย่างเดียวซึ่งไม่ได้”

เรื่องเพศเริ่มที่เรา “เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะดูแลจิ๋มและจู๋ตัวเอง”

การจะเปลี่ยนตัวเองในชั่ววินาทีให้กล้าพูดเรื่องเพศ ในสังคมที่บอกเราว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องไม่ควรพูดนั้นไม่ง่าย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้นของมัน คุณหมอแนะนำว่ามันอาจไม่ต้องไปเริ่มที่ไหนไกล แต่เริ่มที่ตัวเราเอง เริ่มที่เราต้องกล้าจะมอบความสุขทางเพศให้ตัวเอง กล้าที่จะดูแลสุขภาพเพศของตัวเองก่อนจะงอกงามไปในส่วนอื่น ๆ ต่อไป

“เริ่มจากตัวเองก่อนเลย เห็นคุณค่าของตัวเองที่จะเข้าถึงความสุขทางเพศ ไม่ใช่แค่เรื่องความสุข แต่เรื่องการดูแลตัวเอง การดูแลอวัยวะเพศ เรามีสิทธิที่จะดูแลของตัวเราให้ดี 

“ผู้หญิงบางคนคิดว่าต้องสอดใส่นิ้วถึงจะเป็นการช่วยตัวเอง บางคนก็มองว่าถ้าสอดใส่นิ้วแล้วจะเสียซิง ถ้าวันหนึ่งมีแฟนแล้วจะโดนว่าว่าแรด ไม่รักนวลสงวนตัว เพราะฉะนั้นกรอบเหล่านี้ ถ้าจะเริ่มต้น เราควรจะเคารพตัวเราเอง มอบความสุขให้ตัวเราเองได้ ขนาดจะกินชานมไข่มุก เราอยากกินเรายังซื้อเลย เรื่องเพศก็เหมือนกัน”

“แต่สำหรับผู้ชาย เรื่องคู่นอน มันคือเรื่องของการคุยกัน ว่าตอนนี้ชอบไหม ชอบอะไรบ้าง ซึ่งการคุยกันแล้วก็ปรับให้เข้ากับคู่ของตัวเองก็เป็นสิ่งหนึ่งที่โอเค อย่าไปดูเอาจากแค่หนังโป๊ หนังโป๊เป็นแค่การแสดง แต่กลายเป็นว่าปัจจุบันชีวิตจริงของผู้หญิงก็ต้องแสดงให้เหมือนหนังโป๊ แกล้งเสร็จ แกล้งรู้สึก เป็นเรื่องที่ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญ”

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเข้าใจผู้หญิงคนนั้นก็คือเรื่องการสื่อสารระหว่างกัน ว่าคุณชอบแบบไหน ทำอะไรแล้วมีความสุข เซ็กซ์ต้องคุยกันโดยเฉพาะคู่ คนใกล้ตัว ลูกหลาน ควรแชร์กัน”

ถ้าคุณเป็นผู้หญิง หลังอ่านบทความนี้จบ อาจเริ่มจากสำรวจตัวเอง กลิ่นฉันปลาเค็มจริงไหม? หรือกลิ่นปลาแซลมอนกันแน่? หรือไม่เหมือนปลาอะไรทั้งนั้น แต่มีกลิ่นอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย การรู้จักกลิ่นปกติของตัวเองอาจหมายถึงจุดเริ่มต้นที่จะทำความรู้จักและดูแลสุขภาพทางเพศของตัวเองแบบไม่ต้องเหนียมอาย หรือหากอยากเข้าใจเรื่องจิ๋ม ๆ มากขึ้นอีก “Sister to Sister คุยเรื่องจุ๋มจิ๋มของน้องสาว” หนังสือเล่มนี้ของ พญ.ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ จะชวนคุยมารู้จักตัวเองได้ดีกว่าที่เคย

ถ้าคุณเป็นผู้ชาย หลังอ่านบทความนี้จบ คุณอาจต้องถามตัวเองว่าการบอกว่าจิ๋มทุกคนมีกลิ่นปลาเค็มนั้นเป็นเพียงเรื่องตลกที่คุณขำกันเอง หรือข้อเท็จจริงที่คุณเรียนรู้ใหม่ได้?

ท้ายที่สุดไม่ว่าคุณเป็นเพศอะไร เรื่องเพศคือเรื่องที่ต้องพูด คุย สื่อสาร และไม่มีตรงไหนที่ดูแย่ เราพูดเรื่องเพศได้หลายโทน หลายน้ำเสียง อย่างที่ พญ.ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ เลือกพูดเรื่องเพศ เรื่องจิ๋มอย่างละมุนละไมชวนให้เข้าถึงง่าย สำคัญที่สุดคือเรื่องเพศควรเป็นเรื่องปกติ แล้วคุณล่ะ? จะเลือกพูดเรื่องเพศด้วยน้ำเสียงโทนไหนกัน?

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line