FASHION

ใส่กันจัง มันฮิตได้ยังไง ทำความรู้จักที่มาของเสื้อฮาวาย พร้อมการก้าวขึ้นสู่ Pop Culture ในแต่ละยุคสมัย

By: Thada March 26, 2018

ในยุคที่ทุกคนในประเทศไทยให้ความนิยมการสวมใส่เสื้อฮาวาย ( Hawaiian Shirt ) ถึงขนาดสามารถพบเห็นได้ทุกครั้งตอนออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงงานเทศกาลดนตรี แต่เราเคยรู้กันหรือเปล่าว่าก่อน Hawaiian Shirt จะกลายเป็น Pop-Culture สำหรับหมวดเครื่องแต่งกายอย่างเช่นในปัจจุบัน สิ่งนี้มีจุดกำเนิดมาจากที่ไหนและเคยได้รับความนิยมในยุคสมัยใดมาแล้วบ้าง วันนี้ UNLOCKMEN ได้รวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับ Hawaiian Shirt เอาไว้ให้แล้ว

จุดเริ่มต้นการรวมกันของวัฒนธรรมเสื้อผ้า

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1880 ในสมัยรัฐฮาวายยังคงเป็นนิคมปกครองตนเองและมีการขยายตัวของธุรกิจต่าง ๆ บนเกาะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเจ้าของกิจการทั้งหลายอยากได้แรงงานราคาถูก จึงมีผู้อพยพจากต่างถิ่นเข้ามามากมายไม่ว่าจะเป็นชาวจีน,โปรตุเกส เกาหลี แต่เห็นจะมีเปอร์เซ็นต์มากกว่าใครเพื่อนคือ ชาวญี่ปุ่น แถมคนกลุ่มนี้ยังติดเอาผ้าพื้นเมืองของตัวเองข้ามน้ำข้ามทะเลมาอีกด้วย แรงงานส่วนใหญ่ถูกจ้างมาทำงานเกี่ยวกับเกษตรกรรม ทำให้ต้องการชุดสวมใส่สบาย ราคาไม่แพง จึงได้ผนวกรวมผ้าต่างถิ่นเข้ากับลายผ้าท้องถิ่นของฮาวายเรียกว่า Tapa แต่เสื้อที่ทำออกส่วนใหญ่มักเป็นแขนยาวและใช้กันเพียงในวงแคบ เท่านั้น

นักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นพ้องกันว่า Hawaiian Shirt ต้นแบบตัวแรก เกิดขึ้นในช่วงปี 1920 แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งเรื่องที่ว่าใครเป็นบิดาแห่งเสื้อฮาวายกันแน่ระหว่างสองคนนี้ คนแรกคือ Gordon Young จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ว่ากันว่าเข้าได้ร่วมมือกับคุณแม่ของเรา ออกแบบและตัด Hawaiian Shirt ตัวแรก ออกมาโดยใช้ผ้า Yukata ของญี่ปุ่น ก่อนจะได้รับนิยมในเวลาต่อว่า ขณะเดียวกันก็มีคนบอกว่ามันคือสิ่งที่ Musa-Shiya Koichiro Miyamoto พร้อมกับภรรยาและหุ้นส่วนของเขา Dolores Miyamoto ร่วมกันสร้างขึ้นมาจากการถูกขอร้องให้ตัดเสื้อแบบกำหนดเองตามแบบลูกค้าต้องการ ก่อนจะกลายเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา

สัญลักษณ์ตัวแทนของ Hawaii

แต่สิ่งที่เป็นจุดเผยแพร่วัฒนธรรม Hawaiian Shirt ไปสู่สายตาชาวโลก เกิดขึ้นโดยนักธุรกิจชื่อว่า Ellery Chun ภายหลังจากจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ เขาก็ได้กลับมาเปิดร้านของชำขึ้นใน โฮโนลูลู จนเมื่อปี 1936 เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสารท้องถิ่นอย่าง Honolulu Star Bulletin ว่าต้องการโปรโมทเสื้อสไตล์ท้องถิ่นให้รู้จักในวงกว้างมากขึ้น พวกเขาเลือกใช้ผ้า Yukata ตัดเย็บ ส่วนตัวน้องสาวทำหน้าที่ออกแบบลวดลาย Tropical รูปแบบต่าง ๆ ลงไปในเสื้อ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นท้องถิ่นได้อย่างลงตัว และออกวางขายติดป้ายตราสินค้า โดยมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ว่า “Aloha Shirt “

เสื้อรูปแบบดังกล่าวได้รับความนิยม เป็นอย่างมากจากกลุ่มผู้ชอบเดินเรือ รวมถึงมีการทำธุรกิจควบคู่กับสายการบินพาณิชย์ท้องถิ่น แถมมีแคมเปญการตลาดที่โคตรเท่และมีประสิทธิภาพอย่าง “Wearable Postcard“ หรือ นี้คือโปสการ์ดแบบสวมใส่ได้ ทำให้ Hawaiian Shirt กลายเป็นของฝากสำหรับทุกคนที่มาเยือนฮาวายต้องซื้อกลับไป รวมถึงตัวแทนสัญลักษณ์ของชุดพักร้อนจนขยายออกไปสู่โลกภายนอก

Pop Culture ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย

ในยุคแรกกระแสความนิยม Hawaiian Shirt เริ่มกลายเป็นที่นิยมจากภาพยนตร์และเหล่าดาราฮอลลีวู้ด Item ชิ้นดังกล่าวไปปรากฏตัวในจอเงินพร้อมนักแสดงมากมาย อาทิเช่น Montgomery Clift กับ Frank Sinatra จาก Form Here to Eternity (1953) หรือ ราชาร็อคแอนด์โรล Elvis Presley จาก Blue Hawaii ( 1961 ) จนกระทั่งกลับมาอีกครั้ง ในยุค 80’s และ 90’s จาก Al Pacino , Scarface ( 1983 ) , Jim Carrey, Ace Ventura: Pet Detective (1994) , ที่ขาดไม่ได้คือ Leonardo DiCaprio, Romeo + Juliet (1996)

ส่วนในปัจจุบัน คงไม่ต้องหากันให้ยาก เพราะมีนักร้องนักแสดงหลายคนที่เป็นผู้นำด้านการแต่งตัว สวมใส่ Hawaiian Shirt ปรากฏในโลกโซเชียลให้เราเห็นกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Adam Levine, Jared leto หรือ Harry Styles รวมไปถึงสายลับชุดสูทอย่าง James Bond ที่แอบโดดมาใส่เช่นกันในภาค Casino Royale โดยพระเอกมาดเข้มอย่าง Danial Craig ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบคนดังเหล่านั้น หันมาใส่ตามกันเป็นแถบ

จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ Hawaiian Shirt ก็ไม่เคยหายไปจากสารบบแฟชั่นเลย โดยเฉพาะประเทศไทยในปัจจุบันที่ถูกนำมาสวมใส่จนเรียกได้ว่า เกลื่อน มีทั้งผู้ที่ชื่นชอบมานานและตามกระแส แต่นั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเสื้อตัวนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับอย่างปฏิเสธไม่ได้

source  , source 2 , source 3

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line