DESIGN

ทำความเข้าใจกับเรื่องของสูทเสียใหม่กับ ร้าน THE DECORUM แหล่งรวมตัวของผู้ชายสาย CLASSIC

By: Thada December 2, 2021

ถ้าพูดถึงเรื่องสูทกับผู้ชายไทย ดูจะเป็นชุดความรู้ที่เข้าใจผิดกันมานมนานหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่ง UNLOCKMEN พอจะเข้าใจว่าด้วยสภาพอากาศ และโอกาสที่ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยต่อการสวมใส่เสื้อสูทสักเท่าไหร่ ส่งผลให้หนุ่ม ๆ ไทยไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมนี้เท่าที่ควร พอนำมาสวมใส่ก็จะดูเคอะเขิน ไม่มั่นใจกันไปอีก แต่วันนี้พวกเราอยากจะเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใส่ชุดสูทเพิ่มมากขึ้น เมื่อได้รับโอกาสอันดีจากคุณ ศิรพล ฤทธิประศาสน์ (กาย) และ คุณ วรงค์ ภัทรชัยกุล (บอล) เจ้าของร้าน The Decorum จุดนัดพบสำหรับสุภาพบุรุษ ในการแนะนำข้อมูลแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับชุดสูทแบบจัดเต็ม

ซึ่งก่อนที่เราจะไปเจาะลึกเรื่องสูท เป็นธรรมเนียมที่จะต้องพูดคุยเกี่ยวกับที่มาของร้านว่าทั้งคู่มาเริ่มต้นจับธุรกิจ Tailor Made ได้อย่างไร

อะไรที่จุดประกายความคิดจนอยากจะเปิดร้าน The Decorum ขึ้นมาด้วยกัน ?

คือเราสองคนรู้จักกันมาก่อนหน้านี้แล้วชอบอะไรที่เหมือน ๆ กัน ใส่เชิ้ตยี่ห้อเดียวกัน แล้วก็มีคนมาถามเยอะ ว่าเราใช้ของอะไร หามาจากไหน จึงคิดว่าอยากจะทำร้านขึ้นเพื่อให้เหมาะกับคนที่มีไลฟ์สไตล์เหมือนกับเรา ก็เลยรู้สึกว่าอยากเอาสินค้าที่ตัวเองชอบและใช้อยู่แล้วมาทำตลาดที่นี่ครับ  โดยสินค้าส่วนใหญ่ในร้านจะเป็นที่เราก็ใส่เองด้วย ส่วนเรื่องของช่างตัดสูทที่ทางร้านนำเข้ามาก็เป็นช่างที่พวกผมตัดกับเขาประจำอยู่แล้ว เป็นเพื่อนกัน สุดท้ายมาถึงจุดที่ว่า ตลาดเมืองไทยยังไม่มีอะไรแบบนี้ อยากจะให้คนไทยมีโอกาสได้ลองเหมือนกับเรา


ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนหรือเปล่า  ?

ป่าว ๆ ก็รู้จักกันจากความชอบเรื่องแฟชั่นเนี่ยแหละ คือเรามี Concept ที่ค่อนข้างชัด ซึ่งก็มีสไตล์เหมือน ๆ กัน ความคิดก็ใกล้เคียงกัน สูทก็ชอบสไตล์เดียวกัน คือบอลเขาก็เป็นคนที่เก่ง เขาดูของคุณภาพดีเป็น และเขาก็เก่งด้านนี้มาก เลยตกลงปลงใจ เริ่มทำธุรกิจร่วมกัน


กว่าจะมาเริ่มทำธุรกิจนี้ต้องเตรียมตัวนานมั้ย ?

เริ่มธุรกิจนี้จริง ๆ ก็ทำกันมา 1-2 ปีละ พอมีเวลาก็มาคุยกัน สุดท้ายพอได้จังหวะปุ๊ปลงมือทำเลย เราก็ลงหุ้นกันซื้อและทำร้านไปได้ ซึ่งเกิดจาก Passion ล้วน ๆ  แล้วเราสองคนก็มีประสบการณ์กับเสื้อผ้าแนวนี้ จนค่อนข้างมั่นใจในการเลือกของที่คิดว่ามีคุณภาพจริง ๆ คือเราลองมาเยอะพอสมควร และก็ไม่ได้มีใครทำมาก่อน

ซึ่งเราก็พยายามปรับระดับให้สินค้ามันเหมาะสมกับคนหลาย ๆ กลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เพิ่งเริ่ม หรือคนที่สนใจสูทในราคาหลักแสน เพราะเราก็เคยมีประสบการณ์ค่อย ๆ เริ่มต้น จึงรู้เลยว่าเสื้อเชิ้ตคามาคุระเป็นเสื้อที่มีคุณภาพจริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาเสื้อเชิ้ตในราคาห้าหกพันหรือหมื่นเพื่อได้ของดี


คุณบอล และกายได้รับอิทธิพลการแต่งตัวแบบนี้มาจากไหน เพราะดูจะไกลตัวสังคมไทยเหลือเกิน ?

เหมือนเราโตขึ้นเราก็ต้องแต่งตัวตามวัย อย่างตอนเด็ก ๆ เราก็ใส่ขาเดฟตามวัยรุ่นทั่วไป แต่พอโตขึ้นมาเราก็ชอบแจ็คเก็ต ชอบเนคไท พอรู้สึกว่าเราชอบอะไร ก็เปลี่ยนแนวจนศึกษาไปเรื่อย ๆ

จนเป็นแบบทุกวันนี้ พอถึงจุดๆ หนึ่ง เราต้องการหาเสื้อผ้าที่มองว่าเมื่ออายุมากแล้ว เราใส่เสื้อผ้าแฟชั่นมันเข้าหรือเปล่า แล้วอะไรที่เป็นสไตล์ที่เหมาะสม และ Timeless สุดท้ายคือ Classic Menswear 


ทำไมอยู่ดี ๆ ถึงกลายเป็นจุดรวมตัวของผู้ชาย Classic  ?

ถ้าให้พูดถึงเมืองไทย คนที่ชอบเสื้อผ้าแนวนี้จะเป็นวงแคบ ซึ่งสไตล์คลาสสิคมันมีไม่ค่อยเยอะ แล้วเราก็เป็นคนที่ชอบเรื่องพวกนี้ มีประสบการณ์กับเรื่องพวกนี้ พอมีคนเข้ามาถาม ก็เหมือนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เลยทำให้เป็นจุดรวมตัว บางครั้งมาร้านเราไม่ต้องซื้อก็ได้ มานั่งคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน ซึ่งก็เป็นเรื่องสนุก ทุกเดือนก็จะมีจัดงานของทางร้าน ทำโชว์ที่รวมทุกอย่างเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ คนที่มาก็จะแต่งตัวกันอย่างเต็มที่ เหมือนเป็นช่วงเวลาที่ได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองกันไปโดยปริยาย

พอคุยกันหอมปากหอมคอถึงเรื่องราวความเป็นมาของร้าน ก็มาถึงประเด็นที่เราอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับชุดสูท ซึ่งทั้งคุณกายและคุณบอลได้กล่าวว่า “ที่จริงแล้วการใส่สูทเนี่ย ผู้ชายไทยค่อยข้างมีความเข้าใจที่ผิดหลาย ๆ อย่าง ยกตัวอย่างเช่น เสื้อเบลเซอร์ที่พูดกันว่าร้อน มันเกิดการเลือกผ้าและเทคนิคของช่างตัด ซึ่งเสื้อเบลเซอร์เนี่ยถ้าถูกทำด้วย Construction ที่เหมาะสม ตัดออกมาสวมใส่ก็มีลักษณะเหมือนเชิ้ตตัวหนึ่งเลยทีเดียว” ดังนั้นเพื่อไขข้อข้องใจนี้ เราได้นำทริกที่หนุ่ม ๆ ควรจะรู้เกี่ยวกับชุดสูทผ่านประสบการณ์จากทั้งสองท่านมาฝากกัน


Cool Facts You Should Know

ถ้าเราอยากจะมาตัดสูท มีกี่เรื่องที่เราควรจะรู้ก่อน ?

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้ตัวเองว่าอยากได้สูทสไตล์ไหน ชอบแบบไหน เพราะหลัก ๆ สูทจะมีของทางฝั่งประเทศอังกฤษ และอิตาลี ถ้าพูดถึงเรื่อง Sack Suit จะออกเป็นสไตล์อเมริกันมากกว่า คือถ้าเป็นสไตล์อังกฤษ จะมีเสริมบ่าตรงบริเวณไหล่ ส่วนใหญ่ประเทศไทยจะใส่สูทสไตล์อังกฤษ แต่มันจะมีความทางการหน่อย เนื้อผ้าก็จะมีความแข็ง มีความเป็นเหลี่ยมมากขึ้น ที่เรียกว่า Structured Suit

แต่พวกที่เป็น Fitted Silhouettes หรือที่เขาเรียกว่า Soft Structured Suit คือสูทสไตล์อิตาเลียนจะมีความบาง เรียว มีความโค้งของตัวสูท คือไม่ใช่ว่ามันจะฟิตนะ แต่คือมันมี Shape มากกว่า นี่คือสูทที่เรียกว่า Italian Style ซึ่งไหล่จะไม่มีการใส่ Padded หรือที่หนา ๆ ตามสูทที่พ่อใส่ (เสริมไหล่) มันจะมีความเรียวลงมา ซึ่งร้านของเราจะมีทั้ง 2 แบบ เพราะมีการเชิญช่างชื่อดังที่ตัดสูทให้กับ Kingsman จากอังกฤษมาตัดสูทให้กับทางร้านเช่นกัน


แล้วส่วนของปกกับกระดุมมีอะไรบ้างที่ต้องรู้ ?

กระดุมจะแบ่งหลัก ๆ เป็น Single กับ Double Breasted คือ กระดุมเดียวกับกระดุม 2 แถว ซึ่งเรื่องของกระดุมเนี่ยอยู่ที่ความชอบของแต่ละคนเลยไม่มีถูกหรือผิดใด ๆ


มีที่มามั้ยครับกับเรื่องการติดกระดุม ที่ต้องติดเพียงเม็ดเดียวเท่านั้น ?

จริง ๆ แล้วพวกสตูสูทเวลาเขาทำมา ถ้าเราติดกระดุมที่เป็นแถวเดียว เราจะติดเม็ดบน เพราะมันเป็นจุดที่ช่างเขาทำขึ้นมาให้พอดี จะดึงเพื่อให้เกิด Silhouette หรือเกิดทรง แต่จริง ๆ ช่างเขาเล็งไว้แล้วว่าสูทตัวนี้ติดกระดุมตรงไหนสวยที่สุด เพื่อให้เกิดรูปลักษณ์ที่เหมาะสมกับผู้ใส่ บางทีถ้าติด 2 เม็ด มันก็จะดึง Shape ทำให้ความสวยงามไม่เหมือนกัน เรื่องที่มาที่ไป สมัยก่อนสูทนั้นมาจากเรื่องของชุดสำหรับคนขี่ม้า เวลาเขาติดเขาก็จะติดกระดุมเม็ดเดียว


แล้วเรื่องของกระเป๋ากับแขนเสื้อ ?

ถ้าเป็นสูทอังกฤษเขาจะเรียกว่าแฟล๊บพอกเก็ต (Flap pocket) คือมีปกปิดลงมา แต่ถ้าเป็นแนวอิตาเลียน หรือพวกสไตล์ Napoli เขาจะเรียกว่าเจ็ทท์พอกเก็ต (Jetted pocket) นี่คือพอกเก็ตสไตล์สูท แต่ว่าพอกเก็ตที่ไม่ได้ใส่กับสูท (สปอตแจ็กเก็ต) จะเรียกว่าแพทช์พอกเก็ต (Patch pocket)


เรื่องของกระดุมแขนเสื้อ จริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับเราหรือช่างเป็นคนออกแบบมาให้ แล้วมีไว้เพื่ออะไร ?

แล้วแต่เราครับ ส่วนมากก็จะมี 3-4 เม็ด แต่ถ้าเป็นสูทที่ดีหน่อย ก็จะแกะออกมาได้ เขาเรียกว่า Functional Button มันเป็นเรื่องของสมัยก่อน ที่คนเขาใช้งานแบบฟังชั่น เหมือนแพทย์ในสนามแต่ก่อนคือต้องใส่เสื้อแบบนี้ไป บางทีเขาทำงานเขาต้องแกะออกมา เพื่อที่จะพับได้ แต่ว่าจริง ๆ แล้วสมัยนี้ก็ไม่จำเป็น สูทบางตัวก็ทำขึ้นมาหลอกเฉย ๆ แต่ว่าเสื้อสูทที่ร้านเราส่วนมากก็จะแกะได้หมด เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของสูทที่ดีด้วย จริง ๆ มันก็แล้วแต่บางสูทบางที่ด้วย มีหมดตั้งแต่กระดุม 4 เม็ด 5 เม็ด 3 เม็ด หรือบางที่ก็มีเม็ดเดียว ขึ้นอยู่กับร้านนั้นจะทำออกมาเป็นสไตล์ไหน


Fully-lined, Half-lined, Unlined มันแตกต่างกันยังไง ?

สูทแบบ Half Line

สูทแบบ Full-Line

มันเป็นเรื่องของความสบายเวลาสวมใส่ Lined ที่หมายถึงมันก็คือส่วนของซับใน สำหรับอากาศเมืองไทยถ้าเหมาะจริง ๆ ควรทำสูทที่เป็นแบบ Half-lined ส่วน Fully-lined ก็จะเป็นซับในเต็มตัวเลย ถ้าแบบไม่มี Lined เลยก็จะเป็นแบบ Casual ซึ่งจะมีราคาที่สูงกว่า เพราะทำยากกว่า ต้องมีความเนี๊ยบกว่า ส่วนใหญ่สูทที่ถูก ๆ จะเป็นแบบ Fully-lined เพราะบางทีอาจจะไม่ได้ทำมาให้เนี้ยบมากก็ได้


เรื่องเนื้อผ้าที่ใช้ตัดสูทต้องเลือกยังไง ?

ผ้าเราก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับอากาศในเมืองไทย ส่วนมากถ้าเราใส่ไปตามงานต่าง ๆ ก็จะเลือกผ้าที่เป็นผ้าไฮทวิสต์ (High Twist หรือ ผ้าทอ) ซึ่งข้อดีคืออากาศถ่ายเทได้ดี ยับยาก และคงทนกว่า มันเป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่พวกเราไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ถ้าลูกค้ามาที่ร้าน ผมจะแนะนำให้เลือกผ้าไฮทวิสต์นี่แหละครับ

แล้วก็จะมีผ้าโมแฮร์ ซึ่งมีความคงทน เหมาะกับอากาศเมืองไทย ตัวผ้าจะมีความแข็ง พอมาทำเป็นตัวสูทจะเห็นได้ชัดในแต่ละส่วนของสูท จุดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการทำสูทคือ มันจะมีคอนสตรัคชั่นข้างใน

สูทที่เรียกว่าพิ๊วส์ คือสูทที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเชิงพาณิชย์ เพราะใช้ผ้ากาวในการตัด ถ้าลองจับดูจะรู้เลยว่าผ้ามันจะขาดความเป็นธรรมชาติและหนัก พอใส่จะทำให้ร้อนได้ วิธีการผลิตคือใช้ผ้ากาวแปะแล้วรีดทับไปเลย ทำให้ไม่มีตัวระบายอากาศ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าการใส่สูทมันทำให้ร้อน จะใส่ไปทำไม สูทที่ผมไม่ชอบจริง ๆ คือสูทที่ใส่ออกมาแล้วดูตรงไปหมดทุกอย่าง สูทที่ดีจะต้องไม่เป๊ะมาก มีความไหลลื่นไปกับธรรมชาติของตัวคน มีความเบาและไม่ทำให้รู้สึกว่าร้อน ความรู้สึกเหมือนกับใส่เชิ้ตด้วยซ้ำ คือการใช้ผ้ากาวมันเป็นที่นิยมเพราะมันทำง่าย ซึ่งถ้าเป็นแบบแคนวาส มันต้องใช้เวลาในการสอยนานกว่า ราคาก็สูงกว่าด้วยเช่นกัน


มีข้อมูลส่วนไหนที่คุณบอล และคุณกาย อยากเสริมเพื่อเป็นความรู้ให้กับคุณผู้อ่านเพิ่มอีกไหม ?

ผมว่าเรื่องเสื้อผ้ามากกว่า คือการเลือกซื้อเสื้อผ้าเราก็ต้องดูงบก่อน การตัดสูทของแต่ละที่ ก็มีเทคนิคเรียนรู้มาไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาทำมาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการก็ได้ แรก ๆ ถ้างบยังไม่เยอะซื้อแบบสำเร็จรูปไปก่อน คือคำว่าสั่งตัด ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องออกมาสวยเสมอไป แถมมีราคาที่สูงด้วย ซึ่งถ้ามีงบแล้วเราอยากมีสูทดี ๆ ซักตัวหนึ่ง ก็ค่อยมาปรึกษากับช่างตัดว่างบเท่านี้ได้มั้ย แล้วเรารับไหวมั้ย ถ้าไหวก็เอา

บางทีงบน้อยไปซื้อเสื้อผ้ามือสองมาใส่ก่อนก็ได้ อย่าไปติดกับคำว่า ต้องตัดถึงจะสวย มันไม่ใช่ความหมายของการทำเสื้อ สูทที่สวยคือสูทที่ฟิตพอดีกับเรา บางครั้งเราซื้อเสื้อสูทมือสองมาด้วยซ้ำ แต่ถ้าทุกอย่างมันเข้ากับเราแบบนั้น สูทมือสองราคา 2,000-3,000 อาจจะใส่ดี ใส่บ่อยกว่าสูทราคาเป็นหมื่นที่ตัดไม่ได้คุณภาพ และไม่เข้ากับรูปร่าของคนใส่ก็ได้


Bespoke มันต่างกับ Made to Measure อย่างไร ?

Bespoke เรียกง่าย ๆ คือการสั่งตัดสูทให้กับลูกค้าคนนั้น ๆ โดยเฉพาะ เป็นเรื่องของการทำ Pattern จำเป็นจะต้องมีการ Fitting อย่างน้อยซัก 2-3 ครั้ง ถ้าตามหลักของเมืองนอกจะต้องเป็นงานมือในหลาย ๆ จุดที่สำคัญ ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์จะเป็นงาน Handcraft พอเสร็จแล้วสูทตัวนั้นจะเป็นของคุณเพียงคนเดียว

ในขณะที่ Made to Measure ทางร้านจะมีสแตนดาร์ดไซส์ หรือแบบมาให้มาให้เลือกแล้ว แต่ลูกค้าจะสามารถปรับแก้ Pattern แล้วก็มี Pre Fitting คอยเก็บให้ว่าจุดไหนที่ไม่สวย ยาวไป สั้นไป หลังยังไม่คมพอ แต่จะไม่ละเอียดเท่า Bespoke  แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าแบบไหนถึงสวยกว่ากัน บางที Made to Measure ก็อาจจะสวยกว่า Bespoke แต่ส่วนมากจะเป็น Bespoke ด้วยความที่เค้า Personalize มาให้เราพร้อมกับการฟิตติ้งด้วยจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า


สุดท้ายอย่างให้พูดถึงคนที่กำลังมีแนวคิดผิด ๆ เกี่ยวกับการใส่สูทอยู่  ?

จริง ๆ มันก็เป็นตลาดที่ Niche เหมือนกัน แต่ว่าก็เริ่มดีขึ้น เพราะการใส่สูท 1 ตัว เสื้อเชิ้ต 1 ตัว กางเกง 1 ตัว มันไม่ได้เป็นอะไรที่เยอะเกินไปเลย อยากให้มองว่าพอคนเราอายุเริ่มเยอะ เราจะดูว่าอันไหนที่มันเป็นสไตล์ที่อยู่กับเราได้ตลอดไป เช่นเดียวกับสูท พอถึงจุด ๆ หนึ่งก็จะหันมาใส่ เนื่องจากมันเป็นเรื่องของ Timeless ไม่มีการตกยุค

ซึ่งสมัยนี้ก็มีเด็ก ๆ ที่เริ่มชอบ แต่มันยังมีข้อจำกัดตรงเรื่องของราคา แต่ร้านเราก็มีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่เหมือนกัน เพราะสูทที่ดีพอใส่แล้วมันไม่ได้ดูแก่ และไม่ร้อน ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่ทำให้แต่งตัวยากเลย จริง ๆ แค่มีสูทแจ๊คเก็ต ใส่กางเกงยีนส์กับเสื้อเชิ้ตหรือโปโลก็ได้ คือไม่ต้องใส่อะไรเยอะ แต่ใส่แล้วเหมาะสมกับเรา แบบนั้นดีที่สุด

ทั้งหมดนี้ก็เป็นความรู้ที่เราได้รับจากร้าน The Decorum ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณ คุณ ศิรพล ฤทธิประศาสน์ (กาย) และ คุณ วรงค์ ภัทรชัยกุล (บอล) เจ้าของร้านที่สละเวลามาให้ความรู้กับเราในวันนี้ โดยทางร้านยังมีจุดเด่นอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจคือการเชิญช่างมาจากต่างประเทศเป็นประจำทุกเดือน โดยช่างแต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป หนุ่ม ๆ สายคลาสสิคจะได้ไม่ต้องเสียสตางค์เดินทางไปถึงเมืองนอก เพราะ The Decorum ได้มอบประสบการณ์เหล่านี้ถึงเมืองไทย

ใครที่สนใจและอยากจะรู้ว่าช่างตัดสูทชื่อดังระดับโลกคนไหนจะเดินทางมาเมื่อไหร่ ก็สามารถติดตามได้ในช่องทาง Facebook และ Instagram ของทางร้าน ถ้าคุณเป็นผู้ชายสาย Classic ต้องไม่พลาดไปเยี่ยมชมร้าน The Decorum สักครั้งเพื่อเปิดความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับสูทที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน

 

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line