Survival

#SURVIVAL: ต้องรอด! 6 เคล็ดลับการทำพรีเซนต์สไตล์เซียน เอาชนะทุกสมรภูมิการนำเสนอ

By: anonymK December 18, 2019

ถ้าการสมัครงานคือการพรีเซนต์ตัวเองด่านแรกก่อนได้งาน ด่านต่อไปก็คือการทำงานเพื่อฉายแสง ดังนั้น การพรีเซนต์งานจึงเป็นอีกสกิลจำเป็นที่เราต้องมีติดตัว ทั้งเพื่อนำเสนอไอเดียในห้องประชุมกับเพื่อนร่วมงาน กับเจ้านาย หรือกับลูกค้าโดยตรง

ความน่าสนใจอยู่ที่ ต่อให้มีคนเก่งนับล้านบนโลก คิดงานเก่งได้ไม่ต่างกัน แต่เวลาตัดเกรดช่วงขายงานจะมีแค่คนที่โดดเด่นที่สุดเท่านั้นที่ได้รางวัลและคำชมไปครอง ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่มั่นใจว่าไอเดียของตัวเองก็ไม่ได้ด้อยกว่าคนข้าง ๆ แต่โดนปาดหน้าเค้กตลอด ขายงานไม่ค่อยจะผ่าน ถึงเวลาแล้วที่จะมาอัปสกิลเพิ่มทักษะกับความมั่นใจจากเคล็ดลับทั้ง 6 ข้อที่ 2 เซียนตัวจริงด้านพรีเซนต์เขาเปิดเผยให้เราฟัง

คุณเป๋ง (ซ้าย) และคุณธีร์ (ขวา)

และนี่คือหน้าตาของสองผู้เชี่ยวชาญที่มาแชร์ไอเดียให้เราฟังจากงาน Master Class ‘The Art of Presentation’ by Lenovo x Unlockmen ที่พวกเราชาว UNLOCKMEN จัดขึ้นเพื่อเวิร์กช็อปให้ผู้ร่วมงานได้ระเบิดไอเดียความสร้างสรรค์และลงมือทำงานจริงจากแล็ปท็อป Lenovo

  • คุณเป๋ง ชานนท์ ยอดหงษ์ อาร์ตไดเรกเตอร์ชื่อดังที่มีผลงานการออกแบบทั้งปกอัลบั้ม ของที่ระลึก จนถึงงานคอนเสิร์ต ที่เกี่ยวข้องกับศิลปินมากมาย ที่มานำเสนอเรื่องการคิดงาน
  • คุณธีร์ เจ้าของเพจ ‘พาวเวอร์พ้อยท์ร้อยเล่มเกวียน’ หนุ่มนักสรุปใจความสำคัญ อินฟลูเอนเซอร์ด้านการออกแบบนำเสนอพาวเวอร์พอยต์ ที่แบ่งปันข้อมูลด้านการสร้างสรรค์งานด้วยซอฟต์แวร์หลักอย่างพาวเวอร์พ้อยต์
3 WAYS TO ‘CREATIVITY’ – คิด เจาะ เคาะให้ตรงประเด็น

1.‘คิด’ เพื่อเข้าใจ : คนที่มีปัญหาการคิดว่าได้โจทย์มาจากลูกค้าเจ้าหนึ่งหรือเจ้านาย แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรเพื่อนำเสนอได้ถูกต้องถูกใจ เรื่องนี้คุณเป๋งให้ไอเดียว่าการคิดและการตีโจทย์ เราต้องคิดอย่างเข้าใจก่อนเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานตรงจุด

วิธีที่เขาใช้คือทำการบ้าน ตั้งต้นด้วยการคิดอย่างเข้าใจภาพรวม ทั้งแบรนด์ โจทย์ สไตล์ลูกค้า และผู้บริโภค งานนี้คุณเป๋งอธิบายให้เห็นภาพโดยยกตัวอย่างจากงานที่เขาทำว่า แม้เป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน แต่ถ้าต่างแบรนด์กัน การออกแบบและนำเสนอย่อมต้องต่างกัน เช่น หากโจทย์คือปกอัลบั้มศิลปินแนวเดียวกัน แต่ต่างค่ายกัน หน้าตาก็ต้องมาออกมาต่างกัน เป็นต้น

2. ‘คิด’ เพื่อทำงานร่วมกัน : ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกค้าหรือเจ้านาย ไม่ใช่ศัตรู เราไม่ต้องสวมเกราะป้องกันตัวเองขนาดนั้น เคล็ดลับการคิดไอเดียสไตล์คุณเป๋ง เขาจึงยืนยันว่าการทำงาน ตีโจทย์ให้ลูกค้าแบบอัตตาไม่สูง แต่ทำงานร่วมกันเหมือนเพื่อน แชร์ไอเดียซึ่งกันและกัน แล้วมันให้ผลลัพธ์ดีกว่า และแม้จะต้องแก้งานเขาก็ยินดีแก้ถ้าแก้อย่างมีเหตุผล ไม่แปลกจริง ๆ ที่จะได้ใจไปเต็ม ๆ

3. ‘คิด’ เพื่อนำเสนองาน : ถ้าเราซื้อยาสีฟันยังต้องเลือก การคิดเพื่อนำเสนองานก็ไม่ควรต่างกัน อาร์ตไดเรกเตอร์มือเซียนแนะนำว่าแม้ตัวเขาจะแทบไม่โดนแก้งานหรือปฏิเสธงานเลย แต่ทุกวันนี้เขาก็ทำงานโดยมีทางเลือกให้ลูกค้าเสมอ รวมทั้งตั้งใจนำเสนอสิ่งใหม่ที่คาดเดาไม่ได้ให้ลูกค้าตลอดเวลา เคล็ดลับการเสนองานของเขาใช้วิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • สร้างทางเลือกให้ลูกค้า แบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่ 1.) นำเสนองานที่ลูกค้าชอบ 2.) นำเสนองานที่ลูกค้าไม่ชอบ (อาจเพราะแหวกแนวเกิน) และ 3.) นำเสนองานที่ผสมระหว่างข้อ 1 และข้อ 2 เช่น หากโปสเตอร์ของศิลปินร็อกมักเป็นภาพศิลปินชัด ๆ โหด ๆ สีดำทะมึน เขาจะท้าทายด้วยการนำเสนอรูปแบบที่แตกต่างเป็นโปสเตอร์ภาพวาดสีสันสดใสแทน หรือปก Retrospect สายเมทัลที่มักต้องมากับสีดำเสมอ เขาจะเลือกนำเสนอสีดำเป็นหนึ่งในทางเลือกและการแหวกขนบครั้งน้ี กลายเป็นหนึ่งในปกอัลบั้มที่กล่าวขานมากที่สุดปกหนึ่งของวง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ไอเดียแรกที่คิดได้เพื่อป้องกันคำตอบที่คาดเดาง่ายเกินไป
  • ใส่กิมมิกให้คนจดจำ เพราะงานที่จำย่อมดีกว่างานที่ถูกลืม เช่น การออกแบบปกศิลปิน ป้าง นครินทร์ หากสังเกตให้ดีจะพบว่าเขาใช้ฟ้อนต์ “ป” เขียนคำว่า “ป้าง” แต่พลิกไปมา

 

3 WAYS TO ‘MAKE’ A PRESENTAION – เปลี่ยนความคิดเป็นพรีเซนต์สุดปัง

1. ตั้งต้นการออกแบบอย่างเข้าใจ : สิ่งสำคัญที่คนมักหลงทางเมื่อทำพรีเซนต์บนพาวเวอร์พอยต์คือเรื่องความสวยงามกับการสื่อสาร หลักสำคัญคือเราควรสร้างพรีเซนต์เทชั่นที่เน้นเรื่องการสื่อสารและความเข้าใจเป็นหลัก ระวังการตกแต่งจนเกินพอดีเพราะอาจทำให้คนรับสารหลงประเด็นหรือคลาดเคลื่อนได้

2. เข้าใจทันทีด้วยสัญชาตญาณ : เคล็ดลับการทำพาวเวอร์พอยต์ที่ดีและน่าจดจำคือการคำนึงถึงรูปแบบการรับรู้ตามสัญชาตญาณ คุณธีร์เผยข้อเท็จจริงว่าเมื่อมนุษย์ทำตามสัญชาตญาณเพื่อตอบสนองสมองส่วน Reptilian Brain อย่างเมื่อรู้สึกหิวก็กิน ง่วงก็นอน จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย ดังนั้น เคล็ดลับของการทำพาวเวอร์พอยต์นำเสนอไม่ให้น่าเบื่อจึงเป็นการทำงานชิ้นนั้นให้เข้าใจง่ายที่สุด เพราะหากย่อยยากเกินไปคนอาจจะหลับหรือเบื่อได้ โดยวิธีที่หลัก ๆ ที่ทำให้คนเข้าใจสไลด์ได้ง่ายมีเคล็ดลับดังนี้

  • ตัวอักษรน้อย
  • 1 สไลด์ 1 ใจความ ไม่ควรสื่อสารมากเกินกว่านี้หรือจับประเด็นไม่ได้ในแต่ละสไลด์
  • แปรข้อมูลเป็นภาพ หนึ่งภาพแทนได้เป็นล้านความหมาย การใช้ภาพคือการรับรู้ที่สามารถเข้าใจได้ดีด้วยสัญชาตญาณ
  • ไม่สร้างแอนิเมชันสวนทาง และใส่จนฟุ้งเฟ้อ เพราะหากมีอะไรขัดกับสัญชาตญาณจะทำให้คนรับสาส์นรู้สึกสะดุด

3. ใช้เวลาที่เหมาะสมทั้งการพรีเซนต์และการนำเสนอ : ส่วนสำคัญของการนำเสนอคือเรื่องเวลา เพื่อให้สมดุลและตอบโจทย์ทั้งคนทำและคนฟัง

  • จำนวนสไลด์ที่เหมาะสมตามเวลานำเสนอ วิธีคำนวณได้แก่ การนำเวลานำเสนอ หารสอง จากนั้นนำผลลัพธ์ที่ได้มาบวกหนึ่ง เช่น นำเสนอ 10 นาที จะมีจำนวนสไลด์ = (10/2) +1 = 6 สไลด์
  • สร้าง Template หากต้องทำซ้ำ Template เดิมทั้งเรื่องการกำหนดฟ้อนต์ ฯลฯ

เมื่อได้รู้หัวใจของการนำเสนอทั้งการคิดและลงมือทำครบทั้ง 6 วิธีจากผู้เชี่ยวชาญเจ๋ง ๆ แล้ว ส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ #SURVIVAL ได้จริง ๆ ขั้นสุดท้ายคงอยู่ที่การทบทวนและลงมือทำบ่อย ๆ เท่านั้น เพราะ UNLOCKMEN ยืนยันว่า สิ่งที่ทำให้เทพไวที่สุดการฝึกฝน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เราก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามทุกความสำเร็จที่ยั่งยืนจะราบรื่น คล่องมือยิ่งขึ้น ถ้าเรามีผู้ช่วยที่เก่งกาจ และ Master Class ‘The Art of Presentation’ by Lenovo x Unlockmen ที่ทำให้เราเอาตัวรอดเรื่องการพรีเซนต์ได้อย่างเซียนครั้งนี้ก็เพราะมีตัวช่วยมืออาชีพอย่าง “Lenevo Yoga” ที่มีโปรแกรมไมโครซอฟต์ พาวเวอร์พอยต์ติดเครื่องมาให้พร้อมใช้งานได้ทันที หมดห่วงเรื่องลิขสิทธิ์ ให้เราฝึกสกิลพรีเซนต์ดี ๆ ได้ทุกวัน ที่สำคัญตัวเครื่อง “Lenevo Yoga” ดีไซน์ให้พกพาสะดวก พกไปถามข้อมูลเพื่อนห้องข้าง ๆ เพื่อทำพรีเซนต์ได้สะดวก หรือจะคว้าใส่กระเป๋าเอาไปพรีเซนต์งานกับลูกค้าก็ง่ายแสนง่าย ด้วยน้ำหนักที่เบาเพียง 1.2 กิโลกรัม เท่านั้น สำหรับใครที่ต้องการเอาชนะทุกสมรภูมิการนำเสนอมี Lenevo Yoga ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line