DESIGN

UNLOCK ART: 3 นิทรรศการถ่ายทอดภัยมลพิษให้สวยงามที่นานแค่ไหนก็ยังติดอยู่ในใจเรา

By: anonymK July 21, 2019

แหล่งน้ำกำลังโดนทำลาย หลอดพลาสติกทำร้ายสัตว์น้ำ แก้วพลาสติกใช้เวลาหลายปีเพื่อย่อยสลาย เรื่องนี้เรารู้กันมาเป็นชาติตั้งแต่ยังเรียนประถมแล้ว แต่ปัญหาหลายอย่างยังไม่ค่อยได้รับการแก้ไข และเมื่อมันทยอยลุกลามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้จึงถึงเวลาที่แต่ละฝ่ายออกมามีส่วนร่วมปลุกกระแสการรณรงค์รักษ์โลกในรูปแบบของตัวเอง

วันนี้ UNLOCKMEN นำเรื่องราวเสื่อมโทรมที่บอกเล่าผ่านมุมมองทางศิลปะแสนสวยถ่ายทอดได้กระแทกใจกลับมาส่งต่ออีกครั้ง แม้ว่าทั้ง 3 นิทรรศการนี้จะจบลงแล้ว แต่เราคิดว่าควรแบ่งปันเพราะเนื้อหาของมันไม่เก่าเลย

 

Popsicles project

ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้นจาก 3 นักศึกษาชาวไต้หวันที่ร่วมมือกับโครงการที่ดูแลเรื่องน้ำเสีย นำเสนอโปรเจกต์รวบระหว่างการเสพสุนทรียภาพทางศิลปะและการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน  ด้วยการนำน้ำจากแหล่งน้ำเสีย 100 แห่งในไต้หวันมาและนำไปคงรูปในรูปแบบของแท่งไอติม

ไอติมน้ำเสีย 1 แท่ง 1 สถานที่ ที่เขาใช้วิธีทำพิมพ์หล่อเรซินไว้สำหรับโชว์ จากนั้นสร้างแพ็กเกจสีสันสดใสห่อหุ้มไว้ เห็นแล้วอยากจะหยิบกิน แต่เมื่อแกะซองออกมาเห็นเนื้อไอติมใส ด้านในกลับมีมลพิษมากมายเจือปนอยู่ การนำเสนอโครงการแบบดักตีหัวอย่างนี้ไม่เพียงสนุก น่าสนใจ และเป็นไวรัลเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนว่าวันนี้สังคมเรามองข้ามเรื่องน่าเกลียดและปัญหาต่าง ๆ ที่มีจากการไปโฟกัสมุมอื่นที่สวยงามมาแทนที่ด้วย

100%純污水製冰所

完整版形象影片來囉!!!好看=好吃?我們親自取臺灣100個污染水源地的水後,將其製成冰棒,因冰棒不易保存所以我們將他們再復刻成1:1的poly模型做展示,透過美麗包裝與內容物的反差感來傳達純淨水的重要,最後以圖鑑來呈現。那麼我們想問問大家的是:【這麼美的冰棒,你敢吃嗎?】設計團隊: 洪亦辰 、 郭怡慧 、鄭毓迪( Yudi Jheng)新一代設計展🏊↣ 台北世貿一館 / 編號D07(臺藝大)↣ 05.19(五) – 05.22(一)↣ 1000AM – 1800PM(5/22 1700PM)#100%純污水製冰所

โพสต์โดย 100%純污水製冰所 เมื่อ วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2017

ความสวยงามทั้งหมดสะท้อนเรื่องราวในไต้หวัน เมืองที่เติบโตทางเศรษฐกิจและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แหล่งน้ำสาธารณะมากมายที่เราเห็นและเดินเฉียดผ่านทุกวัน เราเข้าใจว่ามันใส ไร้อันตราย ทว่าแท้จริงแล้วภาพที่ทุกคนมองข้ามกลับมีภัยร้ายซ่อนอยู่และควรให้ความสำคัญ แม้ไอติมเหล่านี้จะนำมาจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ในไต้หวันแต่พอได้เห็นแล้วก็สะท้อนภาพของแหล่งน้ำได้ทุกที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

 

Plastikophobia

ชิ้นนี้เป็นงาน Installation ที่เคยจัดขึ้นที่ Marina Barrage ประเทศสิงคโปร์ ผลงานของ Benjamin Von Wong ช่างภาพที่หันมาถ่ายทอดเรื่องราวขับเคลื่อนสังคมกระตุ้นให้เกิดความตระหนักต่อภัยสิ่งแวดล้อมจากพลาสติก

เห็นชิ้นส่วนแก้วพลาสติกที่กองอยู่ตรงหน้าจำนวนมหาศาลขนาดนี้อย่าคิดว่าเขาไปซื้อมาใหม่เพื่อสร้างภาพล่ะ เพราะแบบนั้นคงไม่ได้ช่วยอะไรแต่เป็นการซ้ำเติมโลก เบื้องหลังผลงานขนาดยักษ์ชิ้นนี้ Von Wong เผยว่าเขาและอาสาสมัครรวบรวมแก้วพลาสติกทั้งหมดเพียงครึ่งวันเท่านั้น จากนั้นใช้เวลา 2 วันในการทำความสะอาด และได้รับความช่วยเหลือจาก Joshua Goh นักประดิษฐ์ท้องถิ่นพร้อมทีมมาเนรมิตถ้ำคริสตัลจากแก้วใช้แล้วทิ้ง ขึ้นโครง ติดตั้งไฟ Led ตามตำแหน่งต่าง ๆ เมื่อเสร็จสมบูรณ์เขาจึงเซตถ่ายภาพภายในอุโมงค์พลาสติกนี้ให้ออกมาสวยงาม เจ๋ง ราวกับถ่ายแฟชั่น

แน่นอนว่าผลงานน่าประทับใจนี้จะดึงดูดให้ผู้คนมาเยือนนิทรรศการเพื่อ Selfie แต่ขณะเดียวกันเมื่อมันกลายเป็น Viral ส่งต่อไปในวงกว้าง ภาพของผู้คนที่เข้ามาถ่ายในนิทรรศการนี้จะทำให้พวกเขาและคนที่เห็นฉุกคิดว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเราต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปตลอดกาลในอนาคต

 

Strawpocalypse

มาที่คลื่นแหวกสุดหลอนสูง 11 ฟุตชิ้นนี้บ้าง มองเผิน ๆ ถ้าไม่บอกเราคงคิดว่า “เฮ้ย! เจ๋ง” แต่พอส่องรายละเอียดของวัสดุที่นำมาจัดเราอาจจะได้อุทานว่า “นี่มันหลอดนี่นา” ผลงานชิ้นนี้ยังคงเป็นของ Benjamin Von Wong คนเดิม โดยเขาได้แรงบันดาลใจจากคำพูดของคนกว่าแปดพันล้านคนที่พูดถึง หลอดพลาสติกว่า “มันก็แค่หลอดอันเดียว”

ถึงจะแค่ชิ้นเล็ก ๆ เวลาลงถังแต่มันก็ยังเป็นของที่ย่อยสลายไม่ง่ายและเป็นมลพิษกับธรรมชาติอยู่ดี แถมมันรีไซเคิลไม่ได้ด้วย ตามข้อมูลที่กลุ่ม Plastic Pollution Coalition (PPC) เคยสำรวจไว้เผยข้อเท็จจริงว่าแต่ละวันมีการใช้หลอดมากถึง 500 ล้านหลอดในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น เพื่อทำให้สังคมตระหนักว่าหลอดเรียว ๆ ชิ้นเล็ก ๆ นี้มันเล็กไม่จริง Von Wong จึงร่วมมือกับ Zero Waste Saigon, Starbucks เวียดนาม และอาสาสมัครนับร้อยคนออกตระเวนเก็บหลอดพลาสติกจำนวนกว่า 168,000 หลอด โดยใช้ระยะเวลาในการรวบรวมทั้งสิ้นเพียง 6 เดือนเท่านั้น

หลังจากรวบรวมหลอดจำนวนมหาศาลมาได้ อาสาสมัครใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ล้างและคัดแยกสี โดยแบ่งแต่ละสีสำหรับสร้าง layer คลื่น ได้แก่ หลอดสีเขียวและสีดำใช้ประดิษฐ์ส่วนลำตัวคลื่น สีขาวสำหรับส่วนฟอง และหลอดสีเหลืองกับสีอื่น ๆ ใช้แทนที่ผืนทราย จากนั้นจึงมาติดตั้งตามโครงที่จัดเตรียมไว้จนสำเร็จเป็นงานประติมากรรมทะเลแหวก ล้อมด้วยคลื่นสูงพ้นศีรษะ

ความสวยงามตรงหน้าจากภาพถ่ายที่ชวนหยุดสายตาคือโศกนาฏกรรมของสิ่งแวดล้อมที่ใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือนจากเมืองเพียงเมืองเดียวเท่านั้น ลองคิดว่าถ้าทั้งโลกทุกคนพร้อมใจกันทิ้งมันจะมากมายขนาดไหน


เห็นผลงานทั้ง 3 ชิ้นนี้แล้วคงทำให้พวกเราจรรโลงทั้งใจจากสายตาและคิดจะไปจรรโลงโลกกันต่อ เอาเป็นว่าสำหรับใครที่ดูอยู่ถ้ายังหักดิบไม่ได้เพราะยังจำเป็นต้องใช้พลาสติกแค่เริ่มต้นจากการลดใช้วันละชิ้นสองชิ้นด้วยการพกแก้วไปซื้อน้ำ หรือปฏิเสธรับหลอดก็ช่วยให้หล่อขึ้นเป็นกองแล้ว พอแอดวานซ์กว่านี้ค่อยทำมันเป็นประจำ ส่งแนวคิดนี้สู่คนรอบข้าง เชื่อว่าสภาพแวดล้อมเราจะยิ่งน่าอยู่ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน

ร่วมด้วยช่วยโลก ช่วยอนาคตของเราไปพร้อมกันนะ

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line