Business

อย่ายอมตกขบวน! สรุป ‘ESG’ เมกะเทรนด์ธุรกิจ ปี 2022 ที่คุณควรรู้

By: unlockmen January 17, 2022

ปี 2022 คนรักษ์โลกมีโอกาสรวย เพราะ Environment, Social and Governance หรือ ‘ESG’ กลายเป็นเทรนด์ระดับโลกที่ทุกธุรกิจต้องจับตามอง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นสร้างกระแสความกดดันให้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต และผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อสังคมและสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Noah Buscher / Unsplash

ESG ย่อมาจาก Environment, Social and Governance หรือ แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้พิจารณาประกอบการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ โดยปัจจุบันแต่ละองค์กรอาจใช้รูปแบบการวัดผลแตกต่างกัน แต่ทุกเกณฑ์ควรครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือเป็นเกณฑ์ที่วัดว่า โลกต้องอยู่ดี คนในองค์กรกับสังคมต้องอยู่ดี และบริษัทต้องอยู่ดี จึงจะเกิดความเข้มแข็งตามหลัก ESG

  • โลกอยู่ดี – วัดการดูแลโลกผ่านการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทว่าลดการปล่อยคาร์บอนฯ หรือไม่ สร้างมลภาวะกับโลกหรือเปล่า ใช้ทรัพยากรคุ้มค่าไหมทั้งการใช้น้ำ ไฟ หรือบางบริษัทอาจนับถึงปริมาณกระดาษที่ใช้ในองค์กร
  • สังคมอยู่ดี – วัดจากมาตรฐานการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงาน พนักงาน ความเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดระบบนิเวศทางธุรกิจและส่งเสริมให้พนักงานเข้าใจผลกระทบที่ของ ESG ที่ส่งผลต่อธุรกิจ
  • บริษัทอยู่ดี – วัดธรรมาภิบาลบริษัท ความโปร่งใสและการบริหารความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ขององค์กร ทุกสิ่งต้องตรวจสอบได้ เพราะบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืนต้องให้ความสำคัญกับกลไกด้านนี้

ล่าสุดเพื่อตอกย้ำความสำคัญของเทรนด์นี้ Morgan Stanley Capital International หรือ MSCI บริษัทที่ทำดัชนีหุ้นชั้นนำทั่วโลกได้เผยแพร่ข้อมูลรายงาน ‘2022 ESG Trend to Watch’ สรุปเทรนด์ ESG ออกมาทั้งสิ้น 10 ข้อ จะมีอะไรบ้าง ลองไปเช็กพร้อมกัน

 

คลื่น AMAZON EFFECT ผลักดันการสร้าง NET ZERO ในห่วงโซ่อุปทาน

ANIRUDH / Unsplash

หลังบริษัทยักษ์อย่าง Amazon ออกมาขานรับนโยบายการสร้าง Net Zero (ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ) ในปี 2040 สถานการณ์นี้ทำให้เกิดคลื่นธุรกิจที่เรียกว่า Amazon Effect ขึ้น เพราะข้อมูลทุกอย่างจะถูกติดตามต่อว่า Amazon ซื้อของมาจากที่ไหน ดังนั้นซัพพลายเออร์ที่รายล้อม Amazon ก็จะได้รับแรงกดดันกระตุ้นการสร้าง Net Zero และการลดก๊าซเรือนกระจกโดยอัตโนมัติ

แต่นอกจากบริษัทใหญ่ที่ให้บริการระบบ Cloud อย่าง Amazon แล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำอย่าง Microsoft, Alphabet และ Alibaba Group Holding ก็เข้ามาร่วมประกาศ Net Zero ด้วย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงสร้างกระเพื่อมให้ทั้งระบบต้องหันมาให้สนใจและปรับตัวตาม ESG อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับใครที่มองวงจร ESG ไม่ออกว่าจะขยายในวงกว้างอย่างไร ลองเช็กจากแผนภาพของ MSCI ที่โชว์ให้เห็นชื่อของบริษัทต้นน้ำชั้นนำที่ประกาศ Net Zero ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการ Cloud เจ้าใหญ่ที่ 4 เจ้า (Amazon, Alphabet, Microsoft และ Alibaba Group Holding) เหล่านี้ คงเริ่มเห็นภาพว่า ESG นั้นอยู่ใกล้ตัวเราขนาดไหน

 

การปล่อยมลพิษของเอกชนควรตรวจสอบได้จากสาธารณะ

Alexander Tsang / Unsplash

การวัด ESG เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอนในรายงานการประชุม (Annual Report) สำหรับบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์เพราะเป็นมาตรฐานการตรวจสอบที่ถูกเพิ่มเข้ามา แต่แง่ของบริษัทเอกชนนอกตลาด จากเดิมที่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการปล่อยมลพิษมากนักและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ลงทุนในกลุ่มพลังงานสะอาดเท่าไร ปีนี้ถึงเวลาตื่นตัวมากขึ้นเพราะจะเริ่มถูกตรวจสอบด้วยเช่นกันจากกระแสการลงทุนที่หันไปใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากปีที่ผ่านมากกองทุน Private Equity ในสหรัฐฯ เริ่มให้ความสำคัญและทยอยใส่ข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตปริ้นท์ในข้อมูลบริษัท (Company Profile) แล้ว นี่จึงแสดงให้เห็นว่าแม้จะไม่ได้รับผลกระทบที่อิมแพ็กนักแต่พวกเขาก็จำเป็นต้องปรับตัว ที่สำคัญถ้าบริษัทเอกชนเหล่านี้เตรียมฟักตัวสู่การเปิด IPO หรือการเป็นมหาชน ยังไงเสียข้อมูลด้าน ESG ก็จะกลายเป็นข้อมูลที่พวกเขาต้องแสดงเช่นกัน

หมายเหตุ: เดิมหลายบริษัทชื่อดังระดับโลกในปัจจุบันผ่านการเป็น Private Equity มาก่อนไม่ว่าจะเป็น facebook หรือ Google ฯลฯ

 

ปริศนาถ่านหินกับการทบทวนเรื่องการถอนทุน

Andrey Andreyev / Unsplash

เรื่องพลังงานถ่านหินยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในหลายประเทศ เพราะการทำ Net Zero ควรจะใช้พลังงานสะอาดและค่อย ๆ ลดการใช้พลังงานถ่านหินลง แต่จากกราฟข้อมูลที่เปรียบเทียบระหว่างฝั่งซ้ายที่เป็น 5 ประเทศพึ่งพาพลังงานถ่านหินเป็นหลักกับฝั่งขวาซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เหลือ โดยใช้ข้อมูลเปรียบเทียบปี 2016-2017 กับปี 2020-2021 ชี้ว่าอัตราการใช้พลังงานถ่านหินในแถบสีดำของฝั่งซ้ายลดไปเพียง 7% เท่านั้น ส่วนฝั่งขวาลดลงถึง 10% แถมถ้าเทียบสัดส่วนการใช้งานจริง ๆ การใช้ถ่านหินของทั้ง 5 ประเทศทางซ้าย คือ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย รัสเซียและอเมริกายังมีเปอร์เซ็นต์สูงกว่าประเทศอื่นรวมกันหลายเท่าตัว

เมื่อ 5 ประเทศหลักที่คิดสัดส่วนของการบริโภคถ่านหินรวมกันแล้วเป็น 75% ของโลกยังให้เหตุผลว่าก็พยายามลดแหละแต่ยังจำเป็นต้องใช้พลังงานถ่านหินอยู่นะเพราะยังมีเสถียรภาพและต้นทุนต่ำกว่า เรื่องนี้จึงยังคงต้องถกเถียงกันและต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่าเป้าหมายที่ตั้งใจจะไม่เพิ่มอุณหภูมิโลกเกิน 1.5 องศาจากข้อตกลง COP26 จะเป็นอย่างไรต่อไปและทำอย่างไรจึงจะได้คำตอบที่สมดุลที่สุด

 

NO Planet B เตรียมทุนให้พร้อมสู้ภัยธรรมชาติ

Benjamin Kraus / Unsplash

เราไม่มีโลกใบที่สองไว้สำรอง แม้ในอนาคตทั้งโลกช่วยกันรักษาเพดานความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียสได้สำเร็จ แต่ปัญหาภัยธรรมชาติก็ยังคงเกิดอยู่ดี ชาวแคลิฟอเนียร์ยังเจอฝุ่น ชาวแอฟริกาเหนือก็ยังขาดแคลนน้ำ หรือประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งแน่นอนว่ารวมประเทศไทยเราด้วยก็ยังจะเจอปัญหาน้ำท่วม เทรนด์การลงทุนใน ESG bond หรือพันธบัตรและตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับด้าน ESG ได้แก่ Green bond, Social bond และ Sustainability bond เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนเหล่านี้ไปรับมือกับวิกฤตด้านต่าง ๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืนจึงเกิดขึ้นและกำลังกลายเป็นที่นิยม

 

ลดฟอกเขียวลงเพราะ ESG แกร่งขึ้น

Joshua Earle / Unsplash

ช่วงที่ผู้คนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เกิดศัพท์คำหนึ่งทางธุรกิจที่เรียกว่า “Green Washing” หรือการฟอกเขียว คำนี้มีความหมายเชิงลบ หมายถึงการทำการตลาด โฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าองค์กรรับผิดชอบต่อสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้ทำแบบนั้น แต่เทรนด์ ESG ที่กำลังเข้มข้นกำลังสร้างคำจำกัดความและบรรทัดฐานที่เป็นมาตรฐานกลางมาใช้เพื่อให้การตรวจสอบโปร่งใจ ดังนั้น ธุรกิจไหนที่เคยคิดว่าจะใช้วิธีอัดฉีดโฆษณาอย่างเดียวรู้ไว้เลยว่าอาจโดนจับไต๋ได้ ต้องเปลี่ยนด่วน ๆ!

 

กี่กฎ กี่มาตรฐานก็ควรบรรจบในแบบเดียวกัน

Frank Busch / Unsplash

ปัจจุบันการลงทุนแบบยั่งยืนมีแบบประเมินหลายรูปแบบและชื่อเรียกกว่า 34 อย่าง ไม่ว่าจะเป็น TCDF, SFDR หรือ NGFS ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเทศก็เลือกรูปแบบการประเมินที่แตกต่างกัน ดังนั้นบริษัทและนักลงทุนจึงมักหัวหมุนและความหลากหลายของมาตรฐานยังเป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบอีกด้วย MSCI จึงเสนอไกด์เพื่อสร้างมาตรฐานร่วมกัน 3 ข้อหลัก ดังนี้

1. กำหนดให้มีการเปิดเผยการวัดข้อมูลในเชิงปริมาณ ไม่ใช้แค่คำอธิบายที่คลุมเครือ เช่น ลงรายละเอียดตัวอย่างด้านการปล่อยมลภาวะเป็นสโคป 1, 2 และ 3 ในแต่ละหมวดหมู่

2. เปิดเผยข้อมูลดิบ ทั้งจำนวนพนักงาน จำนวนการปล่อยมลพิษ​ สถานที่ตั้ง ไม่ได้เป็นแค่ค่าคำนวณที่ไม่มีตัวเปรียบเทียบ

3. เปิดเผยข้อบังคับขั้นต่ำที่ใช้ร่วมกับหลายบริษัท ไม่เฉพาะกับบริษัทมหาชนเท่านั้นเพื่อเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกัน

 

จัดอันดับ ESG Rating ให้ถูกต้องชอบธรรม

ทำไมจึงต้องมีการจัดอันดับ ESG? หลายสิบปีที่ผ่านมาบางคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้มีไว้เพื่อนักลงทุนอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้จรรยาบรรณด้าน ESG กำลังปลูกฝังในคนทุกกลุ่ม ทั้งนักลงทุน บริษัท สื่อใหม่ และสาธารณชนให้ทุกคนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อคนตระหนักและรับทราบข้อมูลของบริษัทก็จะนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริโภคอีกที สุดท้ายจรรยาบรรณที่ชัดเจนจะได้ทำหน้าที่ของมันคือการพาองค์กรต่าง ๆ กลับไปสู่หนทางปรับรูปแบบ กระบวนการลงทุนและเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ESG ขนาดใหญ่ได้อย่างถูกต้อง

 

รักษาความหลากหลายทางชีวภาพและอนาคตของอาหาร

Tarik Zekraoui / Unsplash

การประชุม COP26 ที่กำลังจะจัดขึ้นภายในปี 2565 นี้มีประเด็นอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่เลวร้ายถ้าเราไม่ยึดแนวทาง ESG ไม่เปลี่ยนแนวทางการผลิตอาหารและพฤติกรรมการกิน เพราะผลพวงของสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งส่งผลกับอาหารของเราในอนาคต ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรจึงต้องยกเครื่องปฏิรูปวิธีการครั้งใหญ่

เพื่อให้เห็นภาพ MSCI ยกตัวอย่างข้อมูลของประเทศบราซิล เจ้าของพื้นที่ปอดโลกอย่างป่าแอมะซอนมาประกอบว่าปัจจุบันป่าแอมะซอนถูกถางทำลายบางส่วนเพื่อเป็นแหล่งผลิตเนื้อวัวและถั่วเหลืองจึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศด้านอื่นและทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินที่ใช้ปลูกกาแฟที่ลดนั้นส่งผลให้ผลผลิตลดลงเป็นผลให้กาแฟราคาแพงขึ้น ดังนั้นเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีและปรับกระบวนการผลิตอาหารให้สร้างผลผลิตมากขึ้น ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลงจึงเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองปีนี้ ขณะเดียวกันฟากผู้บริโภคก็ต้องขยับมาปรับพฤติกรรม สร้างอุปสงค์ของการกินโปรตีนทางเลือกด้วยเพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง

 

วิกฤตสุขภาพยังไม่จบ ปัญหาแบคทีเรียงอกขึ้นเรื่อย ๆ

Roberto Sorin / Unsplash

การต่อสู้กับโควิด-19 ยังไม่จบ แต่วิกฤตสุขภาพใหม่เตรียมจ่อรอคิวเข้ามาท้าทายเรามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2050 คาดการณ์ว่าประชากรกว่า 10 ล้านคนจะเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียเดิมที่เราเคยรักษาได้ ซึ่งถ้าเทียบสัดส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตแล้วพบว่ามากกว่าการเสียชีวิตเพราะโควิด-19 ถึง 3 เท่า

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงเหล่านี้ เทรนด์การลงทุนด้านการสร้างยาปฏิชีวนะใหม่ ๆ จึงเกิดขึ้นควบคู่กับความจริงจังเรื่องการลดปริมาณยาปฏิชีวนะภาคเกษตรสำหรับทำปศุสัตว์ที่เกินความจำเป็นลง เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะกับสัตว์ที่มากเกินจำเป็นส่งผลให้เชื้อดื้อยาตกค้างตามแหล่งน้ำ ดิน หรือผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งหลังจากมนุษย์รับเชื้อไปแล้วโอกาสการรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียจากยาชนิดเดิมจะลดประสิทธิภาพลงและมีผลให้เสียชีวิตได้

 

อย่ายึดติดเทรนด์ จงมองหาแก่นแท้ที่จำเป็นและศักยภาพในการลงทุน

bruce mars / unsplash

แม้การสร้าง Net Zero จะเป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศต้องการบรรลุ แต่เราต่างรู้ดีว่าแต่ละประเทศล้วนมีเงื่อนไขและขีดความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้นนักลงทุนจึงควรพิจารณาแก่นการลงทุนตามปัจจัยความจำเป็นและศักยภาพของพื้นที่การลงทุนนั้น ๆ เพราะสิ่งที่เราควรกังวลมากกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมคือการสร้างคุณภาพชีวิตประชากรเพื่อมุ่งสู่การสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต

เมื่อคนจนกว่าต้องจ่ายแพงกว่า ผู้คนพบปัญหาการว่างงานหรือสูญเสียที่อยู่อาศัยไปจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นปัจจัยเร่งด่วนที่ควรทำก่อน เทรนด์ Net Zero อาจเป็นคำตอบที่ใช่แต่การวางกรอบนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมควรเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมและอยู่ในบริบทที่เหมาะสม

หวังว่าข้อมูลเทรนด์จาก MSCI ด้านบนจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้ทุกคนเข้าใจและมองเห็นทิศทางของธุรกิจโลกในปี 2022 นี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทใหญ่ในไทยไม่ว่าจะเป็น SCG และ PTT ต่างตื่นตัวและหันมาวางกลยุทธ์บริหารความยั่งยืนตามแนวคิด ESG แล้ว ESG เป็นเมกะเทรนด์ระยะยาว การจับเทรนด์นี้ให้แน่นและปรับตัวนำไปประยุกต์ใช้งานได้ก่อนจะช่วยสร้างข้อได้เปรียบและโอกาสทางธุรกิจของเราให้สดใสได้อย่างแน่นอน


 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line