MUSIC

11 อัลบั้มโคตรแรร์! ของวงการอันเดอร์กราวน์ไทยปี 2000-2005 ที่มีแค่เงินก็หาซื้อไม่ได้ง่าย ๆ

By: JEDDY October 17, 2022

ครั้งที่แล้ว เราได้มีการเล่าถึงอัลบั้มสุดเดือดของวงสายร็อกและเมทัล ที่คว่ำวอดอยู่ในวงการอันเดอร์กราวน์ในยุค 90’s ไปแล้ว (Link : https://bit.ly/3S5nDW4) มาในครั้งนี้เราจะเขยิบไทม์ไลน์ขึ้นมาอีกหนึ่งสเตปด้วยการต่อไปสู่ช่วงปี 2000-2005 ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่กำลังเข้าใกล้ความพีคของวงการนี้ โดยเราได้คัดเลือก 11 อัลบั้มสุดแรร์ที่คุณอาจจะไม่เคยได้สัมผัสมาให้ทุกคนได้ลองเสพกันดูครับ


SWEET MULLET  “PANAPHOBIA” (2003)

ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักวง Sweet Mullet ที่สร้างชื่อเสียงจากเพลง “ตอบ” ในโปรเจกต์ Showroom No.1 และยืนหยัดอยู่ในวงการดนตรีมาอย่างยาวนาน มีเพลงฮิตฝากไว้เพียบ ไม่ว่าจะเป็น “สภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน”, “ขอโทษในสิ่งที่เธอไม่รู้”, “ภาพติดตา” เป็นต้น

แต่ก่อนที่จะเป็นที่รู้จัก พวกเขาก็เคยผ่านวิถีอันเดอร์กราวน์มาก่อน หลังจากที่ “เต๋า” นักร้องนำได้ออกจากวง Napkin ก็ได้มาสร้างวง Sweet Mullet ที่นำเสนอแนวทางอีโม/สครีมโม ที่เต็มไปด้วยเมโลดี้กับความเกรี้ยวกราด ซึ่งมันถูกสะท้อนออกมาใน EP.Panaphobia บรรจุไว้ด้วย 6 เพลงด้วยกันรวมอินโทร, เอาท์โทร และเพลงอะคูสติค ซาวด์อีพีนี้ได้สะท้อน DNA ของวงไว้ได้อย่างชัดเจน

วง Sweet Mullet เคยนำผลงานชิ้นนี้ไปเดินขายกันในงาน Fat Radio กันเองด้วย ปัจจุบันได้มีการผลิต “Panaphobia” ออกมาวางจำหน่ายอีกครั้งเมื่อปีก่อน ส่วนปั๊มแรกของปี 2003 ปัจจุบันบอกได้เลยว่าแรร์มาก ๆ 

แทร็กแนะนำ : “Cosmetica”


RETROSPECT 

“FOR YOUR EARS ONLY ” (2003)

เป็นอีกหนึ่งวงที่ก้าวข้ามไปประสบความสำเร็จกับวงการเมนสตรีม เคยสร้างกระแสให้วัยรุ่นทั่วประเทศหาซื้อเสื้อลายสกอตมาใส่กันมาแล้ว Retrospect เติบโตมาไล่ ๆ กับ Sweet Mullet และเคยอยู่ร่วมกลุ่ม Screamlab ด้วยกัน แถมยังมีผลงานอีพีที่มีชื่อว่า “For Your Ears Only” ออกมาในปี 2003 เช่นกัน (เพิ่งจะผลิตใหม่อีกครั้งในรูปแบบเทปและแผ่นไวนิลเมื่อ 2 ปีก่อน)

ซาวด์ในอีพีนี้บอกเลยว่าดิบมาก เพราะพวกเขาหาเครื่องมาอัดเพลงกันเองทั้งหมด เรียกได้ว่าอยู่ในงบประมาณที่จำกัดมาก ๆ ส่วนแนวเพลงที่พวกเขาถ่ายทอดออกมาคือสไตล์เมทัลคอร์สุดดุดันและดุเดือดไม่ใช่น้อย ผลงานชิ้นนี้พวกเขาใช้เวลาอัดกันแบบรวดเร็วมาก ๆ เพราต้องเร่งเอาไปขายในงานคอนเสิร์ตอันเดอร์กราวน์ ซึ่งพวกเขาได้รับการคำแนะนำมาจากสมาชิกวง Dezember

แม้ซาวด์ที่ออกมาอาจจะไม่ดี แต่พลังที่แฝงอยู่ก็ดีพอที่ทำให้พวกเขาถูกเชิญให้ไปร่วมโปรเจกต์ Showroom No.1 จนได้มีเพลง “ไม่มีเธอ” ออกมาให้ทุกคนได้ฟัง

แทร็กแนะนำ : “Cannibalistic Monogamy”


BIKINI “I LOVE YOU” (2004)

“I Love You” ผลงานอัลบั้มสุดคลาสสิคของวง Bikini ที่หลาย ๆ คนอาจจะรู้จักพวกเขาจากเพลง “ปลดปล่อย” ในโปรเจกต์ Do It Or Die 1 ซึ่งเรากล้าบอกได้เลยว่าผลงานในอัลบั้มนี้แตกต่างจากเพลงดังของพวกเขาโดยสิ้นเชิง

สิ่งที่ทุกคนจะได้ยินคือดนตรีโพสต์ฮาร์ดคอร์ที่เต็มไปด้วยเสียงสครีมกังวาลตลอดเกือบทั้งเพลง (มีเสียงร้องปกติแทรกเข้ามาบ้าง) ภาคดนตรีก็ไม่น้อยหน้าจัดเต็มด้วยความหนักหน่วง แต่เพิ่มในส่วนของเมโลดี้สวย ๆ ลงไป เป็นการตัดเลี่ยนได้เป็นอย่างดี ส่วนเพลงที่หลาย ๆ คนรู้จักจากอัลบั้ม “I Love You” คือเพลง “น้อยใจความตาย” ใครที่เป็นเด็กอันเดอร์กราวน์ในยุคนั้นต้องผ่านหูกันมาแล้วทุกคน

แทร็กแนะนำ : Hype!!


SLEEPING SHEEP

“SLEEPING SHEEP” (2005)

เป็นวงที่สามารถไปอยู่ทั้งในซีนอันเดอร์กราวน์กับอินดี้ สำหรับ Sleeping Sheep วงอีโม/นูเมทัลกลายเป็นที่รู้จักจากอัลบั้มแรกที่ใช้ชื่อเดียวกับวง โดยออกวางจำหน่ายกับทางค่าย Spicy Disc และออกแบบหน้าปกได้สะดุดตามาก ๆ (ได้เรฟมาจากอัลบั้ม “Around The Fur” ของ Deftones)

หากคุณเป็นสาวกวง Deftones อัลบั้มนี้จะตอบสนองมันได้เป็นอย่างดี เพราะสมาชิกทุกคนในวงแกะหลับต่างเทิดทูนบูชาวงนี้เป็นพิเศษ พวกเขาจึงนำเอาอิทธิพลทางดนตรีเหล่านั้นมาปรุงแต่งให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้อย่างน่าฟัง 

แทร็กแนะนำ : “ยิ่งลืม ยิ่งจำ”


CLONE “CLONE” (2001)

Clone วงดนตรีแนวเพาเวอร์/กรูฟ/แธรชเมทัล ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวง Pantera เข้าอย่างจัง พวกเขาเป็นอีกหนึ่งวงที่เคยได้ไปโบยบินในโลกบนดินกับอัลบั้ม “Aggression Power” ซึ่งออกกับค่าย Real & Sure ของโป่ง หิน เหล็ก ไฟ

แต่ก่อนหน้านั้น Clone เคยมีอัลบั้มเต็มออกมาเอง 1 ชุด ซึ่งใช้ชื่อเดียวกับวงที่มาพร้อมกับมาตรฐานซาวด์ที่ล้ำกว่าวงอันเดอร์กราวน์ตอนนั้นไปหลายขุม เพราะพวกเขาได้เจตพล คาน มือมาสเตอร์ริ่งตัวท็อปของวงการที่ผ่านงานกับศิลปิน GMM Grammy มามากมายมารับหน้าที่ดูแลซาวด์ให้กับทางวง 

เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นผลดีของวงและกำไรต่อแฟนเพลงแบบเต็ม ๆ เพราะเราจะได้ฟังทุกซาวด์ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องกึ่งสำรอกแบบมีเมโลดี้, ริฟฟ์กีตาร์สุดคม, ซาวด์เบสแน่น ๆ และเสียงกลองที่กระเดื่องรัวมาชัดทุกเม็ด เติมเต็มอรรถรสการฟังเพลงแบบสุด แถมเนื้อหายังเป็นภาษาไทยก็ยิ่งทำให้ฟังง่าย มากขึ้นไปอีก 

แทร็กแนะนำ : “ถอนรากถอนโคลน”


SURRENDER OF DIVINITY

“ORIENTAL HELL RHYTHMICS” (2001)

Surrender Of Divinity คือตำนานวงแบล็กเมทัลที่แท้จริงของประเทศไทย พวกเขาเคยเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตในต่างประเทศมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย เป็นต้น แถมได้รับการยอมรับจากเหล่าบรรดาคอเพลงแบล็กเมทัลในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกด้วยเช่นกัน

S.O.D. เรียกได้ว่าเป็นวงแบล็กเมทัลขนานแท้ ไม่ว่าจะเป็นการครอปเพนต์ (Corpse Paint การทาหน้าให้คล้ายซากศพหรืออมนุษย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของดนตรีแนวนี้), การคอสตูมที่จัดเต็มโดยเฉพาะปลอกแขนหนามที่ชวนน่าสะพรึงกลัว และแน่นอนดนตรีที่เต็มไปด้วยความมืดมน ชั่วร้าย และทำล้ายล้างแบบไร้ความปราณี ซึ่งทุกคนจะสามารถสัมผัสได้จากอัลบั้ม “Oriental Hell Rhythmics” อย่างแน่นอน

แทร็กแนะนำ : “Conquerors of the Apocalypse”


DEATHGUY

“CONCENTRATE THE ANNIHILATION” (2004)

ยังคงต่อเนื่องจากความโหด แต่ปรับจากแบล็กเมทัล มาเป็นบรูทัลเดธเมทัลแทนกับอัลบั้ม “Concentrate the Annihilation” ที่สามารถบ่งบอกความเถื่อนได้ตั้งแต่หน้าปกอัลบั้ม

อัลบั้มนี้ยัดไว้ทั้งหมด 9 เพลงด้วยกัน ทุก ๆ วินาทีที่ได้เสพ มันเต็มไปด้วยความซาดิสต์ทางเสียงดนตรีที่ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ฟังได้ คนธรรมดาทั่วไปผ่านมาได้ยินมีหวังช็อคตาตั้งแน่นอน เพราะคุณจะต้องเผชิญกับเสียงร้องสำรอกกดต่ำจนฟังไม่ได้ศัพท์ที่ซัดมากับดนตรีที่ใส่ยับราวกับพายุทอร์นาโด

แทร็กแนะนำ : Anathematic Damnation (The Fertilization of Damn)


BRANDNEW SUNSET

“REALISTIC” (2005)

 

หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นชื่อพวกเขาเป็นอย่างดี สำหรับวง Brandnew Sunset ที่เคยมีผลงานอัลบั้มชื่อเดียวกับวง, Yesterday Today และ Welcome Home ออกกับทางค่าย Sony Music มาก่อน

แต่หากให้ย้อนกลับไปในยุคอันเดอร์กราวน์ อัลบั้ม “Realistic” ก็คือหนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซของพวกเขาเลย เดิมทีในอัลบั้มแรก “Pick you up when you’re falling down” เป็นซาวด์สไตล์ป๊อปพังก์ แต่พอมาในอัลบั้ม “Realistic” พวกเขาก็ผลิกโฉมด้วยการเติมดนตรีเฮฟวี่เมทัลลงไปด้วย ทำให้ได้รสชาติที่จัดจ้าน แถมยังเพิ่มมิติที่หลากหลายของเพลงมากขึ้นไปอีกระดับจนกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก ณ เวลานั้น แถมเนื้อหายังเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ Brandnew Sunset มีแฟนเพลงเป็นชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันอัลบั้มนี้หายากมาก ๆ เช่นเดียวกับเพลงที่หลาย ๆ เพลงจากอัลบั้มนี้หาฟังไม่ได้จากทางสตรีมมิ่ง

แทร็กแนะนำ : “Can’t Let It Rest”


กล้วยไทย “เพลงรักระดับโลก” (2005)

วงนูเมทัลเลือดไทยกับผลงานชุดที่ 2 ที่มีชื่อเท่ ๆ ว่า “เพลงรักระดับโลก” ผลงานชุดนี้กล้วยไทยปรับซาวด์ดนตรีด้วยการนำอิทธิพลทางดนตรีของวง Slipknot มาใส่ไว้ ทำให้ได้ดนตรีที่หนักหน่วงมากขึ้นกว่าเดิม 

ดังนั้นเพลงหลัก ๆ ในอัลบั้มนี้อย่าง “เลือดไทย”, “เพลงรักระดับโลก” หรือ “สามัคคีเฮ” จะทำให้ทุกคนได้มันส์ไปกับท่อนโยกหน่วง ๆ ชวนขยับคอตาม แต่ในขณะเดียวกันก็มีเพลง “สุขสันต์วันเกิด” ที่มาเป็นเพลงช้าแบบซึ้งที่เล่าเรื่องราวของคนเป็นแม่

อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมาก ๆ สำหรับ “เพลงรักระดับโลก” คือแพคเกจเทปและซีดีที่มีก้านไม้ขีดไฟแถมมาให้จุดกับที่จุดข้าง ๆ ตัวกล่องใส่เทปและซีดีด้วย

แทร็กแนะนำ : “วาระเอาคืน”


DEZEMBER “NATURALISM” (2004)

ในคอนเทนต์ก่อนเราได้มีการพูดถึงอีพี “ลัทธิซาตาน” ของวง Dezember ไปแล้ว คราวนี้มาต่อกับอัลบั้ม “Naturalism” อีกหนึ่งมาสเตอร์พีซของวงธันวามหาโหดที่นำเสนอแนวดนตรี “โปรเกรสซีพ เดธเมทัล” สุดเหนือชั้น

ตลอดทั้งอัลบั้มคุณจะได้เสพสมไปกับเทคนิคทางดนตรีที่ไม่ธรรมดา เพราะสัดส่วนพร้อมจะเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ส่วนเสียงร้องแม้จะมาในแบบสำรอกแต่ก็ใช้เนื้อร้องเป็นภาษาไทย แถมการออกเสียงยังชัดถ้อยชัดคำมาก ๆ ส่วนไลน์กีตาร์หายห่วง ฝีมือระดับเทพของ “ต้น” จะสะกดทุกคนได้อึ้งไปกับทุก ๆ ตัวโน๊ต

อัลบั้มนี้ถูกผลิตออกมา 2 แพคเกจ โดยตอนแรกออกกับทาง Sony Music ในปี 2004 ด้วยปกที่ดูเรียบง่าย ก่อนจะได้นำอัลบั้มนี้ไปออกกับทางค่ายสนามหลวงในปี 2005 พร้อมด้วยหน้าปกสีสันที่ดูเตะตามากกว่าเดิม

แทร็กแนะนำ : “ด..ท..แด่เธอ”


RANCOROUS

“IN THE CIRCLE OF THRONE” (2005)

ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งวงที่มีมือกีตาร์ฝีมือระดับพระกาฬนามว่า “ป๊อป วรวิทย์” ดีกรีแชมป์กีตาร์ Overdrive มาประจำการในฐานะขุนขวานของ Rancorous วงดนตรีแนวเมโลดิก เดธเมทัล (มีกลิ่นอายแบล็กเมทัล และเพาเวอร์เมทัล) 

อัลบั้ม “In The Circle Of Throne” ดนตรีถูกขับเคลื่อนด้วยบีตสปีดมิดไมล์ ราวกับรถยนต์ที่เหยีบคันเร่งค้างอยู่ตลอดเวลา ซาวด์กลองระรัวด้วยเสียง 2 กระเดื่องที่ทำหน้าที่คุมภาคริธึมกับเบส เสียงร้องใช้การสครีมแบบแผดสูง ส่วนพาร์ตของกีตาร์ปั่นสายยับ พอมาเป็นช่วงโซโล่ก็มาในแบบนีโอ-คลาสสิค สุดสวยงาม

แทร็กแนะนำ : “Under the Sign of the Sword”


ทั้งหมดนี้คืออัลบั้มสุดแรร์ในช่วงปี 2000-2005 โดยแท้จริงสำหรับวงการอันเดอร์กราวน์สายดนตรีหนักกระโหลก ใครมีผลงานเหล่านี้สะสมอยู่เก็บไว้ให้ดี ๆ เพราะราคามันจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกแน่นอน 

สำหรับแชปเตอร์ต่อไป ปี 2006-2010 เร็ว ๆ นี้แน่นอนครับ

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line