Entertainment

ย้อนกลับไปทำความรู้จักผู้รับบทบาท James Bond ก่อนสั่งลา 007 คนล่าสุดใน No Time to Die

By: Chaipohn October 31, 2021

สายลับที่โลกรู้จักกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุค 60s จาก Sean Connery สู่ Daniel Craig เรามาทำความรู้จักผู้ที่โลดแล่นบนจอในบทสายรับรหัส 007 เจาะจุดเด่นกันว่า Bond แต่ละคนมีเสน่ห์และความเท่ที่แตกต่างกันตรงไหน ก่อนจะสั่งลาและต้อนรับ Bond คนใหม่หลัง No Time to Die

Sean Connery: Bond คนแรก ต้นแบบของสายลับ 007

เริ่มต้นที่ James Bond คนแรก และเป็นคนสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสายลับ 007 นั้นเป็นที่จดจำของคนดูจนถึงทุกวันนี้ แต่สำหรับ Sean Connery ก้าวแรกที่เขาได้รับบทบาทนี้ กลับไม่เป็นที่ปลื้มใจของนักเขียนผู้ให้กำเนิดนิยายสายลับเจ้าเสน่ห์อย่าง Ian Fleming เท่าไหร่นัก เพราะเดิมที Sean คือนักเพาะกายสมัครเล่นที่ภาพลักษณ์นั้นแตกต่างจากที่ Ian ได้จินตนาการเอาไว้ในนิยาย ในหัวของ Ian นั้นยึดติดกับภาพ James Bond คือชายสะโอดสะองเจ้าเสน่ห์ที่พร้อมดึงดูดเพศตรงข้าม

แต่โปรดิวเซอร์ Albert R. Broccoli กลับมีความคิดตรงกันข้าม เพราะคำนิยามของอาชีพสายลับนั้น อย่างน้อยต้องมีกล้ามแน่นๆ ทะมัดทะแมง และความมีภาพลักษณ์ที่ดูเถื่อน ๆ แบด ๆ หน่อย สุดท้ายโปรดิวเซอร์ก็ส่งหนุ่มสก็อตแลนด์ไปศึกษาชีวิตแบบชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการวางตัวแบบผู้ดี มารยาทบนโต๊ะอาหาร รวมไปถึงศึกษาวิธีจีบสาวลอนดอนจนเชี่ยวชาญ

แม้สุดท้ายภาพลักษณ์บนจอจากหนังเรื่องแรก Dr. No (1962) นั้น โดยรวมยังไม่เป็นที่ถูกใจ แต่ในตอนต่อมา From Russia with Love (1963) การแสดงของ Sean Connery ก็ปรับเปลี่ยนสไตล์ได้เป็นผลสำเร็จ ชนะใจทีมงานทุกคน นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องราวของ James Bond อย่าง James Chapman ยังต้องชื่นชม Sean ในฐานะ “ผู้กำหนดพิมพ์เขียวของ James Bond ได้สมบูรณ์แบบที่สุด เขาคือวีรบุรุษชาวอังกฤษที่มีคุณลักษณะของชาวอเมริกัน” นอกจากนั้น Sean ยังเพิ่มอารมณ์ขันให้กับสายลับเพื่อสีสันและความแพรวพราวอีกด้วย

จน Sean แจ้งเกิดในบทบาทสายลับเจ้าเสน่ห์นี้ และรับเล่นต่อไปอีก 3 ตอน นั่นก็คือ Goldfinger (1964), Thunderball (1965), You Only Live Twice (1967) ที่ล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เขากลับรู้สึกเบื่อหน่าย เมื่อค่ายหนังเริ่มกดดันให้เขารับบทบาทนี้อย่างไม่สิ้นสุด และแรงกดดันนั้นเองทำให้ Sean โบกมือลาบทบาทนี้ไปใน You Only Live Twice แต่สุดท้ายก็หวนกลับมาอีกรอบในตอน Diamonds Are Forever (1971) โดยแลกกับค่าตัวที่เพิ่มขึ้นและเปอร์เซนต์รายรับที่ทำให้ Sean ฟันรายได้มหาศาลในยุคนั้น

การกลับมาในครั้งนั้นกลับไม่สวยงามอย่างที่คิด ด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และความเหนื่อยล้าอย่างเห็นได้ชัด สุดท้ายภาคนี้ก็เป็นการอำลาอย่างแท้จริงของ Sean ในบทบาทของสายลับ James Bond อย่างเป็นทางการ

แต่สุดท้ายตัดกันไม่ขาด Sean ก็หวนกลับมารับบทบาทของ Bond อีกครั้งใน Never Say Never Again (1983) ในทศวรรษต่อมา แม้จะไม่ถูกนับรวมในสารบบของหนังชุด 007 เนื่องจากไม่ได้ทำผ่านบริษัทสร้างต้นตำรับ และมีการฟ้องร้องยืดเยื้อยาวนาน แต่นับเป็นบทบาทส่งท้าย James Bond อันงดงาม และทำให้ชื่อของ Sean Connery คือชื่อที่นึกถึงเสมอเมื่อเอ่ยถึงสายลับ 007 จวบจนปัจจุบัน


David Niven: Bond นอกคอก

David Niven คือ James Bond ที่ตรงตามอัตลักษณ์ที่นักเขียน Ian Flaming บรรยายไว้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นชายสูงอายุผู้งามสง่า / รูปร่างสูงโปร่งในแบบฉบับผู้ดี ไปจนถึงมีความเป็นสุภาพบุรุษอย่างสูงส่ง หากแต่ Casino Royale (1967) นั้นไม่ได้รวมอยู่ในชุดหนัง James Bond เนื่องจากผู้สร้างคนละทีมกันอย่างสิ้นเชิง

โดย Casino Royale ออกไปในทางตลกเสียดสีมากกว่าจะเน้นแอ๊คชั่นในแบบที่ทีมผู้สร้าง Harry Saltzman และ Albert R. Broccoli ได้วางเอาไว้ ซ้ำร้ายหนังยังโดนนักวิจารณ์สับยับอย่างไม่เหลือดีว่า เละเทะ ไร้เสน่ห์ ซึ่งแน่นอนว่า David Niven ที่แม้จะมีผลงานการแสดงมากมาย ก็ไม่ถูกจดจำในฐานะสายลับ 007 เลย


George Lazenby: Bond ผู้แสนอาภัพ

หลังจาก Sean Connery โบกมืออำลาบทบาทของ Bond ไปหลังจาก You Only Live Twice (1967) เหล่าผู้สร้างก็ควานหาตัวนักแสดงคนใหม่ที่จะมารับบทบาทนี้ จนกระทั่งได้พบกับ George Lazenby ที่ในขณะนั้นเขายังเป็นเพียงนายแบบโฆษณาเท่านั้น แต่ด้วยมาด และเสน่ห์ที่น่าสนใจ ผู้สร้างจึงเชิญเขามาลองเทสต์หน้ากล้องดู

และระหว่างที่ซ้อมบท George ได้ผิดคิวชกนักมวยปล้ำที่มาร่วมจอ แต่เขาก็ยังคงแสดงต่อไปไม่หยุด ผู้สร้างเห็นในความแข็งกร้าวของนักแสดงโนเนมคนนี้ จึงตัดสินใจมอบตำแหน่ง Bond คนที่ 2 (อย่างเป็นทางการ) ให้กับเขา ทั้งๆที่เขาไม่ได้หวังจะได้แสดงหนังด้วยซ้ำ เพราะพื้นเพของเขานั้นไม่ใช่คนอังกฤษ แต่เป็นคนออสเตรเลีย

แต่น่าเสียดายที่ประสบการณ์ทางการแสดงเป็นศูนย์ ทำให้ George ถูกวิจารณ์อย่างหนักในด้านการแสดงที่แข็งเป็นท่อนไม้ รวมไปถึงการไม่วายถูกเปรียบเทียบกับ Bond คนก่อนที่สร้างมาตรฐานไว้อย่างดี สุดท้าย George ก็ได้รับบทบาทในตอน On Her Majesty’s Secret Service (1969) เพียงตอนเดียว และเขาก็เลือกที่จะไม่ต่อสัญญาเนื่องจากไม่ชอบในระบบการทำงานในยุคนั้นที่มองเขาเป็นสินค้ามากกว่าเคารพในการแสดง

แม้จะเป็น Bond ผู้แสนอาภัพที่ปรากฏโฉมได้เพียงตอนเดียว แต่หลายปีผ่านไป คนดูยุคหลังก็เริ่มมอง Bond คนนี้ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นความเปราะบางในแบบที่ Bond คนก่อนไม่สามารถมอบให้ได้ อย่างน้อยที่สุด ความหล่อเหลาของเขาก็ทำให้ George Lazenby ไม่แตกขบวนจากหนัง Bond ไปมากนัก


Roger Moore: Bond ผู้มากับความเฮฮา และความเก๋า

Roger Moore คือ Bond คนที่ 3 ที่สามารถสลัดภาพของ Bond ต้นตำรับอย่าง Sean ได้มากที่สุด อันที่จริงเขาเกือบจะได้เป็น Bond คนที่ 2 ด้วยซ้ำ แต่เขาต้องปฏิเสธไป เนื่อจากตอนนั้นติดคิวหนังทีวีที่มีเรื่องราวการเป็นสายลับพันหน้าเหมือนกันกับ 007 นั่นก็คือ The Saint

Roger Moore มอบบทบาท Bond ในแบบที่มีอารมณ์ขันอันร้ายกาจ และเพิ่มความเป็นเพลย์บอยมากยิ่งขึ้นในโลกยุค 70s ที่วัฒนธรรมวับ ๆ แวม ๆ เริ่มเข้ามาสู่โลกภาพยนตร์ เขาจึงเป็น Bond ที่มีทั้งความกะล่อน และความเป็นสุภาพบุรุษรวมไว้ในคน ๆ เดียวได้อย่างน่าทึ่ง รวมไปถึงยังเป็น Bond ที่มีของเล่นเวอร์ล้ำยุคสมัย ทำให้สีสันของ Bond คนนี้แตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่น ๆ อีกด้วย

พร้อมกันนั้น เขายังเป็น Bond ที่ดูดีภายใต้การสูบซิการ์ ทำให้ Roger มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่นอย่างเห็นได้ชัด

Roger ครองบทบาทของ James Bond เอาไว้ถึง 7 ตอน Live and Let Die (1973) The Man with the Golden Gun (1974) The Spy Who Loved Me (1977)  Moonraker (1979) For Your Eyes Only (1981) Octopussy (1983) โดยทิ้งท้ายที่ A View to a Kill (1985) ที่คนดูยุคใหม่เริ่มจะส่ายหน้าในสังขารที่ร่วงโรย และความล้าสมัยของหนัง James Bond แม้หนังจะพยายามปรับไปตามยุคสมัย แต่ Roger Moore ก็กลับกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนดูหนังยุคใหม่เริ่มไม่ให้การต้อนรับ สุดท้ายเขาก็โบกมืออำลาบทบาทนี้ไป


Timothy Dalton: Bond จริงจัง และเข้มขรึม

หลังจาก Roger Moore แก่เกินไปที่จะรับบท Bond แล้ว และโลกฮอลลีวูดได้ต้อนรับวีรบุรุษยุคใหม่อย่าง Rambo, Indiana Jones จน James Bond เริ่มเป็นสิ่งที่ตกยุคตกสมัย แต่ผู้สร้างก็คาดหวังว่า Bond คนใหม่นี้จะช่วยปลุกชีพให้หนังพยัคฆ์ร้ายสายลับกลับมาโลดแล่นบนจออีกครั้ง

สุดท้ายก็ได้ Timothy Dalton นักแสดงมากฝีมือ ที่ก่อนหน้านี้เขาช่ำชองในบทบาทของละครเวที โดยเฉพาะของ Shakespeare มารับบทบาท Bond คนที่ 4 อย่างเป็นทางการ ด้วยความสูงที่ตรงตามภาพนิยายได้บรรยายเอาไว้ ทำให้ Timothy ศึกษาบทบาทของ Bond อย่างหนักจากนิยายที่ Ian Flaming ได้เขียนเอาไว้ จนอาจจะกล่าวได้ว่า เขานั้นคือ “Bond ที่จริงจังและมืดหม่นที่สุด” ถึงแม้หนังจะพยายามโชว์เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ Timothy ก็กดทับด้วยบทบาทความเป็น Bond อันแสนเกรี้ยวกราดและเจ้าอารมณ์

สุดท้าย Timothy ก็เข็น Bond ไปได้แค่ 2 ตอน นั่นคือ The Living Daylights (1987) Licence to Kill (1989) ที่ทำรายได้น้อยลง และห่างไกลความสนใจของผู้ชมไปเรื่อยๆ


Pierce Brosnan: Bond ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

ในที่สุด ผู้สร้างก็ได้ James Bond ที่สมบูรณ์แบบ และเป็นที่ถูกใจสำหรับทีมงานมากที่สุด เนื่องจากตัว Pierce Brosnan คือส่วนผสมที่ลงตัว ที่นำจุดเด่นของ Bond ในอดีตมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นความเฉลียวฉลาดในแบบของ Roger Moore, ความมีเสน่ห์ที่เต็มเปี่ยมด้วยความแมนของ Sean Connery, รวมไปถึงสีหน้าและความจริงจังในแบบของ Timothy Dalton ทำให้ Pierce เป็นที่ถูกใจของนักดูหนัง และปลุกความขลังของหนังชุด James Bond ให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง โดยหนังเองก็ไม่ใช่หนังสายลับสุดเชย ยังคงทันยุคทันสมัย แม้ว่ายุค 90s จะมีตัวเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสายลับอย่าง Ethan Hunt ใน Mission: Impossible มาเป็นคู่แข่งก็ตาม

โดยในความเป็นจริง Pierce เกือบจะได้เป็น Bond ตั้งแต่ยุค Timothy Dalton แล้ว แต่ในช่วงเวลานั้นเขายังดูอ่อนวัยจนเกินไป ทำให้พลาดบทบาทนี้ไป

ซึ่ง Bond ในยุค 90s มีการปรับเปลี่ยนมากมาย ทั้งความสมจริง และฉากแอ๊คชั่นโลดโผน โดย Pierce รับบทบาทสายลับ 4 ตอนด้วยกัน GoldenEye (1995), Tomorrow Never Dies (1997), The World Is Not Enough (1999), Die Another Day (2002)


Daniel Craig: Bond ที่ Real ที่สุด

มาถึง Bond คนล่าสุดในยุคอินเตอร์เน็ทและยุคโซเชี่ยล หลังจากที่ผู้สร้างได้ประกาศถึง Bond คนใหม่ กระแสต่อต้านของ Daniel Craig ก็มีมาไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา หรือว่าเสน่ห์ที่ไม่ชวนดึงดูดเอาเสียเลย เพราะก่อนหน้านี้ Daniel Craig รับบทตัวประกอบ หรือบทสมทบที่ไม่มีความโดดเด่นมากมายนัก หลายคนจึงมองว่า Daniel น่าจะเป็นเพียงสายลับขาจรที่มาแล้วก็ไปเหมือนสมัย George Lazenby ที่เล่นเรื่องเดียวแล้วดับมากกว่า

แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อ Casino Royale (2006) ออกฉาย ผลงานการแสดงของ Daniel กลับสร้างเซอร์ไพรส์ครั้งสำคัญให้กับหนัง Bond ด้วยการเพิ่มเลือดเนื้อ ชีวิต และหัวใจ ให้กับสายลับ 007 ที่ตลอดเวลาถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องจักรสังหารที่มีเพียงเสน่ห์ แต่ไม่มีจิตวิญญาณในนั้น Daniel เจ็บได้ ร้องไห้เป็น บู๊ดุเดือดแบบไม่ห่วงหล่อ และพร้อมก้าวเดินตามยุคสมัยได้อย่างฉลาดหลักแหลม

และมันก็ทำให้ผลงานที่เหลือ อย่าง Quantum of Solace (2008), Skyfall (2012), Spectre (2015) ทำเงินอย่างมโหฬาร รวมไปถึงคุณภาพที่ยกระดับงาน Bond ให้กลายเป็นหนังชั้นดีอีกด้วย

และ No Time to Die หนังเรื่องล่าสุด และเรื่องสุดท้ายของ สายลับ James Bond ที่รับบทบาทโดย Daniel Craig ก็กำลังวาดลวดลายในโรงภาพยนตร์ ทำสถิติรายได้ที่ห่างหายไปจากวงการภาพยนตร์ยุค Covid-19 ก็ถือเป็นการสั่งลาอย่างงดงาม ด้วยการปะทะของ Bond ในช่วงเวลาที่เขากำลังเตรียมตัวอำลาหน้าที่สายลับ ขณะที่เขากำลังพักร้อนที่จาไมก้า ศัตรูคนใหม่ที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ก็ปลุกไฟแค้นให้เขาต้องกลับมาสู้อีกครั้ง

หลังจากนี้ก็ถึงเวลาที่เราต้องมารอดูต่อไปว่า สายลับ 007 คนใหม่นั้นจะเป็นใคร จะเป็นหญิงสาวอย่างที่มีข่าวลือหรือไม่ หรือจะเป็นคนผิวสี ก็ขอให้อดใจรอ แต่ตอนนี้อย่าลืมไปสั่งลาบทบาทของ Daniel Craig เป็นครั้งสุดท้ายในโรงภาพยนตร์กันดีกว่า

แล้วสำหรับคุณ ชอบ Bond เวอร์ชั่นไหนมากที่สุด

 

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line