Must Read

SpaceX นำจรวด Falcon9 ลงจอดบน Drone Ship กลางมหาสมุทรได้สำเร็จ ทำไมต้องมหาสมุทร เรามีคำตอบ

By: Chaipohn April 9, 2016

เช้านี้สิ่งแรกที่เราเห็นเมื่อเปิด Facebook คือคลิปที่ Falcon9 สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ประสบความสำเร็จในการนำท่อนจรวดขับดันลงจอดบน Drone Ship กลางทะเลได้อย่างสวยงามและนิ่มนวล ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ที่ SpaceX ของ Elon Musk สามารถนำจรวดขับดันจากนอกโลกให้กลับมาจอดได้สำเร็จ และเป็นครั้งแรกในการลงจอดกลางมหาสมุทร โดยมีเป้าหมายเพื่อนำส่วนจรวดขับดันกลับมาใช้ใหม่ แทนที่จะใช้แล้วทิ้งไปเหมือนในปัจจุบัน เป็นก้าวสำคัญในการลดต้นทุนการผลิตจรวดในภารกิจครั้งต่อไป แต่สงสัยกันไหมว่า ทำไมต้องพยายามให้จรวด Falcon9 ลงจอดกลางมหาสมุทร จอดบนพื้นธรรมดาไม่ง่ายกว่าเหรอ?

รู้หรือไม่ การจอดบนพื้นดินยากกว่ากลางมหาสมุทรเยอะ

Hans Koenigsmann, Vice President ของ SpaceX บอกว่า หลังจากนี้ SpaceX มีแผนจะทำภารกิจนอกโลกและทดสอบการนำท่อนจรวดกลับมาจอดเพื่อใช้ใหม่อีก 3 ครั้ง โดยแบ่งเป็นการจอดบน Drone Ship กลางมหาสมุทร 2 ครั้ง และจอดบนพื้นดิน 1 ครั้ง นี่แสดงให้เห็นว่า SpaceX โฟกัสพื้นผิวน้ำเป็นเป้าหมายในการจอดมากกว่า แม้ก่อนหน้านี้จะล้มเหลวมาแล้วถึง 4 ครั้งก็ตาม แต่ที่จริงแล้ว SpaceX บอกว่าการจอดบนเป้าเล็กๆ อย่าง Drone Ship กลางมหาสมุทรนั้น ง่ายกว่าการจอดบนพื้นดินเยอะ และคำตอบอยู่ที่ เชื้อเพลิง + วิถีการเดินทางของจรวด

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า การที่จรวด Falcon9 ถูกปล่อยออกไปนอกโลก ต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงจำนวนมากเพื่อส่งจรวดดังกล่าวให้บินขึ้นไป และการที่จรวดจะออกไปสู่อวกาศได้ ไม่ใช่จะปล่อยขึ้นไปเป็นเส้นตรง แต่ตามทฤษฎีจรวดจะเดินทางเป็นเส้นโค้งพาราโบลาก่อนจะเร่งความเร็วจนหลุดจากชั้นบรรยากาศของโลกได้ นี่ก็ต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากอีกเช่นกัน

160409-spacex-2

ขากลับก็มีความยุ่งยากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าต้องบังคับให้ส่วนจรวดกลับมาจอดบนพื้นดินที่มีฐานรับเพียงจุดเดียว จรวดจะต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในการทำความเร็วและเล็งหาวิถีเพื่อจะกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก และเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องใช้เชื้อเพลิงในการ Burn เพื่อขยับทีละนิดละหน่อยเข้าไปหาฐานดังกล่าวเพื่อลงจอด นั่นหมายความว่าจรวดจะต้องแบกน้ำมันเชื้อเพลิงติดตัวไว้เยอะมากตั้งแต่แรก

ในขณะที่การจอดกลางมหาสมุทร โดยการใช้ Drone Ship เป็นฐานรับนั้น จรวดไม่ต้องสนใจว่าจะลงตรงไหนเป๊ะๆ แบบบนพื้นดิน แค่เล็งจุดบนมหาสมุทรกว้างๆ ก่อนจะปล่อนให้ Drone Ship เป็นตัววิ่งไปรอรับเอง ช่วยให้จรวดใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่า และไม่ต้องคิดเยอะเท่าการจอดบนพื้นดินนั่นเอง

160409-spacex-1

ทดลองแล้วคุ้มไหม ประหยัดได้เท่าไหร่เชียว

เนื่องจาก SpaceX มีภารกิจที่ต้องส่งจรวดไปนอกโลกบ่อยอยู่แล้ว แทนที่จะใช้งานแล้วทิ้งไปหรือนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ต้องสร้างใหม่ตลอดเวลา ซึ่งราคาค่าผลิต Falcon9 อยู่ที่สูงถึงลำละ 2,000,000,000 (สองพันล้าน) บาท ในขณะที่ราคานำ้มันเชื้อเพลิงต่อ 1 ภารกิจอยู่ที่ประมาณ 7,000,000 บาทเท่านั้น ถ้า SpaceX ประสบความสำเร็จในการนำจรวดกลับมาใช้ได้แค่ 50% ของภารกิจทั้งหมด และไม่ต้องใช้เวลาและต้นทุนในการซ่อมแซมมากนัก ก็จะสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้มากมายมหาศาล และความฝันด้านอวกาศพาณิชย์สำหรับท่องเที่ยวก็จะอยู่ใกล้พวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ

 

Reference : Space.com / SpaceX / TheVerge

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line